“สดศรี” ระบุ กม.ไม่ห้าม “เพื่อไทย” เป็นอะไหล่ พปช. และหากมีเลือกตั้งซ่อมพื้นที่ใดสามารถส่งผู้สมัครลงแข่งขันได้ ขณะที่ กม.เปิดช่องไม่ห้ามการเอาคนที่ไม่ใช่ ส.ส.มาเป็น กก.บห.ของพรรค เพื่อตัดปัญหาอาจถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง
วันนี้ (22 ส.ค.) นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวถึงกรณีทีพรรคเพื่อไทยที่ถูกมองว่าเป็นพรรคสำรองของพรรคพลังประชาชนจะมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคว่า เรื่องการเปลี่ยนตัวกรรมการบริหารพรรคสามารถทำได้เพราะกฎหมายไม่ได้เขียนห้ามมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกรรมการบริหารพรรค เพียงแต่ต้องแจ้งไปยังนายทะเบียนพรรคการเมือง โดยจะต้องเสนอมาที่ กกต. และ กกต.จะพิจารณาตอบรับว่าจะให้มีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ซึ่งจะเป็นไปตามกฎหมายพรรคการเมือง ทั้งนี้ การเปลี่ยนจะต้องดูว่ามีการประชุมใหญ่หรือไม่ และบุคคลที่จะมาเป็นกรรมการบริหารพรรคมีคุณสมบัติเหมาะสมครบถ้วนหรือไม่
“ที่ว่าเป็นอะไหล่พรรคพลังประชาชนนั้นคงไม่ได้เป็นประเด็นว่าพรรคการเมืองจะมีพรรคสำรองตั้งไว้ได้หรือไม่ เพราะไม่มีกฎหมายห้าม ดังนั้น หากพรรคการเมืองถูกยุบและ ส.ส.จะพากันไปเข้าสังกัดพรรคการเมืองใหม่ ไม่ว่าจะเป็นพรรคที่ตั้งไว้แล้วหรือตั้งใหม่ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ ซึ่งพรรคเพื่อไทย ตั้งได้มาครบ 1 ปี แล้ว จากที่ตั้งเมื่อเดือน ก.ย.2550 ซึ่งเป็น 1 ใน 66 พรรคการเมืองที่ กกต.อนุญาตให้จดทะเบียนจัดตั้งแล้ว ทั้งนี้ ส.ส.ที่อยู่ในพรรคที่ถูกยุบจะเลือกไปสังกัดพรรคเพื่อไทยหรือพรรคอื่นๆ ก็ได้ แต่ขณะนี้พรรคเพื่อไทยยังไม่ได้มีการแจ้งเปลี่ยนแปลงตัวกรรมการบริหารพรรค เบื้องต้นได้แจ้งเพียงเรื่องการขยายสาขาพรรคเพิ่มเป็น 6 สาขา และ กกต.กำลังตรวจสอบอยู่”
ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยจะส่งคนลงสมัคร ส.ส.ในการเลือกตั้งซ่อมที่ จ.ร้อยเอ็ด หากศาลฎีกาสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ และเพิกถอนสิทธินายนพดล พลชื่อ ส.ส.ร้อยเอ็ด รองหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดินตามที่ กกต.เสนอนั้น พรรคเพื่อไทยก็สามารถส่งผู้สมัครลงแข่งขันในเขตดังกล่าวได้เพราะเป็นพรรคการเมืองอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ตนก็ยังไม่แน่ใจว่าพรรคเพื่อแผ่นดินจะไปเป็นพรรคเดียวกันกับเพื่อไทยหรือไม่ เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องในอนาคตที่จะมีการรวมกันในลักษณะนั้นหรือไม่ ในกรณีที่หากมีการยุบพรรคเกิดขึ้น
นางสดศรี ยังกล่าวด้วยว่า หากพรรคเพื่อแผ่นดินถูกยุบพรรค ส.ส.ที่อยู่ในพรรคที่ถูกยุบจะต้องมีปัญหาแน่ แต่สามารถหาพรรคอยู่ใหม่ได้ คนที่จะเป็นรัฐมนตรีก็จะต้องมาจาก ส.ส. ซึ่งก็ต้องเป็นเสียงข้างมากในสภาฯ แต่ถ้าพรรคถูกยุบไปแล้ว เสียงหายไป ก็ต้องไปถามนายกรัฐมนตรี
สำหรับที่แต่ละพรรคการเมืองต่างๆ พยายามลดจำนวนกรรมการบริหารพรรคและให้คนภายนอกมาเป็นแทน เพื่อหลีกเลี่ยงกรณี ส.ส.ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง นางสดศรี กล่าวว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่ากรรมการบริหารพรรคจะต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่คนที่เป็นหัวหน้าพรรคจะต้องเป็นกรรมการบริหารพรรค เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งและเป็น ส.ส. ส่วนการจะให้บุคคลที่ไม่ข้องเกี่ยวกับการเมืองเข้ามาเป็นกรรมการบริหารพรรคแทน ส.ส.นั้น ถ้าหากว่าข้อบังคับเปิดโอกาสก็สามารถทำได้ ซึ่งทางพรรคต้องแจ้งข้อบังคับพรรคให้ กกต.ได้รับทราบ แต่ กกต.ไม่มีกระบวนการเข้าไปตรวจสอบเพื่อเอาโทษได้
“การจะเอาคนมาเป็นกรรมการบริหารพรรค ไม่น่าจะเอาใครก็ได้มาเป็น อย่างเช่น แม่บ้าน หรือภารโรง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องคิดและต้องดูความเหมาะสมด้วย กกต.ก็ต้องดูว่าการตั้งกรรมการบริหารพรรคมาเหมาะสมหรือไม่ การตั้งคนไม่เหมาะสมเข้าต้องดูว่าเป็นความพยายามในการหลีกเลี่ยงกฎหมายหรือไม่”