xs
xsm
sm
md
lg

วิปรัฐฯ ตั้งวอร์รูมรับมือฝ่ายค้านซักฟอก ชี้ 2 เดือน “มาร์ค” สอบผ่าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชินวรณ์ บุญเกียรติ
วิปรัฐบาลตั้งวอร์รูมสู้ศึกอภิปรายฝ่ายค้าน เกาะติดความเคลื่อนไหว วาง 6 กรอบ รับมือ ขณะที่วิปพรรคร่วมแฉกลางที่ประชุม “ทักษิณ” โฟนอินแม้แต่ในหมู่บ้าน ไม่ใช่แค่ชุมนุมกลุ่ม นปช. อัด “ทักษิณ” ดีแต่แอบๆ ซ่อนๆ เล่นการเมือง ท้าแน่จริงสู้แบบวิถีคนกล้า ตามกระบวนการยุติธรรม ยก “มาร์ค” 2 เดือนสอบผ่าน ไม่มีเรื่องให้ซักฟอก

วันนี้ (2 มี.ค.) นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล วิปรัฐบาล แถลงข่าวภายหลังการประชุมว่า เรื่องที่วิปรัฐบาลได้ใช้เวลาในการหารือมากเป็นพิเศษคือเรื่องการที่พรรคฝ่ายค้านจะขออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในช่วงเปิดประชุมสภาสมัยนี้ เพื่อทราบความเคลื่อนไหวของพรรคฝ่ายค้านตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคยินดีให้พรรคฝ่ายค้านขอเปิดอภิปรายไม่ไว้ววางใจตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะถือเป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านในการตรวจสอบรัฐบาล และรัฐบาลก็พร้อมรับการตรวจสอบดังกล่าว

นายชินวรณ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุมวิปรัฐบาลยังเห็นชอบกรอบรับมือการอภิปรายไม่วางใจทั้ง 6 ข้อ ได้แก่ 1.ให้เกียรติฝ่ายค้านในการับฟังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และจะใช้ชี้แจงด้วยเหตุผลและข้อมูล 2.จะดำเนินการในการทำให้มาตรฐานการอภิปรายของฝ่ายค้านสูงขึ้น โดยจะไม่มีการประท้วงอย่างยุ่มยิมอย่างแน่นอน 3.ให้ความร่วมมือกับประธานสภา เพื่อให้การบริหารจัดการประชุมเป็นไปตามข้อบังคับอย่างเคร่งครัด 4.จะดำเนินการช่วยเหลือ รมต.ที่ถูกชี้แจง ในการทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นก่อนการอภิปราย ถ้าทราบประเด็นที่จะอภิปรายชัดเจนแล้ว รัฐมนตรี ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องก็ต้องชี้แจงในประเด็นนั้นๆ ให้เกิดความเข้าใจในช่วงที่อยู่ในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

5.รัฐมนตรีจะใช้สิทธิชี้แจงในประเด็นของตนเองแล้ว วิปพรรคร่วมรัฐบาลจะเป็นศูนย์กลางให้รัฐมนตรีสามารถที่จะมาชี้แจงต่อสื่อมวลชนได้ แม้จะหลังการอภิปรายไปแล้ว การที่รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายจะทำความเข้าใจกับประชาชนถือเป็นเรื่องสำคัญ และ 6.ตั้งคณะทำงานติดตามประเด็นที่ฝ่ายค้านหยิบยกขึ้นมา เพราะไม่ต้องการให้ประชาชนสับสนข้อมูลที่ได้มีการอภิปรายของฝ่ายค้าน เพราะบางข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่น ข้อมูลรถยนต์ส่วนตัวของนายกรัฐมนตรี หรือเรื่องครอบครัวนายกรัฐมนตรี ถือเป็นหน้าที่ของพรรคคร่วมรัฐบาลที่ต้องร่วมทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน

ประธานวิปรัฐบาลกล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์การอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านครั้งนี้ วิปรัฐบาลจะติดตามว่า ฝ่ายค้านจะอภิปรายในประเด็นอะไรบ้าง เชื่อว่าสัปดาห์นี้การอภิปรายไม่ไว้วางใจจะมีความชัดเจน เพราะจะต้องยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่ 11 มี.ค.นี้ ตามที่ฝ่ายค้านได้แถลงเอาไว้ ในวันอังคารที่ 3 มี.ค.ที่โฆษกพรรคร่วมฝ่ายค้านได้แถลงไว้ว่า จะมีการประชุมพรรคเพื่อคัดเลือกตัวบุคคลที่เห็นสมควรในการเสนอชื่อเพื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีในกรณีที่เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 158 พรรคร่วมรัฐบาลเห็นว่า เป็นเรื่องที่ต้องให้กำลังใจไม่ว่าจะเป็น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง หรือเป็นใครก็ตาม หากพรรคเพื่อไทยเสนอชื่ออย่างชัดเจนเราก็เห็นว่า ควรเสนอชื่อบุคคลดังกล่าวเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นผู้นำฝ่ายค้าน เพื่อให้กระบวนการในสภามีประสิทธิภาพมากขึ้น

“การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นเรื่องที่รัฐมนตรีทุกคนต้องพร้อมในการที่จะได้รับการตรวจสอบในการอภิปรายดังกล่าวนี้ ในที่ประชุมวิปรัฐบาลยังเห็นว่าการที่ฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ เป็นเรื่องที่ฝ่ายค้านยอมรับว่า การเปิดพื้นที่ในสภาเพื่อให้เป็นพื้นที่แก้ไขปัญหาให้ประชาชนเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เชิญชวนให้การเมืองทุกฝ่ายเข้ามาสู่สภาก็จะทำให้การเมืองประเทศไทยได้รับการยอมรับสายตาต่างชาติ เมื่อการเมืองนิ่งหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว พรรคร่วมรัฐบาลก็เห็นว่าเป็นโอกาสสำคัญ นายกฯ และรัฐมนตรีจะได้ขับเคลื่อนการบริหารประเทศเป็นไปตามนโยบายที่วางไว้”

เมื่อถามว่า ได้มีการหยิบยกกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โฟนอินหรือไม่ นายชินวรณ์กล่าวว่า ก็มีการพูดถึงและมีการรายงานสถานการณ์ว่านอกจากนายกฯ ทักษิณ เจตนาสร้างกระแสข่าวด้วยการโฟนอินมาในที่ชุมนุม นปช.ที่กรุงเทพฯ แล้ว พ.ต.ท.ทักษิณยังโฟนอินในหมู่บ้านที่ ส.ส.เข้าไปในหมู่บ้านด้วย

“แต่ว่าวิปรัฐบาลเห็นว่าเราไม่ควรให้ความสำคัญ พ.ต.ท.ทักษิณ มากนัก เพราะเป็นเพียงแต่ความต้องการที่อยากอยู่ในกระแสข่าวภายในประเทศไทยเท่านั้น ถึงแม้ว่าเราจะไม่กล้าพูดว่าเป็นการดิ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่รัฐบาลมีหน้าที่พิสูจน์ตัวเองด้วยการทำงาน บริหารราชการแผ่นดิน เพราะวิกฤตล้มเหลวในทางการเมืองที่ผ่านมาเป็นบทเรียนให้กับคนไทยทุกคนแล้ว ไม่สามารถทำให้ประชาชนพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนได้ ต้องขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหา คนไทยต้องการมากกว่าเรื่องของตัวบุคคล เราไม่ได้ให้ความสำคัญ แต่ถ้า ส.ส.เพื่อไทยจะไปรับประเด็นในทางการเมืองจาก พ.ต.ท.ทักษิณมาใช้ในการอภิปรายก็เป็นสิทธิที่ทำได้ เพราะในที่สุด พ.ต.ท.ทักษิณคิดจะเล่นการเมืองต่อไป พ.ต.ท.ทักษิณควรจะได้ต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม ตามวิถีของคนกล้า และสนับสนุนพรรคเพื่อไทยพัฒนาเป็นสถาบัน และต่อสู้ในเชิงนโยบาย เหมือนที่พ.ต.ท.ทักษิณมีแนวความคิดไว้ในเบื้องต้น” นายชินวรณ์ กล่าว

เมื่อถามว่า มีข่าวว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์กลุ่มหนึ่งเตรียมที่จะเดินทางไปฮ่องกง ได้มีการรายงานเรื่องนี้ในที่ประชุมหรือไม่ นายชินวรณ์กล่าวว่า ไม่มีการพูดถึง เพราะเข้าใจว่ากระแสข่าวที่ออกมาเป็นเพียงแต่บางคนที่พูดถึงกระบวนการทางกฎหมาย จริงๆ ไม่มีใครให้ความสนใจเท่าไร สำคัญคือ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นถึงอดีตนายกฯ ท่านสามารถเลือกวิถีเองได้ว่าจะกลับมาสู้อย่างวิถีคนกล้าตามระบอบประชาธิปไตย ตามกระบวนการยุติธรรม หรือคิดจะหลบๆ ซ่อนๆ ดำเนินงานทางการเมืองอยู่ เป็นเรื่องที่ท่านเลือกได้เอง พรรคประชาธิปัตย์วันนี้ต้องการความสมานฉันท์ สำคัญมากกว่าติดตามพฤติกรรมคนใดคนหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวถามว่า การเตรียมสมาชิกช่วยรัฐมนตรีชี้แจง ในเบื้องต้นได้กำหนดไว้หรือไม่ ส.ส.กี่คนต่อรัฐมนตรีหนึ่งคน นายชินวรณ์กล่าวว่า ไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องนี้ เราจะไม่มีการเตรียมองครักษ์ในการตอบโต้ และไม่มีการเตรียมการให้ส.ส.ช่วยรัฐมนตรี เพราะเชื่อว่า รัฐมนตรีภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ มีความพร้อมที่จะรับการตรวจสอบจากฝ่ายค้าน การอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องปกติที่จะต้องมีการถ่วงดุล จะไม่ดำเนินการตอบโต้ ตลอดจนใช้อำนาจรัฐตรวจสอบ กีดกันการทำหน้าที่การอภิปรายในสภา

เมื่อถามว่า มีข่าวกลุ่ม 12 พรรคเพื่อแผ่นดินจะไปร่วมสนับสนุนการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นไปได้หรือที่รัฐบาลจะดึงมาอยู่ซีกรัฐบาล เพื่อให้ได้คะแนนเพิ่มมากขึ้น นายชินวรณ์ กล่าวว่า มีการพูดถึงซึ่งอ้างถึงรัฐธรรมนูญว่า ส.ส.มีอิสระในการทำหน้าที่โดยปราศจากการครอบงำ ถ้าการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ส.ส.คนใดจะไม่ลงญัญติร่วม หรือไม่ยกมือในการไว้วางใจหรือไม่วางใจเป็นสิทธิอันชอบธรรม แน่นอนที่สุด ส.ส.กลุ่มหนึ่งในพรรคเพื่อแผ่นดินยกมือสนับสนุน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ว่าที่หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน เป็นนายกฯ แต่วันอภิปรายไม่ไว้วางใจก็เป็นสิทธิในการลงมติเป็สิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ เราคงไม่ใช้โอกาสนี้ดึงมาเป็นเสียงให้กับรัฐบาล แต่เราเปิดกว้างขอความร่วมมือจากทุกฝ่าย

นายชินวรณ์ กล่าวด้วยว่า คณะทำงานที่จะจัดตั้งขึ้นจะเป็นทีมงานที่จะสรุปข้อมูลที่ฝ่ายค้านหยิบยยกขึ้นมาอภิปราย แต่ไม่ได้จัดเพื่อเป็นองครักษ์ รมต. เป็นศูนย์ข้อมูลมากกว่า เพราะยึดหลักโต้ด้วยข้อมูลและเหตุผลว่ารัฐบาลนี้ได้ทำอะไรไปบ้าง ข้อกล่าวหาว่าบกพร่องในการปฎิบัติหน้าที่ ก็ต้องสามารถชี้แจงได้ว่าไม่ได้บกพร่อง ยิ่งไปกล่าวหากรณีถอดถอน ยิ่งชี้แจงก่อนได้เลยว่า เมื่อไรยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ หรือ รมต.เกี่ยวกับกรณีที่มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ต้องไปยื่นถอดถอนก่อน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ถ้าเป็นอย่างนี้เราต้องรู้ข้อมูลก่อน พอรู้ข้อมูลก่อนเราสามารถชี้แจงได้ก่อนอภิปราย ถ้าชี้แจงได้อย่างเปิดเผย การอภิปรายก็จะเบา การอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่มีในประวัติศาสตร์ว่ารัฐบาลแพ้เสียงในสภา บางฉบับไปเขียนว่ารัฐบาลคะแนนปริ่มน้ำ ฝ่ายค้านก็ไม่ถึงกึ่งหนึ่งในรัฐธรรมนูญ

“ขณะนี้วิปรัฐบาลต้องต่อสายตรงในการหาข้อมูลเชิงลึก แต่ให้พูดอย่างจริงใจยังไม่เห็นมีรัฐมนตรีคนใดที่จะต้องถูกอภิปรายไมไว้วางใจ โดยเฉพาะนายกฯ 2 เดือนที่ผ่านมาไม่มีการทำงานใดที่เข้าข่าย แถมยังสอบผ่าน โดยเฉพาะเวทีนานาชาติที่ผ่านมา อย่างวันที่ 1-2 เม.ย.นายกฯก็จะไปร่วมประชุม จี-20 เพื่อนำทัศนะของ 10 ผู้นำอาเซียนไปแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะกับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บารัค โอบามา” นายชินวรณ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น