“วิชา” ปิดปากไม่ขอออกความเห็น หลังถูก ตร.ลงชื่อถอดถอน ยันสอบเหตุ 7 ตุลาเลือด จะเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับหลักฐาน ด้าน “กล้านรงค์” ยังเชื่อไม่ใช่เกมการเมือง แค่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน มั่นใจไม่มีผลกระทบต่อคดีที่ ป.ป.ช.ทำ ขณะที่ “ประทิน-วรินทร์” จวกตำรวจแพ้ชวนตี ไม่เหมาะสม ทำลายกระบวนการยุติธรรมที่ตัวเองมีส่วนได้เสีย
วันนี้ (19 ม.ค.) นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะเจ้าของสำนวนในคดีเหตุสลายการชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 กล่าวว่า การประชุม ป.ป.ช.ในวันที่ 20 ม.ค.คงไม่มีการหารือเรื่องที่ตำรวจยื่นถอดถอนป.ป.ช.เป็นพิเศษ และส่วนตัวคงไม่ขอออกความเห็นเกี่ยวกับกรณีของตำรวจแล้ว เพราะถือว่าที่ผ่านมา ป.ป.ช.ได้ดำเนินการไต่สวนคดีดังกล่าวตามหน้าที่ของกฎหมาย และ ป.ป.ช.ก็ไม่ได้ทำอย่างรีบเร่งผิดปกติ เนื่องจากการตรวจสอบจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับหลักฐาน ซึ่งในคดีนี้ที่ผ่านมา มีประชาชนจำนวนได้ยื่นหลักฐานมาให้ ป.ป.ช.จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คดีนี้อยู่ในความสนใจของประชาชน
ด้าน นายกล้านรงค์ จันทิก โฆษก ป.ป.ช.เห็นว่า การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและประชาชนเข้าชื่อถอดถอน ป.ป.ช.ออกจากตำแหน่งนั้น เป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้ ตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ และทาง ป.ป.ช.ก็พร้อมที่จะให้ทุกฝ่ายตรวจสอบตามกระบวนการอยู่แล้ว พร้อมทั้งเชื่อว่า การถูกยื่นถอดถอนนี้ไม่ใช่เกมการเมือง หรือการเข้าไปตรวจสอบการทุจริตของ ป.ป.ช.แต่เป็นความคิดเห็นที่ต่างกัน อย่างไรก็ตาม หากคณะกรรมการ ป.ป.ช.ถูกถอดออกจากตำแหน่งจริงก็คงจะกลับไปทำงานของตนเอง ส่วนตนก็คงจะกลับไปทำหน้าที่ทนายความเหมือนเดิม
โฆษก ป.ป.ช.ยืนยันว่า การถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจถอดถอนครั้งนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการพิจารณาคดี เพราะ ป.ป.ช.ก็ทำหน้าที่โดยปราศจากอคติเช่นเดิม อีกทั้งการพิจารณาคดีที่ค้างอยู่ในกระบวนการนั้น ทาง ป.ป.ช.ก็ดำเนินการอย่างเร่งด่วนอยู่แล้ว ส่วนสาเหตุที่หลายฝ่ายมองว่า การทำงานล่าช้านั้นมาจากมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาจำนวนมาก และบางเรื่องมีเอกสารประกอบการพิจารณามากกว่า 4 หมื่นหน้า ซึ่งส่งผลต่อระยะเวลาของการพิจารณา อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช.เชื่อว่า จะสามารถดำเนินการทุกเรื่องเสร็จสิ้นภายในกรอบระยะเวลาแน่นอน
พ.ต.อ.สนธยา แสงเภา ส.ว.สรรหา กล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกระดับร่วมลงชื่อถอดถอน ป.ป.ช.ทั้ง 9 คน ว่า ถือเป็นสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ หากตำรวจสามารถรวบรวมรายชื่อได้ทั้งหมด 2 หมื่นคน ก็สามารถถอดถอน ป.ป.ช.โดยนำมายื่นต่อประธานวุฒิสภาวินิจฉัย ซึ่งขึ้นอยู่ว่าประธานวุฒิจะเห็นว่าเรื่องดังกล่าวมีมูลหรือไม่ และหากพิจารณาเห็นว่ามีมูลอาจจะมอบหมายให้ กมธ.วุฒิสภาชุดใดชุดหนึ่งเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า ป.ป.ช.มีความผิดตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ และสรุปต่อที่ประชุมของ ส.ว.อีกครั้ง
ส่วนมติของวุฒิสภาจะมีมติให้ถอดถอนหรือไม่ ถือว่า เป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ว.ทั้ง 150 คน จะต้องพิจารณาไปตามหลักฐานความถูกต้องเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม แม้ตนจะเป็นอดีตตำรวจ และขณะนี้ก้มีสายเลือดของตำรวจ แต่ยืนยันว่า จะพิจารณาไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและจะไม่เข้าข้างฝ่ายใดเด็ดขาด
นายวรินทร์ เทียมจรัส ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ปรากฏการณ์นี้ไม่เคยเกิดขึ้น เพราะตำรวจกำลังทำหน้าที่เป็นเอ็นจีโอเสียเอง เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งในการตั้งโต๊ะล่าชื่อถอดถอน ป.ป.ช.เพราะตำรวจเป็นองคพยพของกระบวนการยุติธรรมเป็นหน่วยงานที่มีผลได้เสีย โดยเฉพาะการอ้างผลการสอบ 7 ต.ค.เห็นได้ชัดที่มีความปกป้องตัวเองทั้งที่หน้าที่ของตำรวจคือการพิทักษ์สันติราษฎร์
“สมมติว่า ผมเป็นมือปืนยิงคนตาย วันหนึ่งตำรวจทำสำนวนเอาผิด และผมจะไปลงชื่อถอดถอนตำรวจไม่ได้ ถึงแม้ว่าจะใช้สิทธิตามพลเมืองตามรัฐธรรมนูญถือว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่งตามสปิริต แล้ว หากตำรวจคิดว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ควรให้กลไกอื่นๆ เป็นผู้ดำเนินการ เพราะตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของระบบยุติธรรม ถ้าวันนี้ไล่ ป.ป.ช.ได้ วันหน้าก็คงไล่ศาลได้ระบบยุติธรรมก็พังหมด” นายวรินทร์ ระบุ
ขณะที่ พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ อดีตอธิบดีกรมตำรวจกล่าวว่าการกระทำของตำรวจครั้งนี้เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม และทำให้สถาบันตำรวจเสื่อมเสีย จึงอยากเรียกร้องให้ตำรวจที่เคลื่อนไหวในเรื่องนี้พิจารณาความเหมาะสมด้วย เพื่อรักษาสถาบันตำรวจให้เป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะในเมื่อ ป.ป.ช.ทำหน้าที่ของตัวเอง ตามกฎหมายเนื่องจากมีผู้ร้องร้องเข้ามา ป.ป.ช.จึงมีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด
“ใครมีหน้าที่อะไรก็ควรทำหน้าที่ของตัวเองไม่ใช้มาทำเรื่องไม่เหมาะสมเช่นนี้ อย่าลืมว่าตำรวจเป็นผู้รักษากฎหมาย เมื่อเห็นใครทำความผิดกฎหมายต้องตรวจสอบไม่ต่างอะไรกับ ป.ป.ช.ที่เมื่อประชาชนมาร้องทุกข์ก็จะต้องสอบสวนให้ได้ข้อเท็จจริงเช่นกัน จึงอยากให้หลายฝ่ายเกี่ยวข้องพิจารณาด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงาน สำหรับรัฐธรรมนูญ มาตรา 248 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสองหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภา ว่า กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้ใดกระทำการขาดความเที่ยงธรรม จงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือมีพฤติการณ์ที่เป็นการเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่งอย่างร้ายแรง เพื่อให้วุฒิสภามีมติให้พ้นจากตำแหน่งมติของวุฒิสภาให้กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ้นจากตำแหน่ง ตามวรรคหนึ่ง ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา