ศาล รธน.นัดชี้ชะตา “หมัก” ชิมไปบ่นไป ขัด รธน.หรือไม่ บ่าย 2 วันนี้ ด้านนักวิชาการชี้คำวินิจฉัยศาลแค่ช่วยคลี่คลายสถานการณ์ได้บางส่วน แต่ไม่ยุติปัญหา เหตุ “สมัคร” ยังมีสถานะเป็น ส.ส. และคาดว่าจะได้รับโหวตกลับมาเป็นนายกอีกรอบ ด้านคนใกล้ชิด “หมัก” เชื่อไม่รอดดาบ ศาล รธน. “เลี้ยบ” เผยยังไม่หานายกฯ คนใหม่รองรับ รอศาลชี้ขาดก่อน
วานนี้ (8 ก.ย.) คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นำโดยนายชัช ชลวร ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกนั่งบัลลังก์ ไต่สวนนัดสุดท้าย โดยเป็นการรับฟังคำชี้แจงจากนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม และนายศักดิ์ชัย แก้ววรรณีสกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท เฟซ มีเดีย ในกรณีที่ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของสมาชิกวุฒิสภา และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความสิ้นสุดการเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 ประกอบมาตรา 182 ( 7) ของนายสมัคร อันเนื่องจากเป็นพิธีกรรายการ “ชิมไปบ่นไป” และ “ยกโขยง 6 โมงเช้า” ซึ่งนายสมัครเดินทางมาถึงศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่เวลา 09.00 น.ก่อนเวลานัดไต่สวนและไม่ให้สัมภาษณ์ใด หลังจากที่ก่อนหน้านี้นายธนา เบญจาธิกุล ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายสมัคร ระบุว่าจะทำหนังสือขอเลื่อนการไต่สวนเนื่องจากนายสมัครติดภารกิจ
ทั้งนี้ การไต่สวนครั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจากนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และคณะส.ว.ที่เข้าชื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ พ.อ.สันธิรัตน์ มหัทธนชาติ เลขาอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงของ กกต. และนายธนาจะเข้าร่วมแล้ว นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังเข้าร่วมนั่งฟังการไต่สวนในบริเวณที่นั่งของ ส.ว.ที่เป็นผู้ร้องด้วย
และเมื่อเริ่มกระบวนการไต่สวนก่อนเบิกความ นายสมัครได้กล่าวปฏิญาณว่า “ข้าพเจ้าจะให้การสัตย์จริงทุกประการ” จากนั้นนายธนาได้ซักถามนายสมัครทั้งในเรื่องค่าตอบแทนที่ได้รับจากรายการมีการเรียกร้องหรือไม่ การที่เคยระบุว่าได้รับเงินเดือน 1 แสนบาทเป็นค่ารับรอง เงินดังกล่าวมีลักษณะเป็นเงินเดือนหรือไม่ เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารงานของบริษัท เฟซ มีเดีย หรือไม่ และเมื่อรับตำแหน่งนายกฯแล้วเคยมีการหารือเรื่องนี้และยังรับค่าตอบแทนหรือไม่ โดยนาย สมัคร ชี้แจงว่า เริ่มทำรายการตั้งแต่สมัยเป็นผู้ว่าฯกทม. ค่าตอบแทนไม่เคยเรียกร้อง และไม่เคยมีเงินเดือน เพราะไม่ได้ทำติดต่อกัน การทำรายการเป็นการบันทึกเทปโดยเดือนหนึ่งทำการบันทึก 4 ครั้งสามารถออกอากาศได้ 4 ตอนใช้ได้1เดือน แต่จะได้ค่ารถ ค่าน้ำมันและค่าจ่ายกับข้าว โดยช่วงหนึ่งขณะเป็นผู้ว่าฯกทม.มีการตำหนิถึงเรื่องดังกล่าวก็หยุดดำเนินการ ทางบริษัทก็เอาเทปเก่ามาออกอากาศและก็ไม่ให้เงิน ส่วนการบริหารบริษัทฯไม่เคยยุ่ง เพราะเป็นคนนอก นอกจากนี้ก่อนเลือกตั้ง 23 ธ.ค.50 เคยสอบถามนักกฎหมายได้รับคำตอบว่า เป็นเรื่องการของการรับจ้างไม่ใช่ลูกจ้างเพราะในข้อบังคับห้ามเป็นลูกจ้าง แต่ก็ได้แจ้งบริษัทฯให้หาคนทำแทน เพราะเมื่อมาอยู่ในตำแหน่งนี้ก็ไม่ควรเป็นพิธีกรต่อ
“ค่าตอบแทนไม่เคยเรียกร้อง ผมเข้ารับมาตำแหน่งนายกฯ เมื่อวันที่ 6 ก.พ. หลังจากนั้นพอมีคนท้วงติงก็ยุติ ไม่เคยคิดว่ามันจะรุนแรงมาถึงขนาดนี้ ผมทำรายการเพราะผมชอบเท่านั้น และคิดว่าเป็นประโยชน์กับผู้คน ผมมีความภาคภูมิใจว่าผมเป็นคนทำให้คนรู้จักคนทำกับข้าว”
ขณะที่การซักค้านของนายเรืองไกร ในหลายประเด็น อาทิ มีการทำเมนู “ข้าวผัดพันธมิตร” ในวาระครบรอบรายการชิมไปบ่นไป 7 ปี ใช่หรือไม่ เหตุการณ์หกล้มคิ้วซ้ายแตกระหว่างบันทึกรายการ “ยกโขยง 6 โมงเช้า” ที่ จ.สิงห์บุรี หรือการตั้งข้อสังเกตว่า เกี่ยวกับการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายร้อยละ 5 หรือประมาณ 1 แสนบาท ที่ถือว่าสูงมากกว่าคนอื่น เพราะนายสมัครมีความสำคัญต่อการทำรายการของบริษัท เฟซฯ ก็สร้างความหงุดหงิดให้กับนายสมัครค่อนข้างมาก โดยนายสมัคร กล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า ตนไม่ได้ทำเมนูข้าวผัดพันธมิตร แต่บริษัทฯ เชิญสปอนเซอร์ไปทำข้าวผัดและให้ตนเป็นคนไปชิมว่าของใครอร่อย ส่วนเรื่องหกล้มคิ้วแตก ก็เป็นข่าวรู้กันทั้งบ้านทั้งเมืองแล้วมันเป็นอย่างไร ส่วนเรื่องเสียภาษี เหตุมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ภาษีพวกนี้ ตอนที่เป็นนายกฯเมื่อวันที่ 6 ก.พ.แล้วมันมีไหม ก่อนหน้านั้นมันเกี่ยวอะไรกับตน ตนไม่มีสถานะให้ต้องพิจารณา ตนจะไปทำอะไรและจะไปได้อะไรขนาดไหน ไม่ได้เกี่ยวข้อง คุณต้องพิสูจน์สิว่าหลังจากวันที่ 6 ก.พ.แล้วตนยังไปมีรายได้มากมายหรือไม่”
นายสมัคร ยังได้ชี้แจงกรณีเชิญนายนายวิศิษฐ์ ลิ้มปะนะ เจ้าของบริษัท ง่วนสูน ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนรายการมาออกรายการ จนมีข้อสังเกตว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการผลักดันให้นายวิศิษฐ์เป็นบอร์ดของการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่า ยอมรับว่าพวกผู้สนับสนุนรายการได้รับเชิญมาทั้งนั้น ตนก็แนะนำไปธรรมดาว่าอะไรน่าใช้บ้าง มีความเป็นมาอย่างไรเกี่ยวกับอาหารการกิน แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับที่กล่าวหาตนว่าไปตั้งเป็นบอร์ดการบินไทย เพราะมีหลักฐานว่าสภาอุตสาหกรรมเลือกเขาเข้ามา เขามีหลักฐานว่าสภาอุตสาหกรรมเลือกเขามา
“ผมยืนยันและสาบานไว้ตรงนี้ด้วยว่าไม่เคยเรียกร้องอะไรเลย ถ้าผมไปเรียกร้องอะไรเขาละก็ ขออย่าให้ผมมีความเจริญ ขอให้บรรลัยวายวอดไปก็แล้วกัน แต่หากผมไม่ได้ทำอย่างนั้นต้องให้ผมมีความเจริญรุ่งเรือง” นายสมัครกล่าว
จากนั้นได้มีการไต่สวนนายศักดิ์ชัย โดยให้การยืนยันว่า ไม่เคยรู้จักนายสมัครเป็นการส่วนตัวก่อนหน้าที่จะมีการติดต่อให้เป็นพิธีกรรายการซึ่งเริ่มดำเนินรายการในปี 2543 และนายสมัครเองก็ไม่เคยไปที่บริษัท หรือรู้ที่อยู่ของบริษัท เพราะการอัดรายการจะใช้สตูดิโอเป็น ซึ่งค่าตอบแทนที่ให้คิดในอัตราลักษณะนักแสดงและพิธีกรรับจ้างทั่วไป จนกระทั่งเมื่อนายสมัครดำรงตำแหน่งผู้ว่ากทม.ก็ยุติไปช่วงหนึ่ง และนำเทปรายการเก่ามาตัดต่อก็สามารถออกอากาศไปได้ประมาณ 7-8 เดือน และเมื่อนายสมัครพ้นจากตำแหน่งผู้ว่ากทม.ก็กลับมาจัดรายการต่อ จนช่วงใกล้จะมีการเลือกตั้ง 23 ธ.ค. 50 ตนได้ทำหนังสือในวันที่ 15 ธ.ค. 50 สอบถามนายสมัคร ว่าจะทำหน้าที่พิธีกรต่อไปได้หรือไม่ ซึ่งนายสมัครทำหนังสือตอบกลับมาว่า ได้ให้ฝ่ายกฎหมายดูแล้ว สามารถทำได้ เพราะเป็นในลักษณะรับจ้าง ไม่ใช่ลูกจ้างตามที่รัฐธรรมนูญห้ามไว้ แต่จะไม่รับค่าตอบแทนใดๆ ซึ่งทางบริษัทก็ได้จ่ายเป็นค่าน้ำมันให้กับคนขับรถของนายสมัคร โดยคิดค่ารถเป็นกิโลเมตรหารเฉลี่ยค่าน้ำมันไปกลับ และบวกเพิ่มอีก 10- 15 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งค่าจ่ายกับข้าว อย่างไรก็ตามไม่เคยสอบถามคนขับรถของนายสมัครว่าได้นำเงินไปให้นายสมัครหรือไปใช้จ่ายอะไรหรือไม่
นายศักดิ์ชัย กล่าวอีกว่า หลังจากนายสมัครดำรงตำแหน่งนายกฯ ก็มีการอัดรายการชิมไปบ่นไปและยกโขยง 6 โมงเช้าอีกประมาณ 2-3 ครั้ง รวมทั้งในวันที่ 16 ก.พ.51 ที่อัดรายการที่บ้านพักของนายสมัคร แต่เทปดังกล่าวก็ไม่ได้ออกอากาศ จนกระทั่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์นายสมัครจึงบอกยกเลิกการเป็นพิธีกร และไม่ให้นำเทปที่อัดไว้ออกอากาศ ส่วนการหาผู้สนับสนุนรายการนั้น บริษัทฯ ไม่ได้นำสถานะความเป็นนายกฯของนาย สมัคร ไปหาโฆษณา แต่สัญลักษณ์ของรายการที่เป็นรูปการ์ตูนพ่อครัวจมูกชมพู่ เป็นการแสดงถึงตัวตนของนายสมัครในทางส่วนตัว ไม่ใช่ในฐานะนายกฯ
“ที่ระบุในเอกสารการหาโฆษณาว่าพิธีกรเป็นนายกฯนั้น ก็เพื่อจะให้เกียรติ ไม่ได้หวังว่าจะใช้ฐานะนายกฯมาหาโฆษณา เพราะรายการมีเวลาออกอากาศ 30 นาที สามารถมีโฆษณาได้เพียง 5 นาทีเท่านั้น เจ้าของสินค้าที่ลงโฆษณาจะคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายที่ดูรายการมากกว่า อย่างเช่นผู้ประกอบการรถยนต์ คงไม่มาลงโฆษณาในรายการทำอาหาร เพราะเสียเงินเปล่า และการจัดงานอิ่มอร่อยทั่วไทยที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์ รวมทั้งจัดงานครบรอบ 7 ปีรายการชิมไปบ่นไป ที่นายสมัครไปเป็นประธานเปิดงาน ก็เป็นการเชิญในฐานะนายกฯ ไม่ว่าใครจะเป็นนายกฯบริษัทก็พร้อมจะเชิญไปเป็นเกียรติอยู่แล้ว”
ขณะที่คณะตุลาการ ได้สอบถามในหลายประเด็น อาทิ ใครเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายค่าลิขสิทธิ์รายการ สัญลักษณ์ของรายการที่เป็นรูปการ์ตูนพ่อครัวจมูกชมพู่ รวมทั้งข้อเท็จจริงในการจ่ายเงินค่าตอบแทนให้นายสมัคร เนื่องจากในเอกสารตอบกลับรับทำรายการของนาย สมัคร ระบุว่า “จะทำรายการให้โดยจะไม่รับค่าน้ำมันอย่างที่เคย” จึงต้องการทราบว่าก่อนหน้านี้เคยจ่ายค่าน้ำมันให้หรือไม่ โดยนาย ศักดิ์ชัย ยืนยันว่า ก่อนหน้าที่นายสมัครจะเป็นนายกฯได้จ่ายค่าเป็นพิธีกรในรูปแบบของนักแสดงหรือพิธีกรรับจ้างเท่านั้น ไม่เคยให้เป็นค่าน้ำมัน ซึ่งการระบุในเอกสารของนายสมัครน่าจะเป็นความเข้าใจผิด
ทั้งนี้ การไต่สวนสืบพยานทั้ง 2 ปากใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง จากนั้นคณะตุลาการฯได้มีการประชุมหารือกันประมาณ 15 นาที และนายชัช ได้อ่านคำสั่งศาล นัดคู่กรณีฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 9 ก.ย เวลา 14.00 น.
ด้าน นายเรืองไกร กล่าวหลังการไต่สวน แสดงความพอใจในการตอบคำถามของนายสมัคร ที่เอาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายมาพูด และพร้อมยอมรับคำวินิจฉัยของศาลไม่ว่าจะเป็นอย่างไร หากศาลฯวินิจฉัยว่านายสมัครไม่ผิดก็จะไม่ติดใจขุดคุ้ยอะไรต่อไป แต่หากผิด และต้องพ้นจากตำแหน่ง ก็เป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎรที่จะพิจารณาเลือกนายสมัครกลับไปเป็นนายกฯอีกหรือไม่
ส่วน นายธนา ก็กล่าวแสดงความมั่นใจว่าจากการไต่สวนไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่านายกฯไปดำรงตำแหน่งใด หรือเป็น ลูกจ้างบริษัทเอกชน และพร้อมที่จะเคารพคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะออกมาไม่ว่าจะเป็นอย่างไร หากเห็นว่านายสมัครกระทำผิด ก็เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนที่จะเสนอผู้สมควรเป็นนายกฯ ต่อไป แต่ตำแหน่ง ส.ส.ของนายสมัครก็ยังคงอยู่ ส่วนที่นายสมัครเปลี่ยนใจมาชี้แจงต่อคณะตุลาการฯด้วยตนเองก็เพราะต้องการให้เรื่องจบ ถ้าไม่มา บางทีคนที่จะวินิจฉัยก็ไม่รู้จะเอาข้อเท็จจริงตรงไหน หากจะจับเอาข้อเท็จจริงในเอกสารก็อาจจะคลาดเคลื่อนจากเรื่องที่เจ้าตัวรู้ดีที่สุด
ขณะเดียวกัน มีความเห็นจากนักวิชาการต่อสถานการณ์ที่จะตามมา โดยนายบรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายสมัครกระทำการขัดรัฐธรรมนูญ ก็จะทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ และทำให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะสิ้นสภาพไปโดยปริยาย แต่นายสมัครจะยังคงมีสถานะเป็นส.ส.อยู่ ไม่เหมือนกับที่กระทำผิดในเรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สินต่อป.ป.ช.ที่จะมีบทลงโทษเป็นการถูกตัดสิทธิทางการเมืองด้วย ซึ่งเมื่อความเป็นส.ส.ของนายสมัครยังอยู่ก็ขึ้นอยู่กับพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 6 พรรคว่าจะมีการซาวเสียงเลือกนายสมัครกลับเข้ามาเป็นนายกอีกหรือไม่
“ดังนั้น ถ้ามองภาพที่จะเกิดขึ้นก็ต้องบอกว่าหากศาลฯมีคำวินิจฉัยว่าคุณสมัครขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งก็อาจจะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ได้บ้างเท่านั้น เพราะปัญหามันก็จะยังคงอยู่ ถ้าไม่มีการซาวเสียงกันใหม่ โดยคุณสมัครเลือกหนทางยุบสภาก่อนศาลฯจะอ่านคำวินิจฉัย หนทางก็จะเดินไปสู่การเลือกตั้งซึ่งพรรคพลังประชาชนก็น่าจะได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาอีก แล้วก็จะเกิดปัญหาวนซ้ำอย่างที่เป็นอยู่ขณะนี้ขึ้นมาอีกเหมือนเดิม และผมก็เห็นแนวโน้มที่มันจะเดินไปในลักษณะนี้ ทั้งที่ความจริงมันควรจะปฏิรูปการเมืองจัดโครงสร้างอำนาจรัฐเสียใหม่ก่อนก็ตาม”
ด้าน นายคมสัน โพธิคง อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า กฎหมายไม่ได้ห้ามโหวตคุณสมัครกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง เพราะในเมื่อสถานะความเป็นส.ส.ของคุณสมัครยังคงอยู่ แต่คุณสมัครก็ควรจะรู้ว่าตัวเองไม่ควรกลับมาเป็นนายกอีกเพราะมันมัวหมอง ซึ่งสิ่งที่ตนอยากเห็นก็คือในสภาฯพรรคร่วมรัฐบาลควรจับขั้วการเมืองเสียใหม่ แต่ก็รู้ว่าสิ่งที่อยากเห็นนั้นยากที่จะเกิดขึ้นจริง เพราะ ปัญหามันไมได้อยู่ที่คนที่นี่ แต่มันขึ้นอยู่กับคนที่อยู่ที่ลอนดอน
“ผมคิดว่าภาพที่จะมันเกิดขึ้นก็คือ พรรคพลังประชาชนก็จะยังดึงพรรคร่วมรัฐบาลไว้อยู่และเมื่อซาวเสียงในสภาคุณสมัครก็จะยังได้เป็นนายกฯเหมือนเดิม เพราะเขาต้องการให้เกิดความวุ่นวาย ต้องการให้ทหารเข้ามา ต้องการล้มรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ถ้าคุณสมัครไม่เอา ซึ่งก็คิดว่ายากมาก พรรคร่วมรัฐบาลก็จะยังสนับสนุนพรรคพลังประชาชน คนอื่นที่จะมาเป็นนายก ไม่ว่า หมอเลี้ยบ (นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี) หรือ คุณ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ใครเข้ามาก็ไม่จบ พันธมิตรก็ไม่ยอมอยู่ดี หรือถ้าเลือกยุบสภาก่อนมีคำวินิจฉัยออกมา การเลือกตั้งก็จะเกิดความแตกแยกอย่างมากเหมือนเมื่อครั้งเลือกตั้งต้นปี 49 แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในเรื่องของการยุบพรรคพลังประชาชนและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคออกมาในระยะเวลาอันใกล้นี้ มันก็พอจะช่วยสถานการณ์ได้ แต่มันก็คงไม่ทันกัน เพราะตอนนี้คำร้องถึงอัยการสูงสุดหรือยังก็ไม่รู้”
ขณะที่ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกฯ และ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ที่ จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 8 ก.ย.ว่า ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินในวันนี้นั้น คงจะต้องรอคำพิพากษาของศาลก่อน ตอนนี้รัฐบาลไม่ได้เตรียมรับมืออะไรทั้งสิ้นและยังเร็วเกินไปที่จะให้ความเห็น ซึ่งตนจะขอพูดคุยกับนายกฯ ในคืนวันนี้ก่อน แต่จะไม่บีบว่าต้องใช้เวลาเท่าไร ซึ่งก็ยังไม่มีข้อสรุปว่า จะใช้แนวทางใด แต่ที่เสนอก็มีหลายแนวทางไม่ใช่แค่ยุบสภาหรือลาออก ยังมีทางเลือกอื่นอีก และเชื่อว่าทางออกที่จะพูดคุยกับนายกฯ จะเป็นทางออกของประเทศ และสร้างความเชื่อมั่น เป็นไปกฎกติกาประชาธิปไตย
เมื่อถามว่า เตรียมหานายกฯ คนใหม่หรือยัง นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ยัง รอการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญก่อนแล้วค่อยมาหารือกัน
ขณะที่แหล่งข่าวใกล้ชิดนายกฯ เปิดเผยว่า คงต้องรอฟังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในเวลา 14.00 น.นี้ตามโพย ตามหน้า คิดว่าไม่รอด คงต้องยอมรับ