xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : “พันธมิตรฯ” ควรตั้ง “พรรคการเมือง” หรือไม่?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แกนนำพันธมิตรฯ พูดถึงแนวคิดที่อาจตั้งพรรคการเมือง บนเวทีคอนเสิร์ตการเมือง ครั้งที่ 4 ที่เกาะสมุย(4 มี.ค.)
อมรรัตน์ ล้อถิรธร....รายงาน

นาทีนี้ ถ้าพูดถึง “พันธมิตรฯ” คำถามยอดฮิตคงไม่พ้น “จะตั้งพรรคจริงหรือ?” ไม่ว่าใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร หากวิพากษ์วิจารณ์บนพื้นฐานของความปรารถนาดี-มีเหตุผล แกนนำพันธมิตรฯ ก็พร้อมรับฟัง เพราะขณะนี้แนวคิดดังกล่าวยังไม่ตกผลึก เป็นเพียงการ “โยนหินถามทาง” และหากพันธมิตรฯ จะตั้งพรรคขึ้นมาจริงๆ ก็ใช่ว่าจะตั้งวันนี้พรุ่งนี้ ยังต้องใช้เวลาอีกนานเป็นปีหรือมากกว่านั้น ดังนั้น ก่อนที่แกนนำพันธมิตรฯ จะได้บทสรุปเรื่องนี้ ลองมาฟังเสียงสะท้อนจากคนรอบข้างเพิ่มเติม ทั้งผู้ที่เป็นแนวร่วมพันธมิตรฯ ตลอดจนนักวิชาการผู้คร่ำหวอดทางการเมือง ว่า จะหนุนพันธมิตรฯ ตั้งพรรคการเมืองหรือไม่

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ

สัปดาห์ที่แล้วต่อเนื่องมาจนถึงสัปดาห์นี้ ประเด็นเกี่ยวกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ถูกพูดถึงอย่างมาก ก็คือ แนวคิดที่พันธมิตรฯ จะตั้ง “พรรคการเมือง” ซึ่งแกนนำพันธมิตรฯ หลายคนได้พูดถึงเรื่องนี้ในเชิง “โยนหินถามทาง” บนเวทีคอนเสิร์ตการเมือง ครั้งที่ 4 ที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อค่ำวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งสุ้มเสียงของแกนนำออกมาทำนองว่า เหตุที่พันธมิตรฯ อาจต้องตั้งพรรคการเมือง ก็เพื่อสานฝันการเมืองใหม่ให้เป็นความจริง คือ การเมืองที่มีนักการเมืองที่เสียสละ ซื่อสัตย์ และกล้าหาญ ซึ่งการเมืองแบบนี้ยังไม่สามารถเห็นได้ในยุคปัจจุบัน ดังนั้น หากพันธมิตรฯ ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา เพื่อเป็นทางเลือก และทำการเมืองใหม่ให้ปรากฏ น่าจะช่วยจรรโลงสังคมการเมืองไทยให้คาดหวังได้มากกว่าที่เป็นอยู่

นายสนธิ ลิ้มทองกุล 1 ในแกนนำพันธมิตรฯ ชี้ว่า ภาคประชาชนก็สามารถมีพรรคการเมืองได้ พร้อมฉายภาพพรรคการเมืองใหม่ในอุดมคติ ว่า ถ้าพันธมิตรฯ จะตั้งพรรคจริงๆ หน้าตาพรรคนี้จะดีกว่าพรรคการเมืองเดิมๆ ที่เป็นอยู่เวลานี้อย่างไร

“ผมพูดคุยกับแกนนำทุกคนก็เห็นด้วย โดยส่วนตัวผมไม่เห็นว่าภาคประชาชนจะมีพรรคการเมืองไม่ได้ มีได้ ถ้าพรรคนั้นเป็นตัวอย่างให้ทุกคนเห็น เป็นพรรคในอุดมคติที่ทุกคนอยากได้ 1.ส.ส.พรรคนี้ เมื่อเห็นการแก่งแย่งตำแหน่งกัน ก็จะก้มหน้าด้วยความอับอาย ต้องไม่รับตำแหน่ง ไม่แย่งกันเป็นรัฐมนตรีเหมือนหมาแย่งกระดูก 2.เสียสละ เงินเดือนที่ได้มาต้องบริจาคเข้าองค์กรการกุศล ไม่รับแม้แต่บาทเดียว 3.ประชาชนต้องเป็นคนสนับสนุนพรรคการเมืองนี้ ไม่ใช่นายทุนมาสนับสนุน ใครเป็นสมาชิกพรรคนี้ต้องเสียค่าสมาชิกเดือนละ 100 บาท ถ้ามี 1 ล้านคน ก็มีเงินเดือนละ 100 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นพรรคของประชาชนจริงๆ เหมือนเอเอสทีวี ที่เป็นของประชาชน 4.ต้องซื่อสัตย์ เมื่อเราเชื้อเชิญคนข้างนอกมาเป็นรัฐมนตรี ต้องกุมคนนั้นไม่ให้คดโกง ทุจริต ถ้ามีข้อกังขา เอาออกเลย เพราะเขามาเป็นรัฐมนตรีได้ ไม่ใช่เพราะมี ส.ส.10 คน แต่เพราะเราเชิญเขามา เมื่อเชิญมาได้ก็ไล่ไปได้ และต้องกล้าหาญที่จะลุกขึ้นมาบอกว่า ผมคือพันธมิตรฯ ไม่ต้องอมพะนำ นี่คือ สิ่งที่ผมได้พูดกับแกนนำในเชิงปรัชญา”

ไม่ว่าพรรคการเมืองใหม่ในอุดมคติแบบที่ นายสนธิ พูดมา จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ แต่ในฐานะแกนนำพันธมิตรฯ คนหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่ยามเฝ้าแผ่นดินกับเอเอสทีวีมาตลอด ก็ยืนยันว่า ตัวเขาเองจะไม่เข้าไปมีบทบาทในพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ เพราะเขาอยากทำหน้าที่รักษาป้อมปราการอยู่กับเอเอสทีวี เพื่อเป็นหัวหอกในการชูธงการเมืองใหม่มากกว่า

หลังแกนนำพันธมิตรฯ จุดประเด็นเรื่องอาจจะตั้งพรรคการเมือง ได้เกิดปฏิกิริยาจากสังคม ซึ่งมีทั้งเห็นด้วย-ตอบรับ ขณะที่บางส่วนก็เป็นห่วงและเสียดาย เพราะอยากให้คงบทบาทการตรวจสอบของภาคประชาชนมากกว่า ส่วนปฏิกิริยาของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ตั้งตนเป็นปฏิปักษ์กับพันธมิตรฯ ก็รีบฉวยโอกาสกล่าวหาว่า พันธมิตรฯ โค่นล้ม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อปูทางให้ตัวเองเข้าสู่อำนาจ!?!

เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่า พันธมิตรฯ ควรตั้งพรรคการเมืองหรือไม่ ลองไปฟังมุมมองของแนวร่วมพันธมิตรฯ ที่เคลื่อนไหวในนามองค์กรพัฒนาเอกชน ตลอดจนนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ว่าจะเห็นด้วยกับแนวคิดของแกนนำพันธมิตรฯ หรือไม่ ซึ่งแกนนำพันธมิตรฯ ได้ประกาศชัดเจนว่า การจะตั้งพรรคหรือไม่ จะรับฟังความคิดเห็นของประชาชนพี่น้องพันธมิตรฯ ทั่วประเทศ

นายบรรจง นะแส เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ และผู้ประสานงานพันธมิตรฯภาคใต้ บอกว่า ส่วนตัวแล้วในฐานะที่ทำงานองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม เห็นด้วยหากพันธมิตรฯ ตั้งพรรคการเมืองตามกรอบการเมืองใหม่ที่เคยพูดไว้ โดยเป็นพรรคที่ให้ประชาชนหลากหลายสาขาอาชีพเข้ามามีส่วนร่วม

“ผมว่าก็ดีนะ เพราะความถนัดของแต่ละคน หรือจุดที่แต่ละคนยืนเนี่ยมันต่างกัน อย่างเช่น พวกผมเนี่ย เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำด้านสิ่งแวดล้อม เราก็ทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาของชาวบ้านมา และเราก็ไม่ได้สนใจประเด็นการเมืองในเชิงพรรคการเมือง แต่ในส่วนของการเป็นพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ เนี่ย มันต้องเหมือนที่คุยกันกรอบกว้างๆ ใช่มั้ยว่า มันต้องมีความแตกต่างจากพรรคการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น ระบบสมาชิกที่ต้องมีการมีส่วนร่วมจากสมาชิกจริงๆ ไม่ใช่มีนายทุนคนใดคนหนึ่งหอบเงินมาตั้ง อย่างนั้นไม่มั่นคง และเป็นการเมืองระบบเก่า ซึ่งผมคิดว่าในระยะยาวมันไม่น่าจะมีอนาคตเท่าไหร่ แต่ถ้าทิศทางที่กรอบพันธมิตรฯ วางเอาไว้ตอนที่อยู่ในทำเนียบฯ เรื่องการเมืองใหม่ว่า ทำยังไงที่จะมีองค์กรที่เป็นภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม มีความหลากหลายของกลุ่มสาขาอาชีพ ไม่ใช่เฉพาะคนที่มีอาชีพเดียวและมีสตางค์เท่านั้นที่เข้ามาใช้อำนาจรัฐ พูดถึงเรื่องการตรวจสอบอำนาจรัฐโดยกลไกต่างๆ ด้วยการแยกอำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ ที่มีรายละเอียดที่จะไม่ให้มีการก้าวก่ายกัน ทำนองนี้ ผมเห็นด้วย”

ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทย โจมตีพันธมิตรฯ ที่คิดจะตั้งพรรคการเมืองนั้น นายบรรจง เชื่อว่า สมาชิกพันธมิตรฯ จะเข้าใจ เพราะเป็นวิถีปกติของนักการเมืองที่พยายามหาช่องทำลายพรรคคู่แข่งอยู่แล้ว ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า การตั้งพรรคของพันธมิตรฯ ไม่ใช่การลงมาเล่นการเมืองเพื่อให้ได้มีอำนาจหรือเป็นรัฐบาล แต่เป็นการเข้าสู่การเมืองเพื่อเข้ามาแก้ปัญหา

ส่วนที่บางฝ่ายมองว่า หากพันธมิตรฯ ตั้งพรรคการเมือง จะเกิดการแย่งชิงมวลชนกับพรรคประชาธิปัตย์ หรือไม่นั้น นายบรรจง บอกว่า คิดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหา เพราะการตั้งพรรคใหม่ ก็ถือเป็นตัวเลือกใหม่ที่เพิ่มขึ้น และว่า แม้ตนจะอยู่ปักษ์ใต้ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อประชาธิปัตย์ทำดี ตนก็โอเค แต่ถ้าประชาธิปัตย์ทำไม่ดี ตนก็วิพากษ์วิจารณ์ แต่ก็มีหลายเรื่องที่ประชาธิปัตย์เห็นปัญหาแล้ว แต่ไม่แก้ เพราะมีความสัมพันธ์อยู่กับการเป็นการเมืองเก่า และหัวคะแนน ตนจึงต้องลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวกับพันธมิตรฯ ในเรื่องการเมืองใหม่ เพื่อให้เอาปัญหาของประชาชนเป็นตัวตั้ง

ด้านรศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดถึงกรณีที่พันธมิตรฯ มีแนวคิดตั้งพรรคการเมือง ว่า ส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วย เพราะพันธมิตรฯ เป็นกลุ่มพลังภาคประชาชนที่ได้รับการสนับสนุนและการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างกว้างขวาง ถือเป็นพลังบริสุทธิ์ ไม่ได้มีผลประโยชน์ทางการเมืองใดๆ จึงอยากให้พันธมิตรฯ คงบทบาทในการตรวจสอบต่อไปมากกว่า และว่า หากพันธมิตรฯ ตั้งพรรคการเมือง อาจเกิดปัญหาความเป็นเอกภาพในหมู่สมาชิกได้ เพราะแม้การรวมตัวของพันธมิตรฯ ในฐานะผู้ตรวจสอบ จะทำได้ง่าย เมื่อต่อต้านเรื่องอะไรสักอย่าง แต่หากเป็นพรรคการเมืองแล้ว การนำเสนอประเด็นนโยบายที่จะทำให้สมาชิกเห็นพ้องกันโดยถ้วนหน้านั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย จึงอาจเกิดความแตกแยกในหมู่สมาชิกได้

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ไชยันต์ ยอมรับว่า การตั้งพรรคของพันธมิตรฯ ก็มีข้อดีอยู่หลายประการเช่นกัน ทั้งในแง่ความพร้อม และการท้าพิสูจน์คำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

“พรรคการเมืองใหม่ ผมก็ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะมันจะเกิดทางเลือกใหม่ๆ เกิดขึ้น เพราะสังเกตดูนะที่ผ่านมา มันจะมีประชาชนจำนวนไม่น้อยเลยที่บอกไม่รู้จะเลือกพรรคไหน เพราะพรรคนี้ก็ไม่เอา พรรคนั้นก็ไม่เอา เพราะมันก็เหมือนๆ กันหมด สมมติว่า พรรคพันธมิตรฯ พร้อม มีคนส่วนหนึ่งพร้อมที่จะจัดตั้งพรรคการเมืองและต่อสู้ในวิถีทางทางรัฐสภา ซึ่งเป็นวิถีทางที่จะไปกำหนดเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างชัดเจน คือ มีอำนาจทางการเมืองอยู่ในมือซึ่งเป็นอำนาจทางการเนี่ย ตรงนี้ผมก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่เลว”

“ข้อดีอีกอันหนึ่ง ข้อดีของการที่พันธมิตรฯ จะตั้งพรรคการเมือง ก็คือ คุณทักษิณ เคยท้าทายไง 3-4-5 ปีมาแล้วว่า คือ ถ้าใครทุกคนที่มาประท้วงแก มาต่อต้านแก มาวิจารณ์แกว่า พวกนี้ไม่รู้จักทำงาน ทำงานไม่เป็น แล้วชอบมานั่งพูดนั่งว่า เพราะฉะนั้นถึงเวลา แน่จริงทำไมไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ผมคิดว่าอันนี้ก็เป็นจุดที่น่าสนใจที่ว่า คราวนี้ที่พันธมิตรฯ มีฐานมวลชนมีเครือข่ายมากมาย ซึ่งอาจจะเข้มแข็งกว่าพรรคการเมืองทุกพรรคในขณะนี้เลยก็ได้ ก็อาจจะกลายเป็นพรรคการเมืองที่มีฐานประชาชน และค่อยๆ เติบโตมาจากการเป็นกลุ่มประชาชน กลุ่มที่แบบความคิดเห็นสอดคล้องใกล้เคียงกัน ผมคิดว่าอันนี้ก็เป็นลักษณะธรรมชาติอันหนึ่งของการเกิดพรรคการเมืองที่เป็นพรรคการเมืองแท้ๆ อันนี้ผมว่าเป็นในแง่ดีที่ว่า ความพร้อมของพันธมิตรฯ มีมาก”


รศ.ดร.ไชยันต์ ยังชี้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอีกหากพันธมิตรฯ ตั้งพรรคว่า พันธมิตรฯ จะเอาใครมาลงสมัครรับเลือกตั้ง หากเอาอดีตนักการเมืองที่เคยร่วมเคลื่อนไหวกับพันธมิตรฯ มาลง ก็อาจจะเคยชินหรือติดอยู่กับวังวนการเมืองแบบเก่า ที่แสวงผลประโยชน์บ้าง มีผลประโยชน์ทับซ้อนบ้าง แต่ถ้าพันธมิตรฯ เอาเลือดใหม่มาลงสมัครทั้งหมด ก็แน่นอนว่า มีอุดมการณ์เข้มข้น มุ่งสร้างการเมืองใหม่ แต่ถ้าเป็นคนประเภท “ยอมหักไม่ยอมงอ” ก็อาจเกิดปัญหาได้จากจุดยืนที่แข็งกระด้างไป เพราะการเมืองเป็นเรื่องที่ต้องประนีประนอมบ้าง แต่จะประนีประนอมอย่างไรให้ชอบธรรม ประนีประนอมอย่างไรไม่ให้ประโยชน์สาธารณะเสียหาย

รศ.ดร.ไชยันต์ ยังบอกด้วยว่า ไม่ว่าพันธมิตรฯ จะตั้งพรรคหรือไม่ แต่ส่วนตัวแล้วรู้สึกดีใจที่แกนนำพันธมิตรฯ อย่างนายพิภพ ธงไชย ยังยืนหยัดจะไม่เข้าสู่กระบวนการของพรรคการเมือง แต่จะทำงานในนามภาคประชาชนต่อไป และดีใจที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล ยังยืนหยัดในการเป็นสื่อ เป็นยามเฝ้าแผ่นดินต่อไป

ขณะที่ ผศ.ทวี สุรฤทธิกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช บอกว่า ส่วนตัวแล้วเห็นด้วยหากพันธมิตรฯ จะตั้งพรรคการเมือง แต่ไม่อยากให้ตั้งเวลานี้ เพราะไม่แน่ใจว่าสถานการณ์หลังพันธมิตรฯ ยุติชุมนุมแล้ว อุดมการณ์ของแนวร่วมพันธมิตรฯ ยังเหนียวแน่นแค่ไหน ซึ่งหากพันธมิตรฯ ตั้งพรรคตั้งแต่ตอนที่ยังชุมนุมอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล จะถือว่าเป็นช่วงที่เหมาะสม เพราะตอนนั้นมีการยกระดับการต่อสู้ แต่เมื่อมาถึงช่วงนี้ หากคิดจะตั้งพรรคจริงๆ อยากให้มีการก่อตัวหรือหล่อหลอมอุดมการณ์ของแนวร่วมอีกสักระยะหนึ่งให้มีความเหนียวแน่น และมีจำนวนที่มากพอ และว่า การกำหนดโครงสร้างพรรค ไม่ว่าจะในแง่ตัวหัวหน้าพรรค หรือนโยบายยุทธศาสตร์ของพรรค ก็ควรมาจากฉันทามติของมวลชนเช่นกัน ไม่ใช่การรวบยอดหรือจัดการมาจากข้างบน

ผศ.ทวี ยังแนะด้วยว่า หากพันธมิตรฯ จะใช้ชื่อ “เทียนแห่งธรรม” เป็นชื่อพรรคใหม่จริงๆ ก็ต้องชูประเด็นนี้ออกไปได้แล้ว และแทนที่แกนนำพันธมิตรฯ จะเดินสายพบปะมวลชนอย่างเดียว ก็ควรจะใช้โอกาสซาวนด์เสียงมวลชนเกี่ยวกับการจัดตั้งพรรคและจัดแกนนำในระดับชุมชนท้องถิ่นด้วย เหมือนกับการตั้งประชาคมผู้นิยมพรรค หรือ“คอคัส (caucus)” ของสหรัฐฯ

“ผมคิดว่าระบบคอคัสเนี่ยเมืองไทยยังทำได้ โดยจัดตั้งผู้นิยมพันธมิตรฯ ถ้าเผื่อจะใช้พรรคเทียนแห่งธรรม ก็จะต้องชูพรรคนี้ออกไปเลย แล้วก็มาช่วยกันสร้างซิว่าจะขับเคลื่อนไปในทางไหน เสร็จแล้วคอคัสเหล่านี้ เมื่อถึงเวลาคัดตัวผู้สมัคร ก็จะเป็นคนช่วยกันเฟ้นหาเหมือนกับการทำไพรมารี่ในสหรัฐฯ คือ เขาก็จะคัดเลือกกันมาจากระดับท้องถิ่นขึ้นมา หัวหน้าพรรคเราก็อาจจะใช้ระบบนี้เช่นกัน อาจจะต้องมีการทำสมัชชาของพันธมิตรฯ สักครั้ง หลังจากจัดตั้งคอคัสต่างๆ ขึ้นทั่วประเทศแล้ว ประชุมกันในระดับสมัชชาแห่งชาติ และค่อยมาหาหัวหน้าพรรค และกลไกการบริหารพรรคต่อไป ผมว่าอย่างนี้มันจะแน่น มันอาจจะยุ่งยาก แต่มันเป็นทางเลือกที่สวยงาม มันเป็นทางที่น่าจะอยากให้เกิดขึ้นในการเมืองไทย และมันก็ช่วยแก้ปัญหาการเมืองเก่าๆ ได้”

ส่วนกรณีที่นักการเมืองบางพรรค บอกว่า พรรคที่พันธมิตรฯ จะตั้งเป็นพรรคในอุดมคติ เพราะการให้รัฐมนตรีไม่ต้องรับเงินเดือน หรือสมาชิกต้องบริจาคให้พรรค เป็นสิ่งทำไม่ได้ในทางปฏิบัตินั้น ผศ.ทวี ชี้ว่า ระบบผู้แทนในโลกนี้มี 2 แบบ คือ แบบได้รับอาณัติหรือต้องให้ค่าจ้าง กับแบบจิตอาสามาทำงานการเมือง ซึ่งหากพรรคของพันธมิตรฯ ทำได้ จะถือเป็นจุดขายอีกจุดหนึ่ง

“มันมีแนวคิดเขาเรียกว่า การเมืองแบบจิตอาสา เป็น Voluntary Politic ก็คือ ลักษณะของการอาสาเข้ามาทำงานการเมือง ผิดกับแบบเก่าซึ่งเป็นลักษณะตัวแทน หรือเป็น Mandate เป็นผู้ที่ได้รับอาณัติ ซึ่งอันนั้นต้องมีค่าจ้างให้เขา คือระบบผู้แทนในโลกเนี่ย เขามีหลายแบบ แบบเป็น Mandate อาณัติเหมือนกับเป็นทนายความรับจ้างทำคดีให้เรา ซึ่งในระบบทั้งหลายเป็นอย่างนั้น แต่มันมีระบบที่นึกย้อนไปถึงสมัยกรีก สมัยประชาธิปไตยโดยตรง เขาเป็นการเมืองอาสา ก็คือไม่มีเงินเดือนอะไรตอบแทนให้หรอก แต่อาศัยปัจจัยจากการที่มีผู้สนับสนุน อยากจะเดินทางเข้ามาที่เอเธนส์ ก็จะมีคนช่วยหายานพาหนะให้ มันอาจจะเป็นรูปแบบในอุดมคติ แต่มันทำได้”

“และถ้าเผื่อทำได้ มันก็จะเป็นจุดขายอีกจุดหนึ่ง ซึ่งผมมองเห็นว่า คนไทยเนี่ยเหมือนชอบของแปลก เหมือนกับพรรคการเมืองสมัยก่อน พรรคพลังธรรมก็เกิดขึ้นโดยความแปลกแหวกแนว ทั้งตัวผู้นำพรรคอย่าง พล.ต.จำลอง และแนวนโยบายของพรรคซึ่งต่างจากพรรคในยุคนั้น ซึ่งเป็นพรรคที่เน้นแต่การแสวงหาอำนาจ แต่พรรคพลังธรรมตอนนั้นเชิดชูเรื่องคุณธรรมเข้ามาเป็นหลัก ก็ดีเป็นคุณธรรมของการอาสาสมัครเข้ามาทำงาน และน่าจะช่วยทำให้คนเห็นว่าการเมืองไม่ได้สกปรก การเมืองไม่ได้เป็นเรื่องของการแย่งชิงหรือเอาแต่กอบโกยร่ำรวยอย่างเดียว ผมว่าน่าทำ”


ผศ.ทวี ยังฝากด้วยว่า หากพันธมิตรฯ ตั้งพรรคจริง อยากให้เป็นพรรคที่สร้างอุดมการณ์มากกว่าจะเน้นจำนวน ส.ส.โดยหากตั้งพรรคแล้ว ยังไม่พร้อมส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ก็ยังไม่ต้องส่ง แล้วขายอุดมการณ์ต่อไป เคลื่อนไหวและตรวจสอบต่อไปโดยมีภาคประชาชนคอยหนุนไว้แบบนี้ ผศ.ทวี ยังประเมินด้วยว่า หากพรรคของพันธมิตรฯ พร้อมส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งเมื่อใด เชื่อว่าอย่างน้อย พรรคของพันธมิตรฯ ก็น่าจะได้เป็นพรรคขนาดกลางๆ มีเสียง ส.ส.ประมาณ 50 คน และสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ!!
บรรยากาศพี่น้องพันธมิตรฯ ที่เกาะสมุย(4 มี.ค.)
สนธิ ลิ้มทองกุล ยืนยัน จะไม่เข้าไปมีบทบาทในพรรคการเมือง แต่จะอยู่กับเอเอสทีวี เพื่อเป็นหัวหอกในการชูธงการเมืองใหม่ต่อไป
บรรจง นะแส เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ และผู้ประสานงานพันธมิตรภาคใต้ หนุนพันธมิตรฯ ตั้งพรรคการเมือง
รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ยอมรับ พันธมิตรฯ มีความพร้อมในการตั้งพรรค แต่อยากให้พันธมิตรฯ ทำหน้าที่ตรวจสอบมากกว่า
ผศ.ทวี สุรฤทธิกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มสธ.หนุนพันธมิตรฯ ตั้งพรรค แต่ควรใช้เวลาหล่อหลอมอุดมการณ์และขยายแนวร่วมให้มากกว่านี้ก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น