อมรรัตน์ ล้อถิรธร.........รายงาน
จากพฤติกรรมที่ส่อ “ตีตนเสมอสถาบัน” ไปจนถึงคำพูดที่กระทบกระแทกแดกดัน-ต่อรอง ล่าสุด “ทักษิณ ชินวัตร” ออกอาการหนักข้อถึงขั้นส่อว่าต้องการ “บีบบังคับ” ให้สถาบันเบื้องสูงทำตามความต้องการของตน ...การพูดพาดพิงสถาบันครั้งล่าสุดของนักโทษหนีคดีผู้นี้ ไม่เพียงเป็นเสมือน “กับดัก” ที่ต้องการล่อให้สถาบัน “ติดกับ” แต่ยังน่ากลัวตรงที่ว่า หากทุกอย่างบรรลุเป้าประสงค์ คงส่งผลสะเทือนถึงความมั่นคงของสถาบัน และการปกครองของไทยแน่นอน
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ
กี่ครั้งแล้วสำหรับพฤติกรรมและคำพูดของชายที่ชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่ส่อว่าเข้าข่าย “ตีตนเสมอสถาบัน” และ “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ที่รับกันไม่ได้สมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังเป็นนายกฯ ก็เช่น การนั่งเป็นประธานทำบุญประเทศในวัดพระแก้ว (10 เม.ย.) โดยมีพรมแดงรองพื้น ขณะที่เจ้าหน้าที่นั่งคุกเข่ายกพานรองให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กรวดน้ำ ราวกับเขาไม่ใช่สามัญชน! และกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ พูดกระแทกแดกดันในงาน “นายกฯ พบแท็กซี่” (25 ธ.ค.2548) ว่า “ถ้าผมไม่จงรักภักดี แล้วผีที่ไหนจะจงรักภักดี” เป็นต้น
การเป็นผู้นำประเทศที่เห็นธุรกิจของตนสำคัญกว่าประเทศชาติ และกระทำการหลายสิ่งที่เอื้อประโยชน์ต่อครอบครัว และพรรคพวก (เช่น แก้กฎหมายให้เอื้อประโยชน์ต่อการขายหุ้นชินคอร์ปให้ต่างชาติ) นับเป็นสาเหตุหลักเช่นกันที่ทำให้เส้นทางผู้นำของเขาต้องดับวูบลงจากการถูกยึดอำนาจ ทำให้เขาต้องชดใช้กรรมด้วยการระเหเร่ร่อนอยู่ต่างประเทศ
แต่ “ทักษิณ” ก็คือ “ทักษิณ” ผู้ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองผิด เอาแต่พร่ำบอกว่าตัวเองถูกกลั่นแกล้ง ตอนอยู่ในประเทศ เคยพูดจาจาบจ้วง-ก้าวล่วงสถาบันอย่างไร เมื่อไปอยู่ต่างประเทศก็ยังไม่เลิกพฤติกรรมนั้น โดยปากบอกว่า “จงรักภักดี” แต่ก็ไม่วายพูดพาดพิงให้สถาบันเสียหายอยู่บ่อยครั้ง
เช่น 15 ม.ค.2550 พ.ต.ท.ทักษิณ ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นที่ประเทศสิงคโปร์ โดยนอกจากจะพูดถึง “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” แล้ว เขายังขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันเป็นที่เคารพรักของประเทศไทยเลิกพูดถึงอดีต เพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของความสามัคคีในชาติ พร้อมทั้งบอกว่า ตนต้องการเห็นการนิรโทษกรรมสำหรับคนไทยทุกคน มันถึงเวลาที่จะปรองดองกัน และเรื่องนี้น่าจะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้
1 ก.พ.2550 พ.ต.ท.ทักษิณ ให้สัมภาษณ์นิตยสารไทม์ ในลักษณะที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนับสนุนการปฏิวัติรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 โดยเมื่อไทม์ถาม พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า “คุณอ้างว่าคุณและพรรคไทยรักไทยได้รับความนิยมอย่างสูง (จากประชาชน) แต่ทำไมไม่ค่อยมีเสียงต่อต้านการรัฐประหารจากสาธารณชนเท่าไหร่? ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ตอบว่า “มันก็เหมือนกับการทำรัฐประหารในอดีตของไทยที่ผ่านมา 17 ครั้ง ตอนแรกประชาชนอาจรู้สึกตกใจ จากนั้นพวกเขาจะเริ่มแสดงความวิตกกังวล แล้วจึงเริ่มยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ (การรัฐประหาร)ได้รับการรับรองจากองค์พระมหากษัตริย์ พวกเขาอยู่ในกรอบระเบียบมากๆ พวกเขาเชื่อฟัง…”
24 พ.ย.2551 พ.ต.ท.ทักษิณ ส่งสัญญาณต่อรอง-กดดันให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานอภัยโทษให้ตน โดยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ อาราเบียน บิซิเนส ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ตอนหนึ่งว่า “ผมคิดว่าหลายๆ อย่างขึ้นอยู่กับอำนาจของประชาชน หากพวกเขารู้สึกว่า พวกเขาอยู่อย่างยากลำบาก และต้องการให้ผมช่วย ผมก็จะกลับไป หากในหลวงทรงเห็นว่าผมยังสามารถทำคุณประโยชน์ได้ ผมจะกลับไป และพระองค์อาจจะพระราชทานอภัยโทษให้แก่ผม แต่ถ้าพวกเขาไม่ต้องการผม และพระองค์ทรงเห็นว่าผมกลับไปก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ผมก็จะอยู่ที่นี่ (เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) ทำธุรกิจไป”
มาปีนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ยิ่งให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ พาดพิงสถาบันหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ โดยเมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา เขาให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทม์ส ของอังกฤษ ในลักษณะที่ทำให้สถาบันถูกมองว่ารู้เห็นการยึดอำนาจ 19 ก.ย.2549 โดย พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวหาว่า สถาบันเบื้องสูงรับทราบการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลตน เมื่อเดือน ก.ย.2549 ล่วงหน้า เนื่องจากมีบรรดานายทหารรวมถึงบุคคลระดับสูงหลายคนเข้ารายงานก่อนเกิดเหตุการณ์
ล่าสุด 21 เม.ย.พ.ต.ท.ทักษิณ ให้สัมภาษณ์นิตยสาร แดร์ สปีเกล นิตยสารชื่อดังของเยอรมนี โดยนอกจากจะพูดถึงปัญหาบ้านเมืองว่าตนเอง และกลุ่มเสื้อแดงถูกกระทำแล้ว เขายังพูดพาดพิงสถาบันอีกครั้ง คราวนี้ไม่เพียงมีลักษณะต่อรอง แต่ยังส่อว่าอาจเข้าข่ายบังคับให้สถาบันทำตามที่ตนต้องการอีกด้วย โดยบอกว่า “...ถึงเวลาที่จะปรองดองด้วยการให้อภัยซึ่งกันและกัน ลืมอดีต และมองไปข้างหน้า ...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องทรงลงมาช่วยเหลือ พระองค์ต้องทรงดำเนินการให้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย และจากนั้นเราจำเป็นต้องมีการเลือกตั้งใหม่ขึ้น”
ฟังคำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่พยายามดึงสถาบันเข้ามาสู่วังวนของความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อสนองตอบความต้องการของตนแล้ว ลองไปฟังความรู้สึกของนักวิชาการและผู้คร่ำหวอดเรื่องการเมืองกันว่า การพูดพาดพิงสถาบันครั้งแล้วครั้งเล่า โดยเฉพาะครั้งล่าสุดนี้ สะท้อนอะไรในความเป็นทักษิณได้บ้าง และจะส่งผลสะเทือนอย่างไรต่อสถาบันเบื้องสูงหรือไม่?
ดร.สุจิต บุญบงการ ประธานสภาพัฒนาการเมือง ชี้ว่า การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เรียกร้องให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ลงมาช่วยเหลือ หรือดำเนินการให้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยอย่างที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องการนั้น ถือเป็นการกระทำที่อาจเอื้อม และไม่บังควรอย่างยิ่ง
“อันนี้ผมว่า คุณทักษิณ อาจเอื้อม ไม่สมควรอย่างยิ่ง ...คือ ไม่สมควรที่จะเอาให้พระองค์ทรงเข้าทำ สถานะ ผมว่าอันนี้เป็นการอาจเอื้อม และไม่บังควรอย่างยิ่ง เรื่องการแก้ รธน.จะมีอะไร เป็นเรื่องของการเมือง และถ้าเป็นการปรองดอง ถามความเห็นก็คือ จะปรองดองกับความไม่ถูกต้องเนี่ยได้หรือ”
ขณะที่ อ.วิทยากร เชียงกูล คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ก็มองว่า คำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท ดังนั้น เป็นหน้าที่รัฐบาลที่ต้องตอบโต้ และว่า ขณะนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ กำลังดิ้นรนทุกทางที่จะต่อรองเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ด้วยการเล่นการเมืองแบบเก่าๆ
“ผมว่าเขาก็พูดเรื่อยเปื่อยแล้ว เขาพยายามดิ้นรนเพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างที่เขาต้องการ สิ่งที่เขาพูดเนี่ยบางทีมันขัดแย้งกับความเป็นจริง เขาอ้างว่ามันเกิดจากรัฐประหาร ใช่มั้ย แต่ความจริงหลังจากรัฐประหารแล้ว เรามีการเลือกตั้งไปแล้ว และพรรคฝ่ายเขาก็ได้เสียงข้างมาก เขาก็ลืมสิ่งเหล่านี้ไปหมดแล้ว เขาอ้างกลับมาใหม่ พูดกลับไปกลับมา มันก็ขัดแย้ง (ถาม-อ.คิดว่า คุณทักษิณต้องการพึ่งในหลวงจริงๆ หรือต้องการพาดพิง ดิสเครดิต?) ผมว่าเขาต้องการต่อรอง เขาใช้ทุกวิถีทางที่จะต่อรอง (ถาม-อย่างนี้จะเป็นการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท มั้ย?) ก็คงระคาย ผมว่าเป็นหน้าที่รัฐบาลนะที่ต้องคอยตอบโต้ เวลานี้เขาออกสื่อต่างๆ เยอะมาก และการออกสื่อของรัฐบาลมันก็น้อยเกินไป ก็ต้องทำงานมากกว่านี้ (ถาม-คิดว่า คุณทักษิณต้องการปรองดองจริงๆ มั้ย คิดว่าตัวเองจะแพ้แล้ว ก็เลยอยากปรองดองเหรอ?) เป็นแทกติกของเขา เวลาที่เขาอำนาจน้อยลง เขาก็หาวิธีอื่น ถ้าเขามีอำนาจมาก เขาก็จะไม่ปรองดอง คนที่ขอปรองดอง คือ คนที่มีอำนาจน้อย พยายามต่อรองหาวิธีอื่นที่จะต่อรองได้ แต่ขณะเดียวกัน ก็พยายามขู่ว่า ถ้าคุณไม่ปรองดองกับฉัน ฉันเอาเสื้อแดงเล่นงานคุณ ฉันมีคนที่จะเล่นงานคุณ มันก็ประหลาดนะ วิธีเล่นการเมืองแบบเก่าๆ”
ด้าน อ.อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ซึ่งเคยเขียนบทวิเคราะห์ปาฐกถาของ นายจักรภพ เพ็ญแข ที่กล่าวที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (เอฟซีซีที) ว่า สะท้อนถึงการไม่ศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) พูดถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ พูดพาดพิงสถาบันหลายต่อหลายครั้ง และล่าสุด ได้เรียกร้องให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงมาช่วยเหลือ และดำเนินการให้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ว่า สะท้อนว่า พ.ต.ท.ทักษิณ พยายามดึงสถาบันให้ลงมาแปดเปื้อนกับการเมือง เพื่อนำไปสู่เจตนาซ่อนเร้นบางอย่าง เช่น คิดเปลี่ยนรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
“คงเป็นเจตนาที่จะทำให้สถาบันที่ควรจะอยู่เหนือการเมืองเนี่ย ลงมาปนเปื้อนหรือแปดเปื้อนกับการเมือง เพื่อนำไปสู่เจตนาซ่อนเร้นอะไรบางอย่างของเขา ...เมื่อใดก็ตามที่สถาบันนี้ไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองเลย ทั้งโดยตามบทบัญญัติที่อยู่ใน รธน.ตามธรรมเนียมปฏิบัติในการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ถ้าเกิดสถาบันนี้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องของการเมืองเมื่อไหร่ ก็จะนำไปสู่การล้มครืนลงของสถาบัน นำไปสู่ความไม่น่าเชื่อถือของสถาบัน”
“(ถาม-แล้วอาจารย์คิดว่าไม่มีทางที่จะหยุดคุณทักษิณได้เหรอที่จะไม่ให้พาดพิงสถาบัน?) ไม่มีทาง คุณทักษิณ เองก็คงคิดว่า นี่เป็นความคุ้มค่าที่ตัวเขาจะเสี่ยงทำเรื่องนี้ขึ้น คุณทักษิณ รวมทั้งคนที่แวดล้อมคุณทักษิณ คิดว่า คุณทักษิณ ยืนอยู่ในภาวะ 2 ภาวะ และมีแนวโน้มที่ภาวะที่คุณทักษิณอาจจะกลายเป็นวีรบุรุษในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยได้ ถ้าเกิดสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบประชาธิปไตยของเรา จากรูปแบบปัจจุบันเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ...แต่ในฟากฝั่งที่ผมเรียกว่า พรรคที่ไม่เอาทักษิณเนี่ย มองว่า คุณทักษิณเองอยู่ในฐานะที่เป็นทรราช ทรราชทั้งทรยศกับประเทศชาติ ทรยศกับประชาชน และทรยศกับความจงรักภักดีของปวงพสกนิกรทั้งหมดที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะฉะนั้น คุณทักษิณ ไม่มีวันเปลี่ยน และคุณทักษิณก็คงจะมาไกลเกินกว่าที่จะหยุด ถ้าคุณทักษิณหยุด คงหยุดไปนานแล้ว ยังไงคุณทักษิณก็คง ตราบเท่าที่คุณทักษิณยังมีลมหายใจ คุณทักษิณก็คิดว่าก็คงต้องทำทุกหนทางให้ตัวเองได้กลับเข้ามาในประเทศ แต่ไม่ใช่กลับเข้ามาในฐานะที่เป็นประชาชนคนไทยธรรมดา แต่กลับเข้ามาในฐานะที่เป็นผู้นำประเทศสูงสุดอีกครั้งหนึ่ง”
คงต้องติดตามว่า รัฐบาล และตำรวจจะทำอะไรบ้างกับ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือจะปล่อยให้นักโทษผู้นี้กัดกร่อน-บ่อนทำลายสถาบันอันเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยไปเรื่อยๆ จนล้มครืนต่อหน้าต่อตา และคงต้องจับตาด้วยว่า วันที่ 29 เม.ย.นี้ อัยการจะสั่งฟ้องนายจักรภพ เพ็ญแข หรือไม่ หลังปาฐกถาส่งสัญญาณชัดเจนว่า ไม่ต้องการการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข!!