กกต.แจง พ.ร.บ.พรรคการเมือง ให้สิทธิประชาชนผู้ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง สามารถบริจาคเงิน 100 บาทให้พรรคการเมืองที่ชื่นชอบ โดยมีวัตถุประสงค์ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง ขณะเดียวกัน กกต.เตรียมจัดสรรเงินกองทุนฯ กว่า 62 ล้านให้พรรค
วันนี้ (16 ม.ค.) นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมือง แถลงถึงกรณี พ.ร.บ.พรรคการเมือง กำหนดให้ประชาชนสามารถบริจาคเงินให้แก่พรรคการเมืองผ่านการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาว่า กรณีดังกล่าวเป็นไปตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง มาตรา 58 และ 140 ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ และมีเพิ่งจะมีผลบังคับใช้ในการชำระภาษีปีนี้ โดยในแบบฟอร์มชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้มีเงินได้กรณีทั่วไป (ภ.ง.ด.90) จะมี่ช่องประสงค์และไม่ประสงค์บริจาคเงินแก่พรรคการเมืองเพิ่มขึ้นมา
“ในแบบฟอร์มดังกล่าวจะมีช่องไม่ประสงค์บริจาคภาษีให้พรรคการเมือง แต่หากบุคคลใดต้องการบริจาคก็จะมีช่องประสงค์บริจาคภาษี 100 บาท และช่องถัดไปก็จะเป็นรหัสพรรคการเมือง ซึ่ง กกต.ได้กำหนดเป็นเลข 3 หลักที่จะแนบไปกับใบ ภ.ง.ด.90 ทั้งนี้ การชำระเงินภาษี 100 บาท ให้พรรคการเมืองใด เป็นเงินส่วนหนึ่งที่อยู่ในภาษีเงินได้ที่ต้องชำระให้แผ่นดิน ที่เป็นการตกลงระหว่าง กกต.กับกรมสรรพากร โดยเมื่อมีการบริจาค กรมสรรพากรก็จะเป็นผู้จัดเก็บเงินนั้นส่ง กกต.เพื่อส่งต่อให้กับพรรคการเมืองนั้นๆ ตามความประสงค์ของผู้เสียภาษี แต่ทั้งนี้ คนต่างด้าวที่ต้องเสียภาษีจะไม่สามารถบริจาคเงินผ่านระบบนี้ได้เพราะจะผิดมาตรา 118 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมืองมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
นางสดศรี กล่าวอีกว่า การชำระภาษีให้พรรคการเมือง 100 บาทนั้น ไม่สามารถนำมาหักค่าลดหย่อนภาษีได้ เพราะเป็นเงินที่ประชาชนต้องการสนับสนุนพรรคการเมือง และเป็นการทำให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมกับพรรคการเมือง ทำให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลจะเพิ่มเงินให้พรรคการเมืองอีกร้อยละ 5 จากยอดเงินที่มีการบริจาคเข้ามาตามมาตรา 76 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ซึ่งพรรคการเมืองจะได้เงินจากบุคคลที่บริจาคทั้งสิ้น 105 บาท
ทั้งนี้ การบริจาคเงินภาษีให้พรรคการเมืองนั้น กกต.ได้นำข้อปฏิบัติจากสหรัฐอเมริกามาเป็นต้นแบบ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมต่อพรรคการเมืองนั้น แต่ก็ไม่ได้มีการกำหนดวงเงินภาษีที่จะบริจาคเหมือนกรณีที่นิติบุคคลบริจาคให้พรรคการเมืองไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อปี
เมื่อถามว่า กรรมการบริหารพรรคของพรรคถูกยุบสามารถบริจาคภาษีให้พรรคการเมืองได้หรือไม่ นางสดศรี กล่าวว่า กรณีดังกล่าวคนที่ถูกเพิกถอนสิทธิสามารถที่จะบริจาคภาษี 100 บาทให้กับพรรคการเมืองที่ชื่นชอบได้ เพราะไม่มีกฎหมายห้ามบุคคลเหล่านี้บริจาคภาษี หากบุคคลเหล่านี้ต้องชำระภาษีก็สามารถบริจาคได้ เพียงแต่กฎหมายห้ามบุคคลเหล่านี้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและจัดตั้งพรรคการเมืองเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองก็สามารถที่จะบริจาคภาษีดังกล่าวให้แก่พรรคการเมืองที่ตนเองชื่นชอบได้
นางสดศรี กล่าวอีกว่า ขณะนี้พรรคชาติไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคมัชฌิมาธิปไตยที่ถูกยุบได้ส่งเอกสารบัญชีต่างๆ มาให้ กกต.ตามที่กฎหมายให้ดำเนินการภายใน 30 วันนับแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบงบบัญชีงบดุลและทรัพย์สินของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน
ด้าน นายธนิศร์ ศรีประเทศ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการสนับสนุนโดยรัฐ ด้านกิจการพรรคการเมือง กกต.กล่าวถึงการให้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองที่เป็นเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองที่เป็นไปตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองว่า ในปี 2552 กกต.จะสนับสนุนเงินให้แก่พรรคการเมืองโดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.พรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่มี ส.ส.และได้คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา พรรคประชาราช พรรคความหวังใหม่ และพรรคเครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย ได้ขอวงเงินสนับสนุนพรรคการเมืองจากกองทุนกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองวงเงิน 62.8 ล้านบาท ทั้งนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเสนอให้ กกต.เห็นชอบเพื่อจ่ายเงินสนับสนุนดังกล่าว
นายธนิศร์ กล่าวว่า ส่วนที่ 2 พรรคที่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งแต่คะแนน ส.ส.ในระบบสัดส่วน และเขต ไม่ถึงร้อยละ 5 กกต.มีมติอนุมัติเงินให้พรรคจำนวน 9 พรรคที่เสนอโครงการรวม 37 โครงการ เป็นวงเงิน 2.2 ล้านบาท ประกอบด้วย พรรคประชากรไทย พรรคไทเป็นไท พรรคพลังแผ่นดินไท พรรคดำรงไท พรรคชาติสามัคคี พรรคมหาชน พรรคเพื่อนเกษตรกรไทย พรรคกสิกรไทย และพรรคเผ่าไท