xs
xsm
sm
md
lg

ความเป็นระเบียบและทฤษฎีไร้ระเบียบ

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

มนุษย์ที่อยู่กันในสังคมจะสร้างกฎเกณฑ์และวัฒนธรรมเพื่อการปะทะสังสรรค์ (intereaction) โดยจะมีค่านิยมและปทัสถานเพื่อความสัมพันธ์ระหว่างกัน คนในสังคมจะคาดการณ์ได้ว่าถ้ามีการกระทำอย่างหนึ่งเกิดขึ้นจะมีการตอบรับจากฝ่ายตรงกันข้าม เช่น เมื่อยิ้มกับคนที่พบหน้าก็จะมีการยิ้มตอบ แต่ถ้าไม่มีการยิ้มตอบก็จะเข้าใจว่าเขาไม่เป็นมิตรด้วย หรือด้วยเหตุอื่น การเข้าไปในห้างสรรพสินค้าเมื่อซื้อสินค้าที่ราคาพอใจ มีการชำระเงินและนำสินค้านั้นกลับไปใช้ประโยชน์ ในกรณีที่มีข้อตกลงว่าถ้าสินค้าบกพร่องก็สามารถทำการแก้ไขโดยขอแลกสินค้าชิ้นใหม่ที่มีคุณภาพสมบูรณ์ได้ นี่คือการจัดระเบียบสังคมซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม

แต่เมื่อใดก็ตามที่ระเบียบสังคมถูกละเมิด เช่น มีการขายสินค้าที่เป็นของปลอมก็จะเกิดความไม่ไว้วางใจระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย หรือการชำระเงินที่กระทำด้วยธนบัตรปลอมก็จะทำให้ระเบียบสังคมในการปะทะสังสรรค์นั้นถูกทำลายลง สังคมที่ดำเนินไปตามปกติสุขจึงต้องเป็นสังคมที่คนอยู่ในกฎระเบียบ (order) เมื่อไหร่ที่มีการแหวกกฎระเบียบ ความสับสนและความเสียหายก็จะเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น การขับยานพาหนะจะต้องมีกฎเกณฑ์มีมารยาท ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน เมื่อติดไฟแดงก็ต้องหยุด แต่เนื่องจากคนอาจจะไม่เคารพกฎเกณฑ์จึงต้องจัดเจ้าหน้าที่ไว้บังคับกฎเกณฑ์ดังกล่าวและมีการลงโทษด้วยการออกใบสั่งและเสียค่าปรับเมื่อมีการละเมิดกฎเกณฑ์หรือระเบียบของสังคม

จากความจำเป็นของการมีระเบียบและกฎเกณฑ์ดังกล่าวนั้นก็นำไปสู่ความคิดในเรื่องระเบียบและกฎเกณฑ์ของชีวิต เป็นต้นว่า กฎแห่งกรรมที่บอกว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ก็เป็นการสร้างความเชื่อมั่นว่าในการดำรงชีวิตมนุษย์มีกฎเกณฑ์ที่ครอบจักรวาลอันได้แก่กฎแห่งกรรม กล่าวคือ คนทำความดีจะได้รับผลดีตอบแทน คนทำความไม่ดีก็จะได้รับผลตอบแทนในทางลบ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดศรัทธาในการทำความดีเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการคาดการณ์ล่วงหน้า เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าสิ่งที่ตนกระทำนั้นสอดคล้องกับระเบียบสังคม และตัวบทกฎหมายซึ่งเป็นการจัดระเบียบสังคม รวมตลอดทั้งระเบียบการดำเนินชีวิตบนฐานของความเชื่อว่าดวงชะตาชีวิตจะถูกกำหนดโดยกฎเกณฑ์ที่เป็นระเบียบอันได้แก่กฎแห่งกรรม

ในส่วนของผู้ซึ่งไม่ใช้กฎแห่งกรรมเป็นระเบียบแห่งการกำหนดชะตาชีวิตหรือการดำรงชีวิต ก็อาจจะมีศรัทธาว่าชะตาชีวิตและการกระทำต่างๆ ย่อมขึ้นอยู่กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นผู้สร้างโลกและมีอำนาจเหนือชีวิตมนุษย์ จะเรียกว่าอะไรก็ตาม แต่เป็นการสร้างความเชื่อมั่นว่าชีวิตมนุษย์และการกระทำของมนุษย์ มิใช่เป็นไปโดยขาดกฎเกณฑ์ ขาดระเบียบ ขาดการตอบแทนที่เป็นบวกเมื่อมีการทำความดี หรือจะได้รับผลตอบแทนในทางลบเมื่อกระทำความเดือดร้อนต่อผู้อื่น หรือเมื่อละเมิดกฎระเบียบสังคมและละเมิดตัวบทกฎหมาย

แต่เมื่อใดก็ตามที่ระเบียบสังคมก็ดี ตัวบทกฎหมายก็ดี กฎเกณฑ์แห่งการกำหนดโชคชะตาชีวิตก็ดี แปลกแยกไปจากความเชื่อดั้งเดิมอันเกิดจากผลทางรูปธรรม เป็นต้นว่า คนซึ่งทำความดีกลับไม่ได้ดี คนซึ่งทำความชั่วกลับเสวยสุขมีทรัพย์สินเงินทอง มีตำแหน่งและยศถาบรรดาศักดิ์ จนเกิดการตั้งคำถามถึงกฎเกณฑ์การกำหนดชะตาชีวิตโดยสิ่งศักดิ์สิทธิ์เบื้องบนว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มากน้อยเพียงใด รวมทั้งกฎแห่งกรรมที่ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นความจริงมากน้อยเพียงใด และเมื่อหาคำตอบไม่ได้ก็อาจจะสรุปว่า กรรมคงตามสนองไม่วันใดวันหนึ่ง ไม่ชาตินี้ก็ชาติหน้า ซึ่งหลายคนอาจจะรับตรรกและวิธีคิดดังกล่าวไม่ได้เพราะไกลเกินไป

นอกเหนือจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องมิติของกาละและเทศะ ความดีในที่ที่หนึ่ง ในยุคๆ หนึ่งอาจจะไม่ใช่ความดีในสถานที่อีกแห่งหนึ่งและช่วงระยะเวลาหนึ่งที่ต่างออกไป เป็นต้นว่า ผู้ซึ่งเป็นคนที่มีศรัทธาต่อลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างเข้มข้นในสมัยเหมา เจ๋อตุง เป็นใหญ่ในแผ่นดินจีน จะได้รับการยกย่อง แต่ถ้าคนคนนั้นในยุคเดียวกันนั้นเป็นคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยจะถูกจับเข้าคุกเพราะเป็นคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย การเป็นคอมมิวนิสต์เป็นความดีและได้รับผลดีในเมืองจีนในยุคเหมา เจ๋อตุง แต่ได้รับในทางลบในยุคเดียวกันนั้นถ้าเป็นคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย และแม้กระทั่งในประเทศเดียวกันยุคปัจจุบันนี้การเป็นคอมมิวนิสต์ มีอุดมการณ์ก็อาจจะไม่ใช่อุดมคติอันสูงสุดในสังคมจีนอีกต่อไป

เมื่อระเบียบสังคมและกฎเกณฑ์แห่งการกำหนดชะตาชีวิตเสื่อมคลายลงจนหากฎเกณฑ์ไม่ได้ หรือที่เรียกว่า ทฤษฎีไร้ระเบียบ (chaos theory) กล่าวคือ ปรากฏการณ์ทั้งหลายในโลกนี้อาจจัดระเบียบชั่วครู่ชั่วคราว แม้การหมุนของดวงดาวทั้งหลายวันหนึ่งก็อาจจะแตกสลายลงรวมทั้งโลกด้วย หรือบางครั้งอาจจะมีข้อยกเว้น กล่าวคือ ในท่ามกลางระเบียบนั้นก็มีการไร้ระเบียบเกิดขึ้น เช่น สังคมที่มีการปกครองบริหารอย่างสงบ มีกฎหมาย มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างราบรื่น เมื่อเกิดกบฏ เกิดความวุ่นวาย เกิดสงครามกลางเมือง เกิดสงครามระหว่างรัฐ แผ่นดินไหว ภัยธรรมชาติ ฯลฯ ก็คือการเกิดความไร้ระเบียบขึ้นชั่วคราว เมื่อเกิดความไร้ระเบียบขึ้นไม่ว่าจะเป็นระเบียบที่มนุษย์สร้างขึ้น หรือเกิดจากศรัทธาที่ว่าเป็นระเบียบของสิ่งศักดิ์สิทธิ์เบื้องบนสร้างขึ้นก็จะเกิดสภาพทางลบดังต่อไปนี้คือ

ประการที่หนึ่ง เกิดความกระวนกระวาย (anxiety) เพราะไม่สามารถจะคาดเดาอะไรได้ นอกจากนั้นยังเกิดการขาดความมั่นใจว่าการกระทำจะส่งผลลัพธ์ออกมาในทิศทางที่ตนเคยชิน

ประการที่สอง เมื่อสังคมหรือชะตาชีวิตแปลกแยกไปจากระเบียบหรือกฎเกณฑ์ที่กำหนด ส่งผลดีผลเสียตามกฎเกณฑ์ ตามกฎแห่งกรรม หรือตามความศรัทธา คนก็จะเกิดความเคว้งคว้าง อยากให้มีการเปลี่ยนสังคมให้มีระเบียบกว่าที่เป็นอยู่ด้วยการมีอัศวินม้าขาวเข้ามาแก้ไขเพื่อจะสร้างระเบียบใหม่ รวมตลอดทั้งการยินยอมให้เกิดการสูญเสียโดยการใช้ความรุนแรงเพื่อให้เกิดระเบียบใหม่ให้ได้ เช่น การเรียกร้องให้มีการปฏิวัติรัฐประหาร การใช้สงครามเข้าทำลายศัตรูเพื่อแก้ไขความขัดแย้ง ฯลฯ

ประการที่สาม ในยามที่สังคมขาดความเป็นระเบียบ และในยามที่โชคชะตาชีวิตหันเหไปจากกฎเกณฑ์ที่เกิดจากศรัทธาหรือในความเชื่อ มนุษย์ก็จะเกิดความวังเวง เคว้งคว้าง ต้องการหาความมั่นใจและมั่นคง จึงพร้อมที่จะออมชอมหลักการความถูกต้อง โดยเล็งผลปฏิบัติเป็นสำคัญ กรณีในทางการเมืองที่เห็นก็คือ ในกรณีที่พรรคแยกเป็นสองกลุ่มที่เรียกว่ากลุ่มงูเห่าเพื่อจะตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมานั้น แม้โดยหลักการจะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องแต่เพื่อความอยู่รอดของระบอบประชาธิปไตย และเพื่อความสงบของสังคมและเพื่อประโยชน์ของชาติ คนจำนวนไม่น้อยก็กล้อมแกล้มยินดีให้เกิดการละเมิดหลักการดังกล่าว เพราะผลเสียที่เกิดขึ้นนั้นจะน้อยกว่าการที่สังคมตกเป็นอนาธิปไตย

แต่อันตรายที่จะต้องพิจารณาก็คือ ในขณะที่ระเบียบสังคมเริ่มแตกสลายลง ในขณะที่คนกำลังวังเวง ขาดความเชื่อมั่นในหลักการที่กำหนดชะตาชีวิตของตน จะทำให้เกิดช่องว่างแห่งความเชื่อมั่นและศรัทธาขึ้น ช่องว่างดังกล่าวนี้จะทำให้คนจำนวนไม่น้อยเหมือนคนที่กำลังลอยคออยู่ในมหาสมุทรพร้อมที่จะไขว่คว้าแม้กระทั่งเส้นหญ้าหรือลังไม้เพื่อประคับประคองชีวิตให้อยู่รอด ในช่องว่างดังกล่าวนี้อาจจะเกิดบุคคลซึ่งมีความชาญฉลาดเข้าใจสถานการณ์และวิกฤตสังคม ใช้ความชาญฉลาดของตนพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสสร้างบุญญาธิการ (charisma) ด้วยการให้สัญญา ให้ความหวัง โดยการแสดงออกในลักษณะความฉลาดและความกล้าหาญในการแก้ปัญหา และความเป็นผู้นำทางการเมือง นี่เป็นที่มาของการนำไปสู่ผู้นำบุญญาธิการ (charismatic leader) ซึ่งจะเห็นได้จากกรณีของฮิตเลอร์ ซึ่งถีบตัวขึ้นมาสู่ตำแหน่งผู้นำท่ามกลางความหายนะของเศรษฐกิจของเยอรมนี ข้อที่น่าสังเกตคือ ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ผู้นำทางการเมืองมักจะเป็นเผด็จการ และกระบวนการทางการเมืองจะแปลกแยกไปจากกระบวนการทางการเมืองตามปกติ

วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ เป็นการทำลายศรัทธาของกฎเกณฑ์ของกลไกตลาด ซึ่งทำให้ความเชื่อมั่นต่อกลไกของตลาดและระบบทุนนิยมลดน้อยถอยลง และจากสภาพดังกล่าวนั้นได้ส่งผลกระทบในทางลบเป็นลูกโซ่ไปทั่วโลก สถานการณ์ดังกล่าวนั้นบ่งชี้ถึงการเสื่อมลงของระเบียบเศรษฐกิจทุนนิยมและกลไกตลาด ทำให้คนโหยหาผู้นำที่มีความคิดที่จะแก้ปัญหาด้วยแนวทางที่แปลกใหม่ อันเป็นตัวแปรหนึ่งในหลายๆ ตัวแปรที่ทำให้นายบารัค โอบามาชนะการเลือกตั้ง อาจจะกล่าวได้ว่านายโอบามาก้าวมาสู่ตำแหน่งผู้นำจากคุณสมบัติของตัวเองและจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างน่าเป็นห่วงในสหรัฐฯ

การเกิดปัญหาระเบียบสังคมและการสูญเสียศรัทธาในหลักเกณฑ์ที่กำหนดชะตาชีวิตมนุษย์

ย่อมนำไปสู่ช่องว่างของความเชื่อมั่น และมีแนวโน้มที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง ส่วนใหญ่จะมีช่วงระยะเวลาของการเปลี่ยนแปลงที่แปลกแยกไปจากสภาวะปกติชั่วระยะเวลาหนึ่ง จากนั้นก็จะวิวัฒนาการไปสู่สภาวะปกติต่อไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับภูมิปัญญาของคนในสังคมนั้นๆ

กำลังโหลดความคิดเห็น