xs
xsm
sm
md
lg

อธิการฯ นิด้า เสนอ 6 ข้อ “การเมืองใหม่” แยกอำนาจบริหาร-นิติบัญญัติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
ผู้จัดการออนไลน์ – อธิการบดีนิด้า เขียนบทความเสนอ 6 ข้อ ตุ๊กตาการเมืองใหม่ สร้างความเป็นอิสระระหว่าง ฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติ เสนอ นายกฯ ไม่มีสิทธิ์ยุบสภา, ส.ส.ไม่มีสิทธิ์อภิปรายไม่ไว้วางใจ, นายกฯ ไม่ต้องมาจากเสียงข้างมากในสภา, ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรคก็ได้ และกำหนดเขตเลือกตั้งเป็นจังหวัดป้องกันซื้อเสียง

วันนี้ (27 ต.ค.) ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และอดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ได้เขียนบทความเรื่อง “การเมืองใหม่” ลงในคอลัมน์พินิจการเมือง ใน หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ โดยนายสมบัติกล่าวถึงประเด็นเรื่องการเมืองใหม่ที่ถูกจุดประกายขึ้นมาโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยว่าจะเป็นทางออกที่สามารถนำพาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไปได้

ทว่า ศ.ดร.สมบัติ ให้ความเห็นว่า ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องการเมืองใหม่ จำเป็นที่จะต้องแจกแจงและสรุปปัญหาของการเมืองเก่าเสียก่อนว่ามีอะไรบ้าง เพื่อให้การเมืองใหม่สามารถแก้ปัญหาของชาติได้จริง โดยอธิการบดีนิด้ากล่าวสรุปว่า ในทัศนะของตนปัญหาของการเมืองเก่าที่ชัดเจนมีหลายประการคือ ปัญหาการซื้อขายเสียงจนทำให้การเมืองไทยกลายเป็น “ธุรกิจการเมือง”, ระบบพรรคการเมืองที่อ่อนแอ, ระบบการตรวจสอบที่อ่อนแอจน ทำให้นายกฯ มีอำนาจเหนือสภา, การทุจริตคอร์รัปชันอันเป็นผลมาจาก “ธุรกิจการเมือง” เป็นต้น

ทั้งนี้ ศ.ดร.สมบัติ กล่าวว่า ในการเมืองใหม่มีประเด็นหนึ่งที่ไม่ต้องถกเถียงกันเลยคือ หลักการปกครองของประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่วนการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคของการเมืองเก่านั้นเขาได้เสนอ ตัวอย่างแนวทางของการเมืองใหม่จำนวน 6 ข้อดังนี้

1) ส.ส.ให้มีหน้าที่บัญญัติกฎหมายและตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารเท่านั้น ไม่ให้ทำหน้าที่บริหารเพราะเป็นสิ่งจูงใจให้ใช้เงินซื้อสิทธิขายเสียงเพื่อแสวงหาผลประโยชน์
2) ส.ส.ไม่มีอำนาจอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เพื่อตัดอำนาจไม่ให้ ส.ส.คุกคามฝ่ายบริหาร แต่ให้ตรวจสอบด้วยการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ และตรวจสอบด้วยการถอดถอนถ้าฝ่ายบริหารกระทำผิดกฎหมาย
3) นายกรัฐมนตรีให้ทำหน้าที่บริหารเท่านั้น ไม่ต้องทำหน้าที่นิติบัญญัติ และไม่ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการยุบสภา เพื่อป้องกันไม่ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการยุบสภา เพื่อป้องกันไม่ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจเหนือสภา กรณีนี้จะทำให้รัฐบาลและสภามีเสถียรภาพสูง
4) นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากเสียงข้างมากในสภา เพื่อตัดปัญหาไม่ให้นายกรัฐมนตรีต้องหาเงินสนับสนุนหรือเลี้ยงดู ส.ส.ในสภาเพื่อให้สนับสนุนตน ส่วนจะได้มาด้วยวิธีไหนจำเป็นต้องมีการระดมสมองเพื่อหาทางออก
5) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะสังกัดพรรคหรือไม่ก็ได้ เมื่อระบบพรรคการเมืองไม่เข้มแข็ง ก็ไม่ควรให้ความสำคัญกับพรรคการเมือง เพื่อให้ ส.ส.มีความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ให้เต็มที่
6) เพื่อให้การซื้อสิทธิขายเสียงทำได้ยากขึ้น ควรกำหนดให้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และประชาชนเลือกได้เพียง 1 คน ถ้าต้องการ ส.ส.มากกว่า 1 คน ก็ให้เรียงลำดับจากผู้ได้คะแนนสูงสุด

ทั้งนี้ ศ.ดร.สมบัติย้ำว่า 6 ข้อเสนอดังกล่าวข้างต้นเป็นเพียงตุ๊กตาสำหรับการถกเถียงเท่านั้น ซึ่งสุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับว่าคนไทยทั้งประเทศจะเห็นว่าอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น