xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ย้ำสังคมต่างความคิดได้ แต่อย่าแตกแยก จนกระทบต่อความมั่นคง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
“มาร์ค” มอบนโยบายความมั่นคงให้ กอ.รมน. เน้นสมานฉันท์รักษานิติธรรมนิติรัฐ ยันปัญหาการก่อการร้าย ยาเสพติด และการค้ามนุษย์ หรืออาชญากรรมข้ามชาติล้วนเป็นปัญหาด้านความมั่นคง ย้ำการแตกแยกทางความคิดถือเป็นเรี่องปกติแต่อย่าแตกแยก จนส่งผลกระทบต่อความมั่นคง

วันนี้ (18 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นประธานในการมอบนโยบายความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ.กอ.รมน.) และนโยบายด้านยาเสพติด โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. รอง ผอ.กอ.รมน. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เลขาฯ กอ.รมน. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง นาย วีระชัย วีระเมธีกุล รองนายกฯพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกฯ รวมถึงอธิบดี แม่ทัพภาค ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และข้าราชการเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 500 คน เข้ารับมอบนโยบายด้านยาเสพติด

นายอภิสิทธิ์กล่าวมอบนโยบายใจความสำคัญส่วนหนึ่งว่า ในยุคสมัยปัจจุบันความมั่นคงภายในและความมั่นคงของชาติ มีปัจจัยหลายอย่างเกี่ยวข้องจำนวนมาก ทั้งปัจจัยภายในภายนอก มิติทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือแม้แต่ปัญหาระหว่างประเทศ ทำให้การรักษาความมั่นคงต้องประเมินธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงในลักษณะภัยคุกคาม ซึ่งการทำงานต้องอาศัยทุกภาคส่วนมาแก้ไข ต้องตระหนักความหลากหลายความเชื่อมโยง ทั้งปัญหาการก่อการร้าย ยาเสพติดและการค้ามนุษย์หรืออาชญากรรมข้ามชาติ ไปจนถึงความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับโอกาสทางเศรษฐกิจ และปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงปัญหาอื่นๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง

แม้ว่าความรุนแรงของปัญหาจะแตกต่างกันไป แต่โดยรวมแล้วกล่าวได้ว่าการแก้ปัญหาที่เป็นความมั่นคงและภัยคุกคามนั้น คงไม่สามารถแก้ไขได้โดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ต้องอาศัยความเข้าใจ ความร่วมมือ การประสานงาน และความมุ่งมั่นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แม้กระทั่งการอาศัยความร่วมมือจากต่างประเทศอย่างใกล้ชิดด้วย

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีหน่วยงานในการป้องกันปัญหาความมั่นคงของชาติโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และกอ.รมน.มีหน้าที่กำหนดนโยบายและวางแผนอำนวยการประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐ ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ถือเป็นการยอมรับตระหนัก ถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยการคุกคามด้านปัญหาความมั่นคง รวมไปการยอมรับ ถึงรูปแบบการดำเนินการงานที่เปลี่ยนแปลงไป ตนจึงให้ กอ.รมน.และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จัดงานนี้ขึ้นเพื่อบูรณาการเชื่อมโยงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะการดำเนินการจะเกี่ยวพันธ์กับหลายหน่วยงาน

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ภารกิจของตนในวันนี้ (18 มี.ค.) มีส่วนเกี่ยวข้องกับความมั่นคงซึ่งได้รับแขกต่างประเทศคือ ผู้นำทางด้านศาสนาของประเทศอียิปต์ มีฐานะเทียบเท่ารัฐมนตรีต่างประเทศเป็นแขกของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งภารกิจของท่านใน 2 วันนี้ คือจะเดินทางไปพบปะผู้นำศาสนาต่างๆในประเทศไทย และเดินทางไปยัง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งรัฐบาลมองเห็นว่าเป็นปัญหาด้านความมั่นคง และการแก้ไขต้องมีด้านการต่างประเทศ การศึกษา การพัฒนาเศรษฐกิจ รวมไปถึงการพัฒนาด้านกฎหมาย โดยมีการพูดคุยกันอย่างกว้างขวาง ในช่วงเช้าคลอบคลุมประเด็นเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ตนได้พบกับนักธุรกิจและอดีตนักการเมืองของอเมริกา พูดคุยถึงเรื่องแนวโน้มทางเศรษฐกิจ ในช่วงนี้บนความห่วงใยปัญหาเรื่องปัญหาการว่างงาน อีกทั้งต้องประชุมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะมีผลสำคัญในการช่วยดูแลรักษาความมั่นคงด้วย เพราะปัญหาที่ถือเป็นภัยคุกคามสำคัญ ที่เป็นภารกิจที่กำหนดไว้ คือ เรื่องอาชญากรข้ามชาติ แรงงานต่างด้าว เกี่ยวพันกับท่าทีการพัฒนาเศรษฐกิจ ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งตนยังต้องพบกับตัวแทนจากองค์กรสหประชาชาติที่ทำงานด้านโรคเอดส์ และหยิบยกปัญหาการแพร่กระจายด้านโรคเอดส์ และเกี่ยวเนื่องจากผู้ติดยาเสพติด สะท้อนให้เห็นมิติเกี่ยวข้องกับยาเสพติดและภัยความมั่นคง ตามนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลต้องบูรณาการทำงานให้เป็นเอกภาพ และมีประสิทธิภาพ

นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า ด้านนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐนั้น รัฐบาลได้แถลงนโยบายเรื่องการปกป้องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้มีความมั่นคงเป็นศูนย์รวมจิตใจและความรักษาสามัคคีของคนในชาติ การเสริมศักยภาพป้องกันประเทศ เสริมสร้างสันติภาพในการอยู่ร่วมกันของเพื่อนบ้าน การแก้ไขผู้หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดระบบ โดยสร้างศักยภาพในการจัดการภัยคุกคามข้ามชาติ ซึ่งการดำเนินนโยบายนั้น รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบ กลไกต่างๆพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหา กำหนดเป้าหมายนโยบายเชิงกลยุทธ์ ถือเป็นตัวชี้วัดชัดเจนในแผนบริหารราชการแผ่นดิน ประเด็นที่สำคัญคือ การสนับสนุนให้ประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาความเรียบร้อยและรักษาความมั่นคงของประเทศ

นายอภิสิทธิ์กล่าวย้ำว่า ความมั่นคงของชาติมีเรื่องเร่งด่วน และต้องดำเนินการอย่างจริงจัง 3 เรื่องคือ เรื่องแรกเป็นปัญหาที่รุนแรงตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมาคือ ความสมานฉันท์ของคนในสังคมเรียกได้ว่าเป็นปัญหาความมั่นคงทางการเมือง หรือการบริหาร ซึ่งคิดว่าสำคัญที่สุดคือต้องเร่งแก้ไขอย่างเร็วที่สุด ตนย้ำว่าความขัดแย้งความคิดเห็นที่หลากหลายทางการเมืองไม่ใช่เรื่องแปลก ในสังคมประชาธิปไตยถือเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นธรรมชาติของสังคม ที่มีความหลากหลาย แต่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน อย่าให้ความแตกแยกหรือความขัดแย้งทางการเมือง ลุกลามบานปลายจนกระทบกับการพัฒนาประเทศ ความคิดเห็นที่แตกต่าง ทางจุดยืนทางความคิดเห็นสามารถทำได้ แต่ต้องไม่ให้การแสดงออกกระทบต่อความมั่นคง มีการใช้ความรุนแรง มีการกระทำที่ผิดกฎหมาย หรือทำให้ประชาชนคนไทยด้วยกันเองเกลียดชังกัน ถือเป็นภารกิจเร่งด่วนของทุกฝ่าย

นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า แนวทางที่รัฐบาลได้ย้ำมาโดยตลอดคือ ต้องแสดงให้เห็นว่า บ้านเมืองของเราปกครองด้วยกฎหมาย รักษาหลักนิติธรรม นิติรัฐ บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด จะเห็นว่า ปัญหาที่ผ่านมามาจากการไม่บังคับใช้กฎหมายที่เคร่งครัด ซึ่งต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน หากแก้ไขตรงนี้ไม่ได้การแก้ไขปัญหาอื่นๆจะทำไม่ได้เลย เพราะสิ่งแรกที่ต้องแสดงให้ชาวโลก และคนไทยได้เห็นคือ บ้านเมืองเรามีกฎหมาย กติกา ขณะเดียวกัน ต้องทำบนความตระหนักไม่เติมเชื้อของความขัดแย้ง ในส่วนรัฐบาลได้วางแนวทางแก้ไขปัญหานี้โดยไม่เอาตัวเองไปอยู่ในความขัดแย้ง หรือเติมเชื้อความขัดแย้ง พร้อมที่จะยอมรับในการวิพากษ์วิจารณ์ ไปจนถึงการพยายามทำความเข้าใจ รับฟังเสียงของผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม เพื่อให้งานเดินหน้าต่อ ขอให้ผู้ที่ทำหน้าที่รักษากฎหมายทำไปอย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกัน ฝ่ายการเมืองทั้ง ครม.ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องต้องดูว่า หากมีความไม่เป็นธรรมต้องพร้อมพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ดีและยอมรับความจำเป็นของการทำงานเจ้าหน้าที่ต่อไป ตรงนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องเข้าใจแนวทางนี้ และช่วยกันสานต่อแนวทางนี้ เชื่อว่า ระยะเวลาผ่านไปสักระยะความรุนแรงเรื่องความขัดแย้งจะลดลง เชื่อว่าสังคมจะเริ่มขึ้นมาต่อสู้อย่างสันติ เพื่อที่จะให้ใครก็ตามที่หวังสร้างความแตกแยกเพื่อหวังผลทางการเมืองเป็นกลุ่มคนซึ่งคนส่วนใหญ่จะไม่ยอมรับ ทำให้บ้านเมืองของเรากลับเข้าสู่ภาวะปกติได้

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ประการที่ 2 ปัญหาเศรษฐกิจ เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงได้ สภาวะเศรษฐกิจหนักเป็นพิเศษ เพราะเป็นวิกฤติระดับโลก ความรุนแรงที่ไม่เคยเห็นมาก่อนย่อมกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ หมายถึงการหดตัวปัญหาการว่างงานรุนแรงขึ้น รัฐบาลจะใช้แนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดูแลคนที่ประสบกับความยากลำบากมากที่สุด ทั้งผู้ที่ตกงานพี่น้องภาคเกษตรกรโดยรัฐบาลจะมุ่งเสริมในเรื่องเศรษฐกิจในชนบทผ่านชุมชนพอเพียงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจในขณะนี้ เรียนว่าการจะให้ให้เศรษฐกิจฟื้นตัวภายในระยะเวลาสั้นๆ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในขณะนี้ เพราะฉะนั้นรัฐบาลได้มองแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงระยะเวลา 3 เดือนข้างหน้า แต่กำลังมีการวางแผนการลงทุนในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าเพื่อรองรับเศรษฐกิจในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า และเตรียมเศรษฐกิจให้มีความพร้อมมากยิ่งขึ้นในการได้ประโยชน์ภายหลังเศรษฐกิจฟื้นตัว ส่งผลให้เกิดความมั่นคงให้กับพี่น้องประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องที่พี่น้องประชาชนได้เห็นความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แต่ไม่ว่าปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง หรือเศรษฐกิจจะมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใดก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ตนยึดถือคือ รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาสังคมและการพัฒนาคน ถ้าเราสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้กับพี่น้องประชาชนได้ ถือเป็นรากฐานให้เศรษฐกิจ การเมือง สามารถพัฒนาไปอย่างที่ทุกคนอยากเห็นได้

นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงการมอบนโยบายด้านยาเสพติดว่า ปัญหายาเสพติดมีผลกระทบต่อประชาชนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนโดยตรง ถ้ามองในแง่เศรษฐกิจ ถือว่าเป็นการเสียโอกาสความอ่อนแอของคนเหล่านี้ในการเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือผลกระทบต่อครอบครัว ตนเชื่อว่าครอบครัวใดก็ตามที่ลูกหลานเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เหมือนเป็นการสูญเสียคนในครอบครัวส่งผลกระทบให้กับคนทั้งครอบครัว ถือเป็นปัญหาใหญ่ ที่เชื่อมโยงไปยังปัญหาอื่นๆ รวมทั้งปัญหาอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง มักจะเชื่อมโยงไปยังกระบวนการค้ายาเสพติดด้วย ถือเป็นหัวใจสำคัญ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ประการแรก ต้องยอมรับว่าปัญหายาเสพติดมีแนวโน้มที่จะเรื้อรังและขยายตัวมากยิ่งขึ้น พบว่า มีผู้เสพยาเสพติดรายใหม่เพิ่มขึ้น 150,000คน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาทั้งๆที่มีมาตรการในการแก้ไขปัญหายาเสพติดมาโดยตลอด ตัวเลขของผู้ติดยาเสพติดฟ้องว่า แม้ว่ามีกลไกนโยบายมากมายแต่สภาพปัญหาไม่ได้ดีขึ้น ประการที่สอง ต้องยอมรับว่า ในอดีตที่ผ่านมานโยบายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเน้นเรื่องการปราบปรามเป็นหลัก ถือว่าไม่เป็นเรื่องแปลกเพราะการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมามองเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุดคือ การปราบปราม หลายคนมีความคิดว่าการปราบปรามควรเพิ่มโทษ หรือความรุนแรงในการปราบปรามจะทำให้ปัญหาหมดไป แต่แนวความคิดอย่างนี้เกิดขึ้นทุกยุคสมัย ทุกสังคมไม่เฉพาะแต่ประเทศไทย

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ประสบการณ์ประวัติศาสตร์ได้บ่งชี้ว่าไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จนปรับเปลี่ยนรูปแบบ ทำให้ได้รับบทเรียนว่า ในช่วงที่ผ่านมาการใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามปัญหาใดปัญหาหนึ่งได้ผลในระยะเวลาสั้นๆ แต่ทำให้ปัญหาเกิดความซับซ้อนยากแก่การแก้ไขมากยิ่งขึ้น ถือว่า ในเรื่องการปราบปรามต้องทำอย่างเด็ดขาดแต่การทำนั้นต้องทำโดยคำนึงถึงหลักกฎหมาย ที่พูดอย่างนี้เพราะต้องการไม่ให้การใช้กฎหมายนำนโยบายการปราบปรามบนความรุนแรงเป็นเงื่อนไขหรือเหยื่อของปัญหาอื่นๆที่ตามมา ฉะนั้นย้ำว่า ความเด็ดขาดต้องมี ปราบปรามต้องทำ แต่ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย คิดว่า การปฏิบัติการในพื้นที่ 2 เดือนที่ผ่านมาเข้าไปจับกุมทลายเครือข่ายที่เกิดขึ้นในเรือนจำภายใต้การบังคับกฎหมายสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ประการที่ 2 การปราบปรามอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนปัจจัยในการลดปัญหายาเสพติด ต้องคิดให้กว้างมากขึ้น และดึงเอาทุกภาคส่วนมาเกี่ยวข้องให้มากขึ้น ถือเป็นหัวใจสำคัญในการประกาศนโยบาย โดย 1. ขอให้ทุกภาคส่วนถือว่าการแก้ปัญหายาเสพติดเป็นภารกิจหลัก ไม่ใช่งานฝาก ถือเป็นเรื่องที่ต้องช่วยดูแลในส่วนเกี่ยวข้องแก้ไขปัญหานี้ได้ 2. ต้องเน้นการให้ความสำคัญไปกับทุกมาตรการพร้อมๆกัน อย่าเน้นด้านหนึ่งด้านใด แก้ปัญหาหนึ่งซึ่งปัญหาหนึ่งตามมา ซึ่งการทำงานทั้งระบบครบวงจรมีส่วนสำคัญ ดึงภาคประชาสังคมเข้ามีส่วนร่วม 3. การบังคับใช้กฎหมายต้องบริสุทธิ์ยุติธรรมควบคู่กับหลักนิติธรรม เพื่อให้การแก้ปัญหายาเสพติดสัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมาย

นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า ตนขอมอบมาตรการที่เป็นรูปธรรม คือ รัฐบาลมีความมุ่งมั่นลดปัญหายาเสพติดขจัดปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยแผนตั้งกรอบเวลาเป็นระยะเวลา 6 เดือน ต้องการให้เห็นผลเป็นรูปธรรมว่ายาเสพติดลดลง ส่วนประการที่ 2 ต้องการมองเห็นทุกมิติปัญหายาเสพติดดึงพลังทุกภาคส่วนเกี่ยวข้องโดยใช้ยุทธศาสตร์ 5 รั้วป้องกัน ถือเป็นยุทธศาสตร์หลักของรัฐบาลในการเอาชนะยาเสพติด โดยใช้รั้วป้องกันหมายถึงเกราะภูมิคุ้มกันยาเสพติดลุกร้ำเข้ามา และดูแลปัญหาความมั่นคงและสังคมคลอบคลุมในพื้นที่มิติต่างๆ

นายอภิสิทธิ์กล่าวชี้แจงว่า รั้วแรก คือ รั้วชายแดน เนื่องจากยาเสพติดที่เกิดขึ้นในขณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศแต่เกิดขึ้นจากประเทศใกล้เคียง จึงจำเป็นต้องสร้างรั้วไม่ให้เข้ามา โดยให้กองบัญชาการกองทัพไทย กอ.รมน. กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) เป็นหน่วยงานหลักในการสกัดกั้นปลุกพลังตามแนวชายแดน มาเป็นแนวร่วมที่สำคัญ ในการสกัดกั้นยาเสพติดไม่ให้ทะลักเข้ามา รั้วที่ 2 คือ รั้วชุมชน เกิดขึ้นจากความอ่อนแอของหมู่บ้านและชุมชน หากหมู่บ้านและชุมชนเข้มแข็งจะสามารถแก้ไขปัญหาได้โดยให้กระทรวงมหาดไทย กอ.รมน. ทั้งระดับภาคและจังหวัดรวมถึงปปส. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) รวมถึงระบบอาสาสมัครอาศัยภาคประชาสังคมและองค์กรภาคเอกชน สามารถปลุกจิตสาธารณะของคนกลุ่มเหล่านี้ก็จะมีส่วนช่วยสำคัญที่จะสร้างรั้วป้องกันยาเสพติด

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า รั้วที่ 3 คือ รั้วสังคม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ทราบกันดีว่าขณะนี้เด็กที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดซึ่งดึงให้คนเหล่านี้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ทั้งสถานบันเทิง หอพักที่ใช้เป็นแหล่งมั่วสุม ร้านเกมส์ ร้านอินเตอร์เน็ต หรือโต๊ะสนุ๊ก จะนำไปสู่การมั่วสุมของแก๊งส์มอร์เตอร์ไซต์ และนำไปสู่แหล่งมั่วสุม ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงเด็กและเยาวชนเข้าไปสู่ยาเสพติด การแก้ปัญหานี้ต้องสร้างพื้นที่ในเชิงสร้างสรรค์ อย่างไรก็ตามต้องอาศัยหลายหน่วยงานเพื่อเพิ่มพื้นที่บวก ทั้งลานกีฬา ลานเยาวชน ห้องสมุด ศูนย์วัฒนธรรมต่างๆ ภารกิจตรงนี้ทุกกระทรวงต้องทำ อย่างไรก็ตาม กระทรวงมหาดไทย สตช. กระทรวงพัฒนาสังคม กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาก็ต้องมีบทบาทสำคัญในการสร้างรั้วตรงนี้

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า รั้วที่ 4 คือ รั้วโรงเรียน แน่นอนที่สุดถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุดในการปลูกฝังและสอดส่องดูแลเยาวชนโดยกระทรวงศึกษาธิการมีบทบาทสำคัญอย่างมาก สุดท้ายคือรั้วครอบครัว เป็นหน่วยพื้นฐานที่สุด สามารถทำให้ครอบครัวมีความเข้มแข็งมีความพร้อมในการดูแลสมาชิกครอบครัวจริงๆ ปัญหานี้ก็จะเบาบางไป ฉะนั้นทั้ง5 ยุทธศาสตร์ สามารถทำได้จะทำให้ยาเสพติดเบาบางลงไม่นานที่จะทำให้เห็นผลชัดเจน นอกจาก 5 รั้วป้องกันนั้นต้องให้ความสำคัญกับบางพื้นที่เป็นพิเศษ เช่น กทม. เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีเกณฑ์สูง อาจจะเกี่ยวพันธ์กับศูนย์กลางเศรษฐกิจ และลักษณะการเป็นชุมชนเมือง และพื้นที่ 2 คือพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากมีผลต่อความมั่นคงและมีส่วนเชื่อมโยงกัน ระหว่างผู้ค้ายาเสพติดและผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่ มีความชัดเจนมากยิ่งขึ่น และพื้นที่ในหมู่ผู้เสพ นโยบายสำคัญคือ การนำเข้าสู่ระบบบำบัดรักษาให้ได้มากที่สุด โดยใช้มาตรการชุมชนและประชาสังคมชักจูงโน้มน้าวให้ผู้เสพเข้ารับการบำบัดโดยสมัครใจ และเชื่อว่า หากมีผู้เข้ารับบำบัด 120,000 คน ภายใน 6 เดือน ยาเสพติดจะลดลงอย่างชัดเจน

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เพื่อความชัดเจนในการดำเนินงานได้มอบความรับผิดชอบให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดรับผิดชอบในรั้วชายแดน และมอบให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบในรั้วชุมชนและรั้วสังคม และปลัดกระทรวงศึกษาธิการรับผิดชอบในรั้วโรงเรียน ส่วนปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รับผิดชอบในรั้วครอบครัว สำหรับการปราบปรามได้มอบให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และด้านการบำบัดรักษามอบหมาย ให้ปลัดกระทรวงสาธารณะสุขเป็นผู้รับผิดชอบ โดยมีปปส. เป็นผู้กำหนดนโยบาย และกอ.รมน. เป็นกลไกอำนวยการ โดยมีศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ โดยขอให้ปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมชัดเจน และตั้งคณะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสอดส่องดูแล ให้มีการวัดผลได้ ทั้งนื้ในส่วนของผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดต้องมีบทบาทสำคัญในการบูรณาการร่วมกับทุกหน่วย ให้มีผลปฏิบัติในทุกจังหวัดด้วย นอกเหนือจากนั้น อยากให้พี่น้องประชาชนทุกคนสามารถมีบทบาทแก้ไขปัญหานี้ได้ เราคงไม่ต้องการเห็นประเทศของเราอ่อนแอ ลูกหลานตกเป็นทาสยาเสพติด วันนี้ต้องช่วยกัน อย่าถือว่าเป็นภาระรับผิดชอบของภาครัฐเป็นหน้าที่หลัก แต่สามารถสร้างรั้วทั้ง 5 ได้ และเชื่อว่า หากคนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือกับหน่วยงาน และปฏิบัติอย่างจริงจัง ในการแก้ปัญหานี้เพื่อให้เกิดความสงบสุขและมีชีวิตที่ดี เป็นสิ่งที่เราสามารถทำร่วมกันได้
กำลังโหลดความคิดเห็น