“ชินวรณ์” เผยเตรียมตั้งกรรมการประสานงานข้อมูลระหว่างรัฐมนตรีสู้ศึกซักฟอก หวังชี้แจงไปในทิศทางเดียวกัน ขู่ฝ่ายค้านอภิปรายพาดพิงบุคคลที่ 3 ไม่รับรองสมาชิกไม่ประท้วง ยันพรรคร่วมรัฐบาลยินดียกมือโหวตหนุน “กษิต” ชี้ไม่ใช่มติพรรค ถือเป็นสิทธิ์ พร้อมปัดข่าวแลกตัวเลข7 หลักกับมือโหวต
วันนี้ (17 มี.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการรับมือการอภิปรายไม่ไว้วางใจของรัฐบาล ว่า ได้ประสานไปยัง นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ถึงการร่นเวลาวันอภิปรายให้เร็วขึ้น ซึ่งทราบว่าได้บรรจุในระเบียบวาระการประชุมสภา เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ ได้ประสานไปยังรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายทั้ง 5 คนแล้ว ซึ่งทั้ง 5 คนก็มีความพร้อมที่จะชี้แจงตอบข้อซักถาม ทั้งนี้ พรรคร่วมรัฐบาลจะได้นัดประชุมคณะกรรมการประสานงานข้อมูลในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อจัดทำฐานข้อมูล และตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้รัฐมนตรีได้นำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ตอบชี้แจงไปในทิศทางเดียวกัน และจะมีการประชุมร่วมกับวิปฝ่ายค้าน เพื่อจัดสรรเวลาและวางกรอบขอบเขตในการอภิปราย เพื่อให้การอภิปรายจะได้กระชับ ให้รัฐมนตรีได้มีโอกาสชี้แจงเท่าเทียมกัน เนื่องจากในการอภิปรายหากมีพาดพิงถึงบุคคลภายนอกและผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง นอกจากรัฐมนตรีทั้ง 5 คนแล้ว เช่น เกี่ยวกับเรื่องเงินบริจาคพรรค 258 ล้านบาท ในปี 2547-2548 ซึ่งอาจพาดพิงถึงบุคคลอื่นเราก็จำเป็นที่จะต้องให้สิทธิผู้ถูกพาดพิงสามารถชี้แจงได้ ซึ่งถ้าหากมีการพาดพิงถึงพรรคประชาธิปัตย์โดยรวม ฝ่ายค้านก็ต้องยอมรับหาก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จะใช้สิทธิพาดพิงทั้งพรรค ซึ่งจุดนี้ก็ต้องทำความเข้าใจร่วมกันให้ชัดเจนก่อน
ส่วนที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายนายกฯ ในวันแรกเพียงคนเดียวนั้น ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะนายกฯ สามารถเชื่อมโยงในการตอบญัตติให้ประชาชนทราบได้ดีกว่ารัฐมนตรีคนอื่นๆ ด้วยซ้ำไป ดังนั้น ในทางกลับกันยิ่งฝ่ายค้านอภิปรายนายกฯ มาก ก็ยิ่งกลายเป็นส่วนดี เพราะประเด็นที่เราเป็นห่วงกลายเป็นจุดแข็งของนายกฯ แต่ไม่ได้เป็นห่วงใครมากที่สุด เพราะด้วยเหตุผล 1.รัฐบาลเพิ่งจะบริหารราชการแผ่นดินได้ 2 เดือนกว่า 2.เรื่องในอดีตที่เอามาพูดรัฐมนตรีแต่ละคนก็มีข้อมูลอยู่แล้ว และ 3.ความคาดหวังของประชาชนคิดว่าการอภิปรายครั้งนี้เป็นกระบวนการทางการเมือง ทั้ง 3 ข้อนี้ทำให้เราหมดกังวล
เมื่อถามว่า การร่นเวลาอภิปรายไม่ไว้วางใจให้เร็วขึ้น ถือเป็นการหนีม็อบเสื้อแดงหรือไม่ ซึ่งฝ่ายค้านเองระบุว่าเป็นการเล่นเกมของรัฐบาล นายชินวรณ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของประธานสภาที่ต้องดำเนินไปตามข้อบังคับใหม่ ที่บัญญัติชัดเจนว่าเมื่อฝ่ายค้านยื่นญัตติไม่ไว้วางใจแล้ว ประธานต้องตรวจสอบความถูกต้อง และบรรจุเป็นวาระด่วนภายใน 7 วัน ต่างจากข้อบังคับเดิมที่ต้องแจ้งไปยังครม.ที่ถูกอภิปรายให้เตรียมตัวภายใน 15 วัน และเมื่อได้ประสานงานไปยังนายกฯ และรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายแล้วก็มีความพร้อม ทางวิปรัฐบาลจึงไม่ขัดข้อง ซึ่งในการประชุมวิปรัฐบาลก็เห็นว่าเราควรแยกประเด็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจกับม็อบเสื้อแดงออกจากกันให้ชัดเจน เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่พรรคฝ่ายค้านได้นำการอภิปรายไม่ไว้วางใจไปเกี่ยวข้องกับการชุมนุมนอกสภา เพื่อประโยชน์ของคนบางกลุ่มก็จะทำให้พรรคฝ่ายค้านเสียหาย เพราะพรรคฝ่ายค้านควรเป็นสถาบันทางการเมืองที่สร้างความหวังให้กับประชาชน แต่อย่างไรก็ตามการชุมนุมโดยเปิดเผย ปราศจากอาวุธสามารถทำได้อยู่แล้ว
ส่วนที่ นายเกียรติกร พากเพียรศิลป์ ส.ส.ปราจีนบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาระบุว่า จะมี ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลบางคนจะไม่โหวตให้ นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ นั้น นายชินวรณ์ กล่าวว่า พรรคร่วมรัฐบาลได้มีการหารือร่วมกันเมื่อวาน (16 มี.ค.) และมีความเห็นในทำนองเดียวกันว่ารัฐบาลบริหารราชการได้ 2 เดือน ยังไม่พบว่ารัฐมนตรีท่านใดบกพร่องในการบริหารราชการแผ่นดิน ส่วนความคิดเห็นทางการเมืองของรัฐมนตรีแต่ละคนอาจจะแตกต่างกันบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดา ตนยืนยันว่า พรรคร่วมรัฐบาลไม่มีใครมีความคิดเห็นที่แตกต่าง จากนี้ก็เป็นกรณีพิเศษ จึงถือเป็นความเห็นส่วนตัวของ นายเกียรติกร ไม่มีมติพรรค และมติของวิปในเรื่องของการลงมติอยู่แล้ว เพราะต้องให้อิสระส.ส.ในการลงมติตามรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญ 50 ให้อิสระกับ ส.ส.ที่จะลงมติโดยไม่อยู่ภายใต้อาณัติของพรรคการเมือง
“รัฐบาลภายใต้การนำของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ จะไม่ใช้อำนาจรัฐกีดกันการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และที่สำคัญเพื่อนสมาชิกทุกคนมีเอกสิทธิ์ที่จะลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจได้” นายชินวรณ์ กล่าว
เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทย ออกมาให้ข่าวทำนองว่า มีการเตรียมตัวเลข 7 หลัก ในวันยกมือโหวต นายชินวรณ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ฝ่ายค้านพูดอย่างไม่มีตรรกะ ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ วันนี้อยากให้พี่น้องประชาชนได้เข้าใจว่าการทำงานของฝ่ายรัฐบาล เรามาร่วมรัฐบาลเพื่อให้บ้านเมืองหลุดพ้นวิกฤต ดังนั้น คงไม่มีใครไปดำเนินการที่จะทำให้การเมืองล้มเหลวไปกว่านี้ เราต้องยกฐานะทางการเมืองให้ประชาชน เห็นว่า รัฐสภาเป็นระบบทำงานได้ ซึ่งเราต้องให้เกียรติฝ่ายค้านในการทำหน้าที่อภิปราย ดังนั้น จึงไม่มีเหตุใดที่จะไปต่อรองหรือใช้เลข 7 หลัก