อมรรัตน์ ล้อถิรธร....รายงาน
หลังจาก ตร.บางนายได้งัดยุทธวิธีฟ้อง 9 ป.ป.ช.เพื่อสกัดไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่ชี้มูลความผิดพรรคพวกตัวเอง จากกรณีใช้แก๊สน้ำตาที่มีสารระเบิดร้ายแรง (อาร์ดีเอ็กซ์) สลายผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเกือบ 500 ราย แต่ดูเหมือนจะยังไม่สาแก่ใจ ล่าสุด ตร.จึงได้บากหน้าออกมาแถลงใส่ร้าย “น้องโบว์” อีกว่า ไม่ได้เสียชีวิตด้วยแก๊สน้ำตา แต่อาจเสียชีวิตจากระเบิดซีโฟร์ ที่ ตร.อ้างว่าตรวจพบที่เสื้อผ้าน้องโบว์ ...คำแถลงของ ตร.ครั้งนี้ นอกจากสะท้อนว่า เป็นความพยายามช่วยเหลือพรรคพวกตัวเองให้พ้นข้อหา “พยายามฆ่า ปชช.” โดยโยนความผิดให้ผู้ตายแล้ว ยังเป็นความพยายาม “ดิ้น” เพื่อให้พ้นจากการถูกชี้มูลโดย ป.ป.ช.ในเร็วๆ นี้ด้วย แต่อย่าเพิ่งดีใจไป เพราะข่าวแว่วมาว่า อนุกรรมการ ป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์ 9 : 0 ว่า ตร.ผิด
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ
แม้จะมีการตรวจพิสูจน์โดยแพทย์หลายสถาบัน และผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์ รวมถึงตำรวจที่เป็นปรมาจารย์ด้านอาวุธ โดยยืนยันชัดเจนว่า น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือ “น้องโบว์” เสียชีวิต เพราะระเบิดแก๊สน้ำตาจากประเทศจีน ที่ตำรวจใช้ในการสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 แต่จู่ๆ สำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ (สนว.) ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.ท.ดนัยธร วงศ์ไทย ผู้บัญชาการ สนว.ก็ได้ออกมาแถลงข่าว (25 ก.พ.) สร้างความสับสน เพื่อให้ประชาชนเข้าใจว่า น้องโบว์ไม่ได้เสียชีวิต เพราะแก๊สน้ำตาที่ตำรวจใช้ แต่อาจเสียชีวิตจากระเบิด เพราะตำรวจได้ตรวจพบสารระเบิดซีโฟร์ (C4) ที่เสื้อผ้าของน้องโบว์ โดย พล.ต.ท.ดนัยธร อ้างว่า สารระเบิดซีโฟร์นี้ ไม่มีในแก๊สน้ำตาที่ตำรวจใช้สลายการชุมนุม
“ในกรณีของน้องโบว์ที่เสียชีวิต และมีการตรวจพิสูจน์บาดแผล เสื้อผ้า และมีการพูดกันไปว่า เสียชีวิตจากระเบิดแก๊สน้ำตาที่ตำรวจใช้ ...ผลการตรวจพิสูจน์ พนักงานสอบสวน สน.พญาไท เขาได้ส่งของกลาง คือ เสื้อยืดกับเสื้อชั้นในของน้องโบว์มาให้กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ได้ตรวจพิสูจน์ ...ปรากฏว่า พบระเบิด C4 ที่เสื้อชั้นใน และเสื้อยืดของ น.ส.อังคณา ...ทีนี้มาเปรียบเทียบกันว่า สารวัตถุระเบิดที่เสื้อชั้นในและเสื้อยืด มันเป็นชนิดเดียวกับแก๊สน้ำตาหรือเปล่า ปรากฏว่า ผลการตรวจพิสูจน์แก๊สน้ำตาของทั้ง 3 ประเทศที่ตำรวจเขาใช้อยู่ คือ ของเมืองจีน อเมริกา และสเปน เป็นสารอาร์ดีเอ็กซ์ ไม่มี C4”
แม้ พล.ต.ท.ดนัยธร จะพยายามพูดให้สังคมเข้าใจว่า น้องโบว์ ไม่ได้เสียชีวิตเพราะแก๊สน้ำตาของตำรวจ แต่ พล.ต.ท.ดนัยธร กลับไม่กล้ายืนยันว่า น้องโบว์เสียชีวิต เพราะระเบิดซีโฟร์หรือไม่ โดยอ้างว่า สารระเบิดซีโฟร์ที่ตรวจพบที่เสื้อผ้าน้องโบว์ไม่มากพอที่จะระบุได้ว่าเวลาระเบิดจะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ตายพกระเบิดมาเองหรือไม่ พล.ต.ท.ดนัยธร ก็ทำเป็นไม่กล้าตอบอีกอยู่ดี โดยบอกว่า “ไม่กล้าตอบประเด็นนี้ เพราะเราเพียงแค่ทำการตรวจพิสูจน์ตามหลักฐาน” พร้อมยอมรับว่า ผลตรวจเสื้อผ้าของน้องโบว์นี้ ตรวจเสร็จนานแล้ว (10 ต.ค.2551 หลังตำรวจสลายการชุมนุมแค่ 3 วัน) แต่ที่เพิ่งออกมาพูดตอนนี้ เนื่องจากได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้มาชี้แจงเพื่อให้สังคมหายสับสนว่าอะไรเป็นอะไร
เป็นที่น่าสังเกตว่า คำแถลงของ พล.ต.ท.ดนัยธร สะท้อนว่า ตำรวจกำลังเบี่ยงเบนประเด็น และพูดความจริงไม่หมด โดยนอกจากจะพยายามดึงความสนใจของประชาชนให้ไปอยู่ที่ระเบิดซีโฟร์ ว่า อาจเป็นตัวคร่าชีวิตน้องโบว์แล้ว ยังไม่ยอมขยายความว่า สาร “อาร์ดีเอ็กซ์ (RDX)”ที่ตำรวจเองก็ยอมรับว่ามีอยู่ในแก๊สน้ำตาที่ตำรวจใช้สลายการชุมนุมนั้น เป็นสารประกอบระเบิดที่มีอานุภาพร้ายแรง เมื่อตำรวจยิงหรือขว้างใส่ประชาชน สามารถทำให้แขน-ขาขาด หรือเสียชีวิตได้ นอกจากภาพผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตอย่างน้องโบว์จะสามารถยืนยันได้ถึงความร้ายกาจของแก๊สน้ำตาจากประเทศจีน ที่ตำรวจใช้สลายผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ แล้ว ยังมีคำยืนยันเรื่องนี้จากผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธด้วย
โดย พล.ต.ท.อัมพร จารุจินดา อดีตผู้บัญชาการสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ บอกว่า ดูจากภาพข่าวที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค.พบว่า ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาทั้งแบบที่สั่งซื้อจากสหรัฐฯ และจากประเทศจีน โดยมีทั้งแบบยิงและแบบขว้าง พร้อมชี้ว่า แก๊สน้ำตาจากจีนนั้น เมื่อยิงออกไปและกระทบหรือชนกับวัตถุ จะเกิดระเบิดเสียงดัง เพื่อให้ควันแตกตัวออกจากพลาสติกที่เป็นทุ่นห่อหุ้ม โดยแก๊สน้ำตาดังกล่าว ต้องใช้ความเร็วสูงในการยิงประมาณ 200 ฟุต/วินาที ส่งผลให้เมื่อกระทบกับวัตถุแล้วเกิดการระเบิด จะเป็นอันตรายต่อผู้ที่อยู่ใกล้จุดระเบิดได้ และหากระเบิดแก๊สน้ำตาดังกล่าวโดนอวัยวะส่วนใดของร่างกาย ก็จะทำให้อวัยวะส่วนนั้นแตกหักหรือขาดรุ่งริ่งได้
ไม่เพียงผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธ จะยืนยันถึงอานุภาพที่ร้ายแรงของระเบิดแก๊สน้ำตาจากจีนที่ตำรวจใช้สลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ แต่ยังมีประจักษ์พยานยืนยันว่า ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาที่สามารถคร่าชีวิตประชาชนได้ โดย นพ.อธิศพันธุ์ จุลกทัพพะ อาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาฯ เผยหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุม 7 ต.ค.ว่า ตนเก็บปลอกแก๊สน้ำตาได้จากบริเวณที่มีการสลายการชุมนุม พบมีคำเตือนเป็นภาษาอังกฤษ ระบุว่า “อย่ายิงตรงตัวบุคคล เพราะจะทำให้เกิดการเสียชีวิตได้” ไม่ทราบว่าตำรวจผู้ยิงอ่านคำเตือนออกหรือไม่
อย่างไรก็ตาม เมื่อตำรวจพยายามเบี่ยงเบนประเด็นให้สาธารณชนเข้าใจว่า น.ส.อังคณา หรือน้องโบว์ ไม่ได้เสียชีวิตด้วยแก๊สน้ำตาที่ตำรวจใช้ (ทั้งที่ในแก๊สน้ำตาของจีนมีสารระเบิดชนิดร้ายแรงอย่างอาร์ดีเอ็กซ์ผสมอยู่) แต่อาจเสียชีวิตด้วยระเบิดซีโฟร์ ซึ่งไม่รู้ว่าผู้ตายพกมาเองหรือไม่นั้น ลองไปดูปฏิกิริยาของฝ่ายต่างๆ ที่เคยร่วมตรวจพิสูจน์ศพน้องโบว์มาแล้ว และยืนยันมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้วว่า น้องโบว์น่าจะเสียชีวิตด้วยแก๊สน้ำตาจากจีนที่ตำรวจใช้เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ว่าเขาเหล่านั้นจะรู้สึกอย่างไรกับคำแถลงของตำรวจ
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ในฐานะโฆษกคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการเสียชีวิตของ น.ส.อังคณา ยืนยันว่า ข้อมูลที่คณะอนุกรรมาธิการ ได้รับจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ตรวจชันสูตรศพ น.ส.อังคณา หรือ น้องโบว์ ชัดเจนว่า ลักษณะบาดแผลของน้องโบว์น่าจะเกิดจากระเบิดแก๊สน้ำตาของจีนที่ตำรวจใช้ ไม่ใช่พกระเบิดมาเองตามที่ตำรวจบางนายพยายามกล่าวหา
“ในรายงานระบุชัดเจนว่า จากลักษณะของบาดแผล วัตถุที่มากระทบน่าจะมากระทบทางด้านหน้า แขนซ้ายน่าจะอยู่ในท่างอข้อศอกในลักษณะถูกกระแทก มีรอยดำๆ จากการไหม้ กระดูกต้นแขนหัก มีเขม่าดำเป็นหย่อมๆ ในตัวบาดแผล ลักษณะบาดแผลต่อเนื่องถึงด้านหลัง ผิวหนังฉีกขาด เป็นลักษณะของบาดแผลที่ถูกกระทบเข้ามาทางด้านหน้าออกด้านหลัง พบกระดูกซี่โครงด้านซ้ายซี่ที่ 1-12 หักเป็นแนวยาวในแนวดิ่งของร่างกาย เนื้อปอดด้านซ้ายฟกช้ำและฉีกขาด หัวใจทะลุ นอกจากนี้ ยังพบแก้วหูข้างซ้ายทะลุ ม้ามฉีกขาด ไตซ้ายฉีกขาด ตับอ่อนบริเวณข้างซ้ายฉีกขาด จากลักษณะบาดแผลสันนิษฐานว่า เกิดจากของแข็งกระแทก ที่มีความร้อนและมีแรงอัด เข้าได้กับแรงระเบิด ก็คือ สรุปได้ว่า น้องโบว์เสียชีวิตจากแรงระเบิด จากนั้นก็พูดถึงระเบิด และข้อสันนิษฐานที่ว่า น้องโบว์พกระเบิดมาเอง ซึ่งตอนนั้นเป็นวาทกรรมที่ตำรวจบางท่าน (พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง รองโฆษก ตร.) ใช้ ไม่เป็นความจริง เพราะเราได้พบกระเป๋าที่น้องโบว์ถือในวันนั้น กระเป๋ายังอยู่ในสภาพดี เป็นไปไม่ได้ที่จะใส่ระเบิดอะไรมาในกระเป๋า”
นายคำนูณ เผยด้วยว่า แพทย์ผู้ชันสูตรศพน้องโบว์ ยืนยันว่า ขณะที่น้องโบว์ถูกส่งตัวมาถึงโรงพยาบาลรามาธิบดี แพทย์ที่จะชันสูตรศพรู้สึกแสบตามาก เพราะแก๊สน้ำตาลอยคละคลุ้งในรัศมีประมาณ 1-2 เมตร ทำให้แพทย์ต้องล้างศพหลายครั้ง กว่าจะชันสูตรศพได้ นายคำนูณ ยังนำคำพูดของผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธอย่าง พล.ต.ท.อัมพร จารุจินดา อดีตผู้บัญชาการสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาหักล้างคำอ้างของตำรวจที่พยายามทำให้เข้าใจว่า แก๊สน้ำตาไม่ทำให้เสียชีวิต หรือแม้แต่เรื่องที่ตำรวจ อ้างว่า พบสารระเบิดซีโฟร์ที่เสื้อผ้าน้องโบว์ แต่ไม่พบซีโฟร์ในแก๊สน้ำตา มีเพียงสารอาร์ดีเอ็กซ์ ว่า ตำรวจพูดความจริงแค่ครึ่งเดียว
“ประเด็นที่สังคมอาจสับสนว่า แก๊สน้ำตาทำให้ไม่ถึงตาย จริงๆ แล้วผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธ คือ พล.ต.ท.อัมพร ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ควรเข้าใจว่า สิ่งที่เราเรียกว่า แก๊สน้ำตา แท้จริงแล้วมันคือระเบิดแก๊สน้ำตา ก็คือ มันมีตัวระเบิดก่อน เพื่อที่จะผลักดันแก๊สน้ำตาออกมา และในระเบิดแก๊สน้ำตาเนี่ย มันมีสารที่เรียกว่าอาร์ดีเอ็กซ์เป็นส่วนประกอบอยู่ ทีนี้ถามว่า ซีโฟร์คืออะไร ซีโฟร์ก็คือแบรนด์เนม ชื่อหนึ่งของระเบิดที่ใช้ในทางการทหาร ถามว่า ซีโฟร์มีส่วนประกอบของอะไร ซีโฟร์มีส่วนประกอบของอาร์ดีเอ็กซ์อยู่มากกว่า 90% เพราะฉะนั้นอาร์ดีเอ็กซ์เป็นส่วนประกอบในระเบิดแก๊สน้ำตา อาร์ดีเอ็กซ์เป็นส่วนประกอบสำคัญในซีโฟร์ ทีนี้เวลา ตร.ท่านพูดความจริงครึ่งเดียว คือ ท่านแถลงว่า พบสารซีโฟร์ ไม่พบสารอาร์ดีเอ็กซ์ ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ใช่นะ ในรายงานฉบับจริงที่ผมมี ฉบับวันที่ 10 ต.ค.พบสารซีโฟร์อยู่ที่เสื้อชั้นนอกและเสื้อชั้นใน พบสารอาร์ดีเอ็กซ์อยู่ที่กางเกงยีนส์ ทีนี้พอท่านพูดว่าพบซีโฟร์ คือ สภาพของคนเนี่ย มันคล้ายๆ กับว่า ฟังเป็นว่า พบระเบิด แต่จริงๆ แล้ว คือ ในซีโฟร์มันมีอาร์ดีเอ็กซ์อยู่ 90% สิ่งที่ ตร.พูดมันเหมือนอะไร เหมือนบอกว่า พบน้ำเชื่อม แต่ไม่พบน้ำตาล มันจะไปพบน้ำตาลได้ยังไง น้ำตาลมันก็ละลายผสมอยู่กับน้ำเป็นน้ำเชื่อม ...ประเด็นคือ ระเบิดแก๊สน้ำตามันประกอบด้วยสารอาร์ดีเอ็กซ์ ขณะที่ซีโฟร์ก็ประกอบด้วยสารอาร์ดีเอ็กซ์เกิน 90% และน่าเชื่อว่าในระเบิดแก๊สน้ำตาที่ใช้ในครั้งนี้ มันมีสารประกอบอื่นที่น่าจะเป็นสารประกอบอย่างหนึ่งที่ใช้ผสมกับอาร์ดีเอ็กซ์เพื่อทำซีโฟร์ด้วย”
นายคำนูณ ยังตั้งข้อสงสัยด้วยว่า เหตุใดตำรวจจึงออกมาแถลงให้ร้าย น.ส.อังคณาหรือน้องโบว์ ในช่วงนี้ หรือเป็นเพราะ ป.ป.ช.ใกล้จะมีมติชี้มูลความผิดนักการเมืองและตำรวจว่ามีความผิดหรือไม่กรณีทำร้ายประชาชนเมื่อวันที่ 7 ต.ค.
ด้าน พล.อ.ต.นพ.วิชาญ เปี้ยวนิ่ม หัวหน้าหน่วยนิติเวช คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี แพทย์ผู้ผ่าพิสูจน์ศพน้องโบว์ ให้สัมภาษณ์วิทยุ ASTV ผู้จัดการโดยยืนยันว่า ลักษณะบาดแผลของน้องโบว์นั้น เกิดจากการถูกของแข็งเข้ามาปะทะด้วยความเร็วและมีความร้อน โดยการระเบิดของวัตถุที่เข้ามาปะทะนั้น เป็นการระเบิดใกล้ตัว ไม่ใช่ประชิดตัว ซึ่งเป็นไปได้ว่า อาจเกิดจากระเบิดแก๊สน้ำตาของจีนที่มีการใช้ในการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค.เพราะที่เสื้อผ้าและบาดแผลของน้องโบว์ พบทั้งแก๊สน้ำตาและสารอาร์ดีเอ็กซ์
“ในการชันสูตรผล ...มันที่ทั้งแก๊สน้ำตาอยู่ และพยาธิสภาพที่เกิดจากแรงระเบิด ซึ่งเราพบสารอาร์ดีเอ็กซ์ เพราะฉะนั้นอะไรล่ะที่มันมีทั้งแก๊สน้ำตาและอาร์ดีเอ็กซ์ มันมีอะไรได้ที่มันจะทำ มันก็มีแก๊สน้ำตา (ถาม-คุณหมอเคยบอกว่า ลักษณะของบาดแผลเกิดจากแรงกระแทกของของแข็งที่มาด้วยความเร็วและมีความร้อน?) คือมันจะมาด้วยเกิดจากของแข็งนะ ที่มีแรงอัด และมาด้วยความเร็วและมีความร้อน ลักษณะที่พบมันเป็นแบบนี้ แต่วัตถุอะไรที่มีความเร็ว มีแรงอัด มีความร้อน มันคืออะไรล่ะ (ถาม-อาจจะเป็นแก๊สน้ำตาจากจีน?) ก็เป็นไปได้ แก๊สน้ำตาบางอย่าง วัตถุที่ออกมา แทนที่เขาจะใช้กลไกวาล์วธรรมดา เขาใส่ดินระเบิดเข้าไปเพื่อให้มันระเบิด มันจะได้เอาแก๊สออกมา อันนี้ก็ต้องไปดูชนิดของแก๊สน้ำตา สเปกแก๊สน้ำตาในประเทศต่างๆ ถ้าดูที่เขาทดลองที่คุณหญิงพรทิพย์ไปทดลองในกรมทหาร มีทั้งของอเมริกา ของสเปน ของจีนแดง ซึ่งจะเห็นว่า ชนิดแรกๆ มันลงไป มันกระทบแล้วมันก็จะฟู่ออกมาเฉยๆ ไม่มีแรงระเบิดใช่มั้ย แต่อันหลังสุด (แก๊สน้ำตาจากจีน) ลงไปมันก็จะมีแรงระเบิด ตูม! แล้วแก๊สก็จะออกไป อันนี้คือกลไกในการปลดปล่อยแก๊ส”
ขณะที่ พญ.คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม พูดถึงกรณีที่ตำรวจแถลงว่า พบทั้งสารระเบิดซีโฟร์ และอาร์ดีเอ็กซ์ ที่เสื้อผ้าน้องโบว์ แต่ในแก๊สน้ำตาที่ตำรวจใช้มีแต่สารอาร์ดีเอ็กซ์ ไม่มีสารระเบิดซีโฟร์ว่า จริงๆ แล้ว ทั้งอาร์ดีเอ็กซ์ และซีโฟร์ จัดว่าอยู่ในกลุ่มเดียวกัน โดยซีโฟร์เป็นเหมือนชื่อยี่ห้อหรือชื่อทางการค้า และว่า เรื่องแก๊สน้ำตาจากจีนที่ตำรวจใช้ในการสลายการชุมนุมนั้น ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่ามีสารระเบิดซีโฟร์หรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าแก๊สน้ำตาดังกล่าวมีสารอาร์ดีเอ็กซ์ ซึ่งเป็นสารระเบิดที่อันตรายผสมอยู่
“เราก็ตรวจออกไปแล้ว มันก็อยู่ในกลุ่มเดียวกันน่ะ เขาจะพยายามบอกว่า (น้องโบว์) ไม่ได้ตายจากแก๊สน้ำตาเหรอ (ใช่ เขาพยายามบอกแบบนั้น) ปล่อยเขาไปเถอะ หมอขี้เกียจไปยุ่งด้วยแล้ว ปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมพิจารณา (ถาม-อย่างนี้พูดได้มั้ยว่ามันมีทั้งอาร์ดีเอ็กซ์และซีโฟร์ที่แก๊สน้ำตา?) มันมีอาร์ดีเอ็กซ์ที่แก๊สน้ำตา ซีโฟร์มันเป็นชื่อที่ เหมือนชื่อยี่ห้อ ถ้าองค์ประกอบย่อยในซีโฟร์ คือ อาร์ดีเอ็กซ์ (ถาม-แสดงว่า เวลายิงแก๊สน้ำตา มันก็อาจจะมีทั้งอาร์ดีเอ็กซ์และซีโฟร์?) แก๊สน้ำตาเขาก็พิสูจน์แล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิดเขาก็บอกอยู่แล้วว่า แก๊สน้ำตาน่ะมันมีตัวจุดชนวน ตัวจุดชนวนเนี่ยมันมีอาร์ดีเอ็กซ์ มีสารระเบิด มันมีอยู่แล้ว ตำรวจจะพยายามช่วยตำรวจหรือ ก็เลยงงๆ”
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธท่านหนึ่ง พูดถึงกรณีที่ตำรวจแถลงว่า พบสารระเบิดซีโฟร์ที่เสื้อผ้าน้องโบว์ แต่ในแก๊สน้ำตาที่ตำรวจใช้มีแต่สารอาร์ดีเอ็กซ์ แต่ไม่มีสารระเบิดซีโฟร์ ว่า อาร์ดีเอ็กซ์เป็นองค์ประกอบสำคัญของซีโฟร์ เมื่อตรวจพบอาร์ดีเอ็กซ์ในแก๊สน้ำตาของจีนที่ตำรวจนำมาใช้ในการสลายการชุมนุม ก็น่าเชื่อว่าอาร์ดีเอ็กซ์ดังกล่าวอยู่ในรูปของซีโฟร์ เพราะกระสุนทั้งหลายที่ใส่วัตถุระเบิด ส่วนใหญ่ก็ใส่ซีโฟร์กัน กระสุนแก๊สน้ำตาจากจีนก็น่าจะมีสารซีโฟร์เช่นกัน เพียงแต่จะมีการตรวจพบหรือไม่
ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธท่านนี้ ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การที่ตำรวจออกมาแถลงให้เกิดความเข้าใจผิดกรณีน้องโบว์ว่าไม่ได้เสียชีวิตจากแก๊สน้ำตานั้น น่าจะเป็นการดิ้นหนีความผิด เพราะรู้ว่า ป.ป.ช.ใกล้จะชี้มูลความผิดตำรวจกรณีใช้แก๊สน้ำตาที่มีส่วนผสมสารระเบิดสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค. อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธท่านนี้ เชื่อมั่นว่า ถึงตำรวจจะดิ้นอย่างไร ก็คงไม่รอด เพราะตนทราบมาว่า อนุกรรมการ ป.ป.ช.ที่ไต่สวนเรื่องนี้มีมติเอกฉันท์ 9 : 0 ว่า ตำรวจมีความผิด!!