xs
xsm
sm
md
lg

ผลสำรวจภาวะการลงทุนQ4/255

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

    ไอเอ็นจี กรุ๊ปสถาบันการเงินระดับโลก เผยข้อมูลจากรายงานการสำรวจภาวะการลงทุนรายไตรมาสว่า ความเชื่อมั่นของการลงทุนในประเทศไทยลดลงอย่างเด่นชัดถึง 56% ในปี 2551 ทั้งนี้ เป็นผลจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อนักลงทุนไทยตลอดปีที่ผ่านมา                                           ดัชนีความเชื่อมั่นของการลงทุนในไทยลดลงมาอยู่ที่ 59 ในไตรมาส 4/2551 จาก 134 ในไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว (ไตรมาส 4/2550) อันเป็นผลมาจากวิกฤติด้านสินเชื่อในตลาดโลก ผนวกกับความตกต่ำทางเศรษฐกิจในปี 2551 ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นของการลงทุนในไทยในไตรมาส 4/2551 ที่ระดับ 59 นี้ นับว่าลดลงถึง 30% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2551 ที่ระดับ 84
 สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นการลงทุนในภูมิภาคเอเชียโดยรวม (ยกเว้นญี่ปุ่น) มีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องมาตลอด 5 ไตรมาส มาอยู่ที่ระดับ 73 ในไตรมาสที่ 4/2551 คิดเป็นสัดส่วนที่ลดลง 15% จากที่ระดับ 86 ในไตรมาสก่อน (3/2551) และลดลง 46% จากไตรมาส 4/2550 ที่ระดับ 135
   ทั้งนี้ การสำรวจภาวะการลงทุนไอเอ็นจี อินเวสเตอร์ แดชบอร์ด (ING Investor Dashboard) เป็นการสำรวจดัชนีการลงทุนรายไตรมาสในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ยกเว้นญี่ปุ่น) เป็นรายแรก โดยเป็นการชี้วัดความเชื่อมั่นของนักลงทุนในภูมิภาคนี้ทั้ง 13 ประเทศ ได้แก่ ไทย ฮ่องกง จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลี มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ส่วนดัชนีภาครวมของเอเชียจะรวมทุกตลาด ยกเว้น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ พร้อมทั้งเสนอภาพรวมของตลาดการลงทุนและทัศนคติของนักลงทุน โดยสามารถใช้ดัชนีความเชื่อมั่นประจำไตรมาสของไอเอ็นจี กรุ๊ป ในการอ้างอิง
    นักลงทุนไทยคาดว่า ปัญหาวิกฤติสินเชื่อและภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา จะยังคงส่งผลกระทบเชิงลบอย่างต่อเนื่องต่อสถานะการเงินส่วนบุคคลของนักลงทุนไทยและเศรษฐกิจไทยโดยรวมในปี 2552 
 โดยข้อมูลบ่งชี้ว่า ทัศนคติต่อสภาพเศรษฐกิจและสถานะการเงินส่วนบุคคลของนักลงทุนไทย ในไตรมาส 4/2551 ทรุดต่ำลง เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน 
   - 88% ของนักลงทุนไทย ชี้ว่า สภาพเศรษฐกิจในไตรมาส 4/2551 ทรุดโทรม เทียบกับ 81% ในไตรมาส 3/2551
    - 52% ของนักลงทุนไทย ชี้ว่า สถานะการเงินส่วนบุคคลในไตรมาส 4/2551 ทรุดโทรม เทียบกับ 51% ในไตรมาส 3/2551
    ผลการสำรวจบ่งชี้ว่า ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลงในไตรมาส 4/2551 ได้แก่ วิกฤติสินเชื่อ ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา และปัญหาเศรษฐกิจไทย
 - 71% ของนักลงทุนไทย ชี้ว่า นโยบายของรัฐบาลส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในการลงทุนในไตรมาส4 /2551                                                 -60% มองว่า ตนได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาในไตรมาส 4/2551
 - 71% มองว่า ตนได้รับผลกระทบจากวิกฤติสินเชื่อในไตรมาส 4/2551
 สำหรับในไตรมาส 1/2552 ปัญหาด้านสินเชื่อ วิกฤติเศรษฐกิจโลก และวิกฤติการเมืองไทยยังคงส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนไทย ทั้งนี้ นักลงทุนไทยยังคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยและสภาวะการเงินส่วนบุคคลของนักลงทุนไทยจะยังคงทรุดต่ำในปี 2552 แต่มีมุมมองเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม นักลงทุนส่วนใหญ่แสดงความวิตกต่ออัตราการว่างงานที่เป็นผลจากวิกฤติเศรษฐกิจ
 - 46% ของนักลงทุนไทย เผยว่า จะลดการลงทุนและเพิ่มการถือครองเงินสดในไตรมาสที่ 1/2552
 - 56% มองว่า การมีรัฐบาลใหม่ของสหรัฐอเมริกาไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนของตนในปี 2552
 - 77% มองว่า เศรษฐกิจไทยจะตกต่ำลงอีกในไตรมาส 1/2552 ขณะที่ในไตรมาสก่อน นักลงทุน 40% มีมุมมองดังกล่าว
 - 38% คาดว่า สภาวะการเงินส่วนบุคคลของตนจะยังคงทรุดต่ำลงในไตรมาสแรกของปี 2552 ขณะที่ในไตรมาสก่อน นักลงทุน 21% มีมุมมองดังกล่าว
 - 55% คาดว่า ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจส่งผลกระทบเชิงลบต่อการจ้างงาน
  นายมาริษ ท่าราบ  กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในไตรมาส 4/2551 นักลงทุนชาวไทยมีความเชื่อมั่นในการลงทุนลดลงอย่างมาก อันเป็นผลมาจากความตกต่ำของเศรษฐกิจโลกและวิกฤติสินเชื่อ เสริมด้วยวิกฤติการเมืองและความปลอดภัยในไทย ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านการลงทุนมากกว่าปัจจัยภายนอกประเทศ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องความวิตกเกี่ยวกับอนาคตอันใกล้ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย การลดการลงทุนของนักลงทุนชาวไทยและต่างชาติ อัตราการขยายตัวที่ลดลงของการส่งออก และการประท้วงกดดันให้รัฐบาลชุดปัจจุบันลาออก ส่งผลให้นักลงทุนชาวไทยลดและควบคุมการใช้จ่ายและการลงทุนของตน                                                                                             นักลงทุนไทยยังคงให้ความสำคัญกับการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ เพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่คาดว่าจะมีขึ้นต่อไปในปี 2552
 ในภาวะวิกฤติการเงินในปัจจุบัน นักลงทุนไทยที่มุ่งความสนใจไปที่การลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำมีสัดส่วน 16% เปรียบเทียบกับนักลงทุนไทยที่สนใจการลงทุนที่มีความเสี่ยงระดับปานกลางที่มีสัดส่วนถึง 19% และมีเพียง 13% ที่สนใจการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง โดยการลงทุนในหลักทรัพย์ของไทย กองทุนรวมในต่างประเทศ และหน่วยลงทุนลดลงอย่างมากในไตรมาส 4/2551
 - 20% ของนักลงทุนไทยมีการลงทุนในหลักทรัพย์ไทยในไตรมาส 4/2551 เทียบกับ 83% ในไตรมาส 3 ปีเดียวกัน 
 - 36% ลงทุนในกองทุนรวมและหน่วยลงทุนของไทยในไตรมาส 4/2551 เทียบกับ 43% ในไตรมาส 3/2551
 - 15% ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่พักอาศัยในไตรมาส 4/2551 เทียบกับ 43% ในไตรมาส 3 ปีเดียวกัน
 สำหรับในปี 2552 ข้อมูลผลสำรวจบ่งชี้ว่า นักลงทุนชาวไทยมุ่งถือการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำที่มีอยู่เดิมต่อไป 
 - 28% ของนักลงทุนไทยเผยว่า จะเพิ่มการถือครองเงินสด/เงินฝากธนาคารมากขึ้นไตรมาส 1/2552 
 - มีเพียง 8% ที่เดินหน้าลงทุนในหลักทรัพย์ของไทย ขณะที่ 12% ลงทุนในกองทุนรวมและหน่วยลงทุนที่จัดตั้งขึ้นในประเทศ และ 4% ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่พักอาศัยในไทยในไตรมาส 1/2552
 นอกจากนี้ นักลงทุนไทยส่วนใหญ่ คาดว่า อสังหาริมทรัพย์ประเภทที่พักอาศัยจะมีราคาลดลงในไตรมาส 4/2551 โดย 64% ของนักลงทุนไทยคาดการณ์ว่า ราคาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่พักอาศัยจะมีราคาลดลงเฉลี่ย 4.5% ในไตรมาส 4/2551 
"คำแนะนำของเรา คือ ให้มองการณ์ไกล การถือเงินสดถือเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนต่ำสุดในระยะยาว นักลงทุนไทยควรมีแผนการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย อาทิ หุ้น อสังหาริมทรัพย์ และควรลงทุนเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอในทุก ไตรมาสเป็นระยะเวลานาน 1 – 2 ปี เพื่อให้การลงทุนมีมูลค่าเพิ่มขึ้น และมีระดับความเสี่ยงที่เหมาะสม” นายมาริษกล่าว
นักลงทุนจีนและไต้หวัน มีความเชื่อมั่นในการลงทุนสูงขึ้น สวนกระแสประเทศอื่นในเอเชีย
 แม้ว่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ทั่วเอเชียจะลดต่ำลง แต่ในประเทศจีนและไต้หวัน นักลงทุนกลับมีความเชื่อมั่นสูงขึ้น ซึ่งคาดจะเป็นผลมาจากการประกาศมอบเงินช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ
 ก้าวเข้าสู่ไตรมาส 1/2552 ข้อมูลบ่งชี้ว่า นักลงทุนในประเทศจีนอาจยังคงมีทัศนคติเชิงบวกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมองว่าประเทศตนได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก
 - 50% ของนักลงทุนจีน คาดการณ์ว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจภายในประเทศจะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 1/2552 และ 54 % เชื่อว่า สถานะการเงินส่วนบุคคลของตนจะดีขึ้นในช่วงเดียวกัน
 - 73% ของนักลงทุนจีน คาดการณ์ว่า สภาพเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาจะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของตน ขณะที่ 88% ระบุว่า สภาพเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกามีผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของตนในไตรมาส 4/2551                
ทั้งนี้ การสำรวจของไอเอ็นจี อินเวสเตอร์ แดชบอร์ด มีขึ้นเพื่อประเมินทัศนคติและพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 13 ประเทศ ได้แก่ จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลี มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เป็นประจำทุกไตรมาส โดยในแต่ละตลาดที่ทำการสำรวจจะแบ่งเกณฑ์ค่าดัชนีไปตั้งแต่ 0 (ต่ำที่สุด) จนถึง 200 (ดีที่สุด)
กำลังโหลดความคิดเห็น