xs
xsm
sm
md
lg

รุมสับนักการเมืองจ้องทำลายองค์กรอิสระ-ใช้เล่ห์สารพัดดอง กม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิชา มหาคุณ
ป.ป.ช.รับลูกสอบ “สมชาย-ลูกสาว” แจ้งทรัพย์สินเท็จ ด้าน “วิชา” มั่นใจใช้เวลาไม่นานรู้ผล ขณะที่วงสัมมนาวิชาการรุมสับนักการเมืองจ้องบอนไซองค์กรอิสระทุกวิถีทาง เพื่อขัดขวางไม่ให้ตัวเองถูกตรวจสอบ แฉกฎหมายที่เกี่ยวข้องถูกดองเรียบ

วันนี้ (30 ก.ย.) นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีปัญหาการแสดงบัญชีทรัพย์สินของ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ในช่วงเป็น ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน ว่า ยังไม่ทราบว่ามีการยื่นเรื่องนี้ให้ตรวจสอบหรือยัง เพิ่งทราบจากสื่อมวลชน แต่หากใครสงสัยและยื่นเรื่องมาก็อยู่ในกระบวนการตรวจสอบของ ป.ป.ช.แม้ นายสมชาย จะแสดงบัญชีทรัพย์สินไปแล้วครั้งหนึ่งตอนเข้ามาเป็น ส.ส.สัดส่วน แต่การยื่นบัญชีครั้งนั้นจะเป็นการตรวจสอบแคบ แต่เมื่อเข้ามาเป็นนายกฯได้มีการร้องเรียนเข้ามา ป.ป.ช.ก็ต้องตรวจสอบโดยละเอียดอีกครั้ง และต้องย้อนกลับไปดูการแสดงบัญชีทรัพย์สินตอนเป็น ส.ส.ว่ามีการแตกต่างกันอย่างไร

นายวิชา กล่าวว่า การตรวจสอบไม่ได้ยากลำบาก เจ้าหน้าที่มีความเชี่ยวชาญ สามารถสืบสาวราวเรื่องได้ ซึ่งต้องดูการตรวจสอบของ คตส.และ สตง.ด้วย แม้จะมีการยุบสภาเกิดขึ้นก็หยุดตรวจสอบไม่ได้ จนกว่าการตรวจสอบจะเสร็จสิ้นหรือยุติลง

นายวิชา ยังกล่าวถึงการถือครองหุ้นของ น.ส.ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคพลังประชาชน บุตรสาวนายกฯ ที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ยื่นร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบว่า เจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบเบื้องต้นอยู่ โดยการเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะมีเจ้าหน้าที่สำนักตรวจสอบทรัพย์สินดูแลอยู่ ซึ่งคาดว่า จะใช้เวลาไม่เกิน 30 วัน และขณะนี้ยังไม่มีการตั้งคณะอนุกรรมการ ทั้งนี้ ต้องไปพิจารณาว่า สตง.และ คตส.ได้ตรวจสอบไว้เป็นเช่นใดเพื่อนำมาประกอบการพิจารณา และต้องนำกรณีของ น.ส.ชินณิชา ไปประกอบการพิจารณาในส่วนคำร้องของ นายสมชาย ด้วยหากมีเข้ามา

ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 09.30 น.ที่โรงแรมอมารีวอเตอร์เกท กรุงเทพฯ คณะกรรมาธิการกิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญและติดตามการบริหารงบประมาณ วุฒิสภา จัดสัมมนาเรื่อง “องค์กรตามรัฐธรรมนูญ...ประสานใจ แก้ไขปัญหา” โดยมี ส.ว.ผู้บริหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่ขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เข้าร่วมประมาณ 300 คน มี นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เปิดการสัมมนา

นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 และ ปี 2550 อภิปรายเรื่อง “ภารกิจตามรัฐธรรมนูญ : การแก้ปัญหาของชาติและประชาชน” ว่า องค์กรอิสระเกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ 2540 เนื่องจากระบบการตรวจสอบ คือ รัฐสภา ค่อนข้างล้มเหลว เพราะอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารเกี่ยวพันกันมาตลอด แม้ในทางทฤษฎีจะบอกว่า สองฝ่ายต้องคานกัน แต่ความเป็นจริงของทุกประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภา พบว่า การตรวจสอบฝ่ายบริหารไม่เกิดขึ้น ฉะนั้น จึงสร้างองค์กรอิสระต่างๆขึ้นมา โดยได้แบบอย่างมาจากหลายประเทศ โดยหวังว่า หากระบบตรวจสอบเดินไปได้ รัฐบาลก็จะดำเนินการเพื่อประโยชน์ของประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญ 50 ก็พยายามรักษาองค์กรอิสระไว้ และปรับปรุงโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ให้ดีขึ้น มีอิสระจากฝ่ายการเมือง หรือฝ่ายต่างๆให้มากสุด เพราะที่ผ่านมา องค์กรอิสระล้มเหลว มีปัญหาตั้งแต่ขั้นการสรรหา โดยในอดีตมี 3 กลุ่มเข้ามาสรรหาคือ ศาล นักวิชาการ นักการเมือง ดังนั้น จึงเน้นให้ศาลซึ่งเป็นกลางเข้ามาสรรหา

นายสมคิด กล่าวต่อว่า สถานการณ์ปัจจุบันที่มีความขัดแย้งทางการเมือง ล่าสุด มี 24 อธิการบดีมหาวิทยาลัยเสนอให้มีคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการเมือง และแก้รัฐธรรมนูญ ตนขอให้จับตาว่า ถ้าจะแก้กันจริงก็คงเป็นในปีหน้า ที่ผ่านมา ฝ่ายการเมืองเรียกร้องให้ลดการควบคุมฝ่ายการเมืองให้น้อยลง ขณะที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 50 เห็นต่างไปโดยมองว่า อำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระของรัฐธรรมนูญปี 40 ดีพอสมควร และ ปี 50 ก็ทำให้เข้มแข็งและชัดเจนขึ้น เช่น เรื่องใบแดงใบเหลือง ก็ให้ศาลเข้ามาตัดสิน ป.ป.ช.มีบทบาทสำคัญเรื่องถอดถอน หรือให้อำนาจกรรมการสิทธิมนุษยชน ฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้หรือเป็นผู้เสียหายได้ และเพิ่มการตรวจสอบการทำงานขององค์กรอิสระโดยศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ

“เราอยู่ในสถานการณ์ที่มีคนต้องการแก้รัฐธรรมนูญ มีคนต้องการลดอำนาจองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีคนไม่เห็นด้วยกับการควบคุมคุณธรรมจริยธรรม หรือไม่เห็นด้วยกับการไปฟ้องศาลเพื่อตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร หรือไม่เห็นด้วยกับปรับเปลี่ยนอำนาจหน้าที่ขอองค์กรอิสระที่ทำให้ทำงานอย่างเข้มแข็งในรอบปีที่ผ่านมา ผมจึงอยากฝากว่า สำหรับทิศทางการตรวจสอบฝ่ายบริหาร เราเดินมาถูกทิศทางแล้ว องค์กรอิสระน่าจะเป็นที่พึ่งของสังคมไทยได้ ฉะนั้นการดำเนินการใดกับองค์กรอิสระขอให้ช่วยกันจับตา” นายสมคิด กล่าว

นายปกครอง สุนทรสุทธิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า กกต.ทำหน้าที่โดยยึดกฎหมาย โดยเฉพาะการให้ใบเหลืองใบแดงที่ให้กับนักการเมือง ยืนยันว่า ได้พิจารณาไปตามกระบวนการที่ได้รับมอบอำนาจจากประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ด้วยความเที่ยงธรรม อยากให้สังคมตระหนักว่า สิ่งที่ กกต.และองค์กรตามรัฐธรรมนูญดำเนินการ ได้ตระหนักถึงหน้าที่ความรับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม ในสังคมประชาธิปไตยมีความคิดเห็นที่แตกต่างและหลากหลาย ต้องใช้ความอดทน รับฟังและยอมรับผลการพิจารณาคดีต่างๆ ที่ออกมาด้วย

นายปราโมทย์ โชติมงคล ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า อำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจฯ มีการปรับปรุงโดยเน้นการรับเรื่องของประชาชนที่ได้รับความไม่เป็นธรรมและประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อแก้ไข และเพิ่มหน้าที่ตรวจสอบการทำงานขององค์กรอิสระด้วยกันเอง รวมถึงการติดตามการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ เช่น ทำไมลงนามในสัญญากับกัมพูชาแล้วไม่ผ่านรัฐสภาตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 190 บัญญัติ หรือการไม่ชี้แจงหุ้น ผู้ตรวจฯก็ติดดามอยู่ นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่ติดตามจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงส่งเสริมเรื่องจริยธรรมกับประชาชน เพราะสังคมมีปัญหาในเรื่องดังกล่าว วันนี้บ้านเมืองมี 2 ซีก คือ ผ้าเหลือง กับผ้าแดง ถ้ามีจิตสำนึก ความขัดแย้งจะหายไปเยอะ แต่นี่จะเอาชนะกันให้ได้ หรือการเลือกตั้งที่ผู้มีทุนทรัพย์มากกว่าก็ชนะตลอด หรือการปล่อยให้คนไม่ดีไปร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะหาช่องตีความเข้าข้างตัวเองสร้างปัญหาไม่สิ้นสุด ฉะนั้น ตนคิดว่าต้องมี หิริโอตตัปปะ จะทำให้คนมีสติรอบคอบขึ้น นักการเมืองต้องมี 2 พ.คือ พอในความเป็นอยู่ ลาภยศ และ พร้อมที่จะช่วยส่วนรวม และมีความเสียสละ

ด้าน นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช..) กล่าวว่า กรรมการองค์กรอิสระหลายองค์กรที่เป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ 50 เป็นที่น่าชังของรัฐบาล เพราะได้ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารอย่างเข้มข้น ทั้งนี้สถานการณ์การทุจริตคอรัปชั่นของประเทศไทยไม่ได้ลดลง แต่ร้ายแรงและระบาด การจัดเรทติ้งเรื่องการคอร์รัปชันขององค์กรระหว่างประเทศ อย่าง เพิร์ค ในปี 49-50 ไทยมีอันดับแย่ลงได้คะแนนอยู่ที่ 7-8 จุด โดย 0 คือ โปร่งใสสุด 10 คือ เลวร้ายสุด ส่วนองค์กรเพื่อความโปร่งใสให้ไทย 3.5 จากโปร่งใสสุดคือ 10 เรทนี้เป็นการจัดของนักธุรกิจที่จะมาลงทุน หมายความว่า ถ้าจะลงทุนในประเทศไทยก็ต้องหิ้วกระเป๋าพิเศษมาด้วย

นายวิชา กล่าวต่อว่า ลักษณะการทุจริตที่พบ คือ 1.ทุจริตเชิงนโยบายโดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พอป.ป.ช..ตรวจ นักการเมืองจึงเกลียดชัง ป.ป.ช.ตื่นมาก็แช่งหักกระดูก 2.ทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ คือ ราชการยอมตามใจผู้มีอำนาจเนื่องจากกลัวจะหลุดจากตำแหน่งหรือต้องการได้ตำแหน่งที่สูงขึ้น ป.ป.ช.พบว่า ข้าราชการที่ช่วยเหลือได้รับการอวยตำแหน่ง 3.ทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง พบว่า มีการขาดการเอาใจใส่ในการใช้ระเบียบพัสดุ และยังมีการเอาพวกพ้องเข้ามารับงานถือว่า ผิดกฎหมายฮั้ว 4.ทุจริตในการให้สัมปทาน ให้กับกลุ่มบุคคลใดกลุ่มบุคคลหนึ่ง 5.ทุจริตโดยการทำลายระบบตรวจสอบอำนาจรัฐ และมีการแทรกแซง 6.การขัดกันแห่งผลประโยชน์ หรือผลประโยชน์ทับซ้อน อันนี้เรื่องใหญ่สุด อาจเปรียบเทียบว่า บุคคลจะรับใช้ซาตาน และพระเจ้า ในเวลาเดียวกันไม่ได้ พอ ป.ป.ช.มาตรวจเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่อยู่ในใจของคน อย่าง กรณีรายการชิมไปบ่นไป คนสงสัยว่า แค่นี้ผิดด้วยหรือ ตนถือว่า เป็นการชิมลางระหว่างซาตานกับพระเจ้า แม้วิธีคิดเหล่านี้จะไม่ปรากฏในสาระบบของตะวันออก แต่ในประเทศตะวันตกถือเรื่องนี้สำคัญมาก ถ้าจะก้าวไปเรตติ้งความโปร่งใสดีให้ได้ ก็ต้องแยกให้เป็นระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม

นายวิชา กล่าวอีกว่า ความรุนแรงของการทุจริตคอร์รัปชัน อาจเรียกว่าถึงขั้น ฉ้อฉล เพราะทำกันทุกวงการทุกหย่อมหญ้า และแก้ยาก คนมักคิดว่า “โกงช่างมัน ขอให้มันทำงานได้ก็แล้วกัน” นี่คือ รากเหง้าของความชั่วร้ายทั้งปวง นอกจากนี้ การยิ่งมีอำนาจยิ่งมีปัญหาเกี่ยวกับทุจริตคอรัปชั่น มีการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม ฉะนั้นเรื่องพวกนี้แยกออกไม่ได้เลยกับเรื่องจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งนี้ในโลกมีระบบจริยธรรม 2 ระบบ คือ 1.จริยธรรมอยู่ในจิตใจ หากทำผิดก็ถูกติเตียน อันนี้ใช้กับสังคมที่จิตใจดี ไม่หน้าด้าน ผิดก็ลาออกเอง เช่น อังกฤษ 2.ระบบที่เห็นว่า จริยธรรมเป็นของร้ายแรง ถ้าผิดก็ถือว่าผิดอาญาด้วย อย่างสหรัฐฯ มีคนติดคุกจากประเด็นนี้เป็นทิวแถว ทั้งนี้ พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัส อย่าให้คนไม่ดีเข้ามาปกครองบ้านเมือง ฉะนั้นต้องวางระบบปราบปรามอย่างเข้มงวด จริงจัง ดำเนินการถึงที่สุด แต่ตอนนี้ก็รับว่า ป.ป.ช.ยังช้าอยู่ เพราะคดีมากท่วมหัว ป.ป.ช. ชุดนี้เข้ามาเจอคดีที่ค้างเป็นหมื่นคดี ตอนนี้เหลือ 4 พันคดี คดีที่สำคัญ จะเสร็จไม่เกิน 2 เดือนนี้ นอกจากนี้ 1 ใน 3 ของคดีทั้งหมด คือ ทุจริตในองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น คนพวกนี้ เหมือนสามล้อถูกหวย และคิดว่า ไม่เอาพวกตัวเองแล้วจะเอาหมาที่ไหนมาทำ ฉะนั้นต้องวางระบบใหม่ เพราะคนเหล่านี้ต่อไปก็จะเข้ามาเป็นนักการเมืองระดับชาติ หิ้วกระเป๋าตามกันเข้ามา ซึ่งคิดว่า หาก ป.ป.ช.ตรวจสอบ คงฟันได้หมด 3 พันกว่าแห่ง

“ขณะนี้ปัญหาเรื่องกลไกการทำงานขององค์กรอิสระคือ บรรดาพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญขององค์กรอิสระต่างๆ ตอนนี้ได้ข่าวว่าถูกเพ่งเล็งจากฝ่ายการเมือง และจะถูกคว่ำหมด เพราะมีนักการเมืองมากระซิบ มาส่งสัญญาณกับผมว่า กฎหมายขององค์กรอิสระไม่ผ่านแน่ ดูสัญญาณจากการโหวตคว่ำร่างพ.ร.บ.ประกอบฯ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรืออย่างร่างพ.ร.บ.ประกอบฯว่าด้วย ป.ป.ช. ก็โดนดึงเรื่อง มีการอ้างว่า ต้องให้นายกฯอนุมัติเพราะเป็นกฎหมายการเงิน ตอนนี้ ป.ป.ช.ก็คงต้องท้วงไปทางศาลรัฐธรรมนูญ” นายวิชา กล่าว

นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า ร่องรอยในการแทรกแซงองค์กรอิสระหาไม่ยาก ดูจาก คตง.คนหนึ่ง พ้นจากตำแหน่ง วันนี้ก็ไปเดินตามนักการเมือง หรือ กรรมการป.ป.ช.คนหนึ่งที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขึ้นเงินเดือนตนเอง วันนี้ก็ได้เป็นบอร์ดองค์การมหาชน สตง.ก็ทักท้วงไปแล้ว เพราะรัฐวิสาหกิจเป็นหน้าเป็นตา แต่การทำอย่างนี้ถือว่า ไม่มีธรรมาภิบาล ทั้งนี้สตง.พยายามรักษาเงินแผ่นดินไม่ให้เสียหาย แต่วันนี้ก็เป็นการกินกันเชิงนโยบาย มีการบวกเข้าไปเสร็จสรรพแล้ว ฮั้วกันตั้งแต่ต้น มีเจ้าหน้าที่รับไปเอี่ยว มีการใส่เงินทอนไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว เป็นวงจรอุบาทว์ ถ้าไม่จับมือรับลูกกันระหว่างองค์กรอิสระจะจับทุจริตไม่ได้ ปัญหาคอร์รัปชั่นจะไม่หมดไป

นายพิศิษฐ์ กล่าวต่อว่า ในการพิจารณางบประมาณของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2552 หน่วยงาน 3 แห่งคือ กกต. ป.ป.ช. สตง.เข้าไปชี้แจง ใช้เวลาไม่นานที่ประชุมบอกไม่มีปัญหา ให้ความเห็นชอบแล้ว แต่กลับไปยังไม่ถึงสำนักงาน ถูกเรียกตัวกลับให้ไปชี้แจงใหม่ โดยระบุว่าประธานคณะกรรมาธิการฯ ตัวจริงมาแล้ว ตอนแรกที่ให้ผ่านงบนั้นเป็นประธานตัวสำรอง และให้รอถึง 2 ทุ่ม แล้วออกมาบอกว่าพิจารณาไม่ทันแล้ว ให้ไปพิจารณต่อในวันอาทิตย์ ปรากฏว่า รอจน ตี 2 ถึงได้ชี้แจง กว่าจะให้ผ่านต้องรอถึง ตี 4 ฐานเป็นองค์กรอิสระ ต้องลงโทษหน่อย

นายโคทม อารียา ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า องค์กรตามรัฐธรรมนูญมีหน้าที่เหมือนเป็นอำนาจที่ 4 ที่ไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และ ตุลาการ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัจจุบันที่มีความขัดแย้งสูงมีความเห็นที่แตกต่างกันนั้น สภาที่ปรึกษาอยากมีบทบาทใน 2 ส่วน คือ 1.ในการสร้างสมานฉันท์เพื่อลดความขัดแย้งนำไปสู่การเมืองใหม่ และ2.เชิญชวนองค์ตามรัฐธรรมนูญมาร่วมมีวิสัยทัศน์ร่วมกันเพื่อทำให้วิสัยทัศน์ดังกล่าวเป็นจริง เพราะสภาที่ปรึกษาเน้นบทบาทการมีส่วนร่วมให้เป็นสาธารณะและการทำการเมืองที่สร้างสรรค์ให้เกิดขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น