xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : ถอนฟ้อง “สมชาย-ตร.(ฆ่า ปชช.)”...เพื่อความสมานฉันท์งั้นหรือ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ ถูก ป.ป.ช.ตั้งข้อกล่าวหาว่าผิดอาญา ม.157 กรณี 7 ต.ค.
อมรรัตน์ ล้อถิรธร.......รายงาน

คดี 7 ตุลาเลือด ที่ ตร.ฆ่าประชาชน โดยมีนายกฯ เลือดเย็นอย่าง “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” เป็นผู้สั่งการ ดูท่าจะต้องรอความหวังจาก “ป.ป.ช.” สถานเดียวว่า ที่สุดแล้วจะชี้มูลความผิดใครบ้าง เพราะคดีที่เคยไปถึงมือศาล จากการฟ้องของทนายคนหนึ่ง ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้เสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าว จนลุกขึ้นมาฟ้องเอาผิดทั้ง “สมชาย-พัชรวาท-จงรัก-สุชาติ-อำนวย” นั้น ล่าสุด กลับถอนฟ้องเอาง่ายๆ โดยอ้างคำพูดที่สวยหรูว่า “เพื่อความสมานฉันท์และความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง” คำถามที่ผู้คนคลางแคลง ก็คือ การถอนฟ้องที่เอื้อประโยชน์ต่อจำเลยเหล่านี้ เป็นเจตนาดีดังปากว่า หรือเป็นเพียงการจับมือ “จัดฉาก” เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์บางอย่างกันแน่

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ

คดีตำรวจยุค รัฐบาล สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ฆ่าประชาชนกรณีใช้ระเบิดแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 จนมีผู้บาดเจ็บเกือบ 500 ราย และเสียชีวิต 2 ราย เริ่มส่อเค้าว่าจะเป็น “มวยล้มต้มคนดู” ในบางส่วนบางคดี

คงจำกันได้ว่า คดี 7 ตุลาเลือดนั้น มี 2 คดีหลักๆ คดีหนึ่งเกิดจากกลุ่มพันธมิตรฯ ร้องไปยัง ป.ป.ช.ให้ไต่สวนเอาผิด ครม.สมชาย และตำรวจที่ทำร้ายประชาชนในวันดังกล่าว ส่วนอีกคดีเกิดจากทนายความคนหนึ่ง (นายสิทธิพร โพธิโสดา) ที่อ้างว่าเป็นผู้เสียหายจากการสลายการชุมนุม 7 ต.ค.ได้ฟ้องต่อศาลอาญาให้ดำเนินคดีนายสมชาย และบิ๊กตำรวจอีก 4 นาย (พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ,พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รอง ผบ.ตร., พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ในขณะนั้น และ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น.) ฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุม เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ

แต่ปรากฏว่า วันนี้กระบวนการตรวจสอบทางศาลถูกตัดตอนลงแล้ว เมื่อจู่ๆ นายสิทธิพร ได้ลุกขึ้นมาถอนฟ้องจำเลยทั้ง 5 แล้ว โดยให้เหตุผลว่า ไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีต่อไป และเพื่อความสมานฉันท์และความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง!?!

หลายคนฟังเหตุผลของ นายสิทธิพร แล้ว คงอึ้งไปตามๆ กัน ไม่คิดว่าถ้า นายสิทธิพร คือทนายที่ได้รับความเสียหายหรือได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ 7 ต.ค.จริงๆ เขาจะตัดสินใจถอนฟ้องผู้ที่กระทำกับเขาง่ายๆ แบบนี้ หรือว่าข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้จะเป็นจริง ที่มีข่าวว่า นายสิทธิพร มีความสนิทสนมกับ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น.ทั้งในแง่ความเป็นเพื่อนและความเป็นคนบ้านเดียวกัน คือ จ.สงขลา!

หากความสัมพันธ์ของบุคคลทั้งสองแน่นแฟ้นเช่นนั้นจริง นั่นหมายความว่า การลุกขึ้นมาฟ้องของนายสิทธิพรครั้งนี้ ก็เป็นเพียง “ปาหี่” ที่ พล.ต.ต.อำนวย จัดฉากขึ้นมา เพียงเพื่อนำมาเป็นข้ออ้างให้ ป.ป.ช.ยุติการไต่สวนคดี 7 ต.ค.เพื่อให้พวกตนพ้นความผิดใช่หรือไม่? เมื่อไม่สามารถทำให้ ป.ป.ช.ยุติการไต่สวนอย่างที่ใจต้องการได้ จึงต้องให้ นายสิทธิพรรีบถอนฟ้องพวกตน เพื่อไม่ให้กระบวนการพิสูจน์ความจริงในศาลเดินหน้าต่อไปได้ การมองเช่นนี้มีเหตุผลที่น่าจะรับฟังได้หรือไม่ ลองไปไล่เรียงความเคลื่อนไหวด้านคดี ทั้งทางฟาก ป.ป.ช.-ฟากนายสิทธิพร และฟากตำรวจกันดูว่า มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงให้น่าเชื่อว่า ตำรวจเตี๊ยมกับนายสิทธิพรจริงหรือไม่?

เริ่มจาก กลุ่มพันธมิตรฯ ยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ไต่สวนกรณี 7 ตุลาเลือด เพื่อเอาผิดผู้เกี่ยวข้องกับการสั่งการและใช้กำลังสลายการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็น นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ ในขณะนั้น และ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.รวมถึงตำรวจระดับรองลงมา ขณะที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็ได้ส่งผลสอบข้อเท็จจริงกรณี 7 ต.ค.เพื่อให้ ป.ป.ช.ใช้ประกอบการพิจารณาและไต่สวนด้วย

ทั้งนี้ ป.ป.ช.ได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาไต่สวนคดีนี้ โดยมี ดร.วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธาน โดยเบื้องต้น ป.ป.ช.มองว่า ตำรวจที่น่าจะเกี่ยวข้องและต้องทำการไต่สวนมี 3 นาย คือ พล.ต.อ.พัชรวาท, พล.ต.ท.สุชาติ และ พล.ต.ต.อำนวย

จากนั้น สังคมก็ได้เห็นความพยายามเล่นแง่ของตำรวจ โดยเฉพาะ พล.ต.ต.อำนวย ที่พยายามจะหยุดยั้งการไต่สวนของ ป.ป.ช.ให้ได้ เริ่มด้วยการที่ พล.ต.ต.อำนวย ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ตำรวจที่จะต้องถูก ป.ป.ช.ไต่สวน ได้ส่งทนายไปฟ้องต่อศาลอาญาให้ดำเนินคดีประธานและกรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 9 คน (7 ม.ค.) โดยอ้างว่า ป.ป.ช.ทั้ง 9 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

โดยคำฟ้องของ พล.ต.ต.อำนวย อ้างว่า ป.ป.ช.ต้องยกเลิกการตั้งอนุกรรมการมาไต่สวนพวกตน เพราะคดีนี้มี นายสิทธิพร โพธิโสดา (ทนายความที่อ้างว่าได้รับความเสียหายจากการสลายการชุมนุม 7 ต.ค.) ไปฟ้องต่อศาลอาญาให้ดำเนินคดีนายสมชาย, พล.ต.อ.พัชรวาท,พล.ต.อ.จงรัก, พล.ต.ท.สุชาติ และตนแล้ว ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันใช้กำลังหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุม เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ซึ่งศาลได้รับฟ้องและนัดไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ในวันที่ 2 มี.ค.ทั้งนี้ พล.ต.ต.อำนวย อ้างว่า เมื่อการฟ้องต่อศาลของนายสิทธิพรเป็นประเด็นเดียวกับที่ ป.ป.ช.ตั้งอนุกรรมการไต่สวนพวกตน ดังนั้น เมื่อศาลรับฟ้องแล้ว ป.ป.ช.จะต้องหยุดไต่สวนกรณีนี้ทันที โดยเป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบ รธน.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 68 แต่เมื่อ ป.ป.ช.ทั้ง 9 ไม่ยุติไต่สวน ย่อมมีความผิดตามมาตรา 157

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ ดร.วิชา มหาคุณ 1 ในกรรมการ ป.ป.ช.ยืนยันว่า ป.ป.ช.ไม่จำเป็นต้องยุติการไต่สวนคดี 7 ต.ค.เพราะ มาตรา 68 ของ พ.ร.บ. ป.ป.ช.ที่ พล.ต.ต.อำนวยอ้างถึงนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ผู้ร้องให้ ป.ป.ช.ไต่สวนและผู้ที่ฟ้องต่อศาลอาญา ต้องเป็นบุคคลคนเดียวกัน แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ก็คือ กลุ่มพันธมิตรฯ เป็นผู้ร้องต่อ ป.ป.ช.ให้ไต่สวนกรณี 7 ต.ค. ซึ่งพันธมิตรฯ ไม่ได้ฟ้องต่อศาล แต่ผู้ที่ไปฟ้องต่อศาล คือ บุคคลอื่นซึ่งเป็นทนายความคนหนึ่ง ซึ่ง ป.ป.ช.ก็เคยชี้แจงเรื่องนี้ให้ พล.ต.ต.อำนวยทราบแล้ว แต่ พล.ต.ต.อำนวยก็ยังข่มขู่ว่า ถ้าไม่หยุดไต่สวน จะฟ้องศาลให้ดำเนินคดี ป.ป.ช.

“เป็นการใช้กฎหมายในการพยายามที่จะทำลายความน่าเชื่อถือและพยายามที่จะทำให้เห็นว่า ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจหรือหมดอำนาจในการทำงาน เราถึงบอกว่าคนละเรื่องกันไง และเราก็ชี้แจงเรื่องนี้ไปแล้ว ก็บอกทางคุณอำนวยที่ข่มขู่เรามาด้วยนะ บอกว่า ถ้าไม่หยุด จะฟ้องมาตรา 157 ต่อศาล (ถาม-เขาขู่มาที่เราโดยตรงหรือว่า?) ขู่มาด้วย บอกให้หยุดเดี๋ยวนี้นะ(หัวเราะ) ถ้าไม่หยุดจะโดน เราอยากจะหยุดเต็มแก่นะ แต่มันหยุดไม่ได้ ขืนหยุดเราก็โดนแน่ ใครจะเล่นงาน ก็พันธมิตรฯ นะสิที่มาร้องเราเนี่ย ใช่เปล่า?”

ด้าน พล.ต.ต.อำนวย ดูเหมือนโชคจะไม่เข้าข้าง เพราะนอกจากจะถูกแฉว่า ข่มขู่ ป.ป.ช.แล้ว ส่วนที่ฟ้อง 9 ป.ป.ช.ต่อศาลไป ปรากฏว่า ศาลก็ไม่รับฟ้องอีก(12 ม.ค.)โดยให้เหตุผลว่า คดีไม่ครบองค์ประกอบความผิด แต่ พล.ต.ต.อำนวย ก็ยังไม่ละความพยายาม โดยได้ยื่นอุทธรณ์คดีนี้ต่อไปแล้ว (20 ก.พ.)

นอกจากการฟ้องศาลเพื่อเป็นเครื่องมือเล่นงาน ป.ป.ช.แล้ว ยังมีตำรวจที่ถูกมองว่าอยู่สาย พ.ต.ท.ทักษิณ ช่วยเดินเกมล่าชื่อตำรวจเพื่อยื่นถอดถอน 9 ป.ป.ช.ด้วย นั่นคือ พล.ต.อ.วิสุทธิ์ กิตติวัฒน์ นายกสมาคมตำรวจและอดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ(เคยทำหนังสือถึงผู้กำกับทุกโรงพักทั่วประเทศให้เลือกพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้ง 2 เม.ย.2549 เพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณได้เป็นนายกฯ อีกสมัย)

ด้าน ป.ป.ช.ยังคงทำหน้าที่ไต่สวนคดี 7 ต.ค.ต่อไป โดยหลังจากถูกตำรวจพยายามดิสเครดิตความน่าเชื่อถือ ป.ป.ช.จึงได้มีมติเปลี่ยนจากให้อนุกรรมการไต่สวนคดีนี้ มาเป็นคณะกรรมการไต่สวน โดยมีกรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 9 เป็นคณะกรรมการ ทั้งนี้ หลังไต่สวนพยานผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายแล้ว คณะกรรมการเห็นควรแจ้งข้อกล่าวหาผู้เกี่ยวข้อง 7 คน ประกอบด้วย 1.นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ ในขณะนั้น มีความผิดทางอาญามาตรา 157 2.พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกฯ ในขณะนั้น มีความผิดทางอาญามาตรา 157 3.พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มีความผิดทางวินัย ฐานประมาทเลินเล่อ แต่ไม่ผิดอาญา 4.พล.ต.อ.วิโรจน์ พหลเวชช์ รอง ผบ.ตร.มีความผิดทางวินัย 5.พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ในขณะนั้น มีความผิดทั้งทางวินัยและอาญา 6.พล.ต.ต.ลิขิต กลิ่นอวล รอง ผบช.น.มีความผิดทั้งทางวินัยและอาญา และ 7.พล.ต.ต.เอกรัตน์ มีปรีชา รอง ผบช.น.มีความผิดทั้งทางวินัยและอาญา ส่วน พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น.นั้น ป.ป.ช.สรุปว่าไม่มีความผิด เนื่องจากมีหลักฐานว่า ในวันดังกล่าว (7 ต.ค.) พล.ต.ต.อำนวย ได้ขอผลัดเวรกับ พล.ต.ต.เอกรัตน์ เพื่อไปจัดงานศพบิดา จึงไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหา

ดร.วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.และ 1 ในคณะกรรมการไต่สวนคดี 7 ต.ค.เผยวิทยุ ASTVผู้จัดการ ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างให้ผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาทั้ง 7 คน ได้แก้ข้อกล่าวหา ซึ่งจะมีเวลาแก้ข้อกล่าวหาจนถึงวันที่ 6 พ.ค.นี้ และยังไม่สามารถบอกได้ว่า คณะกรรมการฯ จะชี้มูลคดีนี้เมื่อใด แต่คาดว่าต้องใช้เวลาไต่สวนพยานอีก 1-2 เดือน

“ต้องดูว่าเขาจะอ้างพยานหลักฐานอะไรมั้ย เขาก็มีสิทธิอ้างพยานหลักฐานได้ เพราะเราก็ต้องให้โอกาส เหมือนกับตอนที่เรากล่าวหาเขาน่ะ เขาก็อ้างพยานหลักฐานมา ยังไม่รู้เลยว่ากี่ปาก ต้องรอจนครบกำหนด ยื่นมา แล้วก็จะดูก่อน (ถาม-ถ้าเราดูแล้ว พยานปากนี้น่าไต่สวน ก็ไต่สวน?) ก็ไต่สวน ถ้าเผื่อเขาจะมาให้ถ้อยคำ พร้อมทั้งยื่นบันทึกว่ามีพยานอะไรอีก ก็ต้องใช้เวลาพอสมควร 1-2 เดือน (ถาม-กรณีของท่านพัชรวาท ทำไมถึงไม่ผิดอาญา?) เขามีข้อโต้แย้ง และเขามีประเด็นที่เขาถูกบังคับน่ะ เอางี้ก็แล้วกัน ก็ต้องให้เขานำเสนอหลักฐานตรงนี้ (ถาม-เจ้าตัวเขาบอกว่าเขาถูกบังคับ?) ในเชิงอย่างนั้น เขามีหลักฐานเบื้องต้น (ถาม-ก็เลยเป็นอะไรที่ฟังได้?) ครับ คือเขาไม่ได้ทำเพราะด้วยจิตของเขาเอง ความผิดทางอาญาเนี่ย เจตนาเนี่ยต้อง เราพูดกันว่าต้องเจตนาร้าย ต้องมุ่งร้ายหมายขวัญโดยตรง”

เป็นที่น่าสังเกตว่า ขณะที่ ป.ป.ช.กำลังเดินหน้าไต่สวนคดี 7 ตุลาเลือดอยู่นี้ ในส่วนของคดีที่อยู่ในศาลที่ นายสิทธิพร โพธิโสดา ทนายความที่อ้างว่าได้รับความเสียหายจากการสลายการชุมนุม 7 ต.ค.ที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมชาย และบิ๊กตำรวจอีก 4 คน ซึ่งศาลอาญาได้นัดไต่สวนมูลฟ้องเมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา ปรากฏว่า เมื่อถึงวันนัด นายสิทธิพร ได้ยื่นถอนฟ้องจำเลยทั้ง 5 เรียบร้อยแล้ว โดยอ้างเหตุผลว่า ไม่ติดใจจะดำเนินคดีต่อไป และเพื่อความสมานฉันท์และความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ท่ามกลางกระแสข่าวว่า เป็นเพราะนายสิทธิพรเป็นเพื่อนสนิทกับ พล.ต.ต.อำนวย 1 ในจำเลยคดีนี้ และนี่เป็นการจัดฉากฟ้อง เพื่อใช้เป็นข้ออ้างให้ ป.ป.ช.ยุติการไต่สวนกรณี 7 ตุลาเลือดใช่หรือไม่?

ด้าน นายศิริชัย ไม้งาม แกนนำพันธมิตรฯ รุ่น 2 มองว่า การถอนฟ้องดังกล่าวอาจเป็นเกมที่ นายสิทธิพร รู้กันกับตำรวจ พร้อมแสดงความข้องใจว่า นายสิทธิพร เป็นผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ 7 ต.ค.จริงหรือไม่?

“ถามว่าคุณอยู่ในเหตุการณ์ คุณเสียหายยังไง ก็ต้องบอก เพราะว่าจริงๆ แล้ว ทางเราได้เก็บประวัติ และให้เขียนคำร้องของผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมด แต่ยังไม่ได้มีการยื่นฟ้องเลย ดังนั้นใครจะไปทำ ก็เป็นเรื่องที่ทุกคนมีสิทธิจะฟ้องได้ (ถาม-ตอนแรกที่ทนายคนนี้ฟ้อง สังคมหรือคนที่ได้รับบาดเจ็บอาจจะดีใจที่มีคดีไปสู่ศาล จะได้พิสูจน์ว่าตำรวจผิด-ไม่ผิด แต่มาตอนนี้ก็มาถอนฟ้องกันง่ายๆ แบบนี้ อยากวิเคราะห์อะไรมั้ย?) ถามว่าคนที่เป็นทนายไปดำเนินการเนี่ย 1.ได้รับมอบหมายมั้ยจากเจ้าทุกข์ ถามว่าคุณจะเห็นแก่บ้านเมือง เป็นทนายที่เห็นไม่ได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ตำรวจทำร้ายประชาชน แล้วคุณฟ้อง แล้วอยู่ๆ วันนี้ถอน โดยอ้างความสมานฉันท์ แล้วประชาชนจะรู้สึกยังไง คนที่บาดเจ็บ สูญเสียน่ะ เขาจะรู้สึกยังไง ทั้งที่ไม่ได้มอบหมายให้คุณด้วย ...มันอาจจะเป็นเกมที่รู้กันกับตำรวจหรืออะไรต่างๆ”

ขณะที่ นายวีระ สมความคิด ประธานคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น ก็มองเช่นกันว่า การลุกขึ้นมาฟ้องและการถอนฟ้องนายสมชายและตำรวจของนายสิทธิพรครั้งนี้ น่าจะเป็น “วิชามาร” ของคนกลุ่มเดียวกัน

“ก็ต้องสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นกลุ่มเดียวกันที่ตำรวจใช้ให้เขาฟ้อง เพื่อเป็นข้ออ้างที่จะหยุดการดำเนินการของ ป.ป.ช.เรียกว่าเป็น “วิชามาร” ไง เป็นวิชามารในทางการต่อสู้ในทางคดี (ถาม-ในส่วนที่ ป.ป.ช.ตั้งข้อกล่าวหานักการเมืองและตำรวจคดี 7 ต.ค.จะเห็นว่า ในส่วนของ ผบ.ตร.ผิดแค่วินัย ไม่ผิดอาญา ตรงนี้เห็นด้วยมั้ย?) ตอบ-ก็เป็นความเห็นของ ป.ป.ช.แต่ผมไม่เห็นด้วยนะ ว่าจะต้องผิดแค่วินัย มันต้องผิดอาญาด้วย แต่เราก็ได้แต่วิจารณ์ ป.ป.ช. เพราะเราไม่ใช่คนที่จะไปตัดสินหรือมีอำนาจ รธน. รธน.เขาให้อำนาจ ป.ป.ช.เท่านั้น แต่ ป.ป.ช.ก็ไม่ได้พ้นการตรวจสอบนะ ถ้าเราเห็นว่า เอ๊ะ! ป.ป.ช.เนี่ยทำไมทำอย่างนี้ มันจะเป็นการเสียหายแก่รัฐมั้ย แก่ชาติ ประชาชนมั้ย การที่ปล่อยคนผิดให้ลอยนวลอะไรอย่างนี้ เราก็อาจจะมีกระบวนการ ซึ่งต้องไปทางสภา ทางวุฒิสภาเขาต้องเข้าชื่อกัน แล้วก็ยื่นต่อทางประธานวุฒิฯ เพื่อให้ยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็ตรวจสอบการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช.ว่าทุจริตหรือไม่”

นายวีระ ยังพูดถึงกรณีที่ตนเป็น 1 ใน 21 พันธมิตรฯ ที่ถูกตำรวจตั้งข้อกล่าวหากรณีปิดล้อมรัฐสภา ก่อความวุ่นวาย และกักขังหน่วงเหนี่ยวเจ้าพนักงานว่า มั่นใจว่าพันธมิตรฯ จะรอดพ้นความผิดในคดีนี้ เพราะพันธมิตรฯ ใช้สิทธิตาม รธน.แต่คนผิดคือตำรวจที่มาทำร้ายประชาชนก่อน พันธมิตรฯ ยังไม่ได้กักขังหน่วงเหนี่ยวใครเลย เพราะตำรวจยิงพันธมิตรฯ ตั้งแต่เช้ามืดแล้ว ก่อนที่ ส.ส.-ส.ว.จะเข้าประชุมสภาเสียด้วยซ้ำ แล้วจะหาว่าพันธมิตรฯ กักขัง หน่วงเหนี่ยวได้อย่างไร?
พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ ใน รบ.สมชาย ถูก ป.ป.ช.ตั้งข้อกล่าวหาว่าผิดอาญาเช่นกัน
พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.ถูก ป.ป.ช.ตั้งข้อกล่าวหาว่าผิดแค่วินัย ไม่ผิดอาญา
พล.ต.อ.วิโรจน์ พหลเวชช์ รอง ผบ.ตร.ถูก ป.ป.ช.ตั้งข้อกล่าวหาว่าผิดวินัย
พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น.ถูก ป.ป.ช.ตั้งข้อกล่าวหาว่าผิดทั้งวินัยและอาญา
พล.ต.ต.ลิขิต กลิ่นอวล รอง ผบช.น.ถูก ป.ป.ช.ตั้งข้อกล่าวหาว่าผิดทั้งวินัยและอาญา
พล.ต.ต.เอกรัตน์ มีปรีชา รอง ผบช.น.ถูก ป.ป.ช.ตั้งข้อกล่าวหาว่าผิดทั้งวินัยและอาญา
พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น.รอดตัวไป เพราะ ป.ป.ช.ไม่ได้ตั้งข้อกล่าวหากรณี 7 ต.ค.
กำลังโหลดความคิดเห็น