“สุริยะใส” ถอนหงอก “หมัก” อย่าอ้างกอดเก้าอี้เพื่อรักษาระบบ ชี้ดันทุรังอยู่ต่อ เพิ่มความแตกแยก การเมืองไร้เสถียรภาพ นำไปสู่เงื่อนไขรัฐประหาร เตือน “ลูกกรอก” ทำประชามติหนุนตัวเองทำงานต่อ ขัด รธน. ม.165(2) แน่นอน สรส.เแย้ม ปิดประปา แฝลตตำรวจ ค้างค่าน้ำกว่า 100 ล้าน
เมื่อเวลา 19.10 น.วานนี้ (4 ก.ย.) นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แถลงข่าวถึงท่าที่ของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ที่ยังยืนยันว่าจะไม่ลาออกว่า เป็นเรื่องที่ไม่ได้เกินความคาดหมายเพราะเป็นวาระสุดท้ายทางการเมืองของนายสมัคร ดังนั้นจึงต้องดิ้นรน การอ้างว่าจะต้องอยู่เพื่อรักษาระบบนั้น เป็นแค่การอ้างเพื่อรักษาสถานะของตนเอง โดยจับประเทศเป็นตัวประกัน จะบริหารประเทศบนซากปรักหักพังก็ไม่สนใจ สนใจแค่เป็นนายกฯ ให้ได้นานที่สุด
การดื้อด้านดันทุรังจะทำให้เกิดผลกระทบ 2-3 ด้าน จนอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างเกินความคาดหมาย คือ 1.ความแตกแยกจะขยายตัวลุกลามบานปลายไปต่างจังหวัด จนอาจเป็นการจลาจลย่อยๆ หรือพัฒนากลายเป็นสงครามกลางเมือง 2.เสถียรภาพทางการเมืองจะทรุดลงไปเรื่อยๆ จนเกิดสภาวะความล้มละลายของอำนาจรัฐ เกิดการกบฏต่ออำนาจรัฐทั่วราชอาณาจักร คำว่ากบฏจะกลายเป็นแฟชั่นทางการเมืองจนไม่รู้สึกว่า เป็นเรื่องที่น่าอับอาย และ 3.สภาพการเมืองแบบนี้จะเป็นเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหารไม่ช้าก็เร็ว คงต้องถามนายสมัคร ว่า การสร้างเงื่อนไข ให้เกิดรัฐประหารแบบนี้หรือ คือการรักษาระบบ
นายสุริยะใส กล่าวต่อว่า การที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุให้พันธมิตรฯ ทบทวนเรื่องการเมืองใหม่นั้น อยากให้นายอภิสิทธิ์ พิจารณาศึกษาแนวคิดการเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ ให้ละเอียด เรือง 70:30 นั้น 70 ไม่ได้หมายถึงการแต่งตั้งจากที่ไหนก็ได้ แต่การเมืองใหม่คือ ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างหลายหลาย ไม่ใช่การปฏิเสธการเลือกตั้ง แต่การเมืองไม่ได้มีความหมายแค่การเลือกตั้งเท่านั้น
ส่วนการทำประชามติให้ประชาชนตัดสินว่าควรให้รัฐบาลทำงานต่อไปหรือให้พันธมิตรฯ ชุมนุมต่อไปนั้น คงจะทำไม่ได้เพราะรัฐธรรมนูญ ม.165(2) เขียนไว้ชัดเจน การไปถามประชาชนว่า จะให้รัฐบาลบริหารต่อไปหรือไม่นั้น ไม่มีประเทศไหนทำกัน เมื่อบริหารงานไม่ได้ก็ควรจะพิจารณาตัวเอง เพราะสุดท้ายจะกลายเป็นการใช้หัวคะแนนตนเอง จัดตั้งการมาทำประชามติ ซึ่งจะทำให้เกิดความแตกแยกเป็นวงกว้าง มากว่าที่เป็นอยู่
สำหรับ กรณีที่ศาลอุทธรณ์ สั่งเพิกถอนคำสั่งศาลแพ่งที่ห้ามพันธมิตรชุมนุมในทำเนียบ เนื่องจากมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุมอยู่แล้วนั้น คงขึ้นกับ ผบ.ทบ.ว่าจะพิจารณาอย่างไร ซึ่งเราไม่หวั่นเกรงอะไร เพราะยังต้องรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากรัฐบาลยังดื้อทำประชามติ พันธมิตรจะทำอย่างไร นายสุริยะใส กล่าวว่า รัฐบาลจะทำได้ก็ต่อเมื่อมี พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติเสียก่อน แต่โดยหลักการแล้วทำไม่ได้ เพราะจะต้องมีการตีความกันอีกว่า สามารถทำได้หรือไม่ และขัดรัฐธรรมนูญ ม.165(2) หรือไม่ ซึ่งจะยืดยาวไปอีกหลายเดือน หากถึงเวลานั้น ความขัดแย้งอาจคลี่คลายไปแล้วก็ได้
จากนั้นเวลา 20.00 น. นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสหพันธ์รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ หรือ สรส.แถลงว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกได้ให้เลขาประสานงานมายังตน แต่ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบัน ตนคงจะไปพบไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ต้องขอบคุณ ผบ.ทบ ที่ให้เกียรติซึ่งความปรารถนาดีเหล่านั้นเราไม่ได้ปฏิเสธแต่ขอชะลอออกไปก่อน ขอคุยกับพันธมิตรฯ ก่อนว่าควรจะมีท่าทีอย่างไร ดังนั้นจึงได้ทำหนังสือ แจ้งไปที่สหภาพแรงงานทุกแห่งว่า เราไม่สะดวก และให้ชะลอการเข้าพบไปก่อน ซึ่งจะมีการประชุมกันอีกครั้งว่า ควรจะไปพบ ผบ.ทบ. เมื่อไร ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะใช้เวลานานเท่าไรในการตัดสินใน นายสาวิทย์ กล่าว่า วันนี้ ผบ.ทบ. ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะคุยกับเราเรื่องอะไร จึงอยากให้ทำเป็นทางการว่า จะคุยกับเราเรื่องอะไร เพราะการที่ร่วมต่อสู้กับพันธมิตรฯ มา 100 กว่าวันนั้น บางทีปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ก็อาจกาลายเป็นปัญหาใหญ่ได้
ส่วนต้องรอให้นายกฯ ลาออกก่อนหรือไม่ค่อยเจรจา นายสาวิทย์ กล่าวว่า เงื่อนไขในการต่อสู้ของเรา คือรัฐบาลต้องลาออก แต่ในการพูดคุยกับ ผบ.ทบ.นั้นเรายังไม่ทราบว่าท่านต้องการพูดคุยกับเราเรื่องอะไร อย่างไรก็ตามยืนยันว่า สรส. ยังคงเป็นเอกภาพดีอยู่
ด้าน นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า พล.อ.อนุพงษ์ ได้นัดผู้นำแรงงานเข้าพบที่กองบัญชาการทหารบกในช่วงเวลาก่อนเที่ยงคืนเมื่อวานนี้ ซึ่งตนได้ตอบไปว่า ไม่สามารถเข้าพบได้ และขอบคุณในความหวังดี ซึ่งการไปพบในสถานการณ์ขณะนี้ถือว่าไม่เหมาะสม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้นำแรงงานได้
ส่วนกรณีที่ผู้ว่า กฟผ.กล่าวว่าจะไม่มีการตัดไฟนั้น สิริชัย กล่าวว่า กฟผ.เปรียบเป็นต้นน้ำในการผลิดกระแสไฟฟ้า ถ้าทำอะไรไป จะกระทบต่อคนทั้งประเทศ แต่อะไรที่เราสนับสนุนพันธมิตรฯ ได้เราก็พร้อม เช่นเมื่อวานนี้ พนักงาน กฟผ. ก็ได้ลาหยุดงานมาร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก
ขณะที่ นายสมชาย ศรีนิเวศน์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการประปานครหลวงกล่าวว่า จากการตรวจสอบในเชิงลึกพบว่า มีหน่วยงานราชการติดหนี้ค่าน้ำ เป็นเงินถึงพันล้าน เช่นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นับตั้งแต่ปี 2548 ไม่เคยจ่ายค่าน้ำเลย เป็นจำนวนเงินกว่า 100 ล้านบาท เนื่องจากในแฟลตตำรวจนั้นจะมีการติดตั้งซับมิเตอร์ในแต่ละยูนิต และมีคนควบคุมดูแลไปเก็บเงินในแต่ละยูนิตแล้ว แต่ไม่ยอมนำมาจ่ายเงินค่าน้ำ ตรงนี้ถือเป็นการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างหนึ่ง ซึ่งเราจะค้นหาข้อมูลในเชิงลึกเหล่านี้ต่อไปอีก