ความร้อนแรงทางการเมืองในช่วงวันสงกรานต์ ที่กลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงได้รวมตัวกันขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถึงแม้จะเพิ่งจบไปได้ไม่นาน แต่คล้ายว่าจะเป็นแค่การเปลี่ยนเวทีประลองกำลังจากนอกสภามาเป็นในสภา นำมาซึ่งการที่รัฐบาลขอให้มีการเปิดประชุมร่วม 2 สภา วาระอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ของรัฐสภาเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน เรื่องสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ในระหว่างวันที่ 22-23 เมษายน 2552 ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 179
การเปิดประชุมสภาในครั้งนี้เจตนารมณ์เพื่อลดความขัดแย้งของบ้านเมือง เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายตรวจสอบความจริงและหาทางออกให้ประเทศ กับสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศช่วงที่ผ่านมา หรือ “สงกรานต์จลาจล”
การประชุมสภาครั้งนี้จะเป็นการชิงความชอบธรรมในด้านมวลชนของฝ่าย “รัฐบาล” กับฝ่าย “เสื้อแดงใส่สูท” อีกทางหนึ่ง
โดยฝ่ายค้านได้อ้างประเด็นเรื่องที่รัฐบาลได้ก่อเหตุรุนแรงกับผู้ชุมนุมมาโจมตีรัฐบาลอย่างดุเดือด หลังจากที่นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ ได้ตัดสินใจประกาศใช้พระราชบัญญัติบริหารแผ่นดินในภาวะฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2552 เนื่องจากเห็นว่าผู้ชุมนุมได้ใช้ความรุนแรงในการชุมนุมประท้วงเกินขอบเขตการชุมนุมอย่างสงบตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ
ซึ่งปรากฏชัดเจนตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน-13 เมษายน ทั้งการเข้าบุกสถานที่จัดประชุมอาเซียนซัมมิต การปิดล้อมศาลสถานที่ราชการ และการปิดถนนบริเวณอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
ประเด็นร้อนหนึ่งที่ถูกนำขึ้นมาถกกันอย่างดุเดือดในสภา เป็นกรณีกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดง ได้นำรถแก๊สแอลพีจี 3 คัน มาปิดถนนขับเข้ามาจอดใน 3 จุด คือ บริเวณหน้าแฟลตดินแดง, บริษัท คิงพาวเวอร์ ซอยรางน้ำ และบริเวณโรงพยาบาลสงฆ์ เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2552
ไฮไลท์ของวันนั้นประชาชนที่ติดตามข่าวสารบ้านเมือง โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในย่านสามเหลี่ยมดินแดง ต่างเฝ้าดูเหตุการณ์ระทึกขวัญของการชุมนุม ที่ทางทหาร ตำรวจได้นำกำลังเข้ายึดและเคลียร์พื้นที่บริเวณแฟลตดินแดน หลังจากที่กลุ่มเสื้อแดงเคลื่อนย้ายรถ10 ล้อบรรทุกแก๊สมาปิดล้อมบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงจนเจ้าหน้าที่ทหารได้ตั้งแนวรับกับกลุ่มม็อบเสื้อแดงและได้มีการเผชิญหน้ากัน ซึ่งทางกลุ่มเสื้อแดงขู่ว่าถ้าทางเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้าสลายการชุมนุม
จะจุดระเบิดทันที
นำมาซึ่งความเดือดร้อนของประชาชนชาวแฟลตดินแดง ที่ออกมาแสดงความไม่พอใจต่อกลุ่มคนเสื้อแดง จนชาวบ้านได้ปลุกประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณดังกล่าวออกมาขับไล่กลุ่มคนเสื้อแดง ให้นำรถแก็สออกไปจากพื้นที่เนื่องจากเกรงว่าจะได้รับความเสียหายต่อทรัพย์สิน ที่อยู่อาศัยและชีวิตของตัวเอง
หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2533 หลายคนคงจำเหตุการณ์ “โศกนาฏกรรมรถแก๊สระเบิด” สะเทือนขวัญครั้งใหญ่คนทั้งประเทศ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2533 เกิดอุบัติเหตุรถบรรทุกก๊าซของบริษัทแก๊สสยามระเบิดบริเวณถนนเพชรบุรีตัดใหม่ตัดกับถนนวิทยุ เมื่อกลางดึกของค่ำคืนนั้น ทำให้ถนนบริเวณดังกล่าวกลายเป็นทะเลเพลิงในชั่วพริบตา
ความสูญเสียจากอุบัติเหตุร้ายแรงครั้งนั้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 102 คน บาดเจ็บอีกนับร้อยคน ตึกแถว 3 ชั้น เสียหาย 38 คูหา หอพักและชุมชนแออัดด้านหลังถูกเผาวอดกว่า 2 ไร่ บ้านเรือนเสียหายกว่าร้อยหลัง
นับเป็นฝันร้าย ที่คอยหลอกหลอนประชาชนโดยทั่วไป เกี่ยวกับเรื่องมหันตภัยรถก๊าซ ที่ภาพของผู้เคราะห์ร้ายที่ถูกเปลวเพลิงแผดเผาอย่างทรมาน เป็นภาพอันน่าสังเวชติดตรึงคนไทยทั้งประเทศ ที่ยากจะลืมเลือน
หากลองมาดูรายละเอียดความรุนแรงของอานุภาพการระเบิดของก๊าซ ที่นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข พ.ญ.วารุณี จินารัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี และ นพ.ประจักษ์วิช เล็บนาค รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ร่วมกันแถลงเกี่ยวกับภัยของแก๊สหุงต้มว่าแก๊สที่ว่านี้เรียกว่าแก๊สแอลพีจี นำมาใช้เป็นแก๊สหุงต้ม จัดเป็นแก๊สไวไฟ มีลักษณะเป็นของเหลว
เมื่อเกิดการเผาไหม้และขยายตัวอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นการระเบิดของแก๊ส ภาชนะบรรจุก็จะกระเด็นด้วยแรงระเบิด ถ้าเป็นกระป๋องสเปรย์รัศมีพุ่งได้ประมาณ 10-15 เมตร สำหรับถังแก๊สขนาด 15 ลูกบาศก์เมตร สามารถพุ่งออกไปได้ภายในรัศมีประมาณ 300-600 เมตร ซึ่งแก๊สแอลพีจี อาจทำให้ติดไฟได้และขยายตัวเมื่ออุณหภูมิสูงจะเปลี่ยนสถานะจากของเหลวกลายเป็นไอ สามารถขยายตัวประมาณ 250 เท่า
“การใช้แก๊สเป็นเรื่องน่ากลัว หากแก๊สในถังระเบิดออกมาในอากาศ โอกาสหนีรอดน้อยมากหากอยู่ใกล้กับจุดระเบิด เพราะจะมีแรงดันที่เป็นพลังเมื่อเปรียบเทียบแรงระเบิดของแก๊ส สามารถทำลายอวัยวะภายในได้ และหากอยู่ไกลจากจุดระเบิด แรงดันแก๊สจะน้อยลง ทำให้แก้วหูทะลุ หรือทำให้ผิวหนังไหม้จากเปลวไฟได้”
รถแก๊สที่กลุ่มคนเสื้อแดงนำมาปิดถนนบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงนั้น บรรจุก๊าซกว่า 8,000 กก. โดยนำมาจอดขวางการชุมนุม รวมทั้งพร้อมขู่จุดระเบิดรถแก๊สตอบโต้ฝ่ายที่จะเข้าสลายทันที ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจะมีมากมายอย่างที่ไม่มีใครอยากให้เกิด ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าว ผู้ชุมนุมยังคงมีอารมณ์ร่วมของการชุมนุมอย่างเต็มที่ รวมไปถึงทางรัฐบาลก็ได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินให้พื้นที่บริเวณนั้นเป็นจุดภาวะฉุกเฉินจนต้องมีการเผชิญหน้ากันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจที่ต้องใช้มาตรการควบคุมที่ต้องอาศัยความเข็มแข็งมากกว่าปกติในการปราบปรามเพื่อให้เกิดความสงบโดยไว ซึ่ง ณ ขณะเวลานั้นความรุนแรงที่ไม่คาดคิดอาจจะเกิดขึ้นได้ซึ่งมีเหตุปัจจัยที่เอื้อพร้อมอยู่แล้ว
จึงไม่น่าแปลกใจ หากว่าประชาชนที่อาศัยอยู่ละแวกนั้นจะออกมาลุกฮือต่อต้านขับไล่การชุมนุมที่กระทบต่อความเดือดร้อนของประชาชนทั่วไป และไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการชุมนุมโดยสงบตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
แต่ในการประชุมสภาที่ผ่านมา ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่ปลุกปั่นกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงให้ออกมาร่วมชุมนุมขับไล่รัฐบาล กลับชี้แจงในสภาโดยให้การปฏิเสธในทุกสิ่งที่กลุ่มเสื้อแดงได้ทำการรุนแรงต่อบ้านเมือง อาทิ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่อภิปรายว่า การชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงทำไปโดยบริสุทธิ์ ไม่มีการเตรียมการก่อความวุ่นวาย แต่เป็นการสร้างสถานการณ์ของกลุ่มอื่นที่เข้ามาแทรกแซง
ส.ส. อีกหลายคนของพรรคเพื่อไทยพยายามที่จะโยนบาปปัดความรับผิดชอบให้กับบุคคลที่สาม เป็นการสวนทางกันอย่างชัดเจนในยุทธศาสตร์และการกระทำของ “แม่ทัพใหญ่” และ “แกนนำ นปช. “ ที่พยายามปลุกระดมมวลชนเสื้อแดง ให้เกิดอารมณ์เกลียดชังรัฐบาล อีกทั้งบนเวทีปราศรัยก็ไม่ได้มีการประกาศก่อนเลยว่าหากเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นจะไม่ใช่เป็นการกระทำของกลุ่มคนเสื้อแดง แต่พอมาเกิดเหตุการณ์หลายต่อหลายอย่างในทางลบของการชุมนุมกลับโยนบาปให้กับกลุ่มคนอื่นที่อ้างมาเป็น “แดงปลอม” อาศัยช่วงไม่สงบของบ้านเมืองก่อเหตุความไม่สงบ
คำอภิปรายชี้แจงโดยสรุป ของ ส.ส. เพื่อไทย ในการประชุมร่วมสองสภา เป็นการปัดความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิงที่อ้างว่าเหตุการณ์การชุมนุมที่รุนแรงทั้งหมดนั้นเป็นการ “จัดฉาก”
ถึงแม้ว่า“สงครามการเมือง” ที่เพิ่งผ่านพ้นไปจะสงบลงไปแล้ว แต่ทุกฝ่ายยังคงเชื่อว่าเมื่อใดที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังไม่หยุด ยังคงต้องการทวงอำนาจและทรัพย์สินที่ได้มาจากการทุจริต ผ่านวาทกรรมอันสวยหรูที่ว่า เพื่อปกป้องทวงคืนประชาธิปไตย แต่ พ.ต.ท. ทักษิณ ก็มิได้ห่วงความปลอดภัยในชีวิตของบรรดาสาวกที่เทิดทูลเขาเลยแม้แต่น้อย ยังคงปลุกระดมให้ออกมาก่อความรุนแรง และอาจนำมาซึ่งเหตุโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่ประเทศไทยเคยมีบทเรียนมาแล้ว
คนที่คิดและทำได้ในกรณีนำรถแก๊สมาเป็นเครื่องมือต่อรองกับรัฐบาลหรือสังคม ย่อมมีหัวใจที่โหดอำมหิตเหนือคนธรรมดา
การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่เพิ่งจะจบไปครั้งนี้ แต่คงไม่ใช่การชุมนุมครั้งสุดท้าย แน่นอนว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ยังต้องอาศัยพลังมวลชนให้ออกมาต่อสู้แทนตนเอง แต่ทว่าการต่อสู้ให้ได้ชัยชนะมาในวิถีทางประชาธิปไตย อย่างที่กล่าวอ้างกันนั้น หากต้องแลกกับเลือดเนื้อความสูญเสียคนคนไทยด้วยกันมันจะคุ้มกันหรือกับการต่อสู้เพื่อคนๆเดียว
กลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงโปรดไตร่ตรองและพิจารณา