ครม.รับทราบ คณะกรรมการตรวจสอบเหตุ 7 ตุลาฯ ขอยุติการทำงาน หลังรัฐบาล “ชายกระโปรง” หมดอำนาจ แถมอ้างสื่อมวลชนไม่ให้ความร่วมมือ ขณะเดียวกัน มีผลสอบของคณะกรรมการสิทธิฯ คืบหน้ารวดเร็วกว่า ยื่นต่อ ป.ป.ช.ให้เอาผิด 31 อดีตรัฐมนตรีแล้ว เผย 6 รมต.รัฐบาลมาร์คติดร่างแห
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า เมื่อวันที่ 17 ก.พ.สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 ของคณะกรรมการที่มี นายปรีชา พานิชวงศ์ เป็นประธาน ให้ที่ประชุม ครม.รับทราบ โดยสรุปคือ คณะกรรมการทำงานโดยมุ่งเน้นความเป็นอิสระ และตรวจสอบข้อเท็จจริงทุกฝ่ายอย่างรอบคอบ แต่การทำงานอยู่ในกรอบเวลาที่จำกัดและไม่ได้รับความร่วมมือจากบุคคลทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งคณะกรรมการไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการสืบหาข้อเท็จจริง จึงขอยุติการดำเนินการดังกล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า นอกจาก นายปรีชา พานิชวงศ์ เป็นประธานกรรมการ คณะกรรมการชุดนั้น ยังมี คณะกรรมการ 10 คน ประกอบด้วย นายเจริญจิตต์ ณ สงขลา พล.ร.อ.ชลินทร์ สาครสินธุ์ นายสหาย ทรัพย์สุนทรกุล นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา นายประเสริฐ บุญศรี คุณพรทิพย์ จาละ นายยุวรัตน์ กมลเวชช นายสมชาย ผลเอี่ยมเอก นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ และนายวิชัย ตันติกุลานันท์
คณะกรรมการชุดนี้ เริ่มประชุมเป็นครั้งแรกในวันที่ 17 ต.ค.2551 ภายหลังเหตุการณ์ 10 วัน โดยได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นทั้งหมด 5 ฝ่าย ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการชุดที่ 1 ทำหน้าที่ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่นนักการเมือง เจ้าหน้าที่ตำรวจ และได้มอบหมายให้นายประเสริฐ บุณศรี ทำหน้าที่เป็นประธาน คณะอนุกรรมการชุดที่ 2 ทำหน้าที่ตรวจสอบผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ เช่นประชาชนทั่วไป หรือพันธมิตรฯ และได้มอบหมายให้นายวิชัย ตันติกุลานันท์ กรรมการและเลขานุการ เป็นประธานอนุกรรมการ
คณะอนุกรรมการชุดที่ 3 ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลจากสื่อมวลชน โดยจะขอภาพเหตุการณ์ที่ยังไม่ได้ทำการตัดต่อ และตรวจสอบคณะแพทย์ที่รู้เห็นเหตุการณ์เพื่อรบรวมข้อมูลทางนิติเวช จาก โรงพยาบาลต่างๆ มอบหมายให้ นายสหาย ทรัพย์สุนทรกุล เป็นประธาน คณะอนุกรรมการชุดที่ 4 ทำหน้าที่ตรวจสอบรวบรวมข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ เช่นกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายราชการแผ่นดิน กฎหมายทางวินัยตำรวจ กฎหมายความมั่นคงของรัฐ ซึ่งมอบหมายให้คุณพรทิพย์ จาละ เป็นประธาน และคณะอนุกรรมการชุดที่ 5 เป็นฝ่ายเลขานุการ มอบหมายให้นายวิชัย ตันติกุลานันท์
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ต่อมา นายเจริญจิตต์ ณ สงขลา หนึ่งในกรรมการตรวจสอบเหตุ 7 ตุลาคมได้ยื่นใบลาออกจากการเป็นคณะกรรมการชุดดังกล่าวต่อนายปรีชา โดยให้เหตุผลเรื่องสุขภาพ ที่ต้องรักษาสายตา ขณะที่คณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ได้ประชุมหารือกัน ก่อนที่จะสรุปผลการทำงานส่วนหนึ่ง ส่งให้กรรมการชุดใหญ่ในวันที่ 13 พ.ย.ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่สอง
รายงานข่าวแจ้งว่า การประชุมครั้งสุดท้ายในช่วงเดือนธันวาคม 2551 เกิดขึ้นภายหลังพรรคพลังประชาชน ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุบพรรค จน นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ หัวหน้าพรรคต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงไม่มีการประชุมอย่างต่อเนื่อง และประจวบกับที่ประชุมมีมติให้สื่อมวลชนที่อยู่ในเหตุการณ์ส่งเทปบันทึกภาพเหตุการณ์ต่างๆ ไปให้กรรมการ รวมทั้งให้นายตำรวจ นักการเมือง ข้าราชการ ประชาชน ที่อยู่ในเหตุการณ์เข้ามาให้ข้อมูล แต่กลับไม่ได้รับความร่วมมือ กระทั่งนายปรีชา ถึงพูดขึ้นว่า “โธ่ คุณพ่อ อยากให้มาให้ข้อมูลกันมากๆ จะได้สรุปให้จบๆ แต่นี้ไม่มีข้อมูลเลย”
ยุติสอบ เหตุกรรมการสิทธิฯ ชง ป.ป.ช. ฟันเร็วกว่า
รายงานสรุปต่อว่า ประจวบกับในช่วงนั้นคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ส่งสรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช) พิจารณาโดยมีจำนวน 117 หน้า มีผู้มาให้ถ้อยคำ 91 คน จาก 7 กลุ่ม มีจำนวน 35 คน ประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี 31 คน เจ้าหน้าที่ 4 คน ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สั่งการ และลงมือในเหตุการณ์ 7 ตุลา มีจำนวน 26 คน
สำหรับรายชื่อรัฐมนตรีที่อนุกรรมการสิทธิฯ ส่งชื่อ ให้ ป.ป.ช.ประกอบด้วย 1.นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม 2.พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกฯ 3.นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รองนายกฯ และ รมว.การต่างประเทศ 4.นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รองนายกฯ 5.พล.ต.สนั่น ขรจประศาสน์ รองนายกฯ 6.นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ รมต.ประจำสำนักนายกฯ 7.นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.คลัง 8.นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง 9.ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รมช.คลัง 10.พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รมว.มหาดไทย
12.นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมช.มหาดไทย 13.นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ รมว.ยุติธรรม 14.นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คมนาคม 15.นายวราวุธ ศิลปอาชา รมช.คมนาคม 16.นายโสภณ ซารัมย์ รมช.คมนาคม 17.นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา 18.นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รมว.เกษตรและสหกรณ์ 19.นายสมพัฒน์ แก้วพิจิตร รมช.เกษตรและสหกรณ์ 20.นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 21.นายมั่น พัธโนทัย รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
22.นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน 23.พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ รมช.พาณิชย์ 24.นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ รมช.พาณิชย์ 25.นางอุไรวรรณ เทียนทอง รมว.แรงงาน 26.นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.วัฒนธรรม 27.นายศรีเมือง เจริญศิริ รมว.ศึกษาธิการ 28.ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.สาธารณสุข 29.นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รมช.สาธารณสุข 30.พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.อุตสาหกรรม 31.นายชูศักดิ์ ศิรินิล เลขานายกรัฐมนตรี
“ครม.มาร์ค” เอี่ยว 6 คน
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า คณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ มีมติ ครม.ให้ผู้ที่สนใจสามารถขอทราบข้อมูลโดยผ่านทางช่องทางการยื่นตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารทางราชการ โดยอ้างว่า บางข้อมูลเป็นข้อมูลลับมาก จึงไม่สามารถเปิดเผยเป็นมติ ครม.ได้ ขณะที่ ครม.ในชุดปัจจุบันมีผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ถึง 6 คน ประกอบด้วย นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย พล.ต.สนั่น ขรจประศาสน์ รองนายกฯ นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง ร้อยตรีหญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รมว.ไอซีที นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม และ นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน
**รวมวิดีโอคลิป “ตำรวจฆ่าประชาชน" 7 ตุลาคม 2551**