xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” กระตุ้นผู้ว่าฯ เร่งแก้ปัญหาการเมือง-ศก. เร่งสร้างเชื่อมั่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อภิสิทธิ์” เปิดประชุมมอบนโยบายผู้ว่าฯ กระตุ้นผู้ว่าฯ ขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการเมือง-เศรษฐกิจ-สังคม ชี้ไม่ต้องรอนโยบายรัฐบาลสั่ง แนะอย่าคิดปัญหาใหญ่กว่าตัว ปลุกรากหญ้าปรองดองในพื้นที่ ผ่านโครงการเสริมสามัคคีในชุมชน ชี้ง่ายกว่าปรองดองระดับชาติ พร้อมตั้งเป้าบริหารงบท้องถิ่นได้ 35 เปอร์เซ็นต์เป็นอย่างต่ำ แนะจัดทำโครงการเสนอรัฐเสริมศักยภาพท้องถิ่นตัวเอง ให้คำมั่นรัฐบาลอุดหนุนงบฯลงท้องถิ่น คาดหวัง 2 ปี พัฒนา 75 จังหวัด 18 กลุ่มจังหวัด เห็นผล

วันนี้ (7 พ.ค.) ที่ห้องเจ้าพระยา ชั้น 2 หอประชุมกองทัพเรือ เวลา 09.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ” พร้อมมอบนโยบายแก่ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารส่วนราชการ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนภาคธุรกิจเอกชน และผู้แทนภาคประชาสังคม หวังเพิ่มขีดสมรรถนะการบริหารจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พร้อมนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง

โดยนายอภิสิทธิ์ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า บ้านเมืองเรากำลังถูกจับตาว่า จะสามารถฟันฝ่าวิกฤตได้หรือไม่ ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ การเคลื่อนไหวข้ามชาติ ที่เกิดขึ้นไม่ต่างกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจส่งผลให้การค้าโลก ส่งผลให้รายได้จากการส่งออก หรือการท่องเที่ยวย่อมได้ผลกระทบรับผลกระทบอย่างรุนแรงไปด้วย หรือกรณีล่าสุดกรณีไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ก็เป็นปัญหาแน่นอนที่สุดกระทบต่อพี่น้องประชาชน ทำให้รัฐบาลต้องมีมาตรการที่เข้มงวดกวดขัน เฝ้าระวัง แก้ไขปัญหา ทั้งในส่วนของเราเองและในฐานะประธานในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน

นายกฯ กล่าวต่อว่า ยังไม่นับถึงปัญหาที่เป็นเป็นปัญหาที่พี่น้องคนไทยทุกข์ใจมา 2-3 ปี ก็คือปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งนอกเหนือจากปัญหาที่นำความทุกข์ เพราะที่ไหนมีความขัดแย้งที่นั้นก็มีความสุขได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นในบ้านเมืองในสังคม ในชุมนุม แม้แต่ว่าภายในครอบครัว แต่ว่าปัญหานี้ยังส่งผลกระทบอีกหลายๆ ด้าน เพราะว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง ความขัดแย้งที่ปรากฎเป็นข่าวสารก็ยิ่งซ้ำเติมความเชื่อมั่น และในเรื่องที่เกี่ยวข้องโอกาสกับประเทศของเรา ทั้งเศรษฐกิจและสังคม การเมือง สิ่งที่อยากให้ทุกคนตระหนักคือ ถ้าเราปัญหาจากส่วนกลางเป็นตัวตั้งและลึกลงไปในระดับพื้นที่ หลายครั้งทำให้ปัญหาดูเหมือนเป็นเรื่องใหญ่เป็นเรื่องยาก แล้วก็มีความรู้สึกว่า พวกเราจะมีความสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาได้มากน้อยแค่ไหน เช่น ถ้าพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจเราก็คอยฟัง ผลิตภัณฑ์มวลรวม รายได้ประชาชาติปีนี้จะติดลบหรือไม่มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเราก็มองว่าเป็นปัญหาใหญ่ เราก็มีความรู้สึกว่า เราเป็นผู้ได้รับผลกระทบ อย่างกรณีเศรษฐกิจหมายถึงการเลิกจ้าง การตกงาน และอาจนำไปสู่ปัญหาสังคม

นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า แม้แต่ว่าเวลาที่เราเห็นความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เริ่มต้นจากส่วนกลาง ที่เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ เรารู้สึกว่า อาจจะอยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา แล้วก็คิดว่าจะมากระทบกับตัวเราในพื้นที่ต่างๆ อย่างไร อันนี้เป็นเรื่องปกติ เป็นธรรมชาติ ทำให้หลายครั้งหลายคนมีความรู้ว่า ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมของเราใหญ่กว่าที่เราแต่ละคนจะช่วยแก้ไขปัญหาได้ แต่ในข้อเท็จจริงแล้วสังคมของเราประเทศของเราประกอบด้วยหน่วยที่ย่อยลงไป จะเป็นภาคจะเป็นกลุ่มจังหวัด จังหวัด ไล่ลงไปถึงอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ชุมชน ชมรม หรือครอบครัว ประเทศของเราก็สามารถมองได้ว่า ประกอบด้วยองค์กรหลายระดับเหล่านี้ สิ่งที่เกิดขึ้นในภาพรวมก็เหมือนกับการรวมสิ่งที่เกิดขึ้นในภาคย่อยต่างๆ เหล่านี้นั้นเอง ถ้าเรามองมุมนี้ เชื่อว่าเราจะมองว่า จริงแล้วปัญหาทุกปัญหาจริงแล้วไม่ได้ยากก็ได้ในการแก้ไข ถ้าทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม เข้ามาในสิ่งที่สามารถควบคุมได้ มองเห็นได้ สัมผัสได้ คือระดับท้องถิ่นขึ้นมา

นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า ถ้าเราคิด มองในกรอบแบบนี้ บางทีเราจะเห็นคำตอบ เห็นทางออกมากมาย ยกตัวอย่างเช่น เรื่องเศรษฐกิจ แทนที่จะมองว่าเศรษฐกิจไทยเป็นเรื่องของเศรษฐกิจประเทศในภาพรวม แต่เรามองว่าที่จริงเศรษฐกิจประกอบไปด้วยเศรษฐกิจของแต่ละกลุ่มจังหวัด หรือจังหวัด และในแต่ละจังหวัดมีความหลากหลาย มีจุดแข็ง มีโอกาสของตนเองทั้งสิ้น เช่น ถ้าเรามองไปที่จังหวัดชายแดน เราก็จะพบว่า โอกาสในเรื่องการค้าชายแดนจะมีส่วนสำคัญมากในการที่จะทำให้เศรษฐกิจจังหวัดนั้น หรือชุมชนนั้นๆ ไปได้ดีหรือไม่อย่างไร การที่เราตระหนักว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯเป็นอย่างนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นเป็นอย่างนั้น เศรษฐกิจจีนชะลอตัว เราจะสามารถใช้ประโยชน์การค้าชายแดนหรือการทำธุรกิจกับประเทศเพื่อนบ้านที่จะสร้างฐานเศรษฐกิจที่ดีในพื้นที่ตัวเองได้อย่างนี้ นี้ก็เป็นตัวอย่าง หลายจังหวัดซึ่งมีทุนทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม มีทุนด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ สามารถสร้างตัวเองขึ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้คนเข้ามาใช้จ่าย เกื้อหนุนเศรษฐกิจของตัวเองได้ โดยแยกมาจากภาคใหญ่เศรษฐกิจโดยรวมของโลกหรือของประเทศเป็นอย่างไร ถ้าเราสามารถเสริมศักยภาพของกลุ่มจังหวัดได้ กลุ่มจังหวัดนั้น จังหวัดนั้นก็จะสามารถเติบโตขยายตัวได้ และต่อมามีส่วนสำคัญช่วยเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศได้

นายกฯ กล่าวว่า กลุ่มจังหวัดที่เป็นภาคอุตสาหกรรมถ้าจะใช้โอกาสจังหวะภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้ปรับโครงสร้างบางอย่าง แก้ไขจุดอ่อน จะเป็นการมองสภาพปัญหาที่คนในพื้นที่ตรงนั้นสัมผัสปัญหาที่ได้อย่างแท้จริง แก้หรือทำในส่วนที่มองเห็นความเป็นไปได้ โดยไม่ต้องรอพึ่งนโยบายจากส่วนกลาง ในเรื่องนั้นเรื่องนี้ จะเป็นอย่างไร หรือต้องรอคอยการสั่งการ หรือนโยบายจากส่วนกลางลงมาเท่านั้น ด้านอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน สังคม วัฒนธรรม ปัญหาเฉพาะในพื้นที่ ถ้าเรามองว่ามีส่วนแก้ไขปัญหาได้ ก็ไม่ยากที่จะแก้ไขอย่างที่เราคิด

“แม้กระทั่งการเมืองที่เราวิตกกังวลเรื่องความขัดแย้ง เราก็สามารถใช้โครงการ มาตรการ หรือการรณรงค์เฉพาะพื้นที่เพื่อสร้างความสามัคคีได้ โดยเฉพาะถ้าเรากำลังพูดถึงคนที่ร่วมใช้ชีวิตกันมาช้านานอยู่ในพื้นที่เดียวกัน โอกาสที่จะนำเอาความคุ้นเคย เอาไมตรีต่อกัน ซึ่งเป็นธรรมชาติของคนไทยอยู่แล้ว สร้างความปรองดองในพื้นที่ตัวเอง ก็ย่อมง่ายกว่าการปรองดองในระดับชาติ”

นายกฯ กล่าวต่อว่า ด้วยเหตุนี้การบริหารราชการต้องดำเนินการหลายระดับ บางคนเปรียบการบริหารราชการเป็นสามเหลี่ยมปีรามิท และมองว่า ส่วนยอดคือส่วนกลาง ถัดมาเป็นส่วนภูมิภาค และถัดมาเป็นส่วนท้องถิ่น แต่ในขณะที่พูดส่วนกลางที่เป็นส่วนเล็กที่สุด การบริหารประเทศที่ผ่านมา ตรงนี้กลับมีงบประมาณที่มากที่สุด ซึ่งเป็นปัญหาหนึ่งที่เราพยายามแก้ไขโดยตลอด และเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น แต่ต้องยอมรับว่ามาถึงวันนี้การให้ท้องถิ่นเขามารับภาระมีอำนาจในการกำหนดทิศทางก็ยังมีขีดจำกัดอยู่ เคยมารับผิดชอบงานส่วนท้องถิ่นเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว เคยตั้งเป้าก่อนปี 49 ท้องถิ่นมีโอกาสมาใช้ทรัพยากรอย่างน้อย ร้อยละ 35 ของรายได้ทรัพยากรที่รัฐใช้ทั้งหมด สุดท้ายเวลาผ่านไป 10 กว่าปีทำไม่ได้ อาจจะด้วยเหตุผลนโยบาย ปัจจัยก่อนหน้านี้ แต่พอมาถึงเวลาติดอยู่ที่ประมาณ ร้อยละ 25 เท่านั้น

นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า การเน้นเรื่องการกระจายอำนาจที่ผ่านมา เราเน้นเสริมบทบาทของท้องถิ่น ในขณะที่ส่วนกลางก็กำลังเติบโต และสิ่งที่ยากมากก็ขึ้น แล้วส่วนภูมิภาคที่เชื่อมส่วนกลางกับท้องถิ่นจะอยู่ที่ไหน มันก็มีความพยายามหลายโอกาส หลายโครงการ เรียกชื่อต่างๆ นานากันไป จะเป็นซีอีโอหรืออะไร จะหาบทบาทส่วนภูมิภาคตรงนี้ แต่ที่ผ่านมาต้องยอมรับกรอบอันนี้ยังไม่ชัดเจน ปี 50 การแก้ไขกรอบการบริหารราชการแผ่นดิน และมีพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัด และกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ เมื่อปี 2551 จึงเป็นความพยายามที่จะหาคำตอบตรงนี้ จัดระบบความสัมพันธ์ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น และระบบความสัมพันธ์ในแนวราบ เชื่อมโยงภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ภาคประชาชนโดยรวม และเป็นที่มา กพร.นำเสนอเรื่องการบริหารงานในลักษณะที่เป็นกลุ่มจังหวัด จังหวัดขึ้นมา

นายกฯ กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญและกฎหมายก็มาเขียนรองรับเพื่อให้กลุ่มจังหวัด และจังหวัด สามารถมารับงบประมาณ นอกเหนือจากการจัดสรรงบประมาณจากส่วนกลางไปยังกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ และงบประมาณที่เราถ่ายโอน หรือส่งต่อไปให้ท้องถิ่น ดังนั้นขณะนี้ก็จะมี 75 จังหวัด และ 18 กลุ่มจังหวัดที่มีโอกาสจัดทำโครงการได้รับการสนับสนุนงบประมาณ แต่ปัญหาก็คือการขาดภาพรวมว่างบประมาณตรงนี้แตกต่างจากงบประมาณตามปกติหรืองบประมาณท้องถิ่นอย่างไร ซึ่งยังไม่มีคำตอบชัดเจนเรื่องนี้จึงต้องมาทบทวนกันใหม่ และเชื่อว่าในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้น่าจะได้คำตอบ ทั้งนี้การที่มาเชิญชวนให้ทำนั้นไม่ได้ทำเพื่อรัฐบาล แต่ทำเพื่อประชาชนและประเทศ ความสำเร็จทั้งหลาย อยากให้สัมผัสได้ด้วยประชาชนในพื้นที่นั่นเอง จะได้มีความภาคภูมิใจกับความสำเร็จที่ทำด้วยตัวเอง จึงอยากให้มุ่งมั่นทำงานนี้ให้สำเร็จเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนเอง

นายกฯ กล่าวอีกว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการจากนี้ไป ผมหวังว่าจะทำให้เราได้คำตอบ และให้เราสามารถปรับแนวทางการพัฒนาให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ได้ภายใน 2 ปี ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่ดีในการเสริมสร้างและความเติบโตของการบริหารงานที่อิงกับพื้นที่ต่อไป” นายอภิสิทธิ์ กล่าว







กำลังโหลดความคิดเห็น