นาทีนี้ถ้าพิจารณากันให้ละเอียดรับรองว่ามันต้องมีเรื่องราวผิดปกติแน่นอน โดยเฉพาะความพยายามบิดเบือนข้อมูลโดยใช้ผลสอบของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีเหตุความไม่สงบ เมื่อวันที่ 7 ต.ค. เพื่อมาทำลายน้ำหนักการสอบสวนของ ป.ป.ช.ที่กำลังสรุปออกมาในไม่กี่วันข้างหน้าหรือไม่
แม้จะเป็นเพียงแค่รายงานผลการสอบสวนของคณะกรรมการที่มีชื่อว่า คณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีเหตุความไม่สงบ เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551ที่เคยเงียบหายไปนานจนคนนึกว่ายกเลิกกันไปแล้ว แต่จู่ๆก็โผล่พรวดพราดเข้ามาส่งเอกสารถึงมือนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผสมโรงเข้ามาในช่วงชุลมุนพอดิบพอดีอย่างผิดสังเกต
และแม้ว่าจะเป็นวาระเพื่อทราบรายงานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ส่งต่อรายงานดังกล่าวให้กับ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีนำไปพิจารณาผลการสอบสวนว่าจะเปิดเผยประเด็นใดได้บ้าง
แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ที่น่าสนใจก็คือว่า มีความพยายามที่จะสื่อให้สังคมเห็นว่าเป็นผลสอบสวนของคณะกรรมการอิสระฯ ที่สรุปเหตุการณ์ “7 ตุลาทมิฬ” ออกมาแล้วซึ่งถ้าให้เดาผลก็น่าจะออกมาว่ารัฐบาลชุดที่แล้วไม่มีความผิด และเมื่อไม่มีความผิดรัฐบาลชุดนี้จะไปดองเอาไว้ทำไม
เสมือนต้องการชี้นำให้สังคมเห็นว่า เมื่อผลสอบออกมาไม่ตรงกับใจก็เลยไม่มีการเปิดเผยออกมาให้สาธารณะได้รับรู้ อะไรประมาณนั้นหรือเปล่า
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่มีสื่อบางกลุ่มผสมโรงตั้งคำถามกับรัฐบาลชุดนี้ว่าทำไมถึงไม่ยอมแบเอกสารออกมาสักที
ทั้งที่หากย้อนกลับไปไม่นานนัก เพื่อฟื้นความทรงจำก็จะพบว่าคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้รับแต่งตั้งขึ้นมาเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2551 หลังเกิดเหตุ 1 สัปดาห์ แม้จะมีคำว่า “อิสระ” ต่อท้าย แต่ต้องไม่ลืมว่าแต่งตั้งโดย สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มี ปรีชา พานิชย์วงศ์ เป็นประธาน แล้วมี ยุวรัตน์ กมลเวชช รวมอยู่ด้วย เบ็ดเสร็จจำนวน 11 คน
ต้องไม่ลืมอีกว่าเป็นการแต่งตั้งหลังจากถูกดดันให้ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบในทันที แต่กลับหาทางยื้อโดยบอกว่าให้รอผลการสอบสวนภายใน 15 วัน
อย่างไรก็ดีในเวลานั้นถ้ายังจำกันได้ ไม่มีใครให้การยอมรับ สังเกตได้จากคอลัมน์นิสต์ส่วนใหญ่ต่างวิจารณ์กันเสียงขรม
ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกหากในอีกมุมหนึ่งกลับมีรายงานทางลึกรับรู้มาว่าในทางสอบสวนไปมุ่งเน้นที่ฝ่ายตำรวจออกมาทำนองว่าได้รับผลกระทบจากการชุมนุม หมายความว่าถูกกลุ่มผู้ชุมนุมฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยทำร้ายเจ้าหน้าที่ ซึ่งรวมทั้ง ส.ส.รัฐบาล(ในขณะนั้น) บางคนได้รับบาดเจ็บไปด้วย
ต่อมาก็มีปรากฏเป็นข่าวรายงานข่าวว่ามี ส.ส.บางคนไปขอรับเงินเยียวยารักษาอาการหน้าตาเฉย สอดคล้องต้องกันไปด้วย
สำคัญไปกว่านั้นก็คือการรายงานผลการสอบสวนในครั้งนี้ยังเกิดขึ้นก่อนที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) จะสรุปผลการสอบสวนในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เพราะจากการให้สัมภาษณ์ล่าสุดของ วิชา มหาคุณ หนึ่งในกรรมการ ป.ป.ช.บอกว่าภายในวันที่ 23 ก.พ.อาจจะมีการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ที่เกี่ยวข้อง
ว่ามีใครหน้าไหนกันบ้าง และยังแย้มให้ฟังอีกว่า จะยึดผลสอบสวนของคณะกรรมการสิทธิมนษยชนแห่งชาติมาเป็นแนวทางประกอบด้วย
ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ามีความผิดกราวรูดตั้งแต่ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ คณะรัฐมนตรีทั้งคณะ
ขณะที่ฝ่ายตำรวจ ก็มี พล.ต.อ.พัชรวาท วงศ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นต้น โดนกันถ้วนหน้า มากบ้างน้อยบ้าง
ดังนั้นนาทีนี้ถ้าพิจารณากันให้ละเอียดรับรองว่ามันต้องมีเรื่องราวผิดปกติแน่นอน โดยเฉพาะความพยายามบิดเบือนข้อมูลโดยใช้ผลสอบของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีเหตุความไม่สงบ เมื่อวันที่ 7 ต.ค. เพื่อมาทำลายน้ำหนักการสอบสวนของ ป.ป.ช.ที่กำลังสรุปออกมาในไม่กี่วันข้างหน้าหรือไม่
อีกทั้งต้องไม่ลืมว่าเกี่ยวข้องกระทำผิดน่าจะเป็นระดับ “ขาใหญ่” ทั้งสิ้น และมีหลายคนยังตกค้างอยู่ในรัฐบาลชุดปัจจุบันอีก 6-7 คน ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกหากขบวนการบิดเบือนกำลังเร่งทำงานอย่างหนัก !!