ที่ประชุมรัฐสภา มีมติผ่านทวิภาคี ไทย-จีน แนะ ก.พาณิชย์ คุมเข้มสินค้าด้อยมาตรฐาน ขณะที่ “ไกรศักดิ์” เผย เกษตรกรหนี้เพิ่มหลังเปิดใช้เอฟทีเอ ไทย-จีน ส่วนปัญหาพื้นที่ทับซ้อน ไทย-กัมพูชา เริ่มเรื้อรัง หวั่นฝ่ายไทยเสียเปรียบ
วันนี้ (27 เม.ย.) ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมร่วมรัฐสภา มี นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม เพื่อพิจารณากรอบการเจรจาการค้าต่างๆ จำนวน 4 เรื่อง โดยเริ่มพิจารณาความตกลงการขยายความร่วมมือทวิภาคีทางเศรษฐกิจและการค้าในเชิงกว้างและเชิงลึก ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชน ซึ่งมีสมาชิกอภิปรายอย่างกว้างขวาง ซึ่งส่วนใหญ่แสดงความเป็นห่วงถึงสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานจากประเทศจีนที่จะไหลทะลักเข้าไทยจำนวนมากขึ้น โดยสมาชิกได้แสดงความห่วงใยถึงมาตรการดูแลสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน อาทิ นมผงปนเปื้อน ของเล่นเด็ก รวมถึงสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์อื่นๆ และยังแสดงความกังวลว่าที่ผ่านมาสินค้าเกษตรของไทยได้รับผลกระทบอย่างมากกับการเปิดเสรีทางการค้ากับจีน สินค้าจีนเข้าไทยสะดวก แต่สินค้าการเกษตรของไทยเข้าจีนยากมาก เพราะติดอุปสรรคหลายขั้นตอน ที่สำคัญ ทูตพาณิชย์ของไทยในหลายเมืองในจีนก็ไม่เข้มแข็งพอ กระทรวงพาณิชย์ไม่เคยมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบว่า กระเทียมจีนมีสารพิษปนเปื้อนจำนวนมาก แต่พอกระเทียมไทยกลับถูกโจมตีอย่างหนัก
นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้ดูรายละเอียดเรื่องนี้อย่างรอบคอบ เพราะมีการลำเอียงอำนวยความสะดวกให้แต่พ่อค้าจีน ที่สำคัญจีนมักจะอ้างว่าไม่สามารถควบคุมรัฐบาลท้องถิ่นของเขาได้ มีรายงานว่า เกษตรกรภาคเหนือประสบความล้มเหลวในการขายสินค้ากับจีน ทำให้เกษตรกรภาคเหนือของไทยกว่า 70% ต้องประสบกับปัญหาหนี้สินจากาการเปิดเอฟทีเอกับจีน
นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ส.ว.ชลบุรี กล่าวว่า เป็นห่วงว่า การดำเนินความตกลงครั้งนี้จะยิ่งทำให้ไทยขาดดุลกับประเทศจีนมากขึ้น ดังนั้น อยากให้รัฐบาลศึกษาผลกระทบอย่างถ่องแท้ โดยเฉพาะผลกระทบที่นักลงทุนจีนมาลงทุนในประเทศไทย ที่ควรจะเป็นการเพิ่มการจ้างงานให้กับประเทศ มากกว่าจะมาทำลายระบบเศรษฐกิจในประเทศไทย
นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า การดำเนินการความตกลงครั้งนี้จะขยายความร่วมมือการค้าในเชิงลึกและเชิงกว้างของประเทศจีนและไทย ซึ่งประเทศจีนถือเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 3 ของประเทศไทย ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาได้เดินทางไปประเทศจีน เพื่อสำรวจขยายสินค้าส่งออก รวมถึงดูแลเส้นทางโลจิสติกส์ที่จะทำให้การส่งออกสินค้าไทยไปถึงตลาดประเทศจีนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ท้ายที่สุดที่ประชุมมีมติเห็นชอบ
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังไม่เห็นด้วยพร้อมทั้งเห็นด้วยกับความตกลงกาแฟระหว่างประเทศฉบับปี ค.ศ.2007 ให้ความเห็นชอบร่างบันทึกการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป ไทย-กัมพูชา ที่ได้กำหนดกรอบการเจรจาระหว่างกันไว้ และได้รายงานความคืบหน้าในการเจรจาหลักเขตแดนระหว่างไทยกัมพูชา ที่สามารถตกลงกันได้แล้ว 48 หลักเขตแดน จากจำนวนทั้งหมด 73 หลักเขตแดน อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังได้แสดงความห่วงใยกรณีพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลที่ยังไม่สามารถเจรจากันได้ รวมถึงการปฏิบัติด้านกำลังทหารในพื้นที่ทับซ้อนที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงทั้งเรื่องการจัดวางกำลังทหาร และในการใช้ประโยชน์ร่วมกัน และเห็นว่า 14 ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการชายแดนไทย-กัมพูชา สามารถประชุมร่วมกันได้แค่ 5 ครั้ง ฝ่ายไทยมีการเปลี่ยนตัวคณะกรรมการตลอดเวลา ขณะที่ฝ่ายกัมพูชาไม่เปลี่ยนแปลงผู้เจรจา ทำให้ไทยต้องเป็นฝ่ายเสียเปรียบในหลายๆ ครั้ง ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ใช้เวลาประชุมลับนานกว่าหนึ่งชั่วโมงก็ได้ให้ความเห็นชอบร่างบันทึกดังกล่าว
ส่วนกรอบการเจรจาทบทวนความต้องการแหล่งทุนสามัญของธนาคารเอดีบี นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง ชี้แจงว่า ปัจจุบันธนาคารเอดีบี มีหุ้นสามัญรวม 3,546,311 หุ้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 56 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และปัจจุบันประเทศไทยถือหุ้นอยู่ในธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย 48,000 หุ้น คิดเป็น 1.36 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดมีสิทธิออกเสียงได้1.385% จากประเทศสมาชิกที่ถือหุ้นทั้งหมด 76 ประเทศ ทั้งนี้ เมื่อเกิดปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก ได้ส่งผลกระทบต่อแหล่งเงินทุนทั้งระบบ และได้กระทบต่อภาวะการเงินการคลังของทุกประเทศ ทางธนาคารจึงได้ขอเพิ่มทุนครั้งที่ 5 อีก 200% เป็น 165 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยในเร็วๆ นี้ ประเทศไทยก็มีแผนจะขอกู้เงินจากธนาคารเอดีบี เพื่อนำไปลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ ดังนั้น เพื่อให้ธนาคารได้มีส่วนช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในยามวิกฤต จึงขอความเห็นชอบจากรัฐสภาใน 2 เรื่อง คือ 1.ขอให้สนับสนุนการที่ธนาคารจะเพิ่มทุนคิดเป็นร้อยละ 200 และ 2.ขออนุมัติให้ประเทศไทยเข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนธนาคารจำนวน 46.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อให้มั่นใจว่าจะทำให้ประเทศไทยสามารถรักอำนาจการต่อรองใดๆ ในฐานะผู้ถือหุ้นธนาคารได้
ส่วนร่างบันทึกการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป ไทย-กัมพูชา ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ หลังจากที่ได้มีการอภิปรายแสดงความเห็นในกรอบดังกล่าวโดยการประชุมลับ ที่สุดได้ลงมติเห็นชอบตามที่เสนอ รวมทั้งเห็นชอบกรอบการเจรจาการทบทวนความต้องการแหล่งทุนสามัญของ เอดีบี ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอด้วย