ฝ่ายค้านนัดประชุมวางแผนเปิดศึกซักฟอกนโยบายรัฐบาลพรุ่งนี้ ชู “เป็ดเหลิม-เจ๊มิ่ง” นับทัพลับฝีปาก 70 ส.ส.เรียงคิวถามหาจริยธรรมรัฐบาล จองกฐิน “กษิต” แน่นเอี้ยด เย้ยประชานิยม “มาร์ค” เข้าตำราเกลียดปลาไหลกินน้ำแกง ประกบคู่ “เหลิม” ซด “สุเทพ”
วันนี้ (25 ธ.ค.) นายวิทยา บุรณศิริ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของพรรคร่วมฝ่ายค้านในการอภิปรายแถลงนโยบายของรัฐบาลว่า ในวันที่ 26 ธ.ค. พรรคร่วมฝ่ายค้านจะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการอภิปรายฯ ทั้งจำนวนผู้อภิปราย กรอบเวลา และแนวทางการอภิปราย ของส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน สำหรับตัวบุคคลที่ถูกวางตัวในการอภิปราย จะเป็น ส.ส.ที่มีประสบการณ์และอดีตรัฐมนตรี เช่น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีต รมว.มหาดไทย, นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ อดีต รมว.พาณิชย์, นายวิชาญ มีนชัยนันท์ อดีต รมช.สาธารณสุข, นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นอกจากนี้ยังมี ส.ส.ของพรรคที่แสดงความจำนงที่จะอภิปรายมากว่า 70 คน แต่ตนอยากให้มีผู้อภิปรายหลักๆ ประมาณ 15 คน ทั้งนี้ พรรคจะต้องเกลี่ยสัดส่วนผู้อภิปรายโดยเปิดโอกาสให้พรรคร่วมฝ่ายค้าน คือ พรรคประชาราช พรรคเพื่อแผ่นดิน และพรรคร่วมใจไทยชาติพัฒนาบางส่วน ได้อภิปรายด้วย
“เราเข้าใจว่าคำแถลงนโยบายยังเป็นแค่ร่าง การจะดำเนินนโยบายได้ต้องเริ่มทำงานก่อน ตรงนั้นเราเข้าใจ ดังนั้น ประเด็นที่ตั้งเป้าจะมุ่งไปที่จริยธรรมในทางการเมืองเป็นหลัก เรื่องความเหมาะสมในการเป็นรัฐบาล การกำหนดตัวบุคคลที่สร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินนโยบายในกระทรวงนั้นๆ ให้ประสบความสำเร็จได้อย่างไร โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ 2 กระทรวงนี้มีหลายท่านจองกฐินไว้เยอะ ส่วนหัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างนายเสนาะ เราจะให้เวลาพูดเต็มที่ตามธรรมเนียมที่จะให้เกียรติหัวหน้าพรรค” นายวิทยา กล่าว
เมื่อถามว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ถูกคาดหวังว่าจะทำหน้าที่เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว นายวิทยา กล่าวว่า ร.ต.อ.เฉลิมไม่ได้ตอบรับการเป็นผู้นำฝ่ายค้าน โดยการอภิปรายครั้งนี้ ร.ต.อ.เฉลิมจะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้ เพราะเป็นผู้มีประสบการณ์ และรู้ทางพรรคประชาธิปัตย์ดี ซึ่งเคยอภิปรายพรรคประชาธิปัตย์ในเรื่อง ส.ป.ก.4-01 มาก่อน โดยได้วางตัวประกบกับคู่เก่าคือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี
นายวิทยา กล่าวอีกว่า เท่าที่ดูคำแถลงนโยบายรัฐบาล ส่วนใหญ่เป็นนโยบายประชานิยมที่มีความคล้ายกับนโยบายของอดีตรัฐบาลมากกว่าร้อยละ 90 ตนจึงมองว่าเป็นนโยบายแบบเกลียดปลาไหลกินน้ำแกง เพราะเป็นนโยบายของรัฐบาลเก่า มีเพียงบางส่วนที่เขียนเพิ่มเติมในนโยบายด้านการศึกษา และการช่วยเหลือคนตกงาน
เมื่อถามถึงการชุมนุมคัดด้านการแถลงนโยบายของรัฐบาลซึ่งหลายฝ่ายเป็นห่วง นายวิทยา กล่าวว่า ตนคิดว่า ส.ส.จะแยกประเด็นของการทำหน้าที่กับการชุมนุมออกจากกัน โดยการชุมนุมของคนเสื้อแดงเป็นสิทธิที่สามารถทำได้เพราะเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่ขอให้ชุมนุมโดยสงบ ส่วนตัวไม่มีความเป็นห่วงเพราะถือเป็นการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ฝ่ายค้านยืนยันว่าจะทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างดีที่สุด แต่หากมีความรุนแรงเกิดขึ้นเป็นหน้าที่ของประธานสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณา ทั้งนี้เชื่อว่าโดยแนวคิดประชาธิปไตยและศักดิ์ศรีของพรรคประชาธิปัตย์จะไม่ยอมให้เปลี่ยนแปลงสถานที่ประชุมอย่างแน่นอน