xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.สิทธิฯวุฒิสภา เชื่อ “วสันต์” ถูกการเมืองบีบพ้น อสมท เล็งยื่น ป.ป.ช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 วสันต์ ภัยหลีกลี้
กมธ.สิทธิมนุษยชน วุฒิสภา เล็งใช้ ม.46 เล่นงานนักการเมืองอยู่เบื้องหลังปลด “วสันต์” พ้น ผอ.อสมท หากพบข้อมูลสาวถึงผู้บงการใช้อำนาจทางการเมืองแทรกแซงสื่อ เตรียมยื่น ป.ป.ช.ทันที เรียกร้อง “วสันต์” ออกมาแถลงข่าวปกป้องสิทธิตัวเอง ระบุ อสมท เป็นของ ปชช.

วันนี้ (14 พ.ย.) นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่ บอร์ด อสมท ปลด นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท ออกจากตำแหน่งภายใน 30 วัน ว่า เป็นเรื่องการเมืองที่ดำเนินการมาตั้งแต่รัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช ที่มีนายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นผู้ดูแล และให้สัมภาษณ์หลายครั้ง ว่า ไม่พอใจในการทำงานของนายวสันต์ แต่ตนเห็นว่า ตลอดการทำงานของ นายวสันต์ ไม่ได้ให้การเมืองเข้าไปแทรกแซงการทำงานเลย เพราะ อสมท เป็นองค์กรของรัฐ ไม่ใช่ของรัฐบาล จึงไม่ควรจะเอาประโยชน์ให้กับการเมืองได้ ตลอดการทำงานของ นายวสันต์ ได้เปลี่ยนรูปลักษณ์ของ อสมท จากบันเทิงมาเป็นรายการที่มีสาระมากขึ้น จึงอาจเป็นปัจจัยหนึ่งของการถูกปลด

“ผมอยากเรียกร้องให้ นายวสันต์ ออกมาแถลงข่าว เพราะเกรงว่าสังคมจะเข้าใจว่ามีการเกียเซี้ยกัน ทั้งๆ ที่ นายวสันต์ ไม่รู้เรื่อง แต่ถูกเรียกให้ร่วมประชุม โดยไม่มีวาระการประชุมเลย หลังจากนั้น ก็มีการเชิญสื่อมาทำข่าวก่อนเวลาแถลงเพียง 2 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกมาก เหมือนมีการเตรียมการกันไว้เพื่อที่จะบีบ นายวสันต์ นอกจากนี้ นายวสันต์ จะต้องออกมาปกป้องสิทธิของตนเอง เพราะ อสมท ไม่ใช่ของพนักงาน อสมท เพียงอย่างเดียว แต่เป็นของประชาชนด้วย” นายสมชาย กล่าว

นายสมชาย กล่าวว่า ที่ผ่านมาของรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก็พยายามที่จะเข้าไปกุมสื่อ โดยการพยายามเข้าไปซื้อหุ้นไม่ว่าจะเป็นของเครือมติชน หรือ เครือเนชั่น แต่พอหลังรัฐประหารมีรัฐบาลสมัคร เข้ามาบริหารประเทศก็เป็นเหมือนเดิมไม่แตกต่างจากรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ เลย เพราะรัฐบาลก็เข้าไปกุมสื่อของรัฐ อาทิ สถานีโทรทัศน์ เอ็น บีที และ กรมประชาสัมพันธ์

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรรมาธิการสิทธิมนุษชนฯ จะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป นายสมชาย กล่าวว่า ถ้ากรรมาธิการได้ข้อมูลเกี่ยวกับ ม.46 ว่า มีนักการเมือง ส่อว่าการกระทำใดๆ ที่ขัดขวางการแทรกแซงสื่อหรือไม่ ถ้าหากมีข้อมูลจริงเราก็จะต้องดำเนินการต่อ โดยการยื่นต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
กำลังโหลดความคิดเห็น