ประธานวิปรัฐ ชี้ กรรมการสมานฉันท์ต้องสลัดหลุมดำทางความคิดที่แตกต่างได้ เพื่อสร้างความสมานฉันท์ ย้ำ ต้องรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย เผย พรรคไม่เห็นว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหา แต่พร้อมรับฟัง และนายกฯพร้อมหนุนแนวทางเพื่อสร้างสมานฉันท์ ระบุ ให้ปิดสมัยประชุมสภาทุกอย่างจะเริ่มชัด
วันนี้ (7 พ.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 09.30 น.นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมรัฐบาล กล่าวถึงความคืบหน้าการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร ว่า ทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันที่จะให้คณะกรรมาธิการ ได้ทำหน้าที่ก่อนที่จะปิดสมัยการประชุม ซึ่งจะมีเวลาพูดกันให้เรียบร้อยในอีก 2-3 วันนี้ ตอนนี้ติดปัญหาเพียงรายชื่อของประธานคณะกรรมาธิการบางชุดที่ยังไม่ลงตัว คาดว่า วันนี้ (7 พ.ค.) จะนัดประชุมตัวแทนของแต่ละพรรคเพื่อจะหารือถึงรายชื่อของคณะกรรมาธิการบางชุดที่ยังไม่ลงตัว ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลพร้อมเปิดกว้างและไม่ปิดกั้นในการตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมาธิการอยู่แล้ว เพียงแต่ให้กระบวนการเป็นไปตามความพอใจของทุกฝ่าย และเชื่อว่า ใน 2-3 วันจะตั้งคณะกรรมาธิการประจำสภาได้ โดยในวันที่ 13 พ.ค.นี้ จะมีการเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการเพิ่มเติมในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
นายชินวรณ์ กล่าวต่อว่า วันนี้ (7 พ.ค.) จะมีการประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์ เพื่อการปฏิรูปทางการเมืองเป็นครั้งแรก ซึ่งตามหนังสือเชิญประชุมระบุว่าจะมีการหารือกันถึงกรอบอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ส่วนกรรมการในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ได้มีการพูดคุยกันแล้ว โดยมีแนวทางเดียวกันว่าจะเปิดกว้างในการที่จะรับฟังความคิดเห็นจากทุกพรรคการเมือง และทุกภาคส่วนอย่างกว้างขวาง ส่วนอำนาจหน้าที่ก็เป็นเรื่องที่คณะกรรมการ ต้องกำหนดร่วมกันเบื้องต้นอาจจะเป็นการรวบรวมความคิดเห็นจากทุกพรรค และความเห็นของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบเพื่อการแกไขรัฐธรรมนูญของสภา ที่ได้ศึกษาผลกระทบการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ตลอดจนผลการศึกษาของสถาบันทางวิชาการต่างๆ และพูดถึงปัญหาทางการเมืองในภาพรวมว่ากรอบของปัญหาทางการเมืองในขณะนี้มีอะไรบ้าง คิดว่า เราเปิดโอกาสในการรับฟังจากทุกภาคส่วน ซึ่ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้แสดงจุดยืนชัดเจนอยู่แล้วว่าพร้อมที่จะรับฟังในการแก้ไขปัญหา หากยุติอย่างไรก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ
เมื่อถามว่า การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองต้องคุยกันหรือไม่ว่ามีแนวทางอย่างไร โดยเฉพาะการสร้างความสมานฉันท์ นายชินวรณ์ กล่าวว่า ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์คิดว่าปัจจัยที่เป็นปัญหาทางการเมืองไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญเพียงด้านเดียว แต่เกิดจากหลายๆ ด้าน เพราะฉะนั้นเราต้องตั้งโจทย์ว่าต้องทำอย่างไรถึงจะแก้ไขปัญหาทางการเมืองได้ หรือทำให้รัฐธรรมนูญมีความเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาประเทศให้ยั่งยืน ส่วนมาตรา 190, 237, 266 หรือ 273 จะคุยในลำดับต่อไป ซึ่งทุกประเด็นสามารถคุยกันได้ อย่างไรก็ตาม คิดว่า คณะกรรมการสมานฉันท์ ต้องทำ 2 เรื่อง คือ กรอบที่เป็นปัญหาใหญ่ของบ้านเมืองขณะนี้ เพราะมีบางฝ่ายเห็นว่าควรนำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาเป็นตัวตั้ง แต่บางฝ่ายก็เห็นว่าควรแก้รัฐธรรมนูญ 2550 เพราะฉะนั้นในความคิดของเราคิดว่าถ้าต้องการจะสลัดให้หลุดพ้นจากหลุมดำดังกล่าว คณะกรรมการสมานฉันท์ควรจะศึกษากรอบรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
ต่อถามว่า การจะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับสมานฉันท์ควรเป็นอย่างไร ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และต้องตอบโจทย์ปัญหาทางการเมืองได้ทั้งหมดและอาจจะแก้ไขบางประเด็นที่ยังเป็นข้อขัดข้องกันอยู่เพื่อหาจุดที่สมดุลที่สุด ซึ่งคิดว่าเป็นทางออกที่สามารถเดินไปได้