รัฐมนตรี “ชูศักดิ์” จับแพะชนแกะป้อง “หมัก” ออกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หวังให้บ้านเมืองสงบ เมิน ผบ.ทบ.โยนรัฐสภารับผิดชอบบ้านเมืองมากกว่านี้ โบ้ยเปิดประชุมสภาร่วมไปแล้ว มั่นใจหมักไม่ลาออกและยุบสภา เพราะต้องการรักษาระบอบประชาธิปไตย
วันนี้ (3 ก.ย.) ที่รัฐสภา นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชหารแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉินว่า ให้เป็นเรื่องของหัวหน้าผู้ที่รับผิดชอบดำเนินการ คิดว่าคงจะดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งแนวทางนั้นหมายความว่าอยากให้มีความสงบเรียบร้อย แต่ขั้นตอนต่างๆ คงจะเป็นวิธีการ 1-2-3-4 แต่ข้อสำคัญคิดว่าคงไม่น่าจะทำให้เกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้น เพราะเป็นจุดที่ถูกต้องแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า สรุปแล้วจุดประสงค์ของรัฐบาลที่ประกาศใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องการให้ครอบคลุมผลักดันกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือไม่ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ดูในประกาศดูในข้อกำหนดก็รวมทั้งหมด เข้าใจว่าฝ่ายปฏิบัติและฝ่ายหัวหน้าที่ปฏิบัติการคงจะมีแนวทางว่าจะทำอย่างไรจึงจะเกิดความเรียบร้อย ไม่ใช่หมายความว่าว่าพอประกาศแล้วนำกำลังมายึดตรงนั้นยึดตรงนี้ ท่านก็คงไม่อยากให้ไปถึงอย่างนั้น แต่คงอยากจะทำให้เกิดความเรียบร้อยยังไง
ผู้สื่อข่าวถามว่า ตามการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีคำสั่งการห้ามชุมนุมเกิน 5 คน แต่ยังมีการชุมนุมอยู่ แต่ขณะที่ผู้ปฏิบัติบอกว่า ระบุว่าไม่เกี่ยวกับการผลักดันให้กลุ่มพันธมิตรฯ ออกนอกทำเนียบรัฐบาล แล้วจะแก้ปัญหาตรงนี้ได้อย่างไร นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ตนเข้าใจว่าเป็นขั้นตอนในการปฏิบัติว่าควรจะทำอย่างไร คงนำสถานการณ์มาวิเคราะห์ว่าจะเดินไปในแนวทางใด
ผู้สื่อข่าวถามว่า นักวิชาการและองค์กรวิชาชีพสื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถ้าถามว่ามีเหตุจำเป็นหรือไม่ที่ต้องประกาศ ตนมองว่าโดยหลักการแล้วเป็นเป็นเหตุจำเป็นที่สมควรจะต้องประกาศ เพราะผู้คนในบ้านเมืองหันมาใช้กำลังห้ำหั่นกัน ตีกัน มีคนบาดเจ็บล้มตายก็เข้าเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด ไม่อย่างนั้นเหตุการณ์ก็จะบานปลายออกไป เพียงแต่ว่าเมื่อประกาศออกมาแล้ว กระบวนการในการดำเนินการก็เป็นขั้นตอนว่าจะต้องทำอย่างไร ซึ่งตนเข้าใจว่า พล.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) คงจะต้องการให้เกิดความเรียบร้อย มีมาตรการไปตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็เป็นธรรมดาที่กระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเมื่อมีเหตุการณ์ชุมนุมเกิดขึ้นมาตั้งแต่ 3-4 เดือนที่ผ่านมา ปัญหาเศรษฐกิจก็มี ไม่ใช่หมายความว่าพอมี พ.ร.ก.แล้วเศรษฐกิจจะทรุดลง แต่เศรษฐกิจเป็นมาโดยลำดับของมัน เพียงแต่จะทำอย่างไรประเทศชาติจึงจะคลี่คลายสถานการณ์ให้จบลงให้ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่ ผบ.ทบ.ระบุว่าอยากให้ฝ่ายนิติบัญญัติร่วมกันแก้ไขหาทางออก นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ก็มีการประชุมร่วมกันไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่มีข้อเสนอที่หลากหลาย ซึ่งนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ก็ได้ตัดสินใจ ซึ่งนายกฯ คงต้องการรักษาระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเอาไว้ ระบบประชาธิปไตยก็คือ เรามีเรามีสภา มีฝ่ายบริหาร มีฝ่ายตุลาการ แต่ปรากฏว่าเมื่อมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น และท้ายที่สุดนายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องลาออกต้องยุบสภา ก็จะเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่จะเป็นตัวอย่างของการเมืองไทย ท้ายที่สุดระบบรัฐสภาเดินไปตามกระบวนการไม่ได้ ตนคิดว่าก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่เราต้องคิดถึงเหมือนกัน ส่วนจะประกาศใช้นานแค่ไหนนั้นยังไม่ทราบคงจะต้องดูให้สถานการณ์ต่างๆ คลี่คลายลงไปก่อน เข้าใจว่า ผบ.ทบ. เพราะคงจะมีมาตรการในการทำงานต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ ผบ.ทบ.บอกว่าเป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ ดูเหมือนเป็นการโยนเรื่องมากดดันรัฐบาลหรือเปล่า รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความจริงฝ่ายนิติบัญญัติได้ทำไปแล้วเพื่อรับฟังความคิดเห็น ซึ่งเงื่อนไขตรงนี้ก็ดูหมายความว่า พ.ร.ก.ที่ออกมาท้ายที่สุดเป็นผลอย่างไรบ้าง