xs
xsm
sm
md
lg

“สนธิ” ลั่นลุยต่อการเมืองใหม่-นัดประชุมพันธมิตรทั่วประเทศ 24-25 พ.ค.กำหนดจุดยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สนธิ” ลั่นไม่ทิ้งพันธมิตรฯ ยันจะกลับมาร่วมกับแกนนำ สู้เพื่อปฏิรูปการเมืองใหม่ พร้อมปฏิเสธลี้ภัยทางการเมือง แต่ขอใช้โอกาสพักฟื้นตัว เชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์มอบหมายภารกิจ หลังรอดตายปาฏิหาริย์ ด้านแกนนำพันธมิตรฯประสานเสียงคัดค้านแก้ รธน.เพื่อนิรโทษกรรรมให้นักการเมืองฉ้อฉล ดีเดย์จุดยืนประกาศตั้งพรรคการเมืองหรือไม่ 25 พ.ค.นี้

คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นาย สนธิ ลิ้มทองกุล ลั่นไม่ทิ้งพันธมิตรฯ ปฏิเสธลี้ภัยทางการเมือง

คลิกที่นี่ เพื่อฟัง เหล่าแกนนำพันธมิตรฯ แถลงข่าว

วันนี้ (3 พ.ค.) นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงการต่อสู้ของพันธมิตรเริ่มตั้งแต่ปี 2549 จนกระทั่งมาถึง 193 วัน ถือเป็นเครื่องยืนยันว่า พันธมิตรฯได้ยึดหลักอหิงสา ไม่นิยมความรุนแรง แตกต่างจากกลุ่มคนเสื้อแดงอย่างสิ้นเชิง และมีเจตนารมณ์จุดยืนที่ชัดเจน เพื่อเรียกหาการเมืองใหม่โดยพันธมิตรฯ มีอาวุธประจำกายคือปัญญา ซึ่งแตกต่างจากก่อนปี 2549 เพราะขณะนี้ได้แปลงสภาพจากคนที่ไม่รู้หูตาก็สว่างขึ้น และเหตุผลอันนี้เองได้ส่งผลกระทบต่อผู้สูญเสียอำนาจ และขอปฏิเสธข่าว ที่ระบุ นายสนธิ เริ่มถอดใจและเตรียมตัวหลบหนีไปอยู่ที่ต่างประเทศ ว่า ไม่เป็นความจริง

นายสนธิ กล่าวยอมรับว่า มีแผนที่เดินทางไปต่างประเทศในเร็ววันนี้จริง แต่ก็เพื่อไปใช้เวลาพักฟื้นร่างกาย แต่คงเป็นช่วงระยเวลาสั้นๆ ยืนยันว่า ไม่ใช่ที่ประเทศอินเดีย หรือเนปาล อย่างแน่นอน เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่ามีการคาดหมายกันว่าภายในเดือนพฤษภาคมนี้ อาจมีความคืบหน้าด้านคดี จึงไม่อยากอยู่เป็นตัวละคร และเพื่อให้การดำเนินคดีเป็นไปอย่างอิสระ จึงใช้โอกาสนี้ไปพักฟื้นร่างกาย หลังจากนั้น จะกลับมาต่อสู้เพื่อเรียกร้องการเมืองใหม่อย่างแน่นอน เพราะจากการรอดชีวิตอย่างปาฏิหาริย์ในครั้งนี้ ถือว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้มอบหมายภารกิจเพื่อปกป้องชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ต่อไป

นายสนธิ ยังแสดงความเป็นห่วงนายกรัฐมนตรี เพราะถือว่าอยู่ในช่วงอันตราย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งที่พัทยา หรือกระทรวงมหาดไทย ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะกลุ่มผู้ก่อการส่งสัญญาณให้เห็นว่า หาก นายสนธิ ตายได้ ย่อมกระเทือนไปถึง นายอภิสิทธิ์ รวมทั้งผู้ที่อยู่เบื้องสูงขึ้นๆ ไป

**อ่านรายละเอียดคำต่อคำ นายสนธิ ลิ้มทองกุล แถลงข่าว**

หลังจากนั้น แกนนำพันธมิตรฯทั้งรุ่น 1 และ รุ่น 2 ได้ร่วมกันแถลงข่าวถึงท่าทีพันธมิตรฯ โดยนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวในช่วงที่สองถึงท่าทีพันธมิตรฯต่อกรณีรัฐบาลจะพยายยามแก้ไข รธน.และออก กม.นิรโทษกรรม รวมทั้งการจัดงานครบรอบ 1 ปีการต่อสู้ของพันธมิตรฯ

นายสมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวยืนยันว่า จะคัดค้านการแก้ไขัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติ 14 ล้านเสียง ส่วนนื้อหาที่จะแก้รัฐธรรมนูญก็คงหนีไม่พ้นเปิดช่องให้มีการนิรโทษกรรมให้พวกฉ้อฉล พฤติกรรมนักการเมืองในวันนี้ถึงจะแก้รัฐธรรมนูญอีกสักกี่ครั้งกี่ฉบับ ก็ไม่สามารถปฏิรูปไปสู่การเมืองใหม่ได้

นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวว่า รูปแบบการจัดงานครบรอบ 1 ปีของการต่อสู้ของพันธมิตรฯ 193 วัน วันที่ 24 พ.ค.จัดสัมมนาในลักษณะรับฟังความคิดเห็น แต่ละจังหวัดจะส่งตัวแทนกันเข้ามาเพื่อให้ครอบคลุมเครือข่ายมากที่สุด ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 25 พ.ค.นี้ จึงขอเชิญชวนพี่น้องพันธมิตรฯ เข้าร่วมชุมนุมอย่างทั่วทุกสารทิศ และจะประกาศเรื่องจุดยืนในการตั้งพรรคการเมืองในวันดังกล่าวด้วย

รายละเอียดคำต่อคำ พันธมิตรฯแถลง

สุริยะใส กตะศิลา

ต่อไปจะเป็นอีก 2 ประเด็นที่แกนนำรุ่น 1 รุ่น 2 หารือกันและมีมติในวันนี้ เรื่องแรก คือเรื่องท่าทีของสถานการณ์ โดยเฉพาะประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีการผูกเอาเรื่องนิรโทษกรรมเข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งคุณสมศักดิ์ โกศัยสุข จะเป็นคนนำแถลง เรื่องที่ 2 คือเรื่องการเตรียมการจัดงานสภาพันธมิตรประชาชนแห่งประเทศไทย ที่จะจัดกันวันที่ 24-25 พฤษภาคม เดี๋ยวเราจะแจกแจงรูปแบบการจัดงานและเป้าหมาย วัตถุประสงค์ในการจัดงาน ประเด็นแรกก่อนนะครับ จุดยืนพันธมิตรฯ ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการนิรโทษกรรม

สมศักดิ์ โกศัยสุข

เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นหลักการหรือเป็นคำแถลงของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมาโดยตลอดว่าเราไม่เห็นด้วยในการที่จะแก้รัฐธรรมนูญที่ได้รับการประชามติมาจากประชาชน 14.7 ล้านเสียง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแก้เพื่อที่จะให้เนื้อหาไปนิรโทษกรรมนักการเมืองที่มีส่วนร่วมในการทุจริต การโกงการเลือกตั้ง และหลังจากได้อำนาจรัฐก็มาโกง ฉ้อโกง ทุจริตคอร์รัปชั่นในโครงการต่างๆ ซึ่งเราคิดว่านี่คือปัญหาของประเทศ และการแก้ไขที่ใช้นักการเมืองด้วยกัน ซึ่งมีร่องรอยของการเมืองเก่าที่มีส่วนร่ว มีลิ่วล้อต่างๆ ที่ถูกศาลมีคำพิพากษาในเว้นวรรคทางการเมืองเข้ามามีส่วนแก้ แม้จะเอาบุคคลภายนอกเข้ามาดูเป็นดอกไม้ประดับให้ดูดีเพียงไม่กี่คน ซึ่งเราคิดว่าไม่มีความชอบธรรมอย่างยิ่งในการที่จะแก้สิ่งเหล่านี้

และเราคิดว่าการแก้รัฐธรรมนูญมันไม่ใช่เรื่องของการปฏิรูปการเมืองใหม่ เพราะการเมืองที่เป็นปัญหาของประเทศชาติอยู่วันนี้คือการทุจริตคอร์รัปชั่น 82% ของการทุจริตคอร์รัปชั่น หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 77 ปีจากการทำรัฐประหารหรือยึดอำนาจมา 17 ครั้ง ไม่รวมการเปลี่ยนแปลงเมื่อวันที่ 24 มิถุนาฯ ดังนั้นปัญหาของประเทศชาติคือการโกง การทุจริต การคอร์รัปชั่น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดูเหมือนจะออกแบบมาเพื่อจัดการกับพวกการโกงการคอร์รัปชั่น ฉะนั้นคดีความต่างๆ ที่ยังดำเนินการอยู่ก็ควรจะต้องให้เสร็จสิ้นไปเสีย จึงจะมาพูดกันเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

พิภพ ธงไชย

เรื่องแก้รัฐธรรมนูญแกนนำก็ยืนยันอย่างที่คุณสมศักดิ์ ได้กล่าวไปแล้ว แต่อยากจะชี้ให้เห็นว่า สังคมไทยต้องฉุกคิดแล้วว่าปัญหาการเมืองของบ้านเราที่ยังอยู่ในวังวนของการเมืองเก่านั้น อยู่ที่ตัวรัฐธรรมนูญหรืออยู่ที่พฤติกรรมของนักการเมือง ก็สรุปได้ว่าอยู่ที่ตัวและพฤติกรรมของนักการเมือง ที่ไม่ยอมเปลี่ยนพฤติกรรมไปตามกฎกติกาที่รัฐธรรมนูญกำหนด และรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ก็เป็นรัฐธรรมนูญที่พัฒนามาจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และผ่านการลงประชามติ แต่นักการเมืองไม่ยอมเปลี่ยนพฤติกรรมหรือปรับพฤติกรรมในการทุจริตการเลือกตั้ง และในการแสวงหาผลประโยชน์ในการเป็นนักการเมือง เพราะฉะนั้นการแก้รัฐธรรมนูญจะไม่เป็นประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้นถ้าพฤติกรรมของนักการเมืองไม่มีการเปลี่ยนแปลง และรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ก็พยายามคุมเข้มในเรื่องพฤติกรรมของนักการเมืองเพื่อจะเปลี่ยนแปลงให้ได้

และอันที่ 2 ถ้านักการเมืองเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ การเมืองใหม่ก็จะเกิดขึ้น นั่นก็คือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจากพฤติกรรมแบบนักการเมืองเก่ามาสู้พฤติกรรมแบบนักกาเมืองใหม่ เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นพ้องต้องกันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่เป็นประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้นในการที่จะนำไปสู่การเมืองใหม่ และนำไปสู่การทำให้ระบบการเมืองมั่นคง จึงยืนยันว่าเราไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เห็นว่านักการเมืองควรจะปรับพฤติกรรมให้สอดคล้องกับข้อกำหนดตามรัฐธรรมนูญ เพียงแค่นี้การเมืองก็จะพลิกโฉม

สุริยะใส

ก่อนไปคำถาม เรียนเชิญ อ.สมเกียรติ ชี้แจงถึงการจัดงานสัมมนาสภาพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์

ผมอยากกราบเรียนสื่อมวลชนและพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ และที่อยู่ในต่างประเทศด้วยว่า ขณะนี้สถานการณ์ในประเทศ ทุกฝ่ายตกอยู่ในความเสี่ยง และแกนนำคนสำคัญของรัฐบาล นายกรัฐมนตรี ก็ตกอยู่ในภาวะความเสี่ยงด้วย ถือว่าเป็นบุคคลหมายเลข 1 สิ่งที่สะท้อนว่านายกรัฐมนตรีตกอยู่ในภาวะความเสี่ยง ก็คือ การต้องไปอาศัยนอนบ้านแม่ทัพภาคที่ 1 นี่สะท้อนว่าระดับผู้นำประเทศไปหาที่นอนยากลำบากแล้ว ยังเป็นปรากฏการณ์ว่ากลุ่มเหิมเกริม กลุ่มอันธพาลทางการเมืองได้สยายปีก และจะจัดการกับคนสำคัญของประเทศ และคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ถูกลอบสังหาร

ประเด็นที่ 2 ที่ยืนยันว่านายกรัฐมนตรีตกอยู่ในภาวะคนเสี่ยง ก็คือ มีการเปลี่ยนหน่วยรักษาความปลอดภัยใหม่ สองปัจจัยนี้ทำให้การเมืองไม่นิ่งพอ ประกอบกับขณะนี้การพ่ายแพ้ของระบอบทักษิณในเชิงยุทธวิธี ในช่วงสงกรานต์เลือด สงกรานต์เดือด ทำให้ระบอบทักษิณต้องปรับยุทธวิธีใหม่ ยุทธวิธีที่เราเชื่อว่าจะเกิดขึ้นก็คือ การพุ่งโจมตีตามถ้อยแถลงของโฆษกของขบวนการนี้ คือจักรภพ เพ็ญแข ว่าอาจจำเป็นต้องใช้อาวุธในการโจมตี ย้ำ 2 ครั้ง ในวันที่ 23 เมษายน และวันที่ 27 เมษายน และที่สำคัญที่สุดก็คือ การย้ายความขัดแย้งไปอยู่ในสภา เมื่อก่อนความขัดแย้งอยู่นอกสภา ตอนนี้ความขัดแย้งนี่ขัดแย้งกันอย่างหนักในสภา โดยโยนปมเงื่อนไป 2 ปมเงื่อน ก็คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการนิรโทษกรรมนักโทษที่ถูกยุบพรรค รวมทั้งคดีอาญาด้วย สองปัจจัยนี้จะทำให้สภายุ่งเหยิงภายใน 1-3 เดือนข้างหน้า

และทันทีที่ตั้งคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติฯ ท่านทั้งหลายเชื่ออาการนี้ไหมครับ ส.ว.40 คน ลงมาตึกรัฐสภาข้างล่าง แถลงข่าวคัดค้านทันทีเลย แสดงว่าสัญญาณการต่อสู้ในรัฐสภาเข้มข้นขึ้น เพราะฉะนั้นรัฐสภาจะกลายเป็นเวทีความขัดแย้งใหม่

ในคำถามที่ควรจะให้คำตอบไปเลยก็คือว่า จุดยืนพันธมิตรฯ คืออะไร จุดยืนพันธมิตรฯ ก็เป็นจุดยืนที่จะประกาศในวันที่ 24 และ 25 พฤษภาฯ ที่จะมีการประชุมสภาพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่อิมแพค เมืองทองธานี ที่จะมีมวลชนจำนวนมากได้มาประชุมและมีมติสำคัญในสถานการณ์ของบ้านเมือง ผมยังจะไม่พูดล่วงหน้าว่าในเรื่องรัฐธรรมนูญ นิรโทษกรรม ที่ประชุมใหญ่เขาจะเอายังไง แต่เชื่อโดยการเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 48-79-50-51-52 เป็นต้นมา มติมันจะออกไปในทิศทางใด เพราะฉะนั้นจุดยืนที่หนักแน่นที่สุดก็คือ โปรดรอฟังมติในวันที่ 25 พฤษภาคม ที่อิมแพค เมืองทองธานี ขอให้พี่น้องพันธมิตรฯ ทั่วประเทศมาสำแดงกำลังกันโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ในห้องประชุม อย่างเปิดเผย ถึงความห่วงใยชาติบ้านเมือง ถึงจุดยืนของเราในสถานการณ์ที่ความรุนแรงได้เข้าไปเยือนในรัฐสภาแล้ว

รายละเอียดทั้งหลายเดี๋ยวจะมอบให้ผู้ประสานงาน สุริยะใส กตะศิลา จะบอกว่าพี่น้องประชาชนจะเตรียมอย่างไรบ้าง ส่วนตอนนี้ผมอยากให้ท่าน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ได้พูดอะไรกับพี่น้องประชาชนนิดหน่อย

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง

เหตุการณ์ที่บานปลายมาจนถึงวันนี้ก็เป็นเพราะว่ารัฐบาลไม่กล้าที่จะใช้กฎหมาย การใช้กฎหมายนั้นไม่ได้หมายความว่าต้องทำให้ใครบาดเจ็บต้องทำให้ใครล้มตาย คือใครทำผิดก็จับ พวกเราถูกดำเนินคดีมาตลอดเวลา ตลอดระยะเวลาที่เราได้ร่วมชุมนุมกันมา เราก็ไม่เห็นทุกข์ร้อนอะไร เพราะฉะนั้นถ้ารัฐบาลใช้ความกล้าหาญตั้งแต่แรก เหตุการณ์จะไม่บานปลายจนถึงวันนี้ ที่ทำให้การประชุมสุดยอดอาเซียนต้องล้มไป ที่ทำให้ผู้นำของรัฐบาลต้องถูกไล่ตีไล่ทุบ สารพัดสารพัน จนกระทั่งมีการลอบสังหารคุณสนธิและคณะ ทั้งหมดนี้เนื่องมาจากรัฐบาลไม่ยอมใช้ความกล้าหาญในการใช้กฎหมายเลย ถ้าใช้กฎหมายมาตั้งแต่ต้นคงจะไม่มีอะไรบานปลายมาถึงขณะนี้

สุริยะใส กตะศิลา

ก่อนคำถาม ผมแจงรายละเอียดการจัดงานวันที่ 24-25 พฤษภาคม ก่อนนะครับ ในวันที่ 24 จะเป็นการจัดสัมมนาสภาพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในรูปแบบการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากแกนนำ จากกลุ่มองค์กรแนวร่วมต่างๆ ที่ร่วมเคลื่อนไหวกับพันธมิตรฯ มา ซึ่งเราเชิญทุกจังหวัด แต่ละจังหวัดประมาณ 10 คน และทุกองค์กร ก็อยากฝากไปถึงแนวร่วมและพี่น้องพันธมิตรฯ ในทุกจังหวัดที่มีกลุ่ม มีองค์กรที่จัดตั้งกันมา ร่วมต่อสู้กับเรา ให้ส่งตัวแทนมาโดยประสานมาทางผม หรือทางมูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดิน และย้ำว่า ทุกกลุ่มมีสิทธิ์ส่งตัวแทนเพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่มมากที่สุด

วันที่ 25 จะเป็นงานครบรอบ 1 ปีในการชุมนุมยืดเยื้อ 193 วัน ซึ่งวันที่ 25 พฤษภาคม เป็นวันนับหนึ่ง เป็นวันแรกที่เราชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และการจัดงานวันที่ 25 จะมีการมีส่วนร่วมขององค์กร ของแนวร่วมกลุ่มต่างๆ มีขบวนพาเหรด มีการสะท้อนปัญหา และมีการอ่านคำประกาศของที่ประชุมวันที่ 24 รวมทั้งจะมีการสอบถามความเห็นของพี่น้องที่มาร่วมงานในวันนั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการตั้งพรรคการเมือง รวมทั้งเรื่องท่าทีหรือการเคลื่อนไหวหากจะมีการนิรโทษกรรม การแก้รัฐธรรมนูญ

ถาม-ตอบ

ถาม - 24-25 จะมีระยะเวลาอย่างไร ประชุมข้ามคืนต่อกันไปเลย หรือวันหนึ่งจบแล้วต่ออีกวัน

สุริยะใส - 24 แค่ครึ่งวัน เพราะช่วงเย็นเราต้องจัดเตรียมสถานที่เพื่อเตรียมงานใหญ่ 25 25 นี่จะตั้งแต่บ่าย 3 ถึงเกือบๆ จะเที่ยงคืน คาดว่า 1-2 วันนี้กำหนดการคงออกได้ อาจจะมีการถ่ายทอดสดทาง ASTV ด้วย

ถาม - ก่อนจะถึงวันที่ 24-25 กระบวนการการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลต้องเดินหน้าอยู่แล้ว คณะกรรมการก็ตั้งแล้ว 2 ชุด มันจะสายเกินไปไหมที่จะไปประกาศจุดยืนเอาวันที่ 24-25 ว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งดำเนินการไปตามกระบวนการของรัฐสภา ที่พันธมิตรฯ บอกก่อนหน้านี้ว่ามันควรจะเดินหน้าไปตามกระบวนการของรัฐสภา

สมศักดิ์ - ที่จริงเราก็ยังยืนยันประกาศจุดยืนมาโดยตลอด รวมทั้งวันนี้ด้วย ว่าเราไม่เห็นด้วย แต่ว่าการประชุมในวันที่ 24 นั้นพูดถึง วิเคราะห์สถานการทั่วไป ถึงวิธีการที่จะกำหนดมาตรการในอนาคตว่าจะใช้อะไร อย่างไร ซึ่งเราจะมองไปตามสถานการณ์ อันนี้ก็ต้องรับรู้ร่วมกัน เพราะว่าเราเสียชีวิตมาแล้วนับตั้งแต่วันที่ 7 บาดเจ็บ 7-8 ร้อยคน เพราะเรื่องนี้ เราก็ต้องการให้กระบวนการยุติธรรมเดินไปตามปกติ เพราะฉะนั้นวันที่ 24 ก็คงเป็นการพูดถึงรายละเอียดว่าเป้าหมายในการดำเนินการอย่างไร แต่หลักการเราประกาศอยู่ตลอด เพราะนี่เป็นคำแถลงเดิมของพันธมิตรฯ

พิภพ - ผมไม่ห่วงที่ผู้สื่อข่าวถามนะครับ เพราะกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญที่รัฐสภากำลังดำเนินการอยู่นั้น ผมคิดว่าไม่มีทางสำเร็จ เพราะไม่มีกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง อันที่ 2 สังคมไทยได้เห็นโจทย์ของปัญหาการเมืองแล้ว ว่าโจทย์ใหญ่ไม่ใช่เรื่องรัฐธรรมนูญ โจทย์ใหญ่เป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการควบคุมพฤติกรรมของนักการเมือง และสังคมไทยก็เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ซึ่งพัฒนามาจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และเป็นรัฐธรรมนูญที่ลงประชามตินั้น ต้องการกำกับพฤติกรรมของนักการเมืองมากขึ้น ประเด็นอยู่ที่ว่าเราจะกำกับพฤติกรรมของนักการเมืองให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดได้อย่างไร นี่เป็นโจทก์ เพราะฉะนั้นเมื่อโจทย์ของสังคมไทยเคลื่อนตัวจากรัฐธรรมนูญมาสู่เรื่องการกำกับรัฐธรรมนูญไปกำกับพฤติกรรมของนักการเมือง การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สภากำลังทำอยู่นั้นไม่มีทางสำเร็จ

และอันที่ 2 ก็คือ จากการประชุมสภาที่ท่านนายกฯ ได้ขอต่อประธานรัฐสภาให้เปิดเพื่อแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ก็จะเห็นได้ว่า ส.ส.มากกว่าครึ่งเต็มไปด้วยการพูดเท็จในสภา เพราะฉะนั้นเมื่อสภาเต็มไปด้วยคนที่พูดเท็จ การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สามารถที่จะไปเปลี่ยนแปลงการเมืองให้เป็นการเมืองที่ดีขึ้นได้ นอกจากกำกับให้รัฐธรรมนูญมีพลานุภาพที่จะกำกับพฤติกรรมของนักการเมือง และโจทยก์ที่สังคมไทยลืมไปนะครับ รัฐธรรมนูญออกมา 2 ฉบับ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญยังมีไม่ครบ ถ้ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญยังมีไม่ครบ การกำกับพฤติกรรมของนักการเมืองก็ยังทำได้ลำบาก เพราะฉะนั้นโจทย์ของสังคมมันเปลี่ยนไปแล้ว แต่สภาตามไม่ทันกับสังคมที่ได้เปลี่ยนแปลงไป

สมศักดิ์ - คือปัญหา รัฐบาลควรจะไปแก้ปัญหาเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และปัญหาเศรษฐกิจก่อน กรณีควรจะเร่งรัดจับกุมผู้ร้าย เมื่อกี้คุณสนธิได้แถลงแล้วว่าเป็นคนมีสี ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง เป็นเรื่องที่รัฐบาลหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ถ้าเป็นทหาร ผบ.ทบ. หรือรัฐมนตรีฯ กลาโหม ก็ควรจะต้องเร่งรัดดำเนินการเอาคนเหล่านี้มาลงโทษ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าประเทศนี้ยังมีความปลอดภัยอยู่ นี่เป็นเรื่องสำคัญนะครับ ถ้าคุณแก้ปัญหาเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินไม่ได้ ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจก็กลับไปลำบาก ฉะนั้นต้องดูว่าเรื่องไหนที่สำคัญ ควรจะทำก่อน เรื่องไหนที่ควรจะทำหลัง

ถาม - มีรูปแบบในการที่จะคัดค้านหรือขัดขวางกระบวนการที่ดำเนินการอยู่อย่างไร

สมศักดิ์ - เป็นไปตามสถานการณ์ แต่เราจะพูดคุยและเกาะติดสถานการณ์ดูว่าเขาทำอะไรไปถึงไหน แต่เป้าหมายของเรา เราไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งในการที่จะแก้และครอบคลุมไปถึงการนิรโทษกรรมของพวกนักการเมืองที่ควรจะหมดสภาพไปได้แล้ว เพราะการเมืองเหล่านี้มันเกี่ยวข้องกับคดีอายา ถ้าคุณทักษิณไม่ได้โกงการเลือกตั้งมา ก็ไม่ได้เป็นนายกฯ ไม่ได้เป็นนายกฯ ก็ไม่ได้โกงที่ดินรัชดาฯ ศาลก็ไม่มีคำพิพากษาให้จำคุก นี่เห็นง่ายๆ ว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ไม่ใช่บอกว่าคดีการเมืองอีกเรื่องหนึ่ง คดีอาญาอีกเรื่องหนึ่ง มันไม่ใช่ เป็นเรื่องเดียวกัน

สมเกียรติ - ไม่สายเกินไปนะครับ เพราะว่าพลังที่จะชี้ขาดคือพลังข้างนอก พลานุภาพของนักการเมืองในสภาที่ทำกันตามลำพังไม่อาจจะฝ่าข้ามกระแสของสังคมได้ ผมอยู่ในพรรคการเมืองก็มีความไม่ลงตัวสูงยิ่ง ในระดับสูงยิ่ง ผมเรียกว่าความไม่ลงตัวแห่งชาติ ไม่ใช่ว่าในนั้นจะมีแต่คนเห็นด้วยทั้งหมด ซึ่งจะทยอยออกมาเรื่อยๆ ตอนนี้เราก็เห็นท่าทีตามสื่อมวลชน ว่าอดีตนายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย กับคุณบัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรคฯ คัดค้านแล้ว แล้วอดีตหัวหน้าพรรคฯ บัญญัติ บรรทัดฐาน ก็แสดงจุดยืนอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดผ่านสื่อสาธารณะ เพราะฉะนั้นความไม่ลงตัวแห่งชาติมีสูงยิ่ง ผมว่าไม่สายเกินไป และพลังของประชาชนจะชี้ขาดเอง ไม่ใช่คนในสภาเออออกันเอง แก้ไขกันเอง แล้วก็ไปแก้ไข ผมคิดว่าไม่มีทางเป็นไปได้

ถาม - เป็นไปได้ไหมจะเห็นภาพการชุมนุมยืดเยื้อ

สุริยะใส - สถานการณ์จะเป็นตัวกำหนด เรายังไม่ได้คิดไกลขนาดนั้น

ถาม - พอจะสรุปได้ไหมว่า ถ้าสมมุติคณะกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เสนอว่า 190 แก้แน่ 237 แก้แน่ พันธมิตรฯ จะเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลชุดนี้

ตอบ - เจอกันแน่ แน่นอน

ถาม - แต่ว่ายังเดินตามสถานการณ์

สุริยะใส - คือเราต้องเข้าใจวิธีทำงานของกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ เขาตั้งกรอบ 45 วัน เสร็จปั๊บไม่ได้หมายความว่าแก้ได้เลย ต้องไปผ่านกระบวนการทางรัฐสภา คำถามก็คือว่ากระบวนการทางรัฐสภามีกี่แบบ แบบหนึ่งก็คือประชุมกันเอง 2 สภา อีกแบบหนึ่งก็คือโยนโจทย์มาให้สังคมวิจารณ์ รับฟังความคิดเห็น ซึ่งอาจจะใช้เวลานานก็ได้ ซึ่งผมก็ยังไม่รู้ว่าจะต้อง 3 เดือน 5 เดือน หรืออาจจะเป็นปีด้วยซ้ำ ฉะนั้นทั้งหมดมันยังไปตั้งธงไม่ได้ว่าต้องชุมนุม ต้องคัดค้านอะไร ต้องดูสถานการณ์อีกที

ถาม - (เสียงไม่ชัดเจน)

สุริยะใส - พันธมิตรฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญของนักการเมือง แต่ว่าเราสนับสนุนการปฏิรูปการเมือง โดยเฉพาะการเมืองใหม่ แต่วิธีที่สภากำลังทำอยู่นั้นเป็นการริเริ่มของนักเลือกตั้ง อย่างที่ อ.สมเกียรติ ตั้งข้อสังเกตว่า การริเริ่มปฏิรูปการเมืองโดยนักเลือกตั้ง หรือนักการเมือง มันไปไม่รอด ที่มันสำเร็จ 40 ก็เพราะเริ่มต้นจากนอกสภา เริ่มต้นจากประชาชน แต่ถ้าเริ่มต้นจากนักการเมืองไปไม่รอดหรอก คุณพิภพก็ตั้งข้อสังเกตว่าสุดท้ายมันจะเป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้นเอง

ถาม - ทางออกทางไหนที่คิดว่าจะทำให้เกิดการสมานฉันท์ในสังคม ถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญ

สมศักดิ์ - มันไม่ยากหรอก เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ถ้าเรายอมรับกระบวนการยุติธรรม ทุกอย่างก็จบ พวกเรานี่ยอมรับนะครับ ถ้าตัดสินเราติดคุกเราก็จะติด แต่ไม่ว่าพวกคุณติดคุกแล้วคุณบอกว่ามานิรโทษกรรม ไม่ต้องติด แล้วก็มาบอกว่านี่คือสมานฉันท์ สมานฉันท์แบบนี้มันสมานฉันท์กับโจร มันไม่ใช่อนาคต สมานฉันท์จะต้องเริ่มต้นด้วยกระบวนการความยุติธรรมที่ทุกคนต้องยอมรับ แต่ไม่ใช่ใครทำผิดแล้วก็นิรโทษกรรม อย่างนี้ คุณก็ต้องให้ 2-3 แสนคนที่อยู่ในคุก นิรโทษกรรมเขาด้วยสิ เพราะมันลักเล็กขโมยน้อย แต่นี่ปล้นชาติ จะไปออกกฎหมายนิรโทษกรรมได้อย่างไร ฉะนั้นคำว่าสมานฉันท์ก็ต้องใช้ความถูกต้องมาเป็นพื้นฐาน แต่ไม่ใช่ผิดแล้วก็หยุดกันนะ ไม่เอาเรื่องกันนะ แล้วสังคมจะอยู่ได้อย่างไร ศีลธรรมไม่มีสังคมจะอยู่ได้อย่างไร ฉะนั้นต้องเข้าใจเรื่องคำว่าสมานฉันท์ ต้องเริ่มต้นกับความถูกต้อง คนทำผิดก็ต้องได้รับการลงโทษ เมื่อถูกลงโทษแล้ว อย่างน้อยก็ได้รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรชั่ว อะไรดี แต่ไม่ใช่จู่ๆ ก็ยกเลิกกันไป ไม่ต้องพูด สังคมก็ล้ม ล่มสลาย ถ้าคิดแบบนี้ก็อยู่ไม่ได้

ถาม -(เสียงไม่ชัดเจน)

สุริยะใส - รอหารือ 24-25 เรื่องนี้ก็จะเป็นเรื่องหนึ่งที่จะมีการหารือกันอย่างเป็นทางการ

ถาม - สรุปได้ ณ วันนั้นจะมีการประกาศ...

สุริยะใส - วันนั้นจะมีการประกาศออกมาเห็นด้วย/ไม่เห็นด้วย เป็นมติ หรือแค่ไหน อย่างไร จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 25 พฤษภาคม ตรงนั้นเข้าใจว่าจะมีคนร่วมหลายหมื่น

ถาม -(เสียงไม่ชัดเจน)

สุริยะใส - เราส่งสัญญาณและสื่อสารถึงท่านนายกฯ มาตลอดว่านี่เป็นจุดอ่อนของรัฐบาล ถ้าท่านนายกฯ ไม่เห็นก็ช่วยไม่ได้ ต้องหาที่นอนใหม่ อ.สมเกียรติ บอก

สมศักดิ์ - ขอประชาสัมพันธ์พี่น้องเครือข่ายพันธมิตรฯ ทั่วประเทศ วันที่ 25 ขอให้มากันให้เต็มที่ เพื่อจะได้มีส่วนร่วมตามหลักประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มีมือตบก็พามาด้วยนะครับ แต่คิดว่าแก๊สน้ำตา แว่นตา เที่ยวนี้ยังไม่น่าจะเป็นอะไร เอาเก็บไว้ก่อน เอามือตบมาอย่างเดียว ได้ฟังแล้วเตรียมตัวนะครับ มีเวลามาทำหน้าที่ใช้หนี้แผ่นดินและมาทำบุญ









กำลังโหลดความคิดเห็น