เลขาสภา เผย ขอพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญแล้ว คาด เปิดสภาโหวตนายกฯได้สัปดาห์หน้า ระบุรายชื่อซ้ำ เหลือ ส.ส.หนุนเปิด 232 จาก 240 ชี้ช่องใครติดใจสมาชิกภาพ ส.ส.สัดส่วน ส่งศาล รธน.ตีความได้
วันนี้ (9 ธ.ค.) นายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ได้ทำเรื่องขอพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ส่งไปยังสำนักพระราชวังตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 8 ธ.ค. แล้ว เบื้องต้นการตรวจสอบรายชื่อที่พรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งพรรคการเมือง และกลุ่มการเมืองที่สนับสนุนได้ยื่นมาจำนวน 240 ชื่อ พบว่า มีการลงลายมือชื่อซ้ำกัน ทำให้เหลือรายชื่อผู้สนับสนุนที่ถูกต้อง 232 คน แต่ถือว่าครบจำนวน 1 ใน 3 ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 129 กำหนดไว้ โดยภายหลังมีพระบรมราชโองการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญออกมาแล้วประธานจะทำหนังสือนัดประชุมสมาชิกต่อไป เบื้องต้นคาดว่า จะสามารถเปิดประชุมได้ภายในสัปดาห์หน้า
เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ยังกล่าวถึงปัญหาสมาชิกภาพของ ส.ส.ระบบสัดส่วนของพรรคการเมืองที่ถูกยุบ ว่า ทางสภาผู้แทนราษฎรไม่มีข้อสงสัยในประเด็นดังกล่าว แต่หากใครมีข้อสงสัยสามารถยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ทั้งนี้ โดยหลักการขณะนี้มีจำนวน ส.ส.ทั้งหมด 447 คน โดยถูกพักงานในคดีเลือกตั้ง 9 คน เหลือสมาชิกที่สามารถลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ได้จำนวน 438 คน
นายพิทูร กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดที่นั่งให้ ส.ส.จากการที่มีพรรคการเมืองถูกยุบในการประชุมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีสภา จะจัดที่นั่งให้ในลักษณะเป็นกลุ่ม เนื่องจากไม่มีพรรคพลังประชาชน, พรรคชาติไทย และ พรรคมัชฌิมาธิปไตย แล้ว ส่วนผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจไปสังกัดพรรคใดก็สามารถเลือกที่นั่งได้อย่างอิสระ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์, พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา, พรรคประชาราช และ พรรคเพื่อแผ่นดิน จะจัดที่นั่งในที่เดิม สำหรับการขานชื่อสมาชิกในการลงมติจะเป็นการขานโดยเลียงลำดับหมายเลขไม่ใช่ตามตัวอักษร ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 สมาชิกจะต้องลงคะแนนโดยเปิดเผย โดยผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นายกรัฐมนตรีจะต้องมีเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด โดยเสียงกึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่ในขณะนี้ คือ 220 เสียง
นายพิทูร ยังกล่าวถึงกลุ่มผู้ดำเนินรายการความจริงวันนี้ ออกมาระบุว่า จะรวมตัวชุมนุมที่หน้ารัฐสภาในวันลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ว่า ได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์เหมือนกรณีการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยได้ประสานไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่มาดูแลความปลอดภัย ซึ่งหากมีเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ในท้องที่รับมือไม่ได้ คาดว่า คงมีการประสานขอกำลังสนับสนุนกันเองของเจ้าหน้าที่ตำรวจ