เมื่อพิจารณาในเกมเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เริ่มเข้มข้นทุกขณะ รวมทั้งวันดีเดย์ชุมนุมใหญ่ขับไล่รัฐบาลวันที่ 27 มีนาคมนี้ ก็ต้องชิง “ตัดเกม” ขัดจังหวะเป็นการเร่งด่วนก่อน
ต้องยอมรับว่าการโยกย้ายข้าราชการระดับ 10 ของกระทรวงมหาดไทยจำนวน 28 ตำแหน่งซึ่งมีทั้ง ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ตรวจราชการ และอธิบดี เมื่อวานนี้ (10 มี.ค.) ถือว่าเป็นอีกล็อตใหญ่ในเวลาไม่นานนัก หลังจากก่อนหน้านี้ได้โยกย้ายตำรวจในตำแหน่งผู้บัญชาการภาค จนถึงระดับผู้บังคับการจังหวัดจำนวน 106 ตำแหน่งมาแล้ว
ทั้งสองครั้งถือว่ามีนัยยะทางการเมืองสำคัญ เพราะทั้งตำรวจและฝ่ายปกครองล้วนเป็นกลไกอำนาจรัฐ ให้คุณให้โทษต่อการบริหารงานของรัฐบาลมาทุกยุคสมัย
หากแยกตั้งข้อสังเกตเฉพาะการโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัด และอธิบดีกรมพัฒนาชุมชน และอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นครั้งนี้ถือว่า เป็นวาระ “พิเศษ” เร่งด่วนแบบเฉพาะเจาะจงกันเลยทีเดียว
เป็นการโยกย้ายนอกฤดูที่ไม่ธรรมดา !!
มองข้ามไม่ได้ก็คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังในการทำบัญชีโยกย้าย ทุกสายตาล้วนพุ่งไปยัง สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงซึ่งรับมอบอำนาจนายกฯมาโดยตรง กับ เนวิน ชิดชอบ ที่ปัจจุบันหันมาเล่นบทชักใยอยู่ “หลังม่าน” ออกมาในลักษณะ “แชร์อำนาจ” ถ้อยทีถ้อยอาศัย
และเมื่อพิจารณาในรายละเอียดก็พบว่าล้วนพุ่งไปยังพื้นที่เป้าหมาย เน้นเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสาน ส่วนใหญ่ล้วน “สีแดงเข้ม” เป็นเขตอิทธิพลฐานเสียงของเครือข่าย “ทักษิณ ชินวัตร” ทั้งสิ้น
เริ่มจากภาคเหนือก่อนจังหวัดที่อยู่ในข่ายจับตามองเป็นพิเศษ ไล่ไปตั้งแต่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง รวมทั้งพิษณุโลก ซึ่งมีทั้งเด้งเข้ากรุ และดันคนใกล้ชิดไว้ใจได้เข้าไปเสริมแทน โดยเฉพาะ 3 จังหวัดแรก ก่อนหน้านี้จะเห็นความเคลื่อนไหวอย่างเข้มข้นของกลุ่มคนเสื้อแดงมาตลอด และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
ที่น่าจับตาก็คือยังเป็นการเคลื่อนไหวอย่างคึกคักของขบวนการดูหมิ่น จาบจ้วงสถาบันเบื้องสูงคู่ขนานไปด้วยกัน
น่าสังเกตก็คือเป็นคำสั่งโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดเข้าไปแทนที่ล้วนเรียกได้ว่า “คนกันเอง” โดยเฉพาะว่าที่ผู้ว่าฯเชียงใหม่ที่โยกมาจากลำปางถือว่ามีความสัมพันธ์แนบแน่นกับพรรคประชาธิปัตย์มาตั้งแต่รุ่นพ่อจนถึงรุ่นลูก เพราะร่วมก่อตั้งพรรคด้วยกันมา
ส่วนเชียงรายไม่ต้องบอกก็ย่อมรู้ว่าเป็นเขตอิทธิพลของใคร และที่ผ่านมาหากยังจำกันได้ เป็นจังหวัดแรกที่มีคำสั่งโยกย้ายมาประจำกระทรวง เพื่อเปิดตำแหน่งให้มีการขยับตามมาเป็นลูกระนาด
ขณะที่ภาคอีสาน แม้ว่าส่วนใหญ่จะการโยกย้ายออกนอกพื้นที่ แต่ก็เป็นการละลายพฤติกรรมที่ได้ผล มีเพียงผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามเท่านั้นที่ถูกเด้งเข้ากรุมาเป็นผู้ตรวจราชการ กระทรวงมหาดไทย แต่ที่มองข้ามไปไม่ได้ก็คือการโยกผู้ว่าฯขอนแก่นมานั่งเก้าอี้อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รวมทั้งบำเหน็จรางวัลให้ผู้ว่าฯนครนายกมาเป็นอธิบดีกรมพัฒนาชุมชน ที่ สุเทพ เพิ่งเลือกลงพื้นที่เมื่อสุดสัปดาห์ก่อน
เมื่อพิจารณาในภาพรวมทั้งหมดไล่มาแต่ละภาค แต่ละจังหวัดแล้วปฏิเสธไม่ได้ว่าการโยกย้ายครั้งนี้มีนัยยะทางการเมืองแน่นอน และช่วยไม่ได้ที่จะถูกมองว่ามีเป้าหมายเพื่อลดอิทธิพลเครือข่ายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในนามของกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นการเฉพาะ
ประกอบกับเมื่อพิจารณาในเกมเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เริ่มเข้มข้นทุกขณะ รวมทั้งวันดีเดย์ชุมนุมใหญ่ขับไล่รัฐบาลในวันที่ 27 มีนาคมนี้ ก็ต้องชิง “ตัดเกม” ขัดจังหวะเป็นการเร่งด่วนก่อน
นอกเหนือจากนี้ยังสามารถเปิดเกมรุกในการบริหารราชการตามนโยบายของรัฐบาลในช่วงที่มาตรการเร่งด่วนกระตุ้นเศรษฐกิจสารพัดโครงการที่เริ่มไหลลงสู่ “รากหญ้า” ตั้งแต่ปลายเดือนนี้เป็นต้นไป
ซึ่งกรมพัฒนาชุมชน และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นก็ย่อมเป็นหัวใจหลักสำหรับการหาเสียงล่วงหน้า อีกทั้งมีงบประมาณจำนวนอีกจำนวนนับหมื่นล้านบาท ย่อมเป็นหัวใจหลัก
ดังนั้นหากพิจารณาจากองค์ประกอบดังกล่าวมาตั้งแต่ต้นถือว่าคำสั่งโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดครั้งนี้นอกจากเป็นการขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลไปปฏิบัติให้เห็นผลแล้ว ยังเป็นการ “หักดิบ” เพื่อสลายอิทธิพลของอำนาจเก่า
ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งยังเป็นการเปิดเกมรุกทางการเมืองครั้งใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์และ “กลุ่มเพื่อนเนวิน” อย่างแน่นอน !!