xs
xsm
sm
md
lg

“มติชน” เสนอบทความ แจงข้อแตกต่าง การเป็นลูกจ้างของ “หมัก” และ “จรัญ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจรัญ ภักดีธนากุล
หลัง “สามเกลอหัวดื้อ” โจมตี “จรัญ ภักดีธนากุล” ผ่าน NBT ว่า ไปเป็นลูกจ้างสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย ควรมีความผิดเช่นเดียวกับ “หมัก” ที่เป็นลูกจ้างจัดรายการ “ชิมไปบ่นไป” - “มติชน” ได้เสนอบทความ ชี้แจงความเหมือนที่แตกต่าง ระบุชัด การสอนหนังสือของ “จรัญ” ถือเป็นงานบริการสาธารณะ แต่การเป็นพิธีกรของ “หมัก” ถือเป็นการทำธุรกิจ แนะ หากสังคมมีข้อสงสัยควรเข้าชื่อกันส่งเรื่องให้ศาลวินิจฉัย

จากกรณีที่ “ความจริงวันนี้” ทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ที่ดำเนินรายการโดย นายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ได้นำเสนอข้อมูลว่า นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการรัฐธรรมนูญ ได้ไปรับจ้างสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งน่าจะเข้าข่ายความผิดเดียวกับ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ที่ไปเป็นผู้ดำเนินรายการ “ชิมไปบ่นไป” และ “ยกขโยงหกโมงเช้า” ของบริษัท เฟซ มีเดีย จึงเรียกร้องให้ นายจรัญ ออกมาชี้แจงเรื่องดังกล่าว พร้อมท้าทายว่าหากชี้แจงไม่ได้ก็ควรลาออกจากตำแหน่งไปเสีย

วันนี้ (12 ก.ย.) เว็บไซต์มติชนออนไลน์ เสนอบทความ “จากคดี ชิมไปบ่นไป ถึง จรัญ ภักดีธนากุล เป็นอาจารย์พิเศษ ม.เอกชน ต้องพ้นเก้าอี้ศาล รธน.หรือไม่” โดยเนื้อหาในบทความได้ อธิบายว่า ข้อต้องห้ามของตุลาการรัฐธรรมนูญ ในเรื่องของการเป็นลูกจ้างคือ

- ไม่เป็นพนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือไม่เป็นกรรมการ หรือที่ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ
- ไม่ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์การที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด (ข้อความเช่นเดียวกับมาตรา 267 ที่นายสมัคร กระทำผิด)

บทความดังกล่าวอธิบายเพิ่มเติมว่า ในกรณีคดี “ชิมไปบ่นไป” ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยประเด็นที่ บริษัท เฟซ มีเดีย มีความสัมพันธ์กันอย่างยาวนานหลายปี ระหว่าง นายสมัคร กับบริษัทในเชิงธุรกิจ ตั้งแต่ก่อนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีก รวมทั้งการได้รับค่าตอบแทนอย่างสมฐานะ และภารกิจกล่าวคือ ได้ค่าตอบแทนเดือนละ 80,000 บาท และเมื่อดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ยังคงทำงานในลักษณะดังกล่าวต่อไป เพียงแต่เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเท่านั้น ทั้งนี้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตอนหนึ่งระบุว่า

“การทำให้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญดังกล่าวบรรลุผล จึงไม่ใช่แปลความคำว่า “ลูกจ้าง” ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 เพียงหมายถึงลูกจ้างตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน หรือตามกฎหมายภาษีอากรเท่านั้น เพราะกฎหมายแต่ละฉบับย่อมมีเจตนารมณ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งแตกต่างกันไปตามเหตุผล และการบัญญัติกฎหมายนั้นๆ ทั้งกฎหมายดังกล่าวก็ยังมีศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ และยังมีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันการกระทำที่เป็นการกระทำขัดกันแห่งผลประโยชน์แตกต่างจากกฎหมายดังกล่าวอีกด้วย มิฉะนั้น ผู้เป็นลูกจ้าง หรือผู้ที่รับจ้างรับค่าจ้างเป็นรายเดือนในลักษณะสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีก็สามารถทำงานต่อไปได้ โดยเปลี่ยนค่าตอบแทนจากค่าจ้างรายเดือน มาเป็นสินจ้างตามการทำงานที่ทำ เช่น แพทย์เปลี่ยนจากเงินเดือนมาเป็นค่ารักษาตามจำนวนคนไข้ ที่ปรึกษากฎหมายก็เปลี่ยนจากเงินเดือนมาเป็นค่าปรึกษา หรือค่าทำความเห็นมาเป็นรายครั้ง ซึ่งก็ยังผูกพันกันในเชิงผลประโยชน์กันอยู่ระหว่างเจ้าของกิจการกับผู้ที่รับทำงานให้ เห็นได้ชัดเจนว่ากฎหมายย่อมไม่มีเจตนารมณ์ให้หาช่องทางหลีกเลี่ยงให้ทำได้โดยง่าย”

ซึ่งสำหรับกรณีนี้ บริษัท เฟซ มีเดีย กับ มหาวิทยาลัยของรัฐ และมหาวิทยาลัยเอกชน ก็มีสถานะและวัตถุประสงค์แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยบริษัท เฟซ มีเดีย เป็นองค์การธุรกิจที่แสวงหากำไร ขณะที่มหาวิทยาลัยรัฐ และมหาวิทยาลัยเอกชน มิใช่องค์การธุรกิจที่แสวงกำไรตามกฎหมาย นอกจากนั้น งานพิธีกรรายการทีวีเป็นธุรกิจเต็มรูปแบบ ขณะที่งานสอนหนังสือเป็นการบริการสาธารณะอย่างหนึ่ง

แม้กรณีของ นายสมัคร และ นายจรัญ อาจมีข้อเท็จจริงและองค์ประกอบแตกต่างกันในหลายประเด็น แต่เมื่อมีข้อสงสัยในเรื่องดังกล่าว และเพื่อดำรงความน่าเชื่อและศรัทธาของศาลรัฐธรรมนูญต่อสาธารณชน ศาลรัฐธรรมนูญจึงควรทำเรื่องนี้ให้กระจ่าง หรือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ประชาชน ที่สงสัยว่า พฤติการณ์และการกระทำของนายจรัญขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ สามารถเข้าชื่อกันยื่นต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้วินิจฉัยหรือถอดถอนนายจรัญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270-271 ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น