xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจ กษิต ภิรมย์ : ผมต่อสู้เพื่อความชอบธรรมในสังคมไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการออนไลน์ – “กษิต ภิรมย์” เปิดใจไม่หวั่นเป็น รมต.สายล่อฟ้า และทำรัฐบาลอายุสั้น ลั่นเป็นนักต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีขึ้น ยันไม่คิดสลัดภาพพันธมิตรฯ เพราะพันธมิตรฯต่อสู้เพื่อการเมืองที่มีธรรมาภิบาล เชื่อ ฮุนเซน-ต่างชาติ-สื่อ เข้าใจหากศึกษา ปวศ.โลก และผู้นำ ชี้ ความขัดแย้ง-วุ่นวาย เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าสังคมไทยกำลังก้าวไปสู่ ปชต.เต็มใบ

วานนี้ (15 ม.ค.) นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์กับรายการชีพจรโลก กับ สุทธิชัย หยุ่น ซึ่งดำเนินรายการ โดย นายสุทธิชัย หยุ่น ออกอากาศทางช่องโมเดิร์นไนน์ทีวี ซึ่งเนื้อหาของการสัมภาษณ์นั้น ครอบคลุมตั้งแต่ข้อครหาเรื่องการขึ้นเวทีพันธมิตรฯ การถอนพาสปอร์ตของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แนวคิดทางการเมือง รวมไปถึงแนวนโยบาย และนโยบายเร่งด่วนทางการต่างประเทศของรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ในช่วงแรก นายสุทธิชัย ได้เริ่มถามถึงทัศนะของ นายกษิต ต่อกรณีที่ สมเด็จฮุนเซน ผู้นำของกัมพูชาออกมากล่าวตีรวนการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กำลังจะมีขึ้นที่หัวหิน ว่า เป็นไปได้หรือไม่ ว่า อาจมีสาเหตุมาจากตัว นายกษิต เอง ซึ่ง นายกษิต ก็ตอบว่า คงไม่ใช่ เนื่องจากสมเด็จฮุนเซน นั้น เป็นผู้นำประเทศ มีความเป็นผู้ใหญ่พอ อีกทั้งยังรู้จักคุ้นเคยกับตนดี

ยันสัมพันธ์กัมพูชาราบรื่น

“ท่านคงอยากจะให้การประชุมในภาพรวมแน่น แล้วไปในทิศทางเดียวกันให้โดยเร็วที่สุด แล้วท่านก็เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของประชาคมอาเซียน ท่านก็อยู่ในตำแหน่งมา 20 กว่าปีแล้ว ท่านจะมีความเห็นอะไรก็ควรจะรับฟังเอาไว้” นายกษิต กล่าวพร้อมเปิดเผยว่า สมเด็จฮุนเซน ได้ส่งหนังสือแสดงความยินดีต่อนายอภิสิทธิ์ มาแล้ว ส่วน นายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศของกัมพูชา ก็มีหนังสือแสดงความยินดีถึงตน นอกจากนี้ ภายหลังที่ตนดำรงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ ก็มีโอกาสได้คุยโทรศัพท์กับนายฮอร์ นัมฮง แล้ว 2 ครั้ง

“ผมเองก็ได้ย้ำสิ่งที่ท่านนายกฯ อภิสิทธิ์ พูดว่า เราจะดำเนินความสัมพันธ์ที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน จะไม่มีบุคลากรในรัฐบาลนี้ มีธุรกิจที่จะไปพัวพันกับตำแหน่งทางการเมือง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจะทำกับกัมพูชา หรือประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมดจะมุ่งไปที่เนื้อหาอย่างเดียว” รมว.ต่างประเทศ กล่าว

ต่อมาผู้ดำเนินรายการได้ถามว่า หากมีการนำเอาเทปบันทึกภาพระหว่างการขึ้นเวทีพันธมิตรฯ ของนายกษิต มาเปิดโดยเฉพาะในช่วงที่ระบุว่า สมเด็จฮุนเซน มีการหาผลประโยชน์ร่วมกันกับ พ.ต.ท.ทักษิณ แล้วจะทำเช่นไร ซึ่ง นายกษิต ได้ตอบว่า

“ก็เป็นไปได้ แต่ผมคิดว่าเขาเป็นผู้หลักผู้ใหญ่พอที่จะรู้ว่า ณ วันนั้นมันเป็นเรื่องการเมืองอีกสภาพหนึ่ง เป็นการเมืองภาคประชาชน อันที่สอง ตัวท่านเองก็มีข้อวิพากษ์วิจารณ์เหมือนกัน แต่ที่สำคัญที่สุด ผมคงไม่ได้มุ่งวิพากษ์วิจารณ์ท่านฮุนเซน หรือคนกัมพูชาเป็นการเฉพาะ เป้าประสงค์ของผมโดยตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา เป็นการมุ่งไปที่รัฐบาลที่แล้ว หรือในระบอบที่แล้วต่างหาก ที่ทำอะไรโดยมีผลประโยชน์ทับซ้อน เผอิญมันไปเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไปเกี่ยวกับผู้นำประเทศ” พร้อมกันนั้น นายกษิต ยังกล่าวด้วยว่า ตนเคยเจอและสนทนาสมเด็จฮุนเซนที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศสมาแล้ว

ชี้ “ฮุนเซน” ก็เคยต่อสู้มาเหมือนกัน

“ผมเองก็เคยเจอกับท่านฮุนเซนในการประชุมรอบแรกที่ปารีสเป็นเวลาหนึ่งเดือน ก็เคยนั่งโต้เถียงกันในกรรมการศาลเป็นเวลาหนึ่งเดือน เมื่อเสร็จสิ้นการประชุมช่วงนั้น ผมก็เดินข้ามห้องไปจับมือกับท่านฮุนเซนแล้วบอกว่าขอให้มีโอกาสได้ทำงานร่วมกันในสภาพของสันติภาพ ... แล้ววันนี้ผมก็มีโอกาสที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ ทั้งส่วนตัว และระหว่างกัมพูชากับไทย แล้วเราก็มาในรูปใหม่ รัฐบาลใหม่ มีธรรมาภิบาลเป็นตัวตั้ง” นายกษิต เผย

“ประวัติศาสตร์ก็ต้องมีแน่นอน ผมคิดว่า ผู้นำต่างประเทศก็คงจะทราบดีว่าสิ่งที่ผมต่อสู้ในสังคมไทยนั้นเป็นเรื่องของความชอบธรรม ผมคิดว่า ท่านฮุนเซน และผู้นำในกัมพูชาก็เป็นนักต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ ต่อสู้เพื่อเอกราช ต่อสู้เพื่อสิ่งที่เขาคิดอยู่ ผมคิดว่าในฐานะที่เขาเป็นนักต่อสู้น่าจะเข้าใจผมดี ผมก็ต่อสู้เพื่อความชอบธรรมในสังคมไทย แล้วผมคิดว่า ณ วันนี้ท่านฮุนเซนก็ยืนหยัดอย่างสง่างาม ท่านก็จับอาวุธสู้รบมาเพื่อความเป็นเอกราช เพื่อความเป็นสังคมที่ดีของกัมพูชาตั้งแต่อายุ 14-15 หนทางท่านวิบากกว่าผมเยอะแยะ ท่านก็คงจะเข้าใจว่า การที่เราต่อสู้เพื่อสิ่งที่เราเชื่อถือ และคิดว่ามันถูกต้องนั้นมันเป็นสิ่งที่นักต่อสู้น่าจะเข้าใจ”

ตอก “นพเหล่” แถลงการณ์ร่วมจบแล้ว

นายกษิต กล่าวต่อว่า ในการเดินทางไปกัมพูชาในวันที่ 25-26 ม.ค.นี้ ตนคงไม่ได้พูดถึงเรื่องเขาพระวิหารแต่เพียงอย่างเดียว แต่คงจะพูดถึงเรื่องความสัมพันธ์ในภาพรวมตั้งแต่ แรงงาน ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ-การเมือง อาเซียน ส่วนเรื่องเขตแดนนั้นมีคณะกรรมาธิการร่วมคอยดูแลประเด็นทางเทคนิคอยู่แล้ว

“แถลงการณ์ร่วมที่ คุณนพดล (ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศสมัย นายสมัคร สุนทรเวช) ไปเซ็น ถูกยุติโดยศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ในช่วงของรัฐบาลที่แล้ว อดีตรมต.เตช (บุนนาค) ท่านก็ได้มีหนังสือในทำนองยกเลิกแถลงการณ์ร่วมนั้นแล้ว ส่วน รมว.ต่างประเทศของกัมพูชา ท่านฮอร์ นัมฮง ก็มีหนังสือตอบแล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องก็ยุติไปแล้ว” นายกษิต กล่าว และว่า เรื่องก็กลับมาสู่จุดเดิม คือ การเจรจาในอดีต และบันทึกของตกลงในปี พ.ศ.2543 ระหว่างรัฐบาลนายชวน หลีกภัย กับรัฐบาลกัมพูชา ซึ่งในอนาคตก็จะมีการเจรจากันต่อไป

แฉเดลี เทเลกราฟ “เต้าข่าว”

ส่วนกรณีที่ นสพ.เดลี เทเลกราฟ ตีพิมพ์ข่าวระบุว่า นายกษิต ให้สัมภาษณ์ว่า การชุมนุมของพันธมิตรฯ นั้นสนุกสนาน อาหารดี ดนตรีไพเราะ จนกระทั่งสื่อมวลชนไทย และกลุ่ม นปช.นำไปขยายความและโจมตีต่อ โดย นายกษิต ได้ชี้แจงดังนี้

“ประโยคไม่ได้ออกมาอย่างนั้น ผมไม่เคยพูดในทำนองที่เป็นประโยคชัด ขาว-ดำ ผมคิดว่าเขา (นักข่าวเดลี เทเลกราฟ) ประมวลเอาคำพูดของผมในหลายๆ โอกาสแล้วใส่ให้มาเป็นคำพูดของผม ผมเองก็ไม่ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวคนนั้น เป็นการสัมมนาที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งถ้าเอามาฟังกันแล้วตีแผ่กันแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า ผมไม่ได้พูดอย่างนั้น อีกทั้งตอนนั้นผมก็ยังไม่ได้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศด้วย” รมว.ต่างประเทศ แจง

เมื่อ นายสุทธิชัย ย้อนถามว่า แม้ นายกษิต จะไม่ได้กล่าวถึงประโยคว่าอาหารดี ดนตรีไพเราะ เต็มประโยค แต่ก็มีการพูดถึงใช่หรือไม่ นายกษิต ก็ตอบว่า ตนตั้งใจจะบอกว่าการประท้วงเป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชน และเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งไม่มีความรุนแรง

“ผมเพียงแต่พยายามที่จะบรรยายบรรยากาศของการประท้วงโดยฝ่ายพันธมิตรฯ และมุ่งมั่นไปที่เหตุการณ์ที่ทำเนียบรัฐบาลเป็นหลัก ว่า มันมีบรรยากาศของ หนึ่ง ไม่มีความรุนแรง มีความเอื้ออาทร เอื้ออารีต่อกัน ส่วนใหญ่เป็นสุภาพสตรี 60-70 เปอร์เซ็นต์ ช่วยกันทำความสะอาด จะไปทานอาหารก็ไปเข้าแถว ... แล้วผมก็ยังบอกว่านอกจากนั้นแล้วยังมีดนตรีด้วย ผมอาจจะพูดติดตลกว่าอาหารอร่อย ก็คงจะไม่ได้ปฏิเสธ เพราะส่วนใหญ่ก็เป็นอาหารมังสวิรัติทั้งนั้น ผมเพียงแต่จะบอกว่ามันเป็นบรรยากาศของความเป็นกันเอง เป็นมิตร แล้วมันไม่มีความโหดร้าย หรือเจตนาร้ายต่อใครๆ ทั้งสิ้น เป็นเพียงการแสดงออกเท่านั้นเอง ก็เป็นความงดงามของคนไทยที่จะมีสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ แต่ที่จะมาผูกกับเหตุการณ์ยึดสนามบินสุวรรณภูมิ หรือ เพียงจะตีความว่าผมพูดเพียงแค่ว่าอาหารอร่อย แล้วก็มีดนตรีสนุกดี มันก็อยู่ที่ผู้เขียนมากกว่า ผมไม่ปฏิเสธนัยยะของสิ่งที่ผมพูด แต่ที่จะบอกว่าถอดมาเป็นคำพูดเช่นนั้น ผมคงต้องปฏิเสธ” นายกษิต แจง

ต่อมา นายกษิต ได้ยืนยันว่า นายกวี จงกิจถาวร บก.ในเครือเนชั่น เป็นพยานที่จะยืนยันถึงสิ่งที่ตนพูดในวันนั้นได้ดี และในเวลาต่อมาสิ่งที่ นายกวี เขียนถึงสิ่งที่ตนพูดในการสัมมนาในวันนั้นก็มีเนื้อหาตรงกันข้ามกับที่นักข่าวฝรั่งผู้นั้นรายงานอย่างชัดเจน

“นัยยะของคุณกวีนั้นแทบจะตรงกันข้ามกับที่ฝรั่งคนนี้ หรือหนังสือพิมพ์ของฝรั่งคนนี้อยากจะทำให้มันอึกทึกครึกโครม และฮือฮากันไป ซึ่งมันก็สร้างความเสียหายและสร้างความเข้าใจผิดกัน แต่ก็เป็นสิทธิเสรีภาพของเขา ก็ไม่ได้ว่าอะไรกัน”

ไม่คิดสลัดภาพพันธมิตรฯ

เมื่อ นายสุทธิชัย ถามว่า นายกษิต จะสลัดภาพที่เคยไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ ได้อย่างไร นายกษิต ก็ตอบสวนทันทีว่า ตนไม่เคยคิดที่จะสลัดภาพของพันธมิตรออกไปแต่อย่างใด และยืนยันว่าสิ่งที่พันธมิตรทำนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเป็นการต่อสู้เพื่อการเมืองที่มีธรรมาภิบาล

“ไม่สลัดฮะ ... เพราะผมคิดว่าการไปร่วมกับทางพันธมิตรฯ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่าอาย เพราะเขาได้ต่อสู้เพื่อสิ่งที่เขาเห็นว่าสังคมไทยจะต้องมีการเมืองที่มีธรรมาภิบาล” พร้อมกันนั้น นายกษิต ได้กล่าวด้วยว่า ฝรั่งทั้งหลายมักจะลืมประวัติศาสตร์ของชาติ ของทวีปตัวเองว่า ผู้นำในประวัติศาสตร์ของตนหลายคนก็เคยต่อสู้บนถนนเช่นนี้มาก่อนแล้ว อย่างเช่น ยอสกา ฟิชเชอร์ (Joschka Fischer) อดีต รมต.ต่างประเทศของเยอรมนี ที่ปัจจุบันกลายเป็นรัฐบุรุษระดับโลก และเป็นผู้ก่อตั้งพรรคกรีนซึ่งร่วมรัฐบาลของเยอรมันก็เคยต่อสู้บนท้องถนนมาก่อน โดยนายฟิชเชอร์ ใช้ความรุนแรงด้วยซ้ำไป

“สามสิบปีที่แล้ว จะเห็นภาพของ ยอสกา ฟิชเชอร์ ตีกับตำรวจอยู่ที่แฟรงก์เฟิร์ต แล้วก็รุนแรงมาก ผมไม่เคยใช้ความรุนแรง พันธมิตรฯ ไม่เคยใช้ความรุนแรง ฟิชเชอร์ นี่ไปเผา ขนไม้ ขนอะไรไปรบกับตำรวจตลอดเวลา แล้วถามว่าฝรั่งมังค่าเหล่านี้ไม่รู้จักประวัติศาสตร์ของผู้นำของตัวเองหรือ มันเป็นลักษณะของการก่อการร้าย แต่ที่พันธมิตรทำ อาวุธที่สำคัญที่สุดก็คือมือตบ แล้วก็อาหาร แล้วก็ดนตรี แล้วก็เอกสาร และไมโครโฟนก็มีอยู่แค่นั้น” นายกษิตกล่าว “ประเทศที่มาเป็นเอกราชที่ออกมาจากม่านเหล็กของสหภาพโซเวียต ของลัทธิคอมมิวนิสต์ ผู้นำของเขา ณ วันนี้ในยุโรปกลาง ยุโรปตะวันออก ก็ผ่านกระบวนการของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย บนท้องถนนกันทั้งนั้น”

เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า ถ้า นายกษิต มีส่วนร่วมกับการปิดสนามบินของพันธมิตรฯ แล้วเมื่อเป็น รมว.ต่างประเทศ จะรับรองได้อย่างไรว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีก ซึ่งนายกษิตก็ตอบว่า ตนพร้อมรับผิดชอบกับสิ่งที่ตนเองทำ

“เรื่องที่ผมพูด (บนเวทีพันธมิตรฯ) ผมก็คิดว่าเป็นเนื้อหา ส่วนถ้าจะถูกฟ้องร้องด้วย ผมก็ยินดีที่จะไปศาล และถ้าไม่สามารถอำนวยให้ทำงานต่อได้ ผมก็ยินดีลาออกจากตำแหน่งถ้าต้องกลายเป็นผู้ต้องหา ผมจะไม่เป็นแบบนักการเมืองหรือรัฐมนตรีคนก่อนๆ ที่มาบอกว่าตราบใดที่ศาลฎีกายังไม่ได้ตัดสินขั้นสุดท้าย แล้วยังไม่เดินเข้าคุก ก็จะยังไม่มีความผิด ผมจะไม่มีความหน้าด้านอย่างนั้น” นายกษิต ยืนยัน

ไม่หวั่นเป็นสายล่อฟ้าเสื้อแดง

เมื่อถามว่าเกรงหรือไม่ว่าตนเองจะเป็น “สายล่อฟ้า” ของกลุ่มคนเสื้อแดง และทำให้รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์มีอายุสั้นกว่าที่ควรจะเป็น นายกษิต ตอบว่า ตนเห็นว่าการประท้วงของกลุ่มคนเสื้อแดงก็สามารถทำได้ตามครรลองประชาธิปไตย ซึ่งเมื่อตนอาสาเข้ามาทำงานให้บ้านเมืองแล้วก็ต้องพร้อมเผชิญกับสิ่งเหล่านี้ ส่วนประเด็นว่าตนจะเป็นสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลอายุสั้นหรือไม่นั้น ตนคิดว่า นายอภิสิทธิ์ และคนในรัฐบาลก็รู้ว่าตนมีพื้นเพอย่างไรมา

“ผมคิดว่า ท่านผู้นำ ท่านอภิสิทธิ์ หรือคนในรัฐบาลก็รู้ว่าผมทำอะไรมา” นายกษิต กล่าวพร้อมเปิดเผยว่า สามปีที่แล้วเมื่อตนเพิ่งเกษียณอายุราชการใหม่ๆ นายอภิสิทธิ์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้เดินทางมาพบตนที่บ้านพักเพื่อชวนเข้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งตนก็ตอบรับในทันที และสัญญาว่าจะช่วยทำให้พรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ยอดเยี่ยม เนื่องจากในตอนนั้นตนมองว่า ในสนามเลือกตั้งยังไงพรรคประชาธิปัตย์ก็คงไม่มีทางเอาชนะพรรคไทยรักไทยได้อย่างแน่นอน

“ตอนนั้นผมไม่มีความเพ้อฝันว่าเราจะมาเป็นรัฐบาลได้ เพราะตอนนั้นอำนาจของคุณทักษิณ เสียงข้างมาก เงินอะไรต่างๆ เยอะแยะ ความนิยมของประชาชน ไม่มีทางเป็นอื่น ไม่สามารถที่จะเพ้อฝันเป็นอื่นว่าเราจะมาเป็นรัฐบาลได้ แต่ผมต้องการที่จะสร้างพรรคประชาธิปัตย์ให้เป็นพรรคที่เข้มแข็ง เป็นพรรคฝ่ายค้านที่ยอดเยี่ยม อันนั้นเป็นอุดมการณ์ เป็นความปรารถนา แล้วอันที่สองที่ผมได้พูดกับท่านอภิสิทธิ์ ก็คือว่า เรามาช่วยกันจรรโลงความเป็นธรรมาภิบาลในสังคมไทย ในการเมืองไทย ... ผมไม่เคยเพ้อฝันว่าจะมาเป็นรัฐมนตรี” นายกษิต กล่าว พร้อมว่า ถ้าตนไม่ได้เป็นรัฐมนตรี ตนก็พร้อมจะทำงานให้พรรคประชาธิปัตย์และพร้อมจะช่วยทำให้ประเทศไทยเป็นสังคมประชาธิปไตยที่ดี ช่วยขจัดนักการเมืองที่ขาดความละอายออกไป

เคยเป็นที่ปรึกษา “ทักษิณ”

เมื่อ นายสุทธิชัย ถามว่า ก่อนที่ นายกษิต จะเกษียณ ขณะที่เป็นทูตอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ก็เคยแสดงท่าทีคัดค้านรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ มาก่อนแล้วใช่หรือไม่ โดย นายกษิต ได้ตอบว่า ในช่วงปี 2544 ตนเคยทำงานเป็นที่ปรึกษาให้ พ.ต.ท.ทักษิณ มาก่อน และนั่งทำงานอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนที่จะไปเป็นทูตที่ประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ซึ่ง นายกษิต ยืนยันว่าสิ่งที่ตนแนะนำ พ.ต.ท.ทักษิณ นั้นมาจากความจริงใจทั้งสิ้น

“จะนั่งอยู่ที่ทำเนียบก็ดี หรือว่าจะเป็นทูตที่ญี่ปุ่น หรือทูตที่สหรัฐอเมริกาก็ดี สิ่งที่ผมพูดกับท่านนายกฯ ทักษิณ เป็นเรื่องเนื้อๆ เป็นเรื่องเนื้อหา และส่วนใหญ่ที่ได้แนะนำท่านก็ไม่ได้เป็นทางวาจา หรือเสนอข้อคิดเห็น ก็ทำเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย ผมมีจุดยืนอยู่อันเดียวเท่านั้นเองว่า จะถ้าจะพูดกับท่านนายกรัฐมนตรีก็จะพูดด้วยความจริง ด้วยความจริงใจ จะเตือนก็เตือนด้วยความจริงใจ อะไรที่เห็นด้วยก็เห็นด้วย อะไรที่ไม่เห็นด้วยก็ไม่เห็นด้วย ก็บอกมาตามเนื้อผ้า” นายกษิตกล่าว และยืนยันว่า ตนเคยรู้จักและทำงานกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังธรรม และ รมต.ต่างประเทศ แล้ว

“สิ่งใดที่ผมพูดกับคุณทักษิณโดยตลอดมา เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเนื้อหา เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ถ้าเกิดมันมีคำสั่งของรัฐบาล ของรัฐมนตรีหรือพฤติกรรมอันใดที่ไม่ถูกต้อง ผมก็จะบอกกับคุณทักษิณ บอกกับรัฐมนตรีว่าอันนี้ไม่ถูกต้อง ผมไม่เห็นด้วย แล้วทุกอย่างไม่ได้ไปพูดลับหลัง ผมพูดมาเป็นโทรเลข เขียนมาเป็นรายงาน แล้วก็พูดอย่างตรงไปตรงมา” รมว.ต่างประเทศกล่าว “ผมคิดว่าผมรู้จักกับคุณทักษิณเพียงพอที่จะพูดกับท่านอย่างตรงไปตรงมาได้ และ ณ วันนี้ก็ยินดีถ้าจะมีโอกาสนั่งคุยกัน กินไวน์กันสักแก้วหนึ่ง แล้วพูดกันว่าอะไรควรจะเป็นอะไร”

ถอนพาสปอร์ตเป็นไปตามขั้นตอน

เมื่อถามว่า ถ้าหาก พ.ต.ท.ทักษิณ ถามว่า เหตุใดจึงถอนพาสปอร์ตการทูตและพาสปอร์ตธรรมดาของเขา นายกษิต จะตอบว่าอย่างไร โดยนายกษิตยืนยันว่าเรื่องการยกเลิกพาสปอร์ต เป็นไปตามขั้นตอนและระเบียบ โดยการยกเลิกพาสปอร์ตไม่ได้เป็นการถอนสัญชาติหรือยึดบัตรประชาชนแต่อยางใด เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังเป็นคนไทย มีสิทธิ์เดินทางกลับประเทศ และสามารถใช้ ซีไอ (Certificate of Identity) เดินทางกลับประเทศได้

“(เรื่องถอนพาสปอร์ต) คงไม่ใช่เป็นผมคิด เพราะคนไทยทั้งประเทศก็ถามอยู่ เรื่องนี้อยู่ในใจของประชาชนทั้งชาติว่าอะไรเป็นอะไร ในข้อเท็จจริง เรื่องการยกเลิกหนังสือเดินทางสีแดงนั้นได้มีการยกเลิกในรัฐบาลที่แล้วโดย รมต.ต่างประเทศ คนที่แล้ว หนังสือที่ออกจากกระทรวงต่างประเทศไปเพื่อจะสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องหนังสือเดินทางธรรมดาก็เกิดขึ้นก่อนที่รัฐบาลอภิสิทธิ์หรือผมจะเข้ามารับตำแหน่ง มันเป็นเรื่องของกระบวนการต่อเนื่อง ผมคิดว่าหน่วยราชการหรือข้าราชการก็ดี เขาก็รู้ว่าอะไรที่ควรจะทำ ก็ต้องทำไป อันนี้ผมถือว่ามันเป็นกระบวนการหรือเป็นครรลองที่จะต้องทำ เพราะ เราไม่ได้กำลังพูดถึงอดีตนายกรัฐมนตรีในตัวของมันเองเท่านั้น เรากำลังพูดถึงคนๆ หนึ่งที่มีคดีความและเขาจะต้องกลับมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม” นายกษิต กล่าว

พร้อมกล่าวว่า ถ้ามีคนถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ควรจะกลับประเทศไหม ตนก็ต้องตอบว่าควรจะต้องกลับมา เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ มีคดีจำคุก 2 ปี แต่การกลับมาจะเป็นในรูปแบบของการส่งผู้ร้ายข้ามแดนหรือกความสมัครใจก็ตาม พ.ต.ท.ทักษิณ ก็สามารถใช้ซีไอเดินทางกลับประเทศไทยได้

“เราไม่ได้ไปละเมิดสิทธิของคุณทักษิณ ในการไม่ให้มีเอกสารเดินทางกลับประเทศไทย ประเด็นต่อมา คือ ไม่ได้มีดำริโดยหน่วยงานใดๆ ทั้งสิ้น ที่จะไปเลิกบัตรประชาชนของท่าน ความเป็นไทยของท่านก็ยังคงมีอยู่อย่างสมบูรณ์ หลักฐานต่างๆ ก็ยังมีพร้อม” รมว.ต่างประเทศกล่าว “ประเด็นที่ว่า หน่วยงานใดใช่หรือไม่ ที่ต้องการให้ท่านกลับมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม สังคมไทยต้องการให้ท่านกลับหรือไม่ เพราะ คำว่าความยุติธรรม หรือ Justice จะต้องกลับมาสู่สังคมไทย เพราะท่านมีประเด็นปัญหา มีคดีกับสังคมไทย”

นอกจากนี้ นายกษิต ยังกล่าวด้วยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ใหญ่ เป็นนายตำรวจ เป็นนักเรียนทุนของประเทศดังนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ น่าจะรู้ดีว่าตัวเองต้องทำอย่างไร พร้อมทั้งยืนยันว่ารัฐบาลไม่สามารถกลั่นแกล้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ได้อย่างแน่นอน เพราะมีคำตัดสินของศาลฎีการองรับ และสังคมไทยก็มีความปรารถนาถึงความถูกต้องเป็นพื้นฐาน

ชี้ ปชต.ไทยกำลังก้าวไปอีกขั้น

เมื่อถามว่า การที่ในรอบปีที่ผ่านมาประเทศไทยเปลี่ยนตัว รมว.ต่างประเทศ มาแล้วถึง 5 คน จะสร้างความสับสนให้กับต่างประเทศหรือไม่ นายกษิต ตอบว่า ต่างประเทศสามารถพิจารณาได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในสังคมไทยนั้นเกิดขึ้นในบริบทใด

“ผมมองว่า ทั้งหมดที่มีความสับสน ความยุ่งเหยิง นั้นมีสองประเด็นที่สำคัญคือ หนึ่ง เพราะมันมีระบอบการเมืองหรือรัฐบาลที่ทุจริต มีการคอร์รัปชัน มีผลประโยชน์ทับซ้อน ทำให้มีการต่อต้านโดยภาคประชาสังคม ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตย ณ วันนี้ การเมืองไม่ได้อยู่ที่คณะนายทหาร ไม่ได้อยู่ที่พรรคการเมือง แต่การเมืองของไทย ณ วันนี้ มีส่วนสำคัญเพิ่มขึ้นมาเป็นส่วนที่สามก็คือ ภาคประชาสังคม หรือ ภาคประชาชน เป็นการเรียกร้องของประชาชนว่าอยากให้สังคมไทยมีธรรมาภิบาล มีความถูกต้อง มีความยุติธรรม” อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.กล่าวและว่า ถ้าหากผู้ใดศึกษาประวัติศาสตร์ชาติต่างๆ ก็น่าจะเข้าใจได้ว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยนั้นเป็นสังคมที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมประชาธิปไตยเต็มใบ

“ถ้าเขาเข้าใจอันนี้ เขาก็สามารถจะเข้าใจได้ว่าเรื่องการประท้วง ความสับสน ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองมันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการเป็นประชาธิปไตยของไทยที่จะขึ้นไปสู่อีกระดับหนึ่งที่ดีกว่า ที่จะเป็นแบบอย่างให้กับประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันได้ และเป็นสิ่งที่คนไทยน่าจะมีความภูมิใจว่า เรากำลังร่วมกันพัฒนาระบอบประชาธิปไตย” นายกษิต กล่าว พร้อมยืนยันว่า การก้าวมาเป็นรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ และการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลนั้นแม้จะมีข้อครหาว่ามีทหารหนุนหลัง แต่ก็เป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งเป็นกติกาทางการเมืองที่ใช้อยู่เช่นเดียวกับสมัยที่มีการตั้งรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์

“ผมเชื่อว่า ฝรั่งมังค่าเขาก็ไม่ได้โง่ ... ถามว่าวันนี้ชาวต่างประเทศเขาปฏิเสธหรือ แต่ทำไมจึงมีหนังสือแสดงความยินดีมาจากผู้นำทั่วโลกต่อท่านอภิสิทธิ์ คณะทูตก็ทยอยกันเข้าพบท่านรัฐมนตรี”

ในช่วงท้ายรายการ นายกษิต กล่าวว่า เมื่อดำรงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ ตนคงจะประพฤติหรือวิพากษ์วิจารณ์เรื่องต่างๆ อย่างอิสระไม่ได้แล้ว เพราะอยู่ในสถานะและหน้าที่ซึ่งแตกต่างกัน โดยตนพร้อมและน้อมรับคำชี้แนะจากผู้ใหญ่และหลายฝ่ายเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขตนเอง อย่างเช่น นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ส่วนนโยบายเร่งด่วน 3 อันดับแรก ที่ตั้งใจว่าจะต้องทำให้ได้โดยเร็วนั้น นายกษิต ระบุว่า ประกอบไปด้วย การจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน การกระชับสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน และการส่งเสริมภาพลักษณ์และภาพพจน์ของประเทศไทย
นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กับรายการชีพจรโลกกับสุทธิชัย หยุ่น ทางโมเดิร์นไนน์ ทีวี

สมเด็จฯ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา
ยอสกา ฟิชเชอร์ (Joschka Fischer) อดีต รมต.ต่างประเทศของเยอรมนี (ภาพล่าง) ภาพในปี ค.ศ.1973 ฟิชเชอร์ใส่หมวกกันน็อกดำลุยกับตำรวจเพื่อต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน
กำลังโหลดความคิดเห็น