xs
xsm
sm
md
lg

นักรัฐศาสตร์เสวนา ชี้ “แม้ว” โฟนอินเจตนาหมิ่นเบื้องสูง-ปลุกระดม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
นักวิชาการรัฐศาสตร์ ตั้งวงเสวนาจวก “แม้ว” โฟนอินมีเจตนาหมิ่นเบื้องสูง ใช้สื่อของรัฐสร้างความแตกแยกในสังคม ขณะที่รัฐบาลกลับไม่สนใจ อัดตำรวจสองมาตรฐาน เป็นผู้รักษากฎหมาย แต่ไม่ทำหน้าที่ ปล่อยให้คนทำผิดกฎหมายพูดปลุกระดมหน้าตาเฉย แถมยังตั้งธงล่วงหน้าว่าไม่ผิดเสียอีก

วันนี้ (11 พ.ย.) คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนา เรื่อง “เปิดโปงขบวนการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” โดยมีนักวิชาการเข้าร่วมหลายคน รศ.ประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า หากเปรียบเทียบกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กรณีของ นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ กับกรณีของ ดา ตอร์ปิโด นายจักรภพ เพ็ญแข หรือ นายสุชาติ นาคบางไทร จะพบว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่มีการดำเนินการแบบเสมอภาค แต่กระบวนการยุติธรรมที่ผู้มีหน้าที่รักษากระบวนการยุติธรรม ไม่ทำให้เกิดกระบวนการยุติธรรม เพราะผู้รักษากฎหมาย ไม่ทำให้เกิดความเที่ยงธรรมได้ แต่กลับไปอ้างประชาชนว่าไม่เคารพกติกา จนประชาชนต้องออกมาต่อสู้บนท้องถนน

ทั้งนี้ จะเห็นได้อีกว่า บุคคลเหล่านั้นไม่ทำตามกฎหมายตามพระราชดำรัส เพราะการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ประชาธิปไตยจะต้องเป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน เห็นได้จากวิธีการที่ประชาชนทำได้ในทั้งการชุมนุมโดยสงบ อหิงสา แต่ถ้าประชาชนพูดแค่ว่า การจาบจ้วงเกิดอะไร ทำไมไปทำอย่างนั้นอย่างนี้ จะกลายเป็นว่า กระบวนการที่ออกมาทำให้ประชาชนมองไปว่ากลายเป็นของธรรมดา และจะกลายเป็นกระบวนการบั่นทอน ที่มองว่าปกติ ตรงนี้ถือว่าจะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เหมือนน้ำที่เซาะทำให้หินผุพัง ดังนั้น เราต้องตื่นตัวอย่าปล่อยเลยไป

“ผมในฐานะอดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ขอวิงวอนนิสิตจุฬาฯ ว่า เด็กสมัยนี้ทำไมถึงมองวัตถุนิยมมากกว่าสังคม ยังดูความสนุกสนานว่าดีอยู่หรือ เราเป็นเป็นอนาคตของนักรัฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยสอนเพื่อเป็นบุคลากรเพื่อปกครองประเทศ แต่กลายเป็นว่า มานอนหลับทำสิทธิ เพื่อตัวเรารอดก็พอแล้ว ผมขอเตือนว่า ตรงนี้จะเป็นอันตรายที่บั่นทอนสังคม”

รศ.ประพันธ์พงศ์ กล่าวว่า อยากวิเคราะห์กรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์ จะเห็นได้ว่า ลึกๆ ที่เขาหัวเราะหรือกรณี นายเนลสัน แมนเดลา หรือจะพูดให้ยาวขึ้น หรือ จะไม่ให้ทีวีไปทำข่าวตอนเขาพูด ตรงนี้ถ้าเป็นรัฐบาลที่มีความรับผิดชอบ รัฐบาลต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในวันที่ 30 พ.ย.ที่คาดว่าจะมีการโฟนอินได้อีก เพราะการทำอย่างนี้จะเป็นการสร้างความแตกแยก เป็นการยั่วยุ ไม่ให้เกิดความสงบในบ้านเมือง

ดังนั้น จะเห็นว่า ความแตกแยกถือเป็นเรื่องใหญ่ หากปล่อยเป็นเรื่องใหญ่ คนที่ปฏิบัติหน้าที่รัฐบาลหรือ คนเป็นโฆษกรัฐบาล ก็ควรจะรักเป็นการส่วนตัว แต่เมื่อมีหน้าที่เป็นรัฐบาล ในฐานะนักรัฐศาสตร์ นักบริหาร พวกนี้จะกลายเป็นว่า เงินมางานมี หรือบางพวกเอาเงินไปให้ แต่ตนอยากให้เกิดความสมานฉันท์ แต่พวกนี้กลับใช้ปากพูดแต่พฤติกรรมกลับไม่พูด ดังนั้น จึงขอร้องวิงวอนว่า วันที่ 30 พ.ย.นี้ อยากให้พวกเราดูแล และให้ผู้รับผิดชอบทำให้เป็นรูปธรรม ออกมาในทิศทางที่ดี

อดีตอาจารย์รัฐศาสตร์ผู้นี้ ระบุอีกว่า กรณีตำรวจสันติบาล แถลงว่า คำพูดจากการโฟนอินของพ.ต.ท.ทักษิณ ในวันที่ 1 พ.ย.ไม่มีความผิดนั้น ความจริงแล้วถือว่าเป็นการตั้งธงไว้แล้ว เช่นเดียวกับเหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่รัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ตนได้สอบถามกรรมการ ท่านหนึ่ง ซึ่งบอกว่า เขาบอกว่าให้สอบว่าใครทำเท่านั้น แต่ไม่ได้บอกว่าให้สอบว่าใครผิดหรือถูก เช่นเดียวกับกรณีโฟนอิน อันแรก เนื้อหาสาระถ้าปล่อยให้นักโทษออกมาพูดตรงนี้อีกหน่อย กำนันเป๊าะ (นายสมชาย คุณปลื้ม) นายราเกซ (สักเสนา) นายปิ่น (จักกะพาก) หรือ นายวัฒนา (อัศวเหม) ก็คงต้องออกมาพูดบ้าง แต่พวกนั้นถือว่า ดีกว่าคนๆ นี้ ไม่เช่นนั้น กฎหมายจะมีไปทำไมว่าคนที่ผิดก็ออกมาบอกว่าถูกกลั่นแกล้ง

“เชื่อว่า เป็นการตั้งธงของตำรวจ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่า บ้านเมืองไม่มีกฎหมาย ไม่เช่นนั้นหากมีคนไปต่อยนายกฯ แล้วบอกว่า ไม่ได้ตั้งใจ จะเป็นอย่างไรหรืออีกหน่อยมีเงินก็ไปตั้งกองกำลังแบบฟิลิปปินส์ มีกองกำลังปกป้องตนเอง อย่างนั้นบ้านเมืองจะอยู่ได้ยังไง ไม่เช่นนั้นก็คงบอกให้นักโทษบางขวางไปโฟนอินออกมา จะเห็นได้ว่า ตรงนี้เพราะคุณผิดตั้งแต่ต้นและมาบอกว่าถูกกลั่นแกล้ง”

รศ.ประพันธ์พงศ์ กล่าวด้วยว่า ดังนั้น เราคนไทยจะต้องออกมาปกป้องโดยแสดงความจงรักภักดี เพราะคนในวัยเรา พ่อแม่ครูอาจารย์เราต้องชี้แจงให้ทราบ ให้เห็นว่า ในหลวงเป็นศูนย์รวมใจของความสามัคคีของคนในชาติ เราไม่ได้มองในหลวงเหมือนกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะในหลวงทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่อย่าลืมว่า พระองค์ท่านได้ให้ประชาชนมากกว่าพันธกิจที่พระองค์อยู่ใต้กฎหมาย เนื่องจากพระองค์มีจิตใจที่ทำเพื่อประชาชน ดังนั้นเราจะให้มีจิตและวิญญาณแห่งความจงรักภักดีอย่างไร

ม.ร.ว.ยงยุพลักษณ์ เกษมสันต์ อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า กรณี ส.ศิวรักษ์ ไม่อยากบอกว่าตำรวจใช้สองมาตรฐานหรือกรณี นายสุชาติ ที่ไม่ได้บอกว่า ตำรวจปล่อยเฉยต่อหน้าต่อตา แต่กรณี ส.ศิวรักษ์ พูด ตั้งแต่เดือน ธ.ค.2550 แต่กลับมาจับตอนนี้ ถือว่าเห็นชัดๆ เช่นเดียวกับกรณี นายจักรภพ ที่เห็นชัด แต่กลับไปสอบปากคำอีกหลายปาก ดังนั้น มองได้ว่า ตำรวจทำงานสองมาตรฐาน เพราะเมื่อจุดร่วมกระบวนการยุติธรรม เราจะไปหวังพึ่งใคร เช่นเดียวกับกรณีทีวีช่อง 11 ถ้ารัฐบาลไม่สนับสนุนก็คงมาออกไม่ได้

ทั้งนี้ กรณี พ.ต.ท.ทักษิณ โฟนอิน เห็นได้ว่า ตำรวจอาจมองไม่ผิดด้านคำพูด แต่ไม่มองถึงคำพูดต่อคำพูด (เวิร์ด บาย เวิร์ด) แต่กลับไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องเจตนา หรือเรื่องที่เคยพูดในอดีต ดังนั้น ควรมองว่า ก่อนหน้านี้ ผู้พูดสมัยเป็นนายกฯ ได้ซื้อเครื่องแอร์ฟอร์ซวัน เข้าไปนั่งทำบุญในวัดพระแก้ว ที่มีนายกฯคนไหนบังอาจ หรือธงชาติมีชื่อไปติดไว้ที่สโมสรฟุตบอลแมนฯซิตี ตนเคยได้รับทราบคำพูดจากเพื่อนว่า คนๆ นี้ พอไปอยู่อังกฤษ แต่กลับไปทำให้สังคมอังกฤษแตกแยก ดังนั้น ตำรวจก็ควรดูเจตนาของผู้พูดด้วย

ม.ร.ว.ยงยุพลักษณ์ กล่าวอีกว่า การปกป้องสถาบันจะต้องเริ่มจากหน่วยที่เล็กของสังคม จากครอบครัวต้องสอนให้ลูกหลาน โรงเรียนต้องจัดเวลาคุยถึงเรื่องพระราชกรณียกิจของในหลวงโดยเฉพาะ หรือในวัดก็ควรจะทำ และอยากให้พวกเรามีโอกาสมาสั่งสอนลูกหลานในเรื่องของพระราชกรณียกิจ หรือสั่งสอนว่า ทำไมคนไทยที่อาศัยพระบารมี แต่ทำไมถึงมาเหยียบย่ำพระองค์ได้มากขณะนี้ จะเห็นได้ว่าไม่มียุคนไหนที่คนไทย มาทำกันมากขณะนี้ ต่างกับต่างประเทศที่ยกย่องพระองค์

“แต่ดิฉันหมดหวังกับความจริงใจกับรัฐบาลแล้ว แต่หากเรานำพระราชกรณียกิจของพระองค์ เสนอทางสื่อ เช่น กรณีรถไฟฟ้าบีทีเอส ในรายการก็ควรจะมีพระราชกรณียกิจของในหลวง ทั้งภาษาไทย อังกฤษ มานำเสนอ ซึ่งเป็นความหวัง หรือ กทม.ก็ควรจะดำเนินการเรื่องป้ายตัววิ่งโครงการพระราชดำริ เป็นต้น”

นางนิภัทรา อรมรัตนเมธา อดีต ส.ว.กล่าวว่า ประเด็นของวิทยุชุมชนที่ออกมาโจมตีสถาบัน เชื่อว่า จะต้องมีคนอยู่เบื้องหลังคอยโอบอุ้มเอื้อเฟื้อดูแล ไม่เช่นนั้นเชื่อว่าไม่มีใครกล้าทำ เพราะมีคนรักราชวงศ์ รักในหลวงอยู่จำนวนมา ดังนั้น ถ้าเราอยู่เฉยไม่ช่วยกัน เพราะขณะนี้มีเด็ก หรือเยาวชนที่ถูกกรอกหูจากคนพวกนี้มากขึ้นด้วยความเข้าใจผิด เพราะการได้ข้อมูลที่บิดเบือน จะถามว่าใครจะรับผิดชอบ จะโทษนายสมชายก็ไม่ได้ แต่ปัญหาเกิดมาตั้งแต่รัฐบาลปี 2544 รัฐบาลก่อนนั้นต้องรับผิดชอบ ตนไม่เข้าใจว่า ผู้รับผิดชอบตรงนี้อยู่ได้อย่าง โดยเฉพาะข้าราชการทุกหมู่เหล่าในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ดังนั้น เราต้องอธิบายชี้แจง จุดสูงสุดของศูนย์รวมใจ เพราะขณะนี้มีคนเหิมเกริมว่าจะให้มีระบอบประธานาธิบดี แต่พอมีเสื้อเหลืองออกมาในปี 2548 ทำให้คนพวกนี้ขยาด เราจะก็ช่วยกันอย่าให้กลุ่มคนที่หลงผิดเพิ่มมากขึ้น เพราะรัฐบาลที่ผ่านมาใช้สื่อผิดพลาด เรามีสื่อของทหาร ตำรวจ สามารถชี้แจงประชาชนได้วันละ 1 ชั่วโมง ว่า มีขบวนการทำลายสถาบันอย่างไร หรือทีวีช่อง 5 และช่อง 7 ก็ต้องออกมาชี้แจงสัปดาห์ละครั้ง เพื่อประโยชน์สูงสุด

“อย่าบอกเลยว่ามีใครเป็นเครือข่ายบ้าง เพราะดิฉันไม่ใช่สันติบาล หรือเครือข่ายข่าวทหาร แต่เราประเมินได้ แต่ไม่ใช่หน้าที่จะบอกว่าเป็นใคร ดังนั้น อย่าปล่อยให้เป็นไฟลามทุ่ง เพราะจะเป็นการทำลายขวัญกำลังใจคนไทย เพราะจะเจ็บปวดมากกว่านี้” ส.ว.ผู้นี้กล่าวและว่า ขณะนี้บางจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดถึงขั้นทำหนังสือเวียน บอกว่า ไม่ให้ข้าราชการและประชาชนแต่งชุดสีเหลือง เพื่อหวังทำลายความชอบธรรม เป็นต้น ดังนั้น คนในรัฐบาลที่มีหน้าที่ก็ควรสำนึกขอให้ตื่นจากนอนหลับได้แล้ว”

ส.ว.ผู้นี้ กล่าวอีกว่า กรณีสันติบาล ระบุว่า การโฟนอินไม่พบความผิดนั้น ถ้าเป็นตำรวจจบใหม่ๆ ตนก็คงจะเชื่อ แต่ถ้าสอบสวนเอาแบบให้ลึกซึ้ง คนที่บอกว่า “เขาสั่งให้จำคุก ต้องบอกว่า เขาคือใคร” หรือต้องดูว่าวันนั้นมันมีอะไรในรายการ มีละครเนื้อหาอย่างไร เพราะตำรวจจะต้องมีพยานแวดล้อม เช่นเดียวกับเดี๋ยวนี้ไม่เห็นศพก็สามารถลงโทษจำเลยจากพยานแวดล้อมได้ ดังนั้น ถ้าตำรวจเก่งๆ หรือคิดจะเก่ง ต้องไปดูที่คำแถลงการณ์ทุกครั้ง ย้อนหลังครั้งสองครั้งก็จะได้รับเหตุการณ์ แต่ตนเชื่อว่า ตำรวจอาจไม่มีเวลา หรือคิดสั้นไปหน่อย หรืออาจไม่วิเคราะห์คำต่อคำ แม้ไม่มีคำว่าสถาบัน แต่มีคำว่า “เขา” ถ้าหยิบออกมาเป็นประเด็น ดูเจตนาของผู้ที่พูด เพราะสมัยก่อนตำรวจสันติบาล วิเคราห์ได้เก่งมาก คงเป็นเพราะว่าเปลี่ยนจากกรมตำรวจ มาเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ความเก่งเลยลดลง

ส่วนกรณีให้สัมภาษณ์สื่อรอยเตอร์นั้น ตนเห็นว่า ไม่รู้ว่าเป็นการพูดเองหรือมีใครเขียนสคริปต์ เช่น กรณีนายแมนเดลา เขาติดคุกมาก่อนหลายปี ทางรัฐศาสตร์การหยิบมาอ้างเช่นนี้ถือว่าผิดแล้ว เพราะเขาสู้เพื่อคนทั้งชาติไม่ใช่ส่วนตัว การหยิบมาอ้างอย่างนี้ถือว่าผิดแล้ว

ส.ว.กล่าวในตอนท้ายว่า การปกป้องสถาบัน เราต้องทำความเข้าใจ ให้กับคนใกล้ชิด รัฐบาลต้องตื่นตัวและมีความจริงใจเรื่องเหล่านนี้ เช่นเดียวกับพระประวัติ สมัย ร.5 เรารู้เรื่องกันเยอะมาก ทำไมเราไม่ทำเช่นนั้นให้ประชาชนรับรู้ เพื่อจะทำให้เกิดความตกทอด ให้กับลูกหลานในอนาคต รวมทั้งสื่อมวลชนทุกแขนงที่มีอิทธิพลอย่างมากในการเข้าถึงมวลชนทุกภาคทุกวัย เช่น มีการวางแผนในการใช้สื่อกับแท็กซี่ หรือวิทยุชุมชนที่ออกจากแท็กซี่หรือผู้โดยสาร จึงง่ายต่อการให้ข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อกำจัดขบวนการที่ล้างสมองหรือการจาบจ้วง โดยเฉพาะข้อมูลที่ออกมาจาก โรงพยาบาล คลินิก หรือร้านทำผม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลการจาบจ้วง เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น