xs
xsm
sm
md
lg

แฉเล่ห์ฉ้อฉล “อำนวย” ส่งคนแสร้งฟ้องศาล สกัด ป.ป.ช.เชือดคดี 7 ตุลาเลือด

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผบช.น.
แฉเล่ห์ฉ้อฉลตำรวจ “อำนวย นิ่มมะโน” ส่งเพื่อนคนบ้านเดียวกัน แสร้งฟ้องศาลให้เอาผิดกรณี 7 ตุลาเลือด เพื่อสกัดให้ ป.ป.ช.หยุดไต่สวนเอาผิด อ้าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ คดีเรื่องเดียวกันที่อยู่ในชั้นศาลแล้ว ป.ป.ช.ต้องหยุดไต่สวน นอกจากนี้ยังเล่นแร่แปรธาตุ มอบทนายฟ้อง 9 อรหันต์ ป.ป.ช.ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ เพื่อให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ทั้งคณะ ขณะที่ ป.ป.ช.ระบุ เมื่อศาลยังไม่รับฟ้องยังมีอำนาจไต่สวนได้ แต่เมื่อศาลรับฟ้อง จำเลยต้องพักราชการทั้งหมด ด้าน “ทนายพันธมิตรฯ” ชี้ “เพื่อนอำนวย” ใช้สิทธิที่ไม่สุจริต ใช้วิชามาร เป็นการฟ้องร้องรูปแบบซูเอี๋ย ใช้ศาลเป็นเครื่องมือ

วานนี้ (12 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ตำรวจใช้อาวุธและแก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเดินทางไปปิดล้อมอาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 เพื่อไม่ให้รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แถลงนโยบาย จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านพ้นไป คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ที่มีนายสุรสีห์ โกศลนาวิน เป็นประธาน ได้สรุปผลการสอบสวน และส่งสำนวนไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เพื่อให้ดำเนินการกับบุคคลที่เกี่ยวข้องในการสั่งการสลายการชุมนุมดังกล่าว โดยมีทั้งนักการเมือง และนายตำรวจที่เกี่ยวข้องหลายนายเข้าข่ายมีความผิด ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติและ/หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 295, 297, 288, 289, 83 อาทิ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น พล.ต.อ.พัชรวาท วงศ์สุวรรณ ผบ.ตร. พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รอง ผบ.ตร. พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบช.น. พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น. ฯลฯ

ขณะเดียวกัน กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็เตรียมดำเนินการฟ้องร้องเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว โดยอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน ทั้งนี้ หากป.ป.ช.ดำเนินการสอบสวน และชี้มูลความผิดกับนักการเมืองและนายตำรวจทั้งหมดแล้ว จะส่งผลให้นายตำรวจทั้งหมดต้องถูกให้ออกจากราชการ จึงทำให้มีนายตำรวจบางนาย พยายามหาช่องทางให้พ้นผิดจากกรณีดังกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 ต.ค.2551 ปรากฏว่า นายสิทธิพร โพธิโสดา ซึ่งอ้างว่าเป็นทนายความ ได้ฟ้องร้องต่อศาลอาญาเพื่อให้ดำเนินการเอาผิดต่อนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พล.ต.อ.พัชรวาท วงศ์สุวรรณ ผบ.ตร. พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รอง ผบ.ตร. พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบช.น. และพล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น.รวม 5 คน ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย เป็นจำเลยที่ 1-5 ตามคดีหมายเลขดำที่ อ.4142/2551 โดยศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 15 ธ.ค.2551 ทว่า เมื่อถึงวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง นายสิทธิพร ซึ่งเป็นโจทก์ยื่นฟ้องในครั้งนี้ ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีออกไป โดยอ้างว่ามีอาการท้องเสียอย่างรุนแรง ซึ่งแพทย์ผู้ทำการรรักษา มีความเห็นให้หยุดพัก 1 วัน จึงขอเลื่อนนัดการไต่สวนมูลฟ้องไปนัดหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า นายสิทธิพร ซึ่งเป็นโจทก์ยื่นฟ้องในครั้งนี้ไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่ใช่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่เหตุไฉนจึงได้ไปดำเนินการฟ้องร้องนายสมชายกับพวกรวม 5 คนดังกล่าว ซึ่งมีรายงานว่านายสิทธิพรเป็นเพื่อนสนิท และเป็นคน จ.สงขลา บ้านเดียวกันกับ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น. การฟ้องร้องครั้งนี้อาจเป็นไปได้ว่าจะมีการทำสำนวนการฟ้องร้องที่ค่อนข้างอ่อนพยานหลักฐาน เพื่อให้ศาลยกฟ้อง และเพื่อจะได้นำไปอ้างกับ ป.ป.ช.ว่า ศาลยกฟ้องแล้ว ในขณะเดียวกันยังหวังผลอีกว่า หากศาลประทับรับฟ้องในคดีดังกล่าว การไต่สวนของ ป.ป.ช.ก็จะต้องหยุดชะงัก เพราะคดีอยู่ในความดูแลของศาลตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 86 แล้ว

ต่อมาเมื่อวันที่ 26 พ.ย.2551 พล.ต.ต.อำนวย ทำหนังสื่อที่ ตช.0016.146/5820 เรื่องของคัดค้านอำนาจการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ถึงประธาน ป.ป.ช. โดยอ้างว่าการไต่สวนคดีดังกล่าว นายสิทธิพร โพธิโสดา ได้ไปดำเนินการฟ้องร้องยังศาลอาญาแล้ว ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 จึงห้ามมิให้ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนในคดีดังกล่าว พร้อมทั้งยกตัวอย่าง กรณีตำรวจนครบาล 2 จับกุม พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ซึ่งต่อมา พล.ต.ขัตติยะ เข้าแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับตำรวจชุดจับกุม และพนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปให้ ป.ป.ช. แต่ต่อมา พล.ต.ขัตติยะ ได้ยื่นฟ้องตำรวจชุดจับกุมต่อศาล ทาง ป.ป.ช.จึงมีหนังสือแจ้งไปยังพนักงานอัยการว่า เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล กรณีจึงต้องห้ามมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.รับ หรือยกคำกล่าวหาขึ้นพิจารณา ด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผลดังกล่าว จึงขอคัดค้านเพิ่มเติมในประเด็นอำนาจการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในเรื่องที่กล่าวหาทุกข้อ

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2551 พล.ต.ต.อำนวย ยังทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ ตช.0016.146/6340 เรื่องขอคัดค้านอำนาจการไต่สวนของ ป.ป.ช.(เพิ่มเติม)ถึงประธานป.ป.ช.อีกครั้ง โดยครั้งนี้ได้นำสำเนาหมายเรียกพยานเอกสาร หรือพยานวัตถุ (คดีอาญา) ศาลอาญา ตามคดีที่นายสิทธิพรฟ้องร้องส่งไปด้วย โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า “เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2551 ศาลอาญาได้มีหมายเรียก พยานเอกสาร หรือพยานวัตถุตามสิ่งที่ส่งมาด้วย มายังประธานกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อให้ส่งสรรพเอกสาร ที่เกี่ยวข้องกับกาารไต่สวนไปยังศาลอาญา ก่อนวันที่ 22 ม.ค.2552 เพื่อประกอบการพิจารณา ด้วยเหตุดังกล่าว จึงห้ามมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.รับ หรือยกคำกล่าวหาขึ้นพิจารณา ตามมาตรา 86 (2) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงขอให้ท่านและคณะกรรมการ ป.ป.ช.ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ยึดถือปฏิบัติตามกฏหมายโดยเคร่งครัด”

การดำเนินการเพื่อให้ตนเองและพวกพ้องพ้นผิดตามช่องทางของกฎหมาย ยังไม่ได้หยุดลงตรงแค่ให้นายสิทธิพรไปแสร้งฟ้องเอาผิดเท่านั้น โดยเมื่อวันที่ 7 ม.ค.2552 พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน ได้มอบอำนาจให้ นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ ทนายความ เป็นโจทก์ฟ้องคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 9 คนน ประกอบด้วย นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. นายกล้านรงค์ จันทิก นายใจเด็ด พรไชยา นายประสาท พงษ์ศิวาภัย นายภักดี โพธิศิริ นายเมธี ครองแก้ว นายวิชา มหาคุณ นายวิชัย วิวิตเสวี และ น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล กรรมการ เป็นจำเลยที่ 1-9 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

คำฟ้องดังกล่าวระบุว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติแต่งตั้ง นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบช.น. พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น.ฐานกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการกรณีสั่งให้ตำรวจสลายการชุมนุมพื้นที่หน้าบริเวณรัฐสภา ถนนอู่ทองใน และบริเวณใกล้เคียง เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 โดยระหว่างการไต่สวนฯดังกล่าว ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 28 ต.ค.2551 นายสิทธิพร โพธิโสดา เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) กับพวกเป็นจำเลยที่ 1-5 ต่อศาลอาญาแล้ว โดยตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 86 บัญญัติไว้ ห้ามมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.รับหรือยกคำกล่าวหาตามมาตรา 84 เกี่ยวกับเรื่องที่ศาลรับฟ้องในประเด็นเดียวกัน และอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลหรือที่ศาลพิพากษา หรือมีคำสั่งเด็ดขาดแล้ว แต่ปรากฏว่าจำเลยทั้งเก้า ไม่ได้ยุติการไต่สวน จึงย่อมมีความผิดตามมาตรา 157 จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามความผิดด้วย ทั้งนี้ คดีดังกล่าวศาลรับคำฟ้องไว้ และนัดไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ในวันที่ 2 มี.ค.2552

ต่อมา เมื่อวันที่ 9 ม.ค.2552 นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ ทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจจากพล.ต.ต.อำนวย ได้ทำหนังสือจากสำนักงานบัญชาทนายความและการบัญชี เรื่อง ขอให้ปฏิบัติตามกฏหมายโดยเคร่งครัด ถึงนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. และประธานอนุกรรมการ ใจความระบุว่า ขอให้นายวิชา ในฐานะ อนุกรรมการไต่สวน ยุติการไต่สวน เพื่อมิให้พล.ต.ต.อำนวย ได้รับความเสียหาย จากการไต่สวน หากนายวิชายังไต่สวนต่อไป โดยไม่ปฏิบัติตามมาตรา 86 (2) จึงมีความจำเป็นและเสียใจอย่างยิ่ง ที่จะต้องดำเนินคดี ในทางอาญา และทางแพ่งตามกฏหมายต่อไป

กรณีดังกล่าวมีรายงานจาก ป.ป.ช.ระบุว่า คดีที่ ป.ป.ช.กำลังไต่สวนอยู่นั้น มีกรณีหลายข้อกล่าวหา และหลายข้อหาก็ไม่ซ้ำกัน ไม่ใช่ประเด็นเดียวกับกรณีที่มีผู้ไปฟ้องตำรวจไว้ และคดีที่ไปฟ้องนั้น ยังถือไม่ได้ว่า ศาลได้รับฟ้องไว้แล้ว เพราะในคดีอาญาที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องนั้น จะมีผลเป็นการรับฟ้องต่อเมื่อศาลทำการไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งให้ประทับรับฟ้อง เมื่อศาลยังไม่ประทับรับฟ้อง จึงเท่ากับศาลยังไม่รับเป็นคดี ป.ป.ช.จึงมีสิทธิทำการไต่สวนต่อไป นอกจากนั้น ข้อหาก็มิได้ซ้ำซ้อนกัน ที่สำคัญคือผู้ไปฟ้องคดีกับตำรวจนั้น ไม่แน่ว่าจะเป็นใคร อาจจะเป็นพวกเดียวกันฟ้องคดีเพื่อช่วยเหลือกันก็ได้ หรืออาจจะเป็นผู้เสียหายจริงๆ แล้วฟ้องคดีเพื่อบรรเทาความเสียหายของตนก็ได้ ซึ่งต้องดูข้อเท็จจริงต่อไป แต่เมื่อศาลยังไม่รับฟ้อง ก็ยังไม่เป็นคดี และถ้าศาลรับฟ้องเมื่อใด ก็คงต้องมีการพักราชการบรรดาจำเลยที่ถูกฟ้อง

“การฟ้องร้องคดีของ พล.ต.ต.อำนวย จึงมิได้สร้างความวิตกกังวลให้แก่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 9 คนแต่อย่างใด บางท่านถึงกับกล่าวว่า ตำรวจเขาดูกฎหมายกันอย่างไร มิน่าเล่า บ้านเมืองจึงตกอยู่ในสภาพไร้ขื่แปเช่นนี้” แหล่งข่าวกล่าว

ขณะที่ นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า กรณีที่นายสิทธิพร โพธิโสดา ทนายความได้ยื่นฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี กับพวกนั้น ตนขอเวลาตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับตัวนายสิทธิพร ที่อ้างตัวเป็นทนาย ว่าเป็นทนายสังกัดใด มีเบอร์ติดต่อได้หรือไม่ จากสภาทนายความก่อน และจะต้องหาความชัดเจนในการเชื่อมโยงว่ามีความเกี่ยวข้องเป็นเพื่อน หรือเป็นอะไรกับพล.ต.ต.อำนวย ตามที่หลายฝ่ายให้รายละเอียดตนมา เพื่อที่จะได้ยื่นฟ้องต่อศาล ให้ศาลรับรู้ว่าการที่นายสิทธิพร ไปยื่นฟ้องบุคคลทั้งหมดที่กล่าวมาเบื้องต้น เป็นการประพฤติตนไม่เหมาะสม ถือเป็นการใช้สิทธิที่ไม่สุจริต ใช้วิชามาร ซึ่งเป็นการฟ้องร้องรูปแบบซูเอี๋ย เพื่อให้ศาลได้ทราบว่าศาลถูกใช้เป็นเครื่องมือ

“หากตรวจพบว่านายสิทธิพรใช้ตำแหน่งทนายความในทางที่ไม่เหมาะสมไม่ถูกต้อง จะต้องยื่นเรื่องให้สภาทนายความพิจารณาถอนใบอนุญาตว่าความต่อไป ซึ่งผมต้องเร่งตรวจสอบให้รู้ถึงที่มาที่ไป ว่ามีข้อมูลด้านใดที่จะมาโยงเรื่องได้” นายสุวัตร กล่าว

ส่วนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. จะดำเนินการเอาผิดกับรายชื่อที่ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนชี้มูลความผิดนำเสนอให้ทราบแล้วนั้นอย่างไร นายสุวัตร กล่าวว่า ในเรื่องนี้ ป.ป.ช.มีข้อเท็จจริงอยู่ในมืออยู่แล้ว แต่ในด้านของศาลเราต้องรีบทำเรื่องให้ศาลรู้ความเป็นจริงว่าเป็นอย่างไร ซึ่งตนขอเวลาตรวจสอบอีกครั้ง

ด้าน นายวิชา มหาคุณ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการไต่สวนคดีดังกล่าวว่า ขณะนี้กำลังไต่สวนอยู่ และยังมีการพิจารณาข้อโต้แย้งอยู่ แต่การที่พิจารณาได้ช้าเพราะ ขณะนี้ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้ทนายความยื่นฟ้อง นาย ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ป.ป.ช. กับพวก กรรมการ ป.ป.ช.. รวม 9 คนในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 อย่างไรก็ตาม เราก็จะทำงานต่อไปเรื่อยๆ และไม่รู้สึกหวั่นไหวแต่อย่างใด ซึ่งต่อไปนี้จะต้องมีกระบวนการในการแก้คดีต่อไป

นายวิชา กล่าวว่า อย่างไรก็ดี ตนจะต้องนำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุม ป.ป.ช.ในวันนี้ (13 ม.ค.) เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญถือว่าเป็นอุปสรรคและขัดขวางการทำงานของเรา ทำให้เราไม่สามารถไต่สวนคดีได้โดยสะดวก อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ตนไม่ได้เป็นคนขอทำแต่ คณะกรรมการ ป.ป.ช.มอบหมายให้ดำเนินการ ในเมื่อมีการฟ้องร้อง เราก็จำเป็นต้องปรึกษาคณะกรรมการ ป.ป.ช.
กำลังโหลดความคิดเห็น