“สมัคร” ชักเสียวหลังประกาศกร้าวไม่ยุบ-ไม่ออก เรียกคณะรัฐมนตรีออกมายืนเคียงข้าง แก้เขินจัดประชุมด่วนลงมติรับหลักการผลาญงบจัดทำประชามติลับลวงพราง ขอเสียงประชาชนสนับสนุนนั่งบริหารประเทศต่อ
วันนี้ (4 ก.ย.) ภายหลังจากการชี้แจงสถานการณ์ปัจจุบันทางสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้เรียกคณะรัฐมนตรีประชุมด่วนที่กองบัญชาการกองทัพไทยที่ผ่านมา โดยมีรัฐมนตรีเดินทางเข้าร่วมการประชุมโดยที่ต่างก็ไม่ทราบว่าการประชุมดังกล่าวมีวาระอะไรบ้าง
ขณะที่ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่า พรรคจะเสนอให้มีการทำประชามติถามความเห็นประชาชนว่าจะให้รัฐบาลทำหน้าที่ต่อไปหรือไม่ เพราะเห็นว่าเป็นวิถีทางตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่หากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร เพราะต้องฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งเชื่อว่าจะคุ้มค่ากับงบประมาณ หากเทียบกับรายได้และการสูญเสียของประเทศในขณะนี้
ด้าน นายธีระชัย แสนแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้อาจจะเป็นการหารือถึงสถานการณ์ทั่วไป เช่นเดียวกับที่นายกรัฐมนตรีได้พูดในช่วงเช้าที่ผ่านมา พร้อมกับยืนยันว่านายสมัครเหมาะสมที่จะทำหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป เนื่องจากตามกฎหมายได้ผ่านกระบวนการมาอย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม การประชุมคณะรัฐมนตรีสัปดาห์หน้าหากยังไม่สามารถประชุมในทำเนียบรัฐบาลได้ก็จะย้ายการประชุมไปตามจังหวัดในลักษณะการประชุม ครม.สัญจรแทน
ทั้งนี้ หลังการประชุมแล้วเสร็จ ผลการประชุมล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้รับหลักการในการจัดทำประชามติ
ต่อมา พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) นัดเฉพาะกิจ ที่กองบัญชาการกองทัพไทย ว่าในขณะนี้มีภาวะฉุกเฉินรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีต้องการหาทางออกโดยให้ทุกฝ่ายสามารถได้ใช้กฎหมายในการดูแลความสงบเรียบร้อย และ เคารพในกฎหมาย แม้ว่าที่ผ่านมาได้มีการหารือโดยใช้รัฐสภา ในการหาทางออกเพื่อให้มีความเห็นที่ตรงกัน แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ดังนั้นทาง ครม.เห็นชอบให้นำรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 ที่กำหนดให้มีการจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความเห็นของประชาชนทั้งประเทศ แต่มีเงื่อนไขสำคัญ คือ จะต้องมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญรองรับ ซึ่งขณะนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของวุฒิสภา ที่จะพิจารณาเห็นชอบในวันที่ 8 ก.ย.นี้ ก่อนจะประกาศใช้ลงในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
ทั้งนี้ทางรัฐบาลอยากขอความกรุณาต่อ ส.ว. ให้พิจารณากฎหมายลูกประชามติโดยเร็ว เพราะรัฐบาลจะได้ทำประชามติ ภายใน 30 วัน โดยจะมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ไปรวบรวมความเห็น ความต้องการ และ ปัญหาของประเทศทั้งหมดที่เกิดขึ้น ที่แต่ละฝ่ายมีความเห็นที่ไม่ตรงกันว่า และ สิ่งที่แต่ละฝ่ายเรียกร้อง ว่าแท้จริงประชาชน 63 ล้านคนต้องการอะไร
“ทันทีที่ ส.ว.มีมติเห็นชอบกฎหมายนี้ จะให้มีการรณรงค์ ชี้แจงประชาชนภายใน 30 วันทันที จากนั้นจะกำหนดวันลงประชามติประมาณเดือน ต.ค.ที่สำคัญการทำประชามติครั้งนี้ไม่ใช่มัดมือชก และ รัฐบาลไม่ได้ซื้อเวลา” โฆษกรัฐบาลกล่าว
พล.ต.ท.วิเชียรโชติ กล่าวว่าสำหรับแนวทางแบบสอบถาม จะเป็นการประมวลประเด็นปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น และ สิ่งที่แต่ละฝ่ายเรียกร้องว่า ประชาชนจะคิดเห็นอย่างไร และในขณะนี้ทางนายกฯ เห็นว่า สถานการณ์ที่เป็นอยู่อยู่ในภาวะที่สามารถควบคุมได้ เพราะแต่ละฝ่ายยังเข้าใจซึ่งกันและกันได้ ที่สำคัญเป้าหมายการทำประชามติ คือ ต้องการให้ประชาชนที่เป็นพลังเงียบออกมาแสดงความคิดเห็นให้มากที่สุด
พล.ต.ท.วิเชียรโชติ กล่าวว่าอีก สำหรับข้อเสนอที่หลายฝ่ายต้องการให้นายกฯ ยุบสภา หรือ ลาออกนั้น ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะการยุบสภาหรือลาออก ปัญหาก็จะไม่ได้ข้อยุติ เพราะฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่มีความชัดเจนว่าเมื่อยุบสภาหรือลาออก ทางพันธมิตรฯ จะมีข้อเสนอที่สร้างสรรค์อย่างไร ดังนั้นขอให้ประชาชนควรออกมาแสดงความคิดเห็นให้มากที่สุด
“คนที่ไปยึดทำเนียบ 3 หมื่นกว่าคนต้องการให้นายกฯ ลาออก และยุบสภา แต่ยังมีพลังเงียบที่ยังไม่ออกมาให้ความเห็นและหากประชามติออกมาอย่างไรทางรัฐบาลพร้อมยอมรับ” โฆษกรัฐบาลกล่าว