xs
xsm
sm
md
lg

นักภาษาชำแหละ“โฟนอินแม้ว”ตรรกะสุดเพี้ยน-โกหกอ้อนสาวก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักภาษาศาสตร์ชำแหละ“โฟนอินแม้ว” เชื่อเตรียมการอย่างดี เพื่อสื่อความหมายซ่อนนัย โดยไม่ถูกฟ้อง ระบุใช้ตรรกะสุดเพี้ยน โกหก บิดเบือนความหมายของคำ มุ่งทำลายกระบวนการทางศาล เรียกร้องความเห็นใจ ช่วยตัวเองพ้นผิด ชี้ไม่ได้หวังพึ่งพระบารมีจริง แต่พร้อมใช้มวลชนปะทะเพื่อให้ตัวเองรอดคุก ชี้อ้าง “ราชประชาสมาสัย-เย็นศิรเพราะพระบริบาล”โดยไม่เข้าใจความหมาย



รายการ “รู้ทันประเทศไทย” บนเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หน้าทำเนียบรัฐบาล คืนวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ผู้ดำเนินรายการ ได้สนทนาในแง่มุมด้านภาษาศาสตร์กับ ดร.อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่หนีโทษจำคุกในคดีที่ดินรัชดาฯ ไปอยู่ต่างประเทศ ได้โทรศัพท์เข้ามาในรายการ"ความจริงวันนี้สัญจร" ของกลุ่ม นปช. ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา

ดร.อนันต์ กล่าวว่า หลังจากได้ฟังเสียงจริงๆ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณพูดในเวลาประมาณ 10 นาทีนั้น มีความรู้สึกว่าสิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณพูดนั้นน่าติดตามและน่าวิเคราะห์เป็นอย่างยิ่ง แม้ว่าสิ่งที่เขาพูดไม่ควรจะเผยแพร่ออกไปในวงกว้างมากนักก็ตาม แต่มีหลายประเด็นที่จำเป็นต้องพูดคุยตกลงทำความเข้าใจกัน เพราะหากปล่อยให้ข้อความนั้นเผยแพร่ออกไปโดยไม่มีคนชี้แนะหรือเตือนสติกำกับ คนฟังอาจหลงทางได้

ดร.อนันต์ มองว่ามีส่วนที่น่าตั้งข้อสังเกตหลายส่วน และมีส่วนที่จำเป็นต้องตีความว่า ที่ พ.ต.ท.ทักษิณพูดหมายถึงอะไรหรือหมายถึงใคร และมีส่วนที่ต้องตั้งสติ เพราะจะไปเชื่อตามเหตุผลที่ พ.ต.ท.ทักษิณพูดนั้นเลยไม่ได้

“การโทรศัพท์คุยกันน่าจะเป็นเรื่องคน 2 คนคุยกัน แต่ผมตั้งข้อสังเกตว่าคุณทักษิณอาจจะไม่ได้คุยอยู่กับคุณวีระหรือว่าคนที่ไปร่วมชุมนุมที่สนามกีฬาแห่งนั้น จริงๆ แล้ว ผมเข้าใจว่าคุณทักษิณมีสคริปต์ และอ่านจากสคริปต์ ถ้าเราดูจากวีทีอาร์ก็จะเห็นว่า เสียงพูดของคุณทักษิณต่างจากปกติที่เคยพูดในรายการนายกทักษิณคุยกันประชาชน”

“แม้ว”เตี้ยมคำพูดกันหลุด

ดร.อนันต์ชี้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณพยายามอ่านตามข้อความที่เตรียมมา ซึ่งการเตรียมข้อความที่จะพูด ทำให้ไม่หลุด ไม่พลาด และนำไปสู่การฟ้องร้องได้ยาก ซึ่งโดยปกติการพูดตามธรรมชาติจะควบคุมได้ยาก เว้นแต่จะมีการเตรียมร่างมาก่อน เพื่อให้สารนั้นพูดไปถึงผู้ฟังโดยไม่ผิดพลาด เพราะถ้าพูดไปเรื่อยๆ จะผิดพลาดได้ง่าย นอกจากนี้การเตรียมคำพูดทำให้กำหนดเวลาได้ และให้สื่อความหมายที่ซ่อนนัยตามที่ต้องการได้อย่างดี ด้วยเหตุนี้การโฟนอินของ พ.ต.ท.ทักษิณวันนั้น จึงให้มีทั้งส่วนที่คุยโทรศัพท์สดๆ และมีส่วนที่เป็นเทปทางทีวี

“ข้อความที่คุณทักษิณสื่อสารกับคนที่มาชุมนุม มีอยู่ 2 ช่วง ช่วงแรกเป็นการคุยกับคุณวีระ มุสิกพงศ์ ช่วงที่ 2 เป็นการพูดข้างเดียว มีวีทีอาร์มาเปิด ซึ่งช่วงที่น่าสนใจคือช่วงต้นที่มีการพูดโต้ตอบโดยมีคุณวีระเป็นตัวกลาง เพราะบางจังหวะคุณวีระก็คุยกับผู้ชุมนุม เป็นช่วงที่ใช้โทรศัพท์ และมีหลายข้อความที่น่าสนใจ และทำให้สันนิษฐานได้ว่าคุณทักษิณมีสคริปต์” ดร.อนันต์กล่าว

หลังจากนั้น นายเจิมศักดิ์ได้เปิดเสียงสนทนาระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ กับนายวีระ มุสิกพงศ์ ดังนี้

ทักษิณ - ... ผมยังไปไม่ได้ ทั้งๆ ที่คิดถึง ผมยังไปไม่ได้ เพราะเขาสั่งให้จำคุกผม 2 ปี พอผมไม่ไป อายุความ 10 ปี แสดงว่าเขาต้องการเอาผมไว้เมืองนอก 10 ปี ผมเลยถามว่าพี่น้องจะเก็บผมไว้ต่างประเทศนานขนาดนั้นไหมครับ

ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าวุ่นวายกันหมด พอรู้ว่าผมจะโฟนอิน

วีระ - ครับ

ทักษิณ - เขากลัวว่าผมจะพูดยุยงให้แตกแยกกัน โถ...ผมไม่ใช่หัวหน้าม็อบนะครับ (เสียงเฮ) ถึงจะโดนยัดเยียดคุกให้ ก็ยังเป็นอดีตนายกฯ นะครับ (เสียงเฮ) ก็คงต้องห่วงบ้านเมือง ห่วงพี่น้องประชาชน และสำนึกต่อชาติบ้านเมืองเหมือนเดิมล่ะครับ”


**บิดเบือน “เขา”สั่งจำคุก

ดร.อนันต์ได้วิเคราะห์ข้อความ “เขาสั่งให้จำคุกผม 2 ปี พอผมไม่ไป อายุความ 10 ปี แสดงว่าเขาต้องการเอาผมไว้เมืองนอก 10 ปี” ว่า สิ่งที่น่าสนใจคือ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้ระบุว่า “เขา” เป็นใคร การเลือกใช้สรรพนาม “เขา” โดยไม่บอกว่า เป็นคณะผู้พิพากษา คณะผู้ก่อการปฏิวัติ หรือ แกนนำพันธมิตรฯ

ประเด็นที่น่าสนใจ “เขา” ในภาษาไทยเป็นเอกพจน์ หมายถึงคนๆ เดียวก็ได้ หรือจะหมายถึงหลายคนก็ได้ แต่ตามปกติ ถ้าหมายถึงหลายคนเราจะใส่ “พวก”เข้าไป เป็น “พวกเขา” แต่ พ.ต.ท.ทักษิณใช้คำว่า “เขา”เฉยๆ เพื่อให้มันกำกวม

พ.ต.ท.ทักษิณใช้คำว่า “เขาสั่งให้จำคุกผม” หมายถึง มีคนสั่งให้ใครอีกคนหนึ่งทำการจำคุกเขา ความจริง พ.ต.ท.ทักษิณผ่านกระบวนการทางศาลอย่างถูกต้อง และมีโอกาสโต้แย้งข้อกล่าวหา ซึ่งอัยการเป็นผู้ฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณมีโอกาสชี้แจงในชั้นศาล เปิดโอกาสให้รับความยุติธรรม แต่ พ.ต.ท.ทักษิณไปปิดโอกาสตัวเองไม่มาตามนัดศาล ในที่สุดคณะผู้พิพากษามีคำตัดสิน

พ.ต.ท.ทักษิณไม่ใช้คำว่าพิพากษา แต่ใช้คำว่า“สั่งจำคุก” เหมือนมีคนสั่งให้จำคุกเขา และใช้คำที่ดุเดือด คือคำว่า “ถึงจะโดนยัดเยียดคุก” แสดงว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่รับผิดเลยในข้อกล่าวหา คิดว่าตัวเองบริสุทธิ์ ทั้งที่โดยปกติ ผู้ต้องหาไม่สามารถตัดสินได้ว่าตัวเองไม่ผิด แม้แต้โจทก์ก็ไม่สามารถตัดสินให้ผิดได้ คนที่ตัดสินคือคณะผู้พิพากษา แต่ พ.ต.ท.ทักษิณใช้คำว่ายัดเยียดคุก

“ดูประหนึ่งเป็นการกล่าวหากระบวนการยุติธรรม กล่าวหาคนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม และคุณทักษิณใช้คำว่า เขาสั่งจำคุก “เขา”นั้น ก็เท่ากับว่า ถ้าคุณทักษิณหมายถึงบุคคล ก็เท่ากับบอกว่า บุคคลคนนั้นสั่งให้จำคุกคุณทักษิณ”

**โมเม มีคนอยากให้อยู่เมืองนอก 10 ปี

นายเจิมศักดิ์ถามว่า ข้อความที่ว่า “พอผมไม่ไป อายุความ 10 ปี แสดงว่าเขาต้องการเอาผมไว้เมืองนอก 10 ปี” เป็นการบิดเบือนหรือไม่ ดร.อนันต์ กล่าวว่า แน่นอนที่สุด คดีนี้อายุความ 10 ปีนั้น พ.ต.ท.ทักษิณใช้คำว่า “เขาต้องการเอาผมไว้เมืองนอก 10 ปี” ต้องการ คือปรารถนา ซึ่งจริงๆ แล้วไม่มีใครปรารถนาเช่นนั้น

“ถ้าผมถึงความปรารถนาของผม ถ้าผมปรารถนาได้ ผมอยากให้คุณทักษิณกลับเข้ามา ผมไม่ได้อยากให้คุณทักษิณอยู่นอกประเทศไทยนานถึง 10 ปี

“คุณทักษิณคิดไปเองว่ามีคนๆ หนึ่งไม่ต้องการให้คุณทักษิณกลับเข้าประเทศนานถึง 10 ปี แต่จริงๆ แล้ว ศาลตัดสินจำคุกคุณทักษิณ 2 ปี และคุณทักษิณเลือกที่จะอยู่ต่างประเทศโดยไม่กลับมาไทย ในระยะ10 ปีเอง จริงๆ แล้วไม่มีใครอยากให้อยู่ 10 ปี คุณทักษิณเลือกเอง ทั้งที่จะกลับมาก่อนก็ได้ ไม่มีใครห้าม”

ดร.อนันต์กล่าวต่อว่า จริงๆ แล้ว เราอยากให้ พ.ต.ท.ทักษิณเข้ามาผ่านกระบวนการยุติธรรมตามหมายศาลตั้งแต่ต้น แต่ พ.ต.ท.ทักษิณปิดโอกาสตัวเอง แล้วจะโทษใครเล่า และแม้ปิดโอกาสตัวเองแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณยังมีทางเลือกคือ หนีไปเรื่อยๆ จนหมออายุความ หรือกลับมายอมรับโทษ ถ้ามายอมรับผิดสังคมยังให้อภัยได้สำหรับคนที่สำนึก แต่ พ.ต.ท.ทักษิณไม่สำนึก แต่กลับใช้คำว่าตัวเขาเองโดนยัดเยียดคุก ทั้งที่ไม่มีใครยัดเยียด ตัวเขาต่างหากยัดเยียดคุกให้ตัวเอง

**ตรรกะสุดเพี้ยน อดีตนายกฯ ติดคุกไม่ได้

ส่วนข้อความที่ว่า ถึงจะโดนยัดเยียดคุกแต่ก็เป็นอดีตนายกฯ ที่ห่วงบ้านห่วงเมืองและห่วงประชาชนเหมือนเดิม นั้น ดร.อนันต์ กล่าวว่า การเป็นอดีตนายกฯ ที่ห่วงชาติบ้านเมือง เป็นคนละเรื่องกับการเป็นผู้ที่ถูกพิพากษาให้จำคุก จะเอามาเชื่อมโยงกันไม่ได้ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณก็เอามาเชื่อมโยงกัน ราวกับว่าใครก็ตามที่เป็นอดีตนายกฯ ที่ห่วงชาติบ้านเมือง ห่วงประชาชน ไม่สมควรที่จะต้องคำพิพากษาให้จำคุก โดยที่ พ.ต.ท.ทักษิณไม่พูดที่มาที่ไปว่าอะไรเป็นต้นเหตุให้นำไปสู่คำพิพากษานั้น ตัดตอนพูดแต่ตอนจบ

“แล้วผมเรียนว่า พ.ต.ท.ทักษิณมีโอกาสตลอดเวลาในการเข้าสู่กระบวนการยติธรรม คุณทักษิณใส่ใจกับคำว่า กระบวนการยุติธรรมมาก แต่กระบวนการยุติธรรมของคุณทักษิณไม่เหมือนกับกระบวนการยุติธรรมในความรับรู้ในความเข้าใจของคนไทยทั่วไป

“อย่างที่คุณทักษิณเคยพูด เคยแถลงการณ์มาตลอด กระบวนการยุติธรรมใดๆ ก็ตาม ที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อคุณทักษิณ เขาจะคิดว่าไม่ยุติธรรม แต่ กระบวนการใดๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อคุณทักษิณ เขาจะบอกว่ายุติธรรม หรือกระบวนการยุติธรรมใดๆ ที่เขาฟ้องผู้อื่น แล้วทำให้ผู้อื่นต้องรับโทษ เขาก็จะบอกว่ายุติธรรม” ดร.อนันต์กล่าว

**บิดความหมาย “ยุติธรรม”เรียกความเห็นใจ-โจมตีศาล

ต่อมานายเจิมศักดิ์ ได้ถามถึงประเด็นที่ พ.ต.ท.ทักษิณพูดว่า กระบวนการยุติธรรมเป็นกระบวนการที่ยุติความเป็นธรรม ซึ่งพูดอย่างชัดเจนถึง 2 ครั้ง ดังนี้

"วีระ - แต่ที่มันมีปัญหาเนี่ย เพราะ คนที่นี่เขาลงมติแล้วครับ ว่ากระบวนการยุติธรรมที่เขาใช้กับท่านนั้น ใช้ไม่ได้เลย

ทักษิณ - ไม่ใช่ฮะ เขาใช้กระบวนการ...ท่านวีระครับ

วีระ - ครับผม

ทักษิณ - เขาใช้กระบวนการยุติความเป็นธรรมฮะ (เสียงเฮ)

วีระ - ฮ่า.......

ทักษิณ - พี่น้องครับท่านคิดไหมว่าอดีตนายกคนหนึ่งเนี่ย ที่เคยเป็นที่ยอมรับชนะการเลือกตั้ง 2 ครั้ง ล่าสุดได้ 377 จาก 500 เป็นประวัติศาสตร์ แต่กลับถูกลอบฆ่า โดนปฏิวัติ แต่การปฏิวัติเนี่ย ปกติเขาทำกันตอนรัฐบาลไม่ดี ไอ้นี้รัฐบาลยังมีคะแนนนิยมสูงมาก มันฝืนความรู้สึกประชาชนส่วนใหญ่ใช่ไหมครับ มันถึงได้ยุ่งอย่างทุกวันนี้ไงครับ เพราะดันปฏิวัติเอาตอนที่ประชาชนยังชื่นชมรัฐบาลอยู่

วีระ - รวมความแล้วที่เขาพิจารณากันในวันนี้เนี่ย ฟังแล้วก็คือว่า ความแตกแยกจริงๆ ของสังคมไทยทุกวันนี้มันเกิดเพราะการปฏิวัติเมื่อ 19 กันยายน 49

ทักษิณ - ใช่ครับ มันต้อง.. มันต้องการจัดการกับคนๆ เดียว โดยเอากระบวนการยุติธรรมให้ยุติความเป็นธรรม"


ดร.อนันต์ กล่าวว่า ถ้าเราดูช่วงต้นที่ พ.ต.ท.ทักษิณพูด วิธีคิดวิธีพูดจะเป็นแบบเดียวกัน คือ ตีความเข้าข้างตัวเอง และเชื่อมโยงตรรกะแบบเพี้ยนๆ เช่นที่ว่า เป็นอดีตนายกฯ ที่ห่วงบ้านห่วงเมืองแล้วไม่ควรจะติดคุก กรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน เขาใช้ตรรกะที่ผิดๆ ว่า เป็นอดีตนายกฯ ที่ได้รับเสียงข้างมาก ได้รับคะแนนเสียงท่วมท้น เพราะฉะนั้น ไม่ควรใช้กระบวนการที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณต้องคำพิพากษาเช่นนั้น

คำว่ายุติธรรมนั้น มาจาก “ยุติ” กับ “ธรรม” ในภาษาสันสกฤต ยุติ มีความหมายหนึ่งว่า ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ยุติธรรม หมายความว่าเป็นธรรมและถูกต้อง ซึ่งน่าจะเป็นความหมายที่เอามาใช้ดั้งเดิม แม้ความหมายในปัจจุบัน “ยุติ” มีความหมายที่กลายออกไปจะหมายถึง สิ้นสุด เสร็จสิ้น แต่คำว่ายุติธรรม ไม่ได้แปลว่า “ธรรมสิ้นสุด” หรือว่า “ธรรมหมดสิ้น”

ถ้าไปเปิดดูเอกสารเก่า อย่างกฎหมายตราสามดวง จะมีคำว่า สิ่งนี้ยุติ สิ่งนี้เป็นธรรม ใช้คู่กัน หมายคำว่า คำ ตัดสินนี้ กรณีแบบนี้ เป็นสิ่งที่ถูกต้องด้วย ชอบธรรมด้วย เพราะฉะนั้นยุติธรรมคือธรรมอันถูกต้อง แต่ไม่ได้แปลว่า ธรรมอันยุติ หรือ ยุติแห่งความเป็นธรรม ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณเลือกเอาคำว่ายุติ ในความหมายที่กลายไปแล้วและใช้ตามลำพังคำเดียว เอามาประกอบกับคำว่ายุติธรรม ใช้เพื่อที่จะเรียกร้องความสงสาร เรียกร้องความเห็นใจและในขณะเดียวกันเป็นการใช้ภาษาเพื่อโจมตีกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยเราด้วย

**จับโกหก อ้างครอบครัวโดนรังแก

"ทักษิณ - พี่น้องครับ ผม ทั้งครอบครัวครับ ถูกทำร้าย ไม่ว่าจะเป็นการอายัดทรัพย์ที่หากินมาได้ทั้งชีวิตก่อนเข้าการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการสั่งจำคุก ไม่ว่าจะเป็นการตั้งข้อหาทั้งครอบครัว แม้กระทั่งเลขาฯ ก็ยังไม่เว้น

วีระ - แต่ว่าท่านครับ

ทักษิณ - ครอบครัวต้องแตกกระสานซ่านเซ็น พ่ออยู่ทาง แม่อยู่ทาง ลูกอยู่ทาง แต่ความเดือดร้อนของผมและครอบครัวถ้าเทียบกับประเทศเสียหายนี้ถือว่ายังเล็กน้อยครับ"


ดร.อนันต์ มองว่า ข้อความที่ พ.ต.ท.ทักษิณอ้างว่า โดนอายัดทรัพย์ที่หากินมาได้ทั้งชีวิต ก่อนเข้าการเมืองนั้น พ.ต.ท.ทักษิณกำลังจะบอกว่าทรัพย์สินทั้งหมดที่ถูกอายัดนั้น เขามีอยู่ก่อนและมีมูลค่ามากอยู่ก่อนมาเล่นการเมือง แต่กรณีนี้ พ.ต.ท.ทักษิณอาจโกหกได้เฉพาะคนที่ใส่เสื้อแดง

ทุกคนคงจำได้ว่ามูลค่าหุ้นของบริษัทชินวัตรก่อนที่เขาจะเป็นนายกฯ นั้น มีมูลค่าน้อยกว่ามูลค่าหุ้นที่ขายให้เทมาเส็กของสิงคโปร์ตอนที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าเช่นนั้นจะบอกว่า เป็นการอายัดทรัพย์ที่หากินมาได้ตลอดทั้งชีวิตก่อนเข้าสู่การเมืองได้อย่างไร

“คุณทักษิณพยายามเรียกร้องคะแนนมากเหลือเกินว่า ถูกรังแก แม้กระทั้งเลขาฯ ก็ยังถูกดำเนินคดี ซึ่งน่าจะหมายถึงคุณกาญจนภา หงษ์เหิน เลขาฯ ภรรยาคุณทักษิณ นี่ก็ไม่ใช่เลขาฯ คุณทักษิณ แล้วก็บอกว่าครอบครัวกระสานซ่านเซ็น แม่อยู่ทาง พ่ออยู่ทาง ลูกอยู่ทาง ราวกับว่าคุณทักษิณอยู่ลอนดอน คุณหญิงพจมานอยู่แอฟริกาใต้ คุณพานทองแท้ไปอยู่เมืองจีน คุณพิณทองทาต้องไปอยู่มอสโก แต่ในความเป็นจริงก็ปรากฏว่าเห็นรูปที่สื่อมวลชนลงอยู่บ่อยๆ ก็เห็นครอบครัวอยู่กันอบอุ่นกลางมหานครลอนดอน รูปนี้ยืนยันได้อย่างดี”


นายเจิมศักดิ์ กล่าวเสริมว่า เรื่องหุ้นที่ พ.ต.ท.ทักษิณมีมาก่อนเข้าสู่การเมืองนั้น ช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนายกฯ ได้ทำให้สูงขึ้นก่อนขาย โดยใช้นโยบายของรัฐเอื้อประโยชน์ให้บริษัทของตัวเองเพื่อให้ราคาหุ้นสูงขึ้นกว่าปกติ พอสูงได้ระดับก็แก้กฎหมายเพื่อที่จะขายให้กับต่างชาติได้

**เชื่อไม่หวังพึ่งพระบารมีจริง

ในช่วงสุดท้าย ได้มีการวิเคราะห์คำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณ กรณีจะพึ่งพระบารมีในการเดินทางกลับเข้ามาในประเทศ ดังรายละเอียด

วีระ - ...ผมเชื่อว่า ถ้าเป็นการเรียกร้อง ของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งทำกันอย่างเรียบร้อย สงบ สันติ ปราศจากอาวุธ แต่เป็นการเรียกร้องให้คนมีฝีมือมาทำงานให้กับประเทศชาตินี่ ผมว่ามันเป็นไปได้นะครับท่าน

ทักษิณ - ครับ แน่นอนครับ

วีระ - เป็นไปได้

ทักษิณ - แน่นอนครับ ท่านวีระครับ พี่น้องครับ ไม่มีใครนะฮะ ที่จะเอาผมกลับประเทศไทยได้หรอกครับ นอกจากพระบารมีที่จะทรงมีพระเมตตา หรือไม่ก็พลังของพี่น้องประชาชนเท่านั้น จริงไหมครับ(เสียงเฮ)

วีระ - เมืองไทยเรานะครับท่านครับ เมืองไทยเราเนี่ย มันมีศัพท์อยู่คำหนึ่งซึ่งค่อนข้างจะกินใจ ท่านพูดมาแบบนี้นี่ทำให้ผมนึกถึงคำศัพท์คำนั้น คือเป็นความร่วมมือกันระหว่างสถาบันสูงสุด อาศัยพระบารมีของท่าน บวกกับพลังรากหญ้าคือมวลมหาประชาชนเข้าด้วยกัน

ทักษิณ - โอ้โห

วีระ - คำนั้นเขาเรียกว่า ราชประชาสมาศรัย

ทักษิณ - โอ้โห

วีระ - ทางนี้หละครับ

ทักษิณ - ขนลุกเลยครับ คุณวีระครับ ผมฟังแล้วขนลุกนะครับ เหมือนที่บอกว่าเย็นศิระเพราะพระบริบาลนี่หละครับ”

ดร.อนันต์ ได้วิเคราะห์ข้อความที่ พ.ต.ท.ทักษิณพูดว่า ไม่มีใครเอาเขากลับเข้ามาในประเทศได้นอกจากพระบารมี หรือไม่ก็พลังของพี่น้องประชาชน ว่า ข้อความนี้ตีความได้กว้างขวางทีเดียว ถ้าตีความในแง่สื่อกับคนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม พ.ต.ท.ทักษิณกำลังบอกว่าอัยการไม่ต้องขวนขวาย กระเสือกกระสน ขอส่งตัวเขาเป็นผู้ร้ายข้ามแดนให้กลับมาในกระบวนการนี้

ที่น่าสนใจคือ พ.ต.ท.ทักษิณคิดว่า ตนเองจะกลับไทยได้มี 2 กรณี คือ พ.ต.ท.ทักษิณใช้คำว่าพระบารมี ซึ่งเราคงรู้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณหมาย ถึงอะไร เขาใช้คำว่า ขอพึ่งพระบารมีที่จะทรงมีพระเมตตา หรือไม่ก็พลังของพี่น้องประชาชน

“ผมคิดว่าคุณทักษิณไม่หมายจะพึ่งพระบารมี คิดว่าเขาจะพึ่งกรณีหลังมากกว่า เพราะโดยปกติถ้าเราบอกว่าทางเลือกมี 2 ทางเลือก คือทางเลือกที่หนึ่ง หรือทางเลือกที่สอง โดยปกติทางเลือกที่ 1 คือทางเลือกที่ควรใช้มากที่สุด ส่วนทางเลือกที่ 2 มันมีอุปสรรค หรือผลกระทบมากกว่า จึงเอาไว้เป็นทางเลือกที่ 2 แต่กรณีนี้เห็นชัดว่าคุณทักษิณหวังพึ่งพลังของประชาชน และถ้าเราดูบริบทดีๆ จะเห็นว่าเขาพูดในบริบทที่มีคนมาให้กำลังใจเขาประมาณแสน ในกรณีนี้เขาหวังใช้พลังของประชาชนไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเพื่อช่วยให้เขากลับเข้ามาในประเทศได้ แม้ว่าคุณทักษิณไม่สามารถพึ่งพระเมตตาพระบารมีได้ก็ตาม”

**ชี้ขอนิรโทษ แปลก-ผิดประเพณี

ดร.อนันต์ กล่าวต่อว่า ในกรณีของการขอพึ่งพระเมตตาพระบารมีนั้น สังคมก็จะตีความไปมากมายว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะทำอะไร ระหว่าง 1.ขอพระราชทานอภัยโทษ หรือ 2.จะขอนิรโทษกรรม

ในกรณีที่จะขอพระราชทานอภัยโทษ การขอพระราชทานอภัยโทษนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อคนๆ นั้น ต้องคำพิพากษา แล้วก็อยู่ในกระบวนการการลงโทษตามคำพิพากษาของศาล นั่นคือติดคุกไปแล้ว สำนึกในความผิดที่ตัวเองมี ด้วยความสำนึกตรงนั้นจึงขอพึ่งพระ เมตตาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งผู้ต้อโทษทุกคนสามารถขอพระเมตตาได้

“แต่ในกรณีนี้เป็นกรณีที่แปลกมาก เพราะคุณทักษิณนอกจากไม่ยอมรับในกระบวนการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแล้ว คุณทักษิณยังปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมทั้งกระบวนการ แม้กระทั่งที่จะมาให้การในชั้นศาล แล้วหนีคุกด้วย แต่จะขอพระเมตตา

“ส่วนกรณีการขอนิรโทษกรรมก็แปลกและผิดประเพณีอย่างยิ่ง เพราะเราไม่มีประเพณีนิรโทษกรรมให้บุคคลคนเดียว และไม่มีกรณีนิรโทษกรรมให้บุคคลที่ทำผิดกบิลของบ้านเมืองในลักษณะเช่นนี้”

ดร.อนันต์ กล่าวต่อว่า ข้อความที่ พ.ต.ท.ทักษิณบอกว่า ด้วยพลังของพี่น้องประชาชนนั้น แสดงว่า พ.ต.ท.ทักษิณพร้อมที่จะใช้พลังของประชาชนทำทุกหนทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณบริสุทธิ์และไม่ต้องโทษตามกระบวนการยุติธรรม ที่ พ.ต.ท.ทักษิณปฏิเสธและกล่าวหาว่ายุติความเป็นธรรม

**เชื่อมุ่งกดดันเบื้องสูง-พร้อมใช้มวลชนปะทะเพื่อประโยชน์ตัวเอง

นายเจิมศักดิ์ กล่าวว่า มีคนวิเคราะห์ว่าเป็นความพยายามกดดันสถาบันสูงสุดว่าถ้าไม่ให้ ก็จะเอาพี่น้องประชาชนมากดดัน ซึ่ง ดร.อนันต์ กล่าวตอบว่า “อาจารย์เจิมศักดิ์ พูดในสิ่งที่ผมไม่ยอมพูด” และว่า สิ่งที่น่าสนใจคือในวันนั้นมีการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อประชาชนด้วย เราต้องมาติดว่าเพื่อวัตถุประสงค์ใด ถ้าล่ารายชื่อเพื่อร่วมกันถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ผู้ต้องคำพิพากษาจำคุก ก็ผิดประเพณี เพราะคนที่ต้องคำพิพากษาและอยู่ในคุกแล้วจึงจะถวายฎีกาด้วยตนเอง ไม่ใช่ใช้เสียงของประชาชนมาถวายฎีกา

“การใช้เสียงของประชาชนนั้นทำได้ แต่ไมใช่กรณีที่ทำให้ผู้ต้องโทษแบบนี้ นับว่าผิดประเพณี แต่ถ้าเราติดตามพฤติกรรมคุณทักษิณตลอด เราก็เห็นว่าคุณทักษิณชอบแหวกประเพณี ไม่ทำตามประเพณี ไม่รักษากระบวนการตามกฎหมาย ทั้งที่คุณทักษิณชอบพูดว่าตนเองเป็นคนรักษากฎกติกา แต่ต้องเป็นกฎกติกาที่คุณทักษิณกำหนดเองและเป็นประโยชน์ต่อตัวเขาเท่านั้น”

ดร.อนันต์ กล่าวต่อว่า ถ้าจะถวายฎีกาต้องมารับโทษระยะเวลาหนึ่ง จนเกิดสำนึกได้และขอพึ่งพระบารมี คิดว่าสังคมไทยให้อภัยได้สำหรับคนที่สำนึกและขออภัย แต่สำหรับโจรที่ไม่สำนึก สงคมไทยให้อภัยไม่ได้

แต่ถ้าใช้วิธีการเข้าชื่อ คำว่าด้วยพลังประชาชนนั้น สามารถตีความได้มากมาย อาจล่าชื่อหรืออาจตีความสุดโต่ง คือ ใช้กำลังพี่น้องประชาชนมาแลกเพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับเข้าไทยโดยไม่ต้องถูกจำคุก โดยที่ พ.ต.ท.ทักษิณไม่สนใจกระบวนการ ขอเพียงแค่ใช้พลังพี่น้องประชาชน แม้พี่น้องประชาชนต้องไปปะทะกับอีกฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณก็คิกว่ามันก็คุ้ม เพื่อแลกกับตัวเอง

**แอบอ้าง “ราชประชาสมาสัย”เพื่อส่วนตัว

ส่วนคำว่า “ราชประชาสมาสัย” นั้น ตีความว่า ทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณและนายวีระ เตรียมกันมาอย่างดี มีการเตรียมคำถามเตรียมคำตอบอย่างดี เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณบอกว่าหมายพึ่งพระบารมี นายวีระก็ยกเอาคำว่าราชประชาสมาสัยขึ้นมา โดยที่นายวีระบอกว่า ในสังคมไทยมีศัพท์อยู่คำหนึ่ง ซึ่งจริงๆ แล้ว ในภาษาไทยแต่เดิมไม่มีคำๆ นี้ แต่เป็นคำที่เพิ่งคิดขึ้นกันไม่นาน จำได้ว่าคิดขึ้นสมัยที่เรารวมตัวกันต้าน พ.ต.ท.ทักษิณก่อนการปฏิวัติ แล้วเรียกราชประสมาสัย เป็นการเรียกคนกลุ่มหนึ่งที่ไปรวมตัวกัน ไม่มีความหมายเฉพาะ แต่กรณีนี้นายวีระไปตีความเอาเองว่า “สมาสัย” เป็นการร่วมกัน ราช กับ ประชา คือพระราชาร่วมกับประชาชน

“คุณวีระต้องการแก้ปัญหาส่วนตัวให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยอาศัย “ราช” กับ “ประชา” มาแก้ไขปัญหาให้กับบุคคลคนหนึ่ง ก็ตีความแบบนี้ได้” ดร.อนันต์กล่าว

**ตำหนิการใช้อำนาจในหลวง กลับบอก“เย็นศิระเพราะพระบริบาล”

ส่วนที่ พ.ต.ท.ทักษิณบอกว่า รู้สึกขนลุกเหมือนที่บอกว่า เย็นศิระเพราะพระบริบาลนั้น ดร.อนันต์กล่าวว่า ไม่ได้เข้ากันเลย เย็นศิระเพราะพระบริบาลหมายความว่าประชาชนทั้งประเทศรู้สึกอยู่เย็นเป็นสุขภายใต้ร่มพระบารมีในธรรมิกราชา แต่ธรรมิกราชาที่จะปกแผ่เพื่ออำนวยให้ประชาชนเย็นเศียรเกล้านั้นหมายความว่าธรรมิกราชผู้นั้นย่อมตัดสินคดีโดยยุติธรรม และการตัดสินคดีโดยยุติธรรมย่อมต้องลงโทษคนที่กระทำความผิด แต่ พ.ต.ท.ทักษิณยังไม่รับผิด แล้วจะบอกว่าตนนั้นจะเย็นศิระเพราพระบริบาลได้อย่างใด

แต่ก่อนเก่า ในสมัยที่เราอยู่ภายใต้ระบอบที่อำนาจรวมศูนย์ พระมหากษัตริย์เป็นผู้ครองอำนาจในการตัดสินคดี เป็นผู้ดัดคดีโดยธรรม แม้หลังจากที่เราเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว เป็นประชาธิปไตย เรายังเลือกใช้ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์ทางตุลาการนั้น ใช้โดยผ่านองค์กร คือศาล เพราะฉะนั้นคณะผู้พิพากษา จึงพิพากษาคดีต่างๆ ตามพระปรมาภิไธย

ดังนั้น เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวตำหนิกระบวนการยุติธรรม ว่า ยุติความเป็นธรรม เท่ากับหมิ่นประมาทกระบวนการทั้งหมด ทั้งองค์กรแห่งอำนาจ เจ้าของอำนาจคือประชาชนอย่างเรา รวมไปถึงผู้ใช้อำนาจตุลาการด้วย ต้องอย่าลืมว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ อำนาจตุลาการ คือหนึ่งในอำนาจของประชาชนทั้งสาม องค์กรแห่งอำนาจคือศาล ผู้ใช้อำนาจคือพระมหากษัตริย์

**บังอาจใช้พราหมณ์ทำพิธี

นอกจากนี้ ในวันที่ 1 พ.ย.มีการทำพิธีพราหมณ์ที่สนามราชมังคลากีฬาสถานก่อนการปราศรัยด้วย ซึ่ง ดร.อนันต์ กล่าวว่า ค่อนข้างตกใจที่มีการทำพิธีพราหมณ์ขณะที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง และพราหมณ์ที่เชิญมาทำพิธีเป็นพราหมณ์ในราชสำนัก เป็นเรื่องที่น่าตกใจ เพราะโดยปกติ ตามธรรมเนียมแต่โบราณกาล การทำพิธีพราหมณ์จะเกิดในพระราชพิธีเท่านั้น ไม่เคยมีในเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองเลย พิธีเกี่ยวกับพราหมณ์และเชื่อมโยงบริบททางการเมืองไม่ใช่สามัญชน



กำลังโหลดความคิดเห็น