คำแถลงนโยบายรัฐบาล “สมชาย” ระบุชัด เตรียมรับผลกระทบเศรษฐกิจโลกผันผวน ยันรัฐเดินหน้าสร้างความปรองดองในชาติ อ้างหลายฝ่ายต้องการแก้ รธน.ปี 50 เตรียมตั้ง ส.ส.ร.ทบทวนรัฐธรรมนูญตามหลักการประชาธิปไตย
วันนี้ (2 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ ที่จะแถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 6-8 ต.ค.นี้นั้น มีเนื้อหาสำคัญที่ระบุในคำแถลงนโยบายว่า เศรษฐกิจไทยในครึ่งแรกของปีนี้ขยายตัวได้ดีถึงร้อยละ 5.7 โดยมีแรงสนับสนุนจากการส่งออกที่ยังขยายตัวในอัตราสูง ราคาสินค้าเกษตรที่สูงเป็นประวัติการณ์ และนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากจากปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับปัจจัยด้านลบภายนอกประเทศที่สำคัญสองประการ คือ 1.ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 8 เดือนแรก ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีรายได้น้อย 2.ปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งนับเป็นความเสียหายรุนแรงครั้งหนึ่งในรอบศตวรรษ และคาดว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย โดยในระยะแรกคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์ เงินทุนไหลออก และเพิ่มความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และในระยะต่อไปจะส่งผลกรทบต่อการส่งออกของประเทศไทยอันเนื่องมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบเช่น จีน ญี่ปุ่น และยุโรป เป็นต้น
นอกเหนือจากปัจจัยภายนอกประเทศ สถานการณ์ในประเทศยังมีความขัดแย้งทางการเมือง ส่งผลให้กระบวนการบริหารประเทศไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ จึงถึงเวลาที่คนไทยทุกคนจะต้องหันหน้าเข้าหากัน ร่วมกันคิด และร่วมกันแก้ปัญหา ซึ่งรัฐบาลจะดำเนิน “โครงการจากวันแม่ถึงวันพ่อ 116 วันสร้างสามัคคี” กระตุ้นให้เกิดความสามัคคีของคนไทย และในช่วงปลายปีนี้รัฐบาลจะดูแลการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ อย่างสมพระเกียรติ
นอกจากนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองที่มีอยู่ในสังคมโดยยึดทางสายกลาง จึงมีความตั้งใจแน่วแน่ในการแก้ไขปัญหาโดยการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อลดความเห็นที่แตกต่าง และสร้างความเห็นร่วมกันในเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหา ตลอดจนสนับสนุนกระบวนการยุติธรรมให้ทำงานอย่างอิสระและเป็นกลไกตัดสินข้อขัดแย้งซึ่งได้เข้ากระบวนการตามกฎหมาย ทั้งนี้ รัฐบาลมุ่งหวังที่จะบรรลุถึงการยุติความขัดแย้งโดยสันติ คงไว้ซึ่งคุณธรรม และวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมไทยในการเอื้ออาทรและการให้อภัยซึ่งกันและกัน
รัฐบาลจะเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยสร้างความมั่นใจของนักลงทุนทั้งภายในและภายนอกประเทศ ให้เชื่อมั่นในประเทศไทยว่าเป็นแหล่งลงทุนที่มีความมั่นคง และจะสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดีโดยการปรับปรุงกฎ ระเบียบให้เอื้ออำนวยต่อการประกอบธุรกิจ รวมถึงผลักดันการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ได้เลื่อนชะลอในช่วงเวลาที่ผ่านมาให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ในการจัดการประชุมผู้นำเซียนซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพให้สำเร็จลุล่วงอย่างราบรื่นเพื่อจะเป็นการสร้างความมั่นใจต่อประชาคมโลกถึงสถานการณ์ที่กลับสู่ความสงบและสมานฉันท์ของประเทศไทย
สำหรับนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลจะเริ่มดำเนินการในปีแรกมีกำหนดไว้ 16 ข้อ คือ 1.การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตย 2.การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3.การส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาและสร้างสัมพันธไมตรีที่ดีในภูมิภาค 4.สร้างกลไกในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากวิกฤตการเงินของโลกที่ส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนทั้งระยะสั้น และระยะยาว 5.เร่งสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนและนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและนอกประเทศ
6.เร่งรัดการลงทุนที่สำคัญของประเทศ 7.แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และผู้ประกอบการเนื่องจากภาวะภัยธรรมชาติ ภาวะเงินเฟ้อ และราคาน้ำมัน 8.จัดตั้งสภาเกษตรกรและสร้างระบบประกันความเสี่ยง 9.สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุนของชุมชน 10.สนับสนุนสินเชื่อรายย่อยให้แก่ประชาชนต่อผู้มีรายได้น้อยและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 11.เพื่อประสิทธิภาพการบริหารจัดการโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์
12.เร่งรัดปราบปรามการค้ายาเสพติด ปราบปรามผู้มีอิทธิพล อบายมุขและสิ่งยั่วยุเยาวชน 13.เร่งรัดปรับปรุงระบบสาธารณสุข 14.เร่งรัดการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและเพิ่มประสิทธิภาพระบบกระจายน้ำทั้งในและนอกเขตชลประทาน 15.เร่งรัดมาตรการและโครงการเพื่อบรรเทาผลกระทบ รวมทั้งการปรับตัวเพื่อพร้อมรับวิกฤตโลกร้อน 16.จัดทำแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศของโลกและการผันผวนของราคาพลังงานและวิกฤตอาหารของโลก
ส่วนนโยบายที่จะดำเนินการภายในช่วงระยะ 3 ปี ได้กำหนดนโยบายในการพัฒนาประเทศ ได้แก่ นโยบายความมั่นคงของรัฐ โดยจะเสริมสร้างจิตสำนึกประชาชนในชาติให้มีความจงรักภักดีต่อสภาบันพระมหากษัตริย์ และป้องกันไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือใช้แสวงหาผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม ตลอดจนสร้างบรรยากาศให้เกิดความรัก ความสามัคคี และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของคนในชาติ ซึ่งนโยบายสังคมและคุณภาพชีวิตจะเป็นการสนับสนุนนโยบายด้านการศึกษา ด้านแรงงาน ด้านการพัฒนาสุขภาพของประชาชน พร้อมทั้งจะส่งเสริมนโยบายแรงงาน นโยบายพัฒนาสุขภาพ นโยบายศาสนาศิลปวัฒนธรรม นโยบายความมั่นคงของชีวิตและสังคม และนโยบายเศรษฐกิจ ฯลฯ
ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของคำแถลงนโยบายของรัฐบาลยังระบุว่า รัฐบาลนี้จะยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยถือว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรเป็นรากฐานสำคัญในการวางระบบการบริหารประเทศให้เกิดความมั่นคงและสร้างเสริมหลักประชาธิปไตยที่ถูกต้องและเหมาะสมเป็นที่ยอมรับของชนในชาติ แต่เนื่องจากระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีการเสนอความคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่างหลากหลายในการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและมีข้อเรียกร้องจากหลายฝ่ายให้มีการปรับปรุงรัฐธรรมนูญด้วยวิธีการต่างๆเพื่อปฏิรูปการเมืองให้มีความเหมาะสมและแก้ไขปัญหาของประเทศชาติได้ดียิ่งขึ้น รัฐบาลตะหนักดีว่ารัฐธรรมนูญสมควรเกิดขึ้นจากบรรยากาศการมีส่วนร่วมของประชาชนทั่งประเทศที่จะกำหนดแนวทางให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพสังคมไทยและเป็นไปตามความต้องการของประชาชน
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการศึกษาทบทวนรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยอย่างแท้จริง รัฐบาลนี้จึงสนับสนุนแนวทางการปฏิรูปการเมืองโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีสิทธิเลือกตัวแทนของประชาชนในรูปแบบสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยการสนับสนุนการแก้ไขมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เป็นผู้ทำหน้าที่อิสระในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งประเทศและนำมาพิจารณาเสนอเสนอแนะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมืองโดยภาคประชาชน และเป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญด้วยความเห็นชอบของประชาชนโดยตรงต่อไป ซึ่งรัฐบาลขอให้ความเชื่อมั่นแก่รัฐสภาว่าจะบริหารแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต มีความุ่งมั่นที่จะบริหารประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า ทัดเทียมอารยประเทศ สังคมมีความสามัคคีปรองดอง