ที่ประชุมวุฒิสภา มีมติแก้ไขร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร โดยให้ลดหย่อนภาษีอุปการะครอบคลุมญาติพี่น้องพิการ เพิ่มวงเงินเป็น 60,000 บาท
วันนี้ (24 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า ในการประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 24 มีนาคม มีนาย ประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม วาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ซึ่งคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว โดยเป็นการพิจารณารายมาตรา ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงิน วุฒิสภาต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วัน ซึ่งครบกำหนดการพิจารณาในวันที่ 24 มีนาคม โดยร่างดังกล่าว มีจำนวน 4 มาตราสาระสำคัญ คือ ผู้มีเงินได้ที่อุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา สามี ภรรยา บุตร โดยบุคคลดังกล่าวต้องเป็นคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการด้วยและมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ สามารถหักลดหย่อนสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปีได้ 30,000 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกอภิปรายเล็กน้อยในมาตรา 3 โดยนายมณเฑียร บุญตัน ส.ว.สรรหา และกรรมาธิการฯ ซึ่งพิการทางสายตา สงวนความเห็น ให้การหักลดหย่อนให้รวมถึงพี่น้องร่วมบิดามารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา และให้หักได้ 60,000 บาท ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติ เห็นด้วยกรณีให้หักภาษีครอบคลุมญาติพี่น้อง ด้วยคะแนน 54 ต่อ 40 งดออกเสียง 6 ไม่ลงคะแนน 5 เสียง และเห็นด้วยกับการเพิ่มจำนวนเงินดังกล่าว ด้วยคะแนน 51 ต่อ 47 งดออกเสียง 6 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง และยังมีมติเห็นด้วยกรณีเพิ่มเติมเงื่อนไขการเป็นคนทุพพลภาพ ที่นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา สงวนคำแปรญัตติ ด้วยคะแนน 73 ต่อ 25 งดออกเสียง 3 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง อย่างไรก็ดี มีสมาชิกทักท้วงถึงถ้อยคำในร่าง เนื่องจากมีการแก้ไข ทำให้ที่ประชุมมีมติขยายเวลาพิจารณาอีก 7 วัน เพื่อให้คณะกรรมาธิการนำไปปรับแก้ถ้อยคำก่อนนำกลับเข้ามาพิจารณาในวาระ 3 ต่อไป
อนึ่ง สำหรับขั้นตอนต่อไป หากวุฒิสภามีมติในวาระ 3 แล้ว ร่าง พ.ร.บ.นี้จะกลับเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากวุฒิสภามีมติแก้ไขเพิ่มเติมร่าง ซึ่งหากสภาผู้แทนราษฎรเห็นด้วย ก็จะมีการทูลเกล้าฯ ต่อไป แต่ถ้าไม่เห็นด้วย จะต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมกันของสองสภาต่อไป ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 147(3) บัญญัติ
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ที่ประชุมวุฒิสภา ยังมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ..... ในวาระ 2 และ 3 ด้วยคะแนนเอกฉันท์ โดยร่างดังกล่าวมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการปรับปรุงระเบียบการบริหารของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2550 ในหมวดว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน