โดย : อภินันท์ บุญเรืองพะเนา
***Spoil Alert : บทความนี้อาจมีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญ
ไม่มีใครรู้ว่า หญิงสาวคนนั้นมองเห็นอะไร ตอนที่เธอนั่งเอนหลังพิงโขดหินริมแม่น้ำและทอดสายตามองขึ้นไปสู่ผืนฟ้า เพราะแววตาของเธอขณะนั้นมันแลดูเวิ้งว้างว่างเปล่าเกินกว่าเราจะพูดได้ว่า สิ่งที่เธอ “มอง” อยู่เบื้องหน้า ณ ขณะนั้นใช่สิ่งเดียวกันกับสิ่งที่เธอ “เห็น” ในความนึกคิดหรือไม่
ใบหน้าสวยใสแห่งวัยสาว 19 ฝน เปล่งปลั่งผุดผาด ดูตัดกันอย่างสิ้นเชิงกับดวงตาของเธอคู่นั้นที่แสนจะแห้งแล้งเฉยชา ไร้ชีวิตชีวา ไม่ห่างไกลกี่มากน้อยกับแววตาของคนที่กำลังนอนหายใจระทวยอยู่เบื้องหน้าปากประตูแห่งความตาย!!
และเป็นใครก็น่าจะดูออกว่า แม้สายตาของเธอ ณ ขณะนั้นจะเหม่อมองปุยเมฆขาวนวลที่พลิ้วลอยอ้อยอิ่งรับแสงแดดยามบ่าย แต่ภายในหัวใจของเธอนั้น สาวสวยนัยน์ตาเศร้าเธอกำลังครุ่นคิดถึง “สิ่งอื่นๆ” ที่คนอื่นๆ ยากจะสัมผัสรับรู้
และดูจะมีเพียงแต่แฟนหนุ่มของเธอเท่านั้นที่พอจะคาดเดาได้ว่า “สิ่งอื่นๆ” ที่หญิงสาวของเขากำลังมองเห็นอยู่ในความคิดนั้น ไม่ใช่สิ่งที่มีตัวตนจับต้องได้ แต่น่าจะเป็น “อะไรสักอย่าง” ที่จะช่วยยืนยันให้เธอเรียกคืนความเชื่อมั่นกลับมาได้สักนิดว่า “ชีวิตของเธอ” ยังมีค่าความหมาย และ “โลกของเธอ” ก็ไม่ได้เลวร้ายถึงขั้นต้องกลั้นลมหายใจให้ตกตายไปเสียให้พ้นๆ !!
เป็นเรื่องปกติสำหรับคนเราที่ถ้าผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า พลังใจและความเชื่อมั่นย่อมจะยุบยอบลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเหนื่อยล้าสิ้นหวังจนไม่อยากจะดิ้นรนพยายามอีกต่อไป เหมือนเรื่องราวของหญิงสาวที่ชื่อ “เบ็ตตี้” คนนี้ ซึ่งชีวิตของเธอ จะว่าไปก็ไม่ต่างอะไรเลยสักนิดกับดินแดนแห่งความมืดมิดที่แสงสว่างใดๆ ไม่เคยส่องเข้าไปถึง มันทั้งมืดมนและหม่นเศร้าคล้ายตกอยู่ในภวังค์แห่งคำสาปของปีศาจ
เธอพลาดหวังครั้งแล้วครั้งเล่า พร้อมๆ กับความหดหู่หมองเศร้าที่ค่อยๆ แผ่เงาเกาะกุมหุ้มห่อหนาแน่นขึ้นทุกขณะ ก่อนจะแปรเปลี่ยนเป็นความรู้สึกขมขื่นคับแค้นที่สุมแน่นอยู่ภายในใจจนเกินจะอดกลั้น และในที่สุด...ก็ระเบิดระบายออกมาคล้ายระเบิดเวลาทำลายตัวเอง...
“เบ็ตตี้” คือหญิงสาวตัวละครหลักในภาพยนตร์สัญชาติฝรั่งเศสเรื่อง “Betty Blue” ผลงานอันมีที่มาจากนิยายของ “ฟิลิปป์ ดจ็อง” เรื่อง “Le Matin” ก่อนจะเดินทางสู่แผ่นฟิล์มโดยฝีมือการกำกับของ “ฌอง ฌากส์ บีนิกซ์” (Jean Jacques Benieix) ฟิล์มเมกเกอร์เมืองน้ำหอมเจ้าของโลโก้ “คนกบฏที่สนุกสนานกับความนอกคอก”
หนังออกฉายตั้งแต่ปี ค.ศ.1986 ซึ่งบางคนอาจรู้จักในอีกหลายๆ ชื่อ เช่น 37.2 Degrees in the Morning, 37.2 le matin ฯลฯ แต่ผมกลับรู้สึกว่า “Betty Blue” ดูจะเหมาะสมมากกว่าในแง่ที่สามารถสื่อสารถึงเนื้อหาเรื่องราวได้อย่างค่อนข้างชัดเจนและครอบคลุม เพราะงานชิ้นนี้พูดถึง “ความเศร้า” และ “หญิงสาวคนหนึ่ง” เป็นประเด็นหลัก
Betty เป็นชื่อคน ส่วนคำว่า Blue แม้จะเขียนแบบเดียวกับที่แปลว่าสีฟ้าหรือน้ำเงิน แต่เมื่อคำๆ นี้ถูกนำไปใช้ในงานศิลปะอย่างภาพยนตร์ บทเพลง หรือวรรณกรรม จะให้ความหมายไปในทาง “ปวดร้าวเศร้าสร้อย” เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีจุดที่น่าสังเกตอยู่ประการหนึ่งว่า หนังเรื่องนี้ใช้สีฟ้าเป็นส่วนประกอบฉากค่อนข้างเยอะ เหมือนจะบอกว่า สีฟ้าก็เป็น “สัญลักษณ์” แห่งความเศร้าได้เช่นกัน
ไม่น่าจะผิดถ้าใครคิดจะตั้งชื่อภาษาไทยให้หนังเรื่องนี้แบบแปลตรงตัวว่า “เบ็ตตี้ หญิงสาวผู้แสนเศร้า” เพราะหากว่ากันโดยเนื้อหนัง “Betty Blue” คือสุดยอดแห่งความขมขื่นบนแผ่นฟิล์มที่คนดูคงไม่รู้สึกเสียดายแต่อย่างใด ถ้าจะต้องหลั่งน้ำตาให้กับเรื่องราวของหญิงสาวผู้แสนเศร้าคนนี้
อย่างไรก็ตาม ผู้กำกับ ฌอง ฌากส์ บีนิกซ์ ก็ใช้ทางของหนังอีโรติกแต่งเนื้อแต่งตัว “Betty Blue” ให้ออกมาดูวาบหวิวสยิวทรวงแบบติดพ่วงเรท R ได้สบายๆ เพราะลำพังแค่ฉากเปิดตัวที่หนุ่มสาวคู่เอกนัวเนียกันบนเตียงนอนแบบไม่พูดพร่ำทำเพลงก็ปาเข้าไปถึง 3 นาทีกว่า มิพักต้องพูดถึงเนื้อหาอีกค่อนเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับ “กามารมณ์” และเปิดเปลือยอวัยวะล่อนจ้อนโจ๋งครึ่มชนิดที่ “นักเคร่งศีลธรรม” เห็นแล้วคงต้องกรี๊ดสลบหงายหลังไปตามกัน
อย่างไรก็ดี ทั้งๆ ที่หนังเต็มไปด้วยฉากโป๊เปลือยและเลิฟซีน แต่โดยภาพรวม “Betty Blue” กลับเป็นงานที่ดูหม่นเศร้าเหงาลึกอย่างน่าประหลาด และยิ่งดูก็ยิ่งชวนให้รู้สึกลึกซึ้งถึงชีวิตจริงๆ ของคนเราที่ถ้าพูดกันแบบไม่อ้อมค้อมก็คงต้องยอมรับว่ามี “ความทุกข์” เป็นดั่งเนื้อหาหลัก ขณะที่ “ความสุข” เป็นเพียงเพียงส่วนประกอบเสริมเพื่อไม่ให้ชีวิตดูขมึงตึงขึ้งเครียดจนเกินไป
ฉากร่วมรัก เต้นรำ หรือแม้กระทั่งฉากขับรถเล่น อาจดูเป็นสัญลักษณ์แห่งด้านที่รื่นรมย์ผ่อนคลายของชีวิต แต่นั่นก็น้อยนิดมาก หากเทียบกับบรรยากาศของความหม่นหมองที่ห่อหุ้มปกคลุมหนังทั้งเรื่อง จนทำให้ผลงานที่ดูเหมือนจะอีโรติกจ๋าในฉากหน้า แต่เบื้องลึกเบื้องหลัง กลับกลายเป็นหนังซึ่งไม่เพียงจะสื่อสะท้อนถึงสุขทุกข์ของปัจเจกชนคนหนึ่งได้อย่างถึงแก่นเท่านั้นเนื้อหาชีวิตเกือบทุกบทของปัจเจกชนอย่างเบ็ตตี้ยังมีสถานะไม่ต่างอะไรกับถ้อยคำของนักบวชที่เพียรกระตุ้นเตือนศาสนิกให้ตระหนักรู้ว่า แท้จริงแล้ว ความทุกข์นั้นคือกระดูกสันหลังของชีวิต ส่วนรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ หรือเสียงครางกระเส่าอย่างสุขซ่านในรสเซ็กส์ เหล่านี้ เป็นเพียงความสุขเล็กๆ น้อยๆ ที่ชีวิตหยิบยื่นให้เป็นครั้งคราว เหมือนยากระสาย...เหมือนบทเพลงปลอบประโลมใจแทรกอยู่ในบางห้วงขณะ
และถ้าสัจจะแห่งศาสนาพุทธที่บอกว่า “การเกิดมาเป็นความทุกข์” (ชาตัง ทุกขัง) นั้นเป็นความจริง เรื่องราวชีวิตทั้งหมดของเบ็ตตี้ ก็คือถ้อยคำยืนยันชั้นเยี่ยมให้กับสัจธรรมในทางพุทธข้อนี้
“Betty Blue” ไม่ใช่เรื่องราวของนักสู้ชีวิตที่ตรากตรำลำบากในตอนต้นเพื่อจะไปพบกับความสุขในบั้นปลายตามสูตรหนัง Happy Ending แต่ “Betty Blue” พูดถึงผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งคงไม่เกินเลยแต่อย่างใดถ้าจะพูดว่า เธอเกิดมาพร้อมกับความอาภัพอับโชคอย่างที่สุด เจ็บปวดตั้งแต่ต้นจนจบ หวังสิ่งใดไม่เคยได้ดังหวัง เหมือนพระเจ้าไม่เข้าข้าง นรกรุมทึ้ง และสวรรค์ก็กลั่นแกล้ง!!
เบ็ตตี้เป็นใครมาจากไหนไม่รู้ชัด นอกจากความสวยเซ็กซี่ที่เทียบชั้นนางแบบหนังสือเพลย์บอยได้สบายๆ แล้ว ข้อมูลมากสุดที่เรารู้เกี่ยวกับตัวเธอก็คือคำบอกเล่าไม่กี่ประโยคที่ว่าเธอทำงานอยู่ในบาร์แห่งหนึ่งก่อนจะถูกเจ้านายลวนลาม แต่เธอขัดขืนและถูกเจ้านายหื่นกามไล่ตะเพิด
สาวตกงานหอบหิ้วกระเป๋าพะรุงพะรังมาปรากฏตัวหน้าบังกะโลของ “ซอร์ก” ชายหนุ่มที่หนังก็ไม่ได้บอกเช่นกันว่าเขาเป็นใครมาจากไหน นอกจากใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยอยู่ไปวันๆ ทำงานรับจ้างเล็กๆ น้อยๆ หล่อเลี้ยงลมหายใจ ซึ่งเขาก็ไม่ลังเลแต่อย่างใดที่จะต้อนรับ “สมาชิกใหม่” อย่างเบ็ตตี้มาอยู่ร่วมชายคา
จะว่าไป ซอร์กและเบ็ตตี้ก็เปรียบเสมือนถนนสองสายที่ทอดยาวมาจากไหนก็ไม่รู้ แต่จู่ๆ ก็มาบรรจบกัน ณ จุดๆ หนึ่ง ก่อนจะหลอมรวมเป็น “ทางสายเดียว” ในที่สุด
และนี่ก็อาจเป็นความปรารถนาของผู้กำกับที่จงใจขีดเส้นทางชีวิตให้ “คนไร้ราก” สองคนที่ไม่มีอดีต ไม่มีที่มาที่ไป ได้โคจรมาพบกัน เพื่อเติมเต็ม “บางสิ่งบางอย่าง” ให้กันและกัน เพราะนับตั้งแต่หนุ่มสาวทั้งสองครองคู่กัน (แม้ไม่ได้จดทะเบียนสมรสก็ตามที) วิถีชีวิตของเขาและเธอก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป
แม้ไม่มีอดีต ทั้งไม่มีต้นทุนชีวิตใดๆ มากไปกว่าอุปกรณ์ดำรงชีพเล็กๆ น้อยๆ และบังกะโลเล็กๆ สำหรับซุกหัวนอน แต่คนทั้งสองก็ยังมี “ปัจจุบัน” บวกกับความเชื่อมั่นว่าพวกเขาจะร่วมสร้างอนาคตที่ดีด้วยกันได้
ลักษณะร่วมที่สำคัญอีกประการระหว่างซอร์กและเบ็ตตี้ก็คือ นอกจากจะเป็นคนที่สังคมไม่ค่อยให้ความสำคัญแล้ว บ่อยครั้งทั้งเธอและเขายังถูกคุกคาม ถูกกระทำ ถูกหยามเหยียด และโดนเอารัดเอาเปรียบสารพัดสารเพ ราวกับว่าพวกเขาเป็นเพียง “เศษธุลีเล็กๆ” ที่ไร้ค่าความหมายอย่างสิ้นเชิง
แต่ความรู้สึกว่าตัวเอง “มีคุณค่า” ก็ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นหลังจากที่ทั้งคู่มาอยู่ด้วยกัน คล้ายกับว่า เป็นบัญชาจากพระผู้เป็นเจ้าที่กำหนดให้เขาและเธอเกิดมาเพื่อกันและกันโดยเฉพาะ...
จากอดีตสาวเสิร์ฟในบาร์เหล้าซึ่งเต็มไปด้วยขี้เมาที่คิดถึงแต่เรื่องเซ็กส์ทุกครั้งที่มองหน้า เบ็ตตี้ก็เริ่มกลับมารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าอีกครั้งในฐานะมนุษย์ผู้หญิงคนหนึ่ง เมื่อได้รับความรักและการดูแลเอาใจใส่อย่างจริงใจจากซอร์ก
ที่ผ่านมา เบ็ตตี้ต้องอดกลั้นต่อสายตาของพวกผู้ชายที่มองเห็นเธอเป็นแค่ “วัตถุทางเพศ” ตอบสนองกามารมณ์ จนครั้งหนึ่ง เธอถึงกับปริปากบ่นแกมตัดพ้อออกมาทำนองว่า “สิ่งที่ผู้หญิงต้องการจากผู้ชายไม่ใช่แค่เรื่องเซ็กส์เท่านั้นหรอกนะ” เพราะในความคิดของผู้หญิงอย่างเบ็ตตี้ ลำพังแค่การมีเพศสัมพันธ์ไม่ใช่เครื่องชี้วัด “ความสำคัญ” ของความเป็นหญิงได้ทั้งหมด และเซ็กส์จะสวยงามและมีความหมายมากที่สุดก็ต่อเมื่อมันเป็นผลิตผลของความรัก
และผู้ชายส่วนใหญ่ที่เบ็ตตี้เคยพบเจอก็ไม่เคยเห็นว่าจะมีใครให้ความสำคัญกับหัวจิตหัวใจหรือความรู้สึกของเธอเลยสักนิด ทุกๆ คนที่เข้ามาตีสนิทชิดใกล้ ล้วนแต่เป็นพวกที่ฝักใฝ่ใน “ช่องคลอด” ของเธอแทบทั้งสิ้น!!
ดังนั้น “ความรักความเข้าใจ” ที่ซอร์กมีให้จึงมีความหมายต่อเบ็ตตี้อย่างยิ่งยวด เพราะมันไม่ได้หมายถึงแค่สัมพันธภาพที่ลึกซึ้งระหว่างเธอกับเขาเท่านั้น แต่ยังเป็นเหมือนพลังที่เสริมสร้าง “ความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง” ให้กับเบ็ตตี้อีกด้วยในด้านหนึ่ง...
ฝ่ายซอร์กเองก็ไม่ต่างกัน เพราะหลังจากมีชีวิตแบบ “สุดแต่ดินฟ้าอากาศ” มานานหลายปี เบ็ตตี้ก็ก้าวเข้ามาทำให้เขาเริ่มรู้สึกทีละนิดๆ ว่า ชีวิตนั้นมีคุณค่ามากกว่าแค่อยู่ไปวันๆ
คนหนุ่มอย่างซอร์ก เคยแต่ปล่อยให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามยถากรรมอย่างจำยอมและดูเหมือนจะปลดปลงกับทุกความเป็นไปในชีวิตโดยไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งนั้น แม้จะถูกเจ้าของบังกะโลจิกหัวใช้และถุยถ่มถ้อยคำเหยียดหยามอย่างไร เขาก็ไม่เคยแสดงอาการทุกข์ร้อนกังวลหรือเดือดดาลแต่อย่างใด
ในความนึกคิดของเขานั้น คืนและวันล้วนผ่านไปและก็ผ่านไปอย่างไร้แก่นสาร โลกไม่มีความมั่นคงใดๆ ให้น่ายืดถือ เช่นเดียวกับสายลมที่วันนี้พัดไปทางทิศใต้ แต่พอพรุ่งนี้ก็จะพัดไปอีกทาง
ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับเบ็ตตี้ที่ดูจะเต็มไปด้วยแรงปรารถนาและความทะเยอะทะยานใฝ่ฝัน และเธอก็ไม่ชอบเลยที่ซอร์กเป็นคนเช่นนั้น จนกระทั่งครั้งหนึ่ง เธอถึงกับอดรนทนไม่ไหว ตะโกนคำถามใส่หน้าเขาอย่างคั่งแค้นว่า “ไม่มีทิฐิอะไรกับใครบ้างเลยหรือ” เมื่อเธอเห็นท่าทีหงอๆ เชื่องๆ ของชายหนุ่มที่ “อะไรก็ยอม” ให้เจ้าของบังกะโลทุกอย่าง ราวกับคนตายด้านทางความรู้สึก
สำหรับเบ็ตตี้ เกิดเป็นคนทั้งทีต้องมีความหวังกับชีวิต และต้องดิ้นรนอย่างสุดฤทธิ์เพื่อให้ความหวังนั้นสำเร็จผล ถ้าไร้สิ้นซึ่งความฝันหรืออยู่เพียงเพื่อหายใจทิ้งไปวันๆ อย่างนั้น ไม่สู้ตายไปเสีย ยังจะดีกว่า
สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ การมีศักดิ์ศรีในตัวเอง รู้จักที่จะกล้าปฏิเสธและตอบโต้ต่อต้านสิ่งที่เห็นว่า “ไม่ถูกต้องยุติธรรม” ทั้งหลาย ไม่ใช่จะยอมหงออ่อนข้อต่อโลกตลอดเวลา ปล่อยให้ตัวเองถูกเหยียดหยามย่ำยี และตกเป็น “ผู้ถูกกระทำ” อยู่ร่ำไป...
ไม่ว่าซอร์กจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตามกับวิธีคิดของแฟนสาว แต่เขาก็พอจะเข้าใจได้ในสิ่งที่เธอคิด ดังนั้น แม้ว่าเบ็ตตี้จะแสดงอาการหยาบคายรุนแรงและกระด้างกระเดื่องสักเพียงใดต่อเจ้าของบังกะโลซึ่งอาจไล่เขาออกจากงานวันไหนก็ได้ แต่เขาก็ไม่เคยห้ามปรามหรือตำหนิติเตียนเธออย่างจริงๆ จังๆ เลยสักครั้ง
มากกว่านั้นยังดูเหมือนว่า บางขณะ เขาจะรู้สึกพอใจอยู่ลึกๆ ด้วยซ้ำกับพฤติกรรมของเบ็ตตี้ที่แสดงถึงการ “ต่อต้าน – ท้าทาย” สิ่งที่เธอเห็นว่าไม่ยุติธรรม ทั้งการเอาสีทาบ้านสาดใส่รถเจ้าของบังกะโล หรือแม้แต่การผลัก “ไอ้อ้วนหมูตอนคนนั้น” หงายหลังเก๋งตกลงมาจากชานเรือน นอนแอ้งแม้งบนกองทรายหน้าบ้าน
มองในแง่จิตวิทยา บางที ซอร์กอาจไม่ใช่คนประเภทที่ “เลื่อนลอย – ไม่รู้สึกรู้สาใดๆ ทั้งสิ้นกับชีวิต” เขา “รู้สึก” และลึกๆ ก็อยากต่อต้านขัดขืนอยู่เหมือนกัน เพียงแต่ไม่กล้าพอ หรือไม่ก็อาจจะเห็นว่า ต่อต้านไปก็เท่านั้น คงไม่มีอะไรดีขึ้น ยิ่งไปต่อต้านดื้อดึงกับเจ้าของบังกะโลที่เป็นเหมือนกับพระเจ้ากุมชะตาชีวิตเขาไว้ด้วยแล้ว ยิ่งไม่น่าจะเป็นการดีแต่อย่างใด สู้ปล่อยให้มันผ่านๆ ไปจะดีกว่า
ซอร์กอาจจะเป็นได้ทั้งสองอย่างในขณะเดียวกัน คือเป็นทั้ง “วัตถุโปร่งใส” ที่ไม่ว่าอะไรมากระทบก็ทะลุผ่านไปไม่ติดยึด และเป็น “วัตถุทึบตัน” ที่ไม่ยอมให้สิ่งใดเจาะผ่านเข้าไปภายในได้
อย่างไรก็ตาม “ความเป็นคน” ที่มีเลือดเนื้อและความรู้สึกโกรธเกลียดเหมือนมนุษย์ทั่วๆ ไปยังคงไม่สูญหายไปจากตัวเขาเสียทีเดียว เพียงแต่มันอาจจะนอนนิ่งอยู่ลึกๆ ในจิตใต้สำนึกของเขา ก่อนจะถูกกระตุ้นโดยความพยายามของเบ็ตตี้ที่นอกจากจะช่วยเรียกคืน “ความเป็นคน” ของซอร์กให้กลับคืนมาแล้ว เธอยังมีส่วนอย่างสำคัญยิ่งในการทำให้เขาตระหนักถึง “คุณค่า” ที่มีอยู่ในตัวเอง
หนังเรื่องนี้ทำให้ผมรู้สึกอย่างหนักแน่นว่า บางที คนเราอาจไม่ได้ต้องการ “ใคร” มากมายหรอก แค่มีใครสักคนที่รักและเข้าใจเราอย่างถ่องแท้ และมองเห็นคุณค่าของเราในแบบที่เราเป็นจริงๆ แค่นั้นก็เพียงพอแล้วสำหรับชีวิตๆ หนึ่ง
ถึงใครจะไม่ให้ความสำคัญก็ช่างเถอะ แต่ได้เป็นคนที่มีค่าในสายตาของเบ็ตตี้ เท่านี้ ซอร์กก็ดีใจอย่างเหลือล้นแล้ว
ครั้งหนึ่ง เขาพูดกับหญิงสาวคนรักว่า “พี่รอให้ชีวิตมีความหมายมานานแล้ว และเธอก็คือสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตพี่” ซึ่งนี่ก็เท่ากับเขายอมรับว่า เบ็ตตี้คือ “ความหมายแห่งชีวิต” ที่เขาเฝ้ารอมาโดยตลอด
เป็น “ความหมาย” ที่เดินทางมาถึงเขาเมื่ออายุย่างเข้าสามสิบ
และเป็น “ความหมาย” ที่ทำให้เขาลุกขึ้นมาเริ่มต้นเขียนนิยายอีกครั้งหลังจากวางปากกามาหลายปี
จะว่าเบ็ตตี้เป็นแรงบันดาลใจครั้งใหม่ก็คงไม่ผิดนัก เพราะนับจากวินาทีที่เธอได้อ่านงานเขียนเก่าเก็บของซอร์ก เธอก็รู้สึกได้ทันทีถึงความพิเศษของคนที่เธอรักและไม่ลังเลเลยสักนิดที่จะสรุปว่า ซอร์กไม่ใช่แค่ช่างทาสีธรรมดาๆ ที่ใครจะมาลบหลู่ดูแคลนหรือปฏิบัติต่อเขายังไงก็ได้ตามใจ เพราะเขาคือนักประพันธ์ฝีมือดีที่โลกต้องได้อ่านผลงานของเขาอย่างเร่งด่วน!!
ดังนั้น แม้ว่าซอร์กจะบอกว่างานเขียนของเขาอาจไม่ได้รับการตีพิมพ์เลยก็ได้ แต่เบ็ตตี้ก็ยังเพียรพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้ผลงานของนักเขียนหนุ่มโนเนมคนนี้มีโอกาสปรากฏสู่สายตาผู้อ่านสักครั้ง
ทั้งการนั่งหลังขดหลังแข็งหน้าเครื่องพิมพ์ดีดและใช้นิ้วจิ้มแป้นพิมพ์ทีละตัวอย่างอดทน รวมไปถึงการเปิดตู้ไปรษณีย์ดูทุกเช้าด้วยใจเฝ้ารอจดหมายตอบรับจากสำนักพิมพ์ เหล่านี้ ไม่เพียงจะเป็นความตั้งใจอันดีของเบ็ตตี้ที่อยากจะช่วยซอร์กเท่านั้น แต่ยังถือเป็นการตอบสนองต่อตัวตนและวิธีคิดของเธอไปด้วยในขณะเดียวกัน เพราะสำหรับเบ็ตตี้ ชีวิตต้องมีความหวัง และมนุษย์ก็ต้องทะยานให้สุดแรงเพื่อไขว่คว้าความสำเร็จมาครอบครองให้จงได้
เธอคาดหวังอย่างมากมายว่า งานเขียนของซอร์กจะได้รับการตอบรับโดยสำนักพิมพ์สักแห่งในจำนวนนับสิบๆ สำนักพิมพ์ซึ่งเธอส่งต้นฉบับไปแบบหว่านแหลงน้ำ
แต่ก็อย่างว่า คนอย่างเบ็ตตี้นั้น ฟ้าดินกำหนดให้เธอเกิดมาเพื่อ “ความหวัง” ก็จริง แต่ก็ดูเหมือนว่า ฟ้าดินจะลืมทำให้เธอ “สมหวัง” ทุกครั้งไป
หลังจากจดหมายจากสำนักพิมพ์ฉบับแรกถูกซอร์กเก็บซ่อนและทิ้งลงถังขยะโดยไม่ให้เบ็ตตี้รู้ แต่ความลับไหนเลยจะมีอยู่ในโลก...
...ในที่สุด ข่าวสารฉบับที่ 2 ก็เดินทางมาถึงบ้านด้วยเนื้อความคล้ายเดิม ซึ่งมันจะเป็นการดีอย่างยิ่ง ถ้าคนแรกที่ได้อ่านจดหมายไม่ใช่เบ็ตตี้
เธอรับไม่ได้กับใจความของจดหมายที่ไม่เพียงบอกปฏิเสธ แต่ยังแฝงน้ำเสียงดูแคลนงานเขียนของซอร์กอย่างเห็นได้ชัด เบ็ตตี้บึ่งไปยังสำนักงานสำนักพิมพ์แห่งนั้นในวันรุ่งขึ้น และทำในสิ่งที่เกือบจะนำเธอเข้าคุก!!
บางที คนอื่นๆ อาจจะมองว่า เบ็ตตี้อารมณ์ร้ายและทำอะไรเกินเลยมากไปหรือเปล่า เพราะแค่สำนักพิมพ์ไม่จัดพิมพ์ผลงานของแฟนหนุ่ม เธอก็ไม่น่าจะโกรธแค้นถึงขั้นลงไม้ลงมือกันแบบนั้น แต่ถ้าเรายังยอมรับกันอยู่ว่า มนุษย์ทุกคนล้วนมี “ความรู้สึก” ที่พร้อมจะสั่นไหวไปตามสิ่งเร้า เราก็คงยอมรับสิ่งที่เบ็ตตี้ทำลงไปได้เช่นกัน
เบ็ตตี้ก็เหมือนกับคนทั่วๆ ไปที่อยากได้ในสิ่งที่ตนต้องการ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะ “เล็กๆ น้อยๆ” หรือ “มีความสำคัญยิ่งใหญ่” แค่ไหนก็ตามที
แต่ถ้าไม่ได้อย่างที่ใจต้องการบ่อยครั้งเข้า ความรู้สึกย่อมหดหู่เศร้าหมอง หนักกว่านั้นก็อาจทำให้กลายเป็นคนโมโหร้าย เห็นอะไรผิดหูผิดตาไปเสียหมด
ยิ่งคาดหวังมากแค่ไหน เมื่อไม่ได้ดังใจหวัง ความปวดร้าวเศร้าหมองก็จะยิ่งทบเท่าทวีคูณ
เหมือนกรณีของเบ็ตตี้ที่ดูเหมือนว่า “โลกใบนี้เล็กเกินไปสำหรับเธอ” จริงๆ
เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ ว่า ชีวิตของเบ็ตตี้ บางทีก็เหมือนเรายืนรอรถเมล์ (สายไหนก็ได้) คือ ถ้าวันไหนที่เราไม่ได้รอ เราจะเห็นรถเมล์สายนั้นวิ่งมาหลายๆ คันติดต่อกันไม่ขาดระยะ แต่ถ้าวันไหนที่เรารอ กว่ารถเมล์สายนั้นจะผ่านมาสักคัน เราก็รอจนแทบจะหมดความอดทน ใครบางคนอาจมองในแง่ดีว่าเป็นเพราะเราอยู่ในประเทศที่การบริหารจัดการระบบคมนาคมอ่อนด้อยและไร้ประสิทธิภาพ ขณะที่ก็มีอีกหลายคนซึ่งพยายามจะคิดไปไกลถึงขั้นที่ว่า ภาวะอย่างนี้มี “ใคร” ชักใยอยู่เบื้องหลังหรือเปล่า
“ใคร” ในความหมายของสิ่งที่ไม่มีตัวตน เช่น ปีศาจ พระเจ้า เทวดา หรืออะไรก็ตามที่มีอำนาจเวทย์มนตร์ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งเราคาดหวัง “คลาดเคลื่อน” อยู่เรื่อยๆ
ชีวิตของเบ็ตตี้ก็เช่นกัน เพียงแต่ระดับปริมาณของความเจ็บปวดจากพิษความผิดหวังแตกต่างกันอย่างลิบลับกับการรอรถเมล์
เพราะถึงที่สุดแล้ว อย่างไรเสีย รถเมล์ก็ยังคงต้องมา (แม้ว่าอาจจะมาช้าหน่อย) แต่เบ็ตตี้วิ่งไล่ไขว่คว้าความหวังครั้งแล้วครั้งเล่า สิ่งที่เรียกว่า “ความสมหวัง” ก็ยังเดินทางมาไม่ถึงเธอสักที...
เหมือนพระเจ้าไม่อนุญาตให้เบ็ตตี้มีความสุขได้นานนัก และความผิดหวังปวดร้าวนั่นต่างหากที่เป็นคู่ทุกข์คู่ยากแห่งชีวิตเธออย่างแท้จริง เพราะหลังจากโลดเต้นดีใจกับการตั้งครรภ์ได้ไม่กี่วัน จดหมายจากสูติแพทย์ก็เดินทางมาพร้อมกับถ้อยสั้นๆ อันเป็นเสมือนสายฟ้าฟาดผ่าลงกลางใจของเบ็ตตี้...
“ผลการวินิจฉัยการตั้งครรภ์ เป็นลบ”!!
ทารกตัวน้อยๆ ที่เบ็ตตี้กำลังฝันถึง หายวับไปในพริบตา!!
ความผิดหวังครั้งที่แล้วๆ มา เบ็ตตี้อาจสามารถผ่านพ้นได้ด้วยการเยียวยาของเวลา แต่มาครั้งนี้ มันดูหนักหนาสาหัสมากเกินกว่าที่เธอจะทนทานได้จริงๆ
การเกิดเป็นมนุษย์ผู้หญิง จะมีสิ่งใดยิ่งใหญ่ไปกว่า “การมีลูก”!! (ยกเว้นผู้หญิงส่วนหนึ่งซึ่งจะตั้งใจจะไม่มีลูกอยู่แล้ว)
ดังนั้น นอกจากความผิดหวังในการตั้งครรภ์ สิ่งที่บั่นทอนจิตใจเหมือนค้อนที่ตอกซ้ำย้ำรอยช้ำเดิมก็คือ ความรู้สึกว่าตัวเองมีปมด้อยและไร้ค่า เพราะไม่สามารถให้กำเนิดลูกได้
แม้ว่าโอกาสตั้งครรภ์จะยังไม่สูญสิ้นเสียทีเดียว แต่ก็ดูเหมือนว่า หญิงสาวในหนังฝรั่งเศสเรื่องนี้ เธอจะหมดแรงและเหนื่อยล้าเกินกว่าจะคาดหวังอะไรต่อไปอีกแล้ว เพราะถัดจากนั้น เบ็ตตี้ก็ไม่เป็นอันทำอะไร วันๆ เอาแต่นั่งเหม่อตาลอย ความรู้สึกหดหู่ซึมเศร้าเหมือนคน “จิตตก” จ่อมจมตัวเองอยู่ในห้วงแห่งความนึกคิดที่ไม่มีใครรู้ว่า เธอกำลังคิดถึงอะไรบ้าง
บางครั้ง เธอเหมือนมองฟ้า แต่ดวงตากลับดูเวิ้งว่างว่างเปล่า บางค่ำคืน เธอเปลือยกายล่อนจ้อนนั่งนิ่งบนขอบตุ่มน้ำ สายตาเหม่อมองเพดานและร่ำไห้ เพราะเธอรู้สึกกลัวเสียงอะไรบางอย่างที่คล้ายจะดังก้องอยู่ในหูตลอดเวลา
เสียงที่สร้างความหวาดกลัวให้กับเบ็ตตี้นั้น คงไม่ใช่เสียงวิทยุของคนบ้าที่ไหนซึ่งเปิดทิ้งไว้กลางดึกเพื่อรอฟังข่าวสงครามโลกครั้งที่สามอย่างที่ซอร์กพยายามปลอบใจเธอหรอก แต่มันเป็น “เสียงแห่งความผิดหวัง” ที่ตบตีชีวิตของเธอตลอดมา ไม่ต่างจากเสียงแห่งปีศาจที่คอยโห่ร้องหัวเราะเยาะทุกครั้งที่เห็นเธอพลาดท่า และครั้งนี้ก็น่าจะเป็นอีกครั้งหนึ่งซึ่งปีศาจเหล่านั้นสะใจอย่างที่สุด!!
ถึงตอนนี้ แม้ว่าความรื่นรมย์ของโลกอีกมากหลายจะยังกวักมือเรียกอยู่ข้างหน้า แต่เบ็ตตี้ก็เหนื่อยล้าเกินกว่าจะไปทะยานคว้ามาอีกแล้ว
ซอร์กเคยเอ่ยคำเปรียบเทียบคนรักของเขาไว้ได้อย่างเห็นภาพว่า เบ็ตตี้ก็เหมือนกับ “ม้าป่า” ตัวหนึ่งซึ่งถูกขังไว้ในคอกอันทึบทึม แต่ดันเผลอคิดไปว่า คอกนั้นคือทุ่งกว้าง
“ม้าป่า” ตัวนั้นก้มหน้าก้มตากระโดดอย่างไม่คิดชีวิต แต่ก็ไม่เคยไปไหนไกลกว่ากำแพงกั้นคอก มิหนำซ้ำ ยังทำให้ตัวเองบาดเจ็บและบอบช้ำมากยิ่งขึ้นจากการกระโดดชนกำแพงอยู่ทุกวัน มันล้มแล้วมันก็ลุกครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นอย่างนี้หลายครั้งหลายหนจนกระทั่งหมดสิ้นเรี่ยวแรงที่จะลุกอีกต่อไป...
คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ความหวังต้องดำรงอยู่เคียงคู่กับชีวิต แต่ทว่าบางครั้ง ความคาดหวังที่รุนแรงเกินขนาดก็อาจจะกลับกลายเป็นเข็มพิษย้อนกลับมาทิ่มแทงทำร้ายตัวเองได้เช่นกัน ถ้าหากความหวังนั้นไม่เป็นไปอย่างที่ใจปรารถนา ดุจเดียวกับความหวังของหญิงสาวในหนังเรื่องนี้
โดยบุคลิกและพื้นฐานทางจิตใจ เบ็ตตี้เป็นคนในแบบที่เรียกได้ว่า “อารมณ์รุนแรง” (และเร่าร้อนด้วยในขณะเดียวกัน)
เธอจะ “รู้สึก” ต่อทุกสิ่งทุกอย่างในระดับที่ค่อนข้างมากเป็นพิเศษกว่าคนทั่วๆ ไป เสียงตะโกนและเสียงกรีดร้องของเธอซึ่งมีให้เห็นตลอดทั้งเรื่อง แท้จริงแล้วก็คือ สัญลักษณ์ที่สะท้อนความรุนแรงทางอารมณ์ของผู้หญิงคนนี้ได้อย่างดี
เวลาไม่พอใจหรือโกรธใครสักคน ก็ไม่ต่างกับเปลวเพลิงที่พร้อมจะเผาไหม้ได้ทุกเมื่อ เวลามีความสุขก็ปลดปล่อยแบบเต็มที่ไม่มีลิมิต และเวลาต้องการสิ่งใด ก็คาดหวังอย่างรุนแรงว่าจะได้
แต่ชีวิตก็เหมือนจะไม่เป็นใจกับเธอเลยสักอย่าง พออยากได้อะไรขึ้นมา มันเป็นต้องปฏิเสธเธอทุกทีไป เธอไม่เข้าใจว่าทำไมโลกถึงโหดร้ายต่อเธอได้ถึงเพียงนี้
ฉากที่เบ็ตตี้นั่งพิงโขดหินริมแม่น้ำ ทอดสายตาเหม่อมองฟ้าและปุยเมฆ มันอาจจะเป็นอาการของคนที่เจ็บปวดและสูญเสียทั่วๆ ไป แต่ขณะเดียวกัน มันก็ทำให้เราคนดูอดคิดไม่ได้ว่า ขณะนั้น คล้ายเธอกำลังส่งผ่านถ้อยคำไปสู่ “บางสิ่งบางอย่าง” ที่อยู่บนฟ้าหรือเปล่า...
“บางสิ่งบางอย่าง” ที่ไม่มีตัวตนจับต้องได้
และถ้าเราเชื่อว่า ท้องฟ้าเบื้องบนเป็นที่สถิตของ “สิ่งที่สูงส่ง” ทั้งหลาย ไมว่าจะเป็นเทวดา พระเจ้า หรือแม้แต่พระพรหมที่มีอำนาจลิขิตเส้นทางชีวิตของสรรพสัตว์ มันก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่เราจะไม่เชื่อว่า เบ็ตตี้ (อาจจะ) กำลังสนทนา (หรือตัดพ้อต่อว่า) อยู่กับ “สิ่งสูงส่ง” เหล่านั้น
ภาพภายนอกของเบ็ตตี้ที่ปรากฏต่อสายตาเราขณะนั้นอาจดูเงียบงันว่างเปล่าราวกับไร้ความรู้สึกนึกคิดก็จริง แต่เบื้องลึกภายในใจ ใครเลยจะรู้ว่า เธออาจกำลังครุ่นคิดอย่างหนักกับ “คำถาม” บางคำถามที่เธออยากให้ “สิ่งสูงส่ง” ซึ่งอยู่บนฟ้า เป็นผู้ตอบ
“เทวดา พระเจ้า พรหมลิขิต ทำไมถึงโหดร้ายต่อชีวิตเธอได้ถึงเพียงนี้”??!!
“ฟ้าดิน ทำไมใจดำลำเอียงกับคนอย่างเธอแบบไร้เมตตาปราณีเช่นนี้”??!!
และอีกมากมายหลายคำถามที่เกี่ยวข้องกับ “ความไม่เป็นธรรม” ของเทวดาฟ้าดิน...
................................
ว่ากันตามจริง ดวงดาวสีน้ำเงินที่เรียกว่าโลกใบนี้มีผู้คนมากมายซึ่งกำลังตกอยู่ในสภาพคล้ายๆ เบ็ตตี้ที่รู้สึกกับตัวเองว่า ฟ้าดินช่างไม่เป็นใจ และก็โลกก็ไม่เข้าข้างซะบ้างเลย
ทุกคนล้วนเคยประสบพบผ่านความร้าวรานผิดหวังมาทั้งนั้น แต่ข้อสำคัญมันอยู่ที่ว่า เราจะทำอย่างไร ถ้าไม่ได้ดังใจหวัง
ถึงที่สุดแล้ว แม้ว่าหนังเรื่องจะไม่ได้เอ่ยถ้อยเทศนาหรือชี้ทางออกให้กับผู้ชมอย่างตรงไปตรงมา แต่ผู้กำกับ “ฌอง ฌาคส์ บีนิกซ์” ก็ไม่หลงลืมที่จะฝากถ้อยคำอนุสติเตือนใจคนดู อย่างน้อยๆ ก็หนึ่งครั้ง ผ่านคำพูดคล้ายรำพึงที่ซอร์กกล่าวกับหญิงสาวของเขาว่า “โลกนี้มันแปลกนะน้องเอ๋ย”
คล้ายๆ จะบอกว่า ชีวิตน่ะ คาดหวังได้ แต่อย่าคาดหวังอะไรมากเกินไปหน่อยเลย เพราะมันมีเงื่อนไขปัจจัยอีกมากมายซึ่งอาจทำให้เราปีนป่ายไปไม่ถึงจุดที่ต้องการ ยังไงเสีย ก็เผื่อใจไว้บ้าง หากต้องเจ็บปวด จะได้ไม่เจ็บปวดมากมายนัก
ชีวิตก็เหมือนเรือที่แล่นออกจากฝั่ง ย่อมต้องพบเผชิญเกลียวคลื่นและลมแรงเป็นเรื่องธรรมดา
ยิ่งกว่านั้น ถ้าเราเชื่อว่า ชีวิตเป็นความทุกข์ตั้งแต่เกิด (ตามหลักพุทธศาสนา) แล้วมันจะแปลกอะไร ถ้าตลอดรายทางแห่งชีวิต เราจะมี “เพื่อนสนิท” คนหนึ่งซึ่งประกบติดเราไม่ต่างจากเงาตามตัว...
แน่นอนครับ “เพื่อนสนิท” คนนั้น มีชื่อเรียกสั้นๆ ว่า “ความทุกข์”...