xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.ร้องยูเอ็น! ค้าน รบ.โจรตั้ง คกก.สอบโจรเหตุ 7 ตุลาทมิฬ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กลุ่ม 40 ส.ว.ร้อง กก.สิทธิฯ ยูเอ็น จัดการการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีการสลายการชุมนุม ระบุ รบ.สั่งสลายชุมนุมเองแล้วตั้ง กก.สอบ ใครจะเชื่อ เผย กมธ.ส.ว.2 คณะ เตรียมสอบสวนคู่ขนาน เชิญ พล.ต.อ.ประทิน ร่วมเป็น กก.

วันนี้ (10 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความเคลื่อนไหวของกลุ่ม 40 ส.ว.ในการตรวจสอบรัฐบาลกรณีการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายร้อยรายนั้น โดยนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา เดินทางไปยื่นจดหมายเปิดผนึกเป็นภาษาอังกฤษ เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของรัฐบาลไทย ถึงนายโฮทายอง อลิซาเดห์ ผู้แทน OHCHR ที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินกลาง พร้อมทั้งรูปภาพเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม โดยแปลเป็นภาษาไทยมีใจความว่า กลุ่ม 40 ส.ว.ห่วงใยอย่างยิ่งต่อวิกฤตการเมืองในประเทศซึ่งเกิดจากพฤติกรรมของรัฐบาลที่สร้างความขุ่นเคืองใจต่อสาธารณชนอย่างกว้างขวาง สังคมไทยเชื่อว่ารัฐบาลปัจจุบันเป็นรัฐบาลตัวแทนของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และการประท้วงดังกล่าวเกิดในวันที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี พยายามที่จะแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และได้สั่งการให้ใช้ความรุนแรงโดยใช้แก๊สน้ำตา และระเบิดที่รุนแรงต่อผู้ชุมนุมอย่างสันตินอกบริเวณรัฐสภา เหตุผลเพียงอย่างเดียวของรัฐบาลคือต้องการให้ ครม.และสมาชิกรัฐสภาเข้าร่วมประชุมดังกล่าว

ขณะที่การประท้วงยังดำเนินต่อไปเพราะเห็นว่าการประชุมนั้นไม่ชอบธรรม เนื่องจาก ส.ส.ฝ่ายค้านและส.ว.จำนวนหนึ่งไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย โดยยังมีปฏิบัติการที่ทารุณเกิดขึ้นตลอดทั้งวัน ทำให้ประชาชานบาดเจ็บมากกว่า 400 คน และเสียชีวิต 3 คน ความทารุณและพฤติกรรมไร้มนุษยธรรมเกิดขึ้นทั้งๆ ที่ความจริงแล้วรัฐบาลสามารถจะใช้วิธีการอื่นที่หลีกเลี่ยงความรุนแรงได้เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตอย่างไม่จำเป็น นับเป็นการหว่านเพาะความขุ่นเคืองและความแตกแยกในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง

กลุ่ม 40 ส.ว.ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อป้องกันและลดเงื่อนไขแห่งโศกนาฏกรรม ได้แก่ การออกคำแถลงเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม เรียกร้องให้รัฐบาลหลีกเลี่ยงใช้ความรุนแรงต่อประชาชนที่ชุมนุมกันอย่างสันติ จากนั้นเรียกร้องให้เลื่อนการประชุมรัฐสภาในวันที่ 7 ตุลาคม หลังจากรัฐบาลสั่งการให้สลายการชุมนุมหน้ารัฐสภา และแสดงการประท้วงด้วยการไม่เข้าร่วมประชุมรัฐสภา เนื่องจากไม่ต้องการเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับการแถลงนโยบายของรัฐบาล ขณะที่ประชาชนนับร้อยถูกทำร้ายบาดเจ็บอย่างรุนแรงหน้ารัฐสภา รวมถึงการตั้งกระทู้ถามรัฐบาลในปัญหาความรุนแรงดังกล่าว และเรียกร้องทุกภาคส่วนทั้งในและนอกประเทศร่วมกันกดดันรัฐบาลไทยยุติความรุนแรงต่อประชาชน รวมทั้งยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดให้ไต่สวนฉุกเฉินเพื่อหยุดยั้งการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลโดยทันที ตลอดจนเรียกร้องให้สอบสวนและดำเนินการทางกฎหมายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนไทย ฉะนั้น ในฐานะที่ OHCHR เป็นหน่วยงานสำคัญขององค์การสหประชาชาติที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและเป็นสำนักเลขาธิการของคณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กลุ่ม 40 ส.ว.จึงขอเรียกร้องให้ OHCHR ใช้ความพยายามในการกระทำอย่างเหมาะสมเพื่อหยุดยั้งและป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

ด้าน นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา 1 ในกลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวถึงกรณีรัฐบาลมีมติตั้งคณะกรรมการตรวจสอบสอบสวนหาข้อเท็จจริงเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯบริเวณหน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมว่า เมื่อรัฐบาลเป็นผู้สั่งการปฏิบัติการการใช้ความรุนแรงเองแล้วมาตั้งคณะกรรมการตรวจสอบสอบสวนหาข้อเท็จจริง ถามว่า สังคมจะเชื่อถือได้อย่างไร ตอนนี้มีผู้ใหญ่ที่มีความเป็นกลางหลายคนมีท่าทีปฏิเสธไม่เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ ก็ถือเป็นสิทธิ์ ต้องรอดูว่าใครเป็นกรรมการและผลออกมาอย่างไร และสังคมจะตัดสินอย่างไร แต่ในส่วน ส.ว. คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค และคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล ได้ตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อตรวจสอบกรณีดังกล่าว มี น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. เป็นประธานคณะทำงาน และจะเชิญบุคคลภายนอกที่สังคมให้ความเชื่อถือมาร่วม ทราบว่าตอนนี้กำลังทาบทาม พล.ต.อ. ประทิน สันติประภพ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ มาร่วมเป็นคณะทำงาน โดยจะเร่งสอบสวนให้เร็วที่สุด คาดว่า 2-4 สัปดาห์จะได้ผลสรุปและแถลงต่อสาธารณะ ทั้งนี้ สัปดาห์หน้าจะมีความชัดเจนในเรื่องคณะทำงานและประเด็นการสอบสวนรวมถึงหลักฐานภาพถ่ายต่างๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น