xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ต้องรื้อทั้งระบบ ตร.จึงพ้นจากวิกฤตศรัทธา-เลิกใช้ความรุนแรงกับ ปชช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์
ผู้จัดการออนไลน์ – “วสิษฐ-สังศิต” ยืนยันต้องรื้อโครงสร้างตำรวจใหม่หมด ดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เป็น คกก.-กระจายอำนาจ จึงจะกู้วิกฤตศรัทธาคืนมาได้ ชี้ ทั้งโครงสร้างขาดธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรง ใช้ความรุนแรงกับประชาชนเป็นกิจวัตร มิใช่เฉพาะเหตุการณ์ 7 ตุลาทมิฬ ระบุ บิ๊ก ตร.ทั้งหมดจะได้ตำแหน่งต้องเลียนักการเมือง-ใช้เงินซื้อ

วันนี้ (13 ต.ค.) เนื่องในโอกาสครบรอบ 93 ปี ของการสถาปนาตำรวจไทย รายการถามจริง-ตอบตรง ทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ซึ่งมีพิธีกร คือ นายจอม เพชรประดับ ได้นำเสนอเรื่องปัญหาวิกฤตศรัทธาของประชาชนต่อตำรวจ โดยได้มีการเชิญ รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ นักวิชาการสถาบันวิจัยสังคมและเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องตำรวจ รวมทั้งได้สัมภาษณ์ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ และอดีตประธานเพื่อศึกษาหาแนวทางพัฒนาระบบงานตำรวจทางโทรศัพท์ด้วย

เมื่อผู้ดำเนินรายการเริ่มถามว่าทำอย่างไรจึงจะกู้วิกฤตศรัทธาของตำรวจในหมู่ประชาชนได้ และภายใต้สภาวะสังคมที่กำลังมีความแตกแยก ตำรวจกำลังตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มบุคคลใด บุคคลหนึ่งหรือไม่

พล.ต.อ.วสิษฐ ตอบว่า ประการแรก ตำรวจจะต้องอุทิศเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างแท้จริงเสียก่อน ส่วนกรณีการตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มบุคคลนั้น อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจกล่าวว่า อาจจะมีแค่ตำรวจบางกลุ่มเท่านั้นที่ตกเป็นเครื่องมือของนักการเมือง แต่ปัญหาหลักก็คือ การปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาล เมื่อรัฐบาลสั่งอย่างไร ตำรวจที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาก็ต้องปฏิบัติอย่างนั้น ตราบใดที่คำสั่งอย่างนั้นมิชอบด้วยกฎหมาย ตำรวจก็ไม่มีทางเลือกและจะต้องปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงสร้างปัจจุบันที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติขึ้นตรงอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี

รศ.ดร.สังศิต กล่าวว่า ปัจจุบันระบบตำรวจขาดหลักธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรง โดยตำรวจทุกคนที่หวังจะก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงานก็ต้องใช้เส้นสาย ต้องใช้ระบบอุปถัมภ์ ต้องวิ่งเต้น มิได้ใช้ความสามารถและระบบคุณธรรมอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้น คนที่จะขึ้นมาในตำแหน่งสูงได้ก็ต้องผ่านระบบนี้ ซึ่งก็จะมีปัญหาต่อไปในระบบการบริหารงาน และส่งผลต่อภาพรวมต่อไป

“ในชีวิตประจำวันตำรวจใช้ความรุนแรงกับประชาชนจนเคยชิน ยังไม่ต้องพูดถึงกรณีวันที่ 7 ต.ค.2551 เพราะในทุกๆ วัน ก็ใช้ความรุนแรงในการสอบสวนกับประชาชน โดยระบบนี้เป็นระบบที่ล้าหลัง และไม่น่าเชื่อถือ โดยคนที่มีเงินสามารถใช้เงินมาติดสินบนตำรวจได้ ยังไม่ต้องพูดถึงว่า ตำรวจตกเป็นเครื่องมือของรัฐบาลหรือนักการเมือง” อดีต สนช.และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องตำรวจ กล่าว

“ตำรวจเองไม่ได้นึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม เพราะถ้าเขาสำนึกเขาจะไม่ปฏิบัติตัวอย่างนี้” รศ.ดร.สังศิต กล่าว พร้อมระบุว่า ในเชิงโครงสร้าง ยศ ตำแหน่งของ ตำรวจนั้นก็ถอดแบบจากทหารมาโดยตรง แต่ทหารนั้นมีหน้าที่ปราบอริราชศัตรู แต่ตำรวจนั้นไม่ใช่ เพราะตำรวจไม่สามารถใช้วิธีเดียวกับทหารในการปฏิบัติกับประชาชนได้ ซึ่งในความเห็นดังกล่าว พล.ต.อ.วสิษฐ ก็เห็นด้วยในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.วสิษฐ ได้กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันการฝึกอบรมตำรวจในเชิงทหารนั้นเป็นวิธีที่ไม่เหมาะสมนักในทัศนะของท่าน เพราะเป็นการปลูกฝังทัศนคติในเชิงที่ใช้ความรุนแรงให้กับตำรวจ ทั้งๆ ที่ตำรวจในที่สุดต้องออกมารับใช้ประชาชน

เมื่อพิธีกรถามว่า ทำอย่างไรจะทำให้ตำรวจปลอดจากการเมืองได้ รศ.ดร.สังศิต ตอบว่า นอกจากเรื่องของจิตสำนึกของตำรวจเองแล้ว ยังต้องมีการแก้ไขเรื่อง พระราชบัญญัติตำรวจ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหา หลักสูตรการฝึกอบรม ระบบคุณธรรม ความสามารถที่ส่งผลต่อความก้าวหน้าทางหน้าที่การงาน ซึ่งเมื่อนำมาใช้ ตนก็เชื่อว่าจะทำให้ตำรวจดีสามารถที่แยกตัวออกจากนักการเมืองได้ เพราะปัจจุบันนักการเมืองมักจะใช้ตำรวจเป็นเครื่องมือมาอุ้ม ข่มขู่หัวคะแนนโดยเฉพาะในฤดูเลือกตั้ง

“การมี พ.ร.บ.ตำรวจที่จะทำให้ตำรวจโดยวิชาชีพเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาหลักสูตร การฝึกอบรม และระบบข้างในที่จะต้องใช้คุณธรรม ความสามารถเข้ามา ก็จะทำให้ตำรวจแยกตัวออกมาจากนักการเมืองได้ ในยุคสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีการเสนอแก้กฎหมายตำรวจ ให้ตำรวจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม แต่เวลามันไม่พอ” อดีต สนช.กล่าว

ในประเด็นเรื่องกฎหมาย และ พ.ร.บ.ตำรวจ ที่จะแก้ไขให้องค์กรตำรวจมีความโปร่งใสและเป็นธรรมอย่างแท้จริง พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าวว่า ต้องให้ชาวบ้านสามารถตรวจสอบได้ แต่ตนพูดเรื่องนี้มาหลายทีแล้วแต่นักการเมืองก็ไม่นำไปปฏิบัติ

“ตราบใดที่นักการเมืองยังสามารถควบคุมบังคับบัญชาตำรวจได้แบบชี้เป็นชี้ตายกันได้ ตราบนั้นตำรวจก็คงจะหนีการเมืองไม่พ้น เพราะฉะนั้นถ้าจะทำให้ได้ก็จะต้องแก้กฎหมาย กฎหมายขณะนี้นายกรัฐมนตรีเป็นนายของตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี เพียงแค่นี้ก็จะเห็นแล้วว่า ผบ.ตร.ลำบาก เพราะเหตุว่า ถ้านายกรัฐมนตรีสั่งอย่างไร ผบ.ตร.ก็ต้องทำอย่างนั้น” อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ กล่าว

เมื่อถามว่า องค์กรตำรวจควรจะขึ้นกับส่วนไหนจึงจะปฏิบัติงานได้เป็นอิสระที่สุด พล.ต.อ.วสิษฐ ตอบว่า น่าจะแก้องค์ประกอบของคณะกรรมการตำรวจ มิให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจที่จะชี้เป็นชี้ตายตำรวจได้ ต้องขยายฐานของคณะกรรมการให้กว้างออกไป ให้ประชาชนมีส่วนในการเป็นกรรมการอย่างแท้จริง และสามารถที่จะแนะนำและติติงตำรวจได้

ในตอนท้าย พล.ต.อ.วสิษฐ ได้กล่าวให้กำลังใจนายตำรวจส่วนใหญ่ ว่า อย่าท้อแท้ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ต้องยึดความถูกต้องและกฎหมายเป็นหลัก โดยเมื่อตำรวจต้องกลายเป็นเครื่องมือในการเผชิญหน้ากับประชาชนต้องห้ามลุแก่โทสะ เพราะจะทำอะไรที่เกินเลยจนในที่สุดตกเป็นจำเลยของสังคมเช่นปัจจุบัน

ขณะที่ รศ.ดร.สังศิต ให้ความเห็นว่า ในระยะสั้นตำรวจต้องประกาศว่าจะเลิกใช้ความรุนแรงกับประชาชน โดยจะยึดกฎหมายเป็นหลัก นอกจากนี้ จะต้องประกาศว่าเลิกเกี่ยวข้องกับอบายมุขทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นบ่อนการพนัน หวยใต้ดิน ภายใน 24 ชั่วโมง และถ้าตำรวจนายใดไปยุ่งเกี่ยวก็จะต้องถูกลงโทษ นอกจากนี้ ต้องสนับสนุนให้รัฐบาลนำเอา พ.ร.บ.พัฒนาระบบงานตำรวจ ที่จะเน้นหลักนิติธรรมและการให้มีองค์กรภาคประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานของตำรวจได้มากขึ้น และมีการกระจายอำนาจ ก็น่าจะแก้ไขวิกฤตศรัทธานี้ได้
พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ และอดีตประธานเพื่อศึกษาหาแนวทางพัฒนาระบบงานตำรวจ
กำลังโหลดความคิดเห็น