“จารุวรรณ” แย้ม “หลักฐานเด็ด” ตบหน้า พปช.กังขานั่งเก้าอี้ “ผู้ว่าฯ สตง.” ตอกกลับไม่มีสันดานเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง-แต่งตั้งลูกชายนั่งตำแหน่งเลขาฯ ฮึ่มเตรียมพิสูจน์ข้อกล่าวหาให้ถึงที่สุด ขย่มซ้ำไม่จำเป็นต้องใช้ “เงินหลวง” ไปดูงานต่างประเทศเพราะบ้านมีฐานะ ด้าน “พลังแม้ว” ร้อนตัวลุกประท้วงถี่ยิบ ก่อนหน้าหงาย เหตุ “รองประธานฯ” แจงชัดยัน “คุณหญิง” ไม่ได้ชี้ว่าใครสันดานชั่ว
วันนี้ (20 ส.ค.) รายงานข่าวแจ้งจากรัฐสภาว่า ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมี พล.อ.อภิวัน วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ทำหน้าที่เป็นประธานฯ การประชุม ซึ่งมีพิจารณารายงานผลการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดยมีคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เข้าชี้แจง
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.พรรคพลังประชาชน และนายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.พรรคพลังประชาชน ได้อภิปรายโจมตีการทำหน้าที่ของคุณหญิงจารุวรรณ ว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้อง โดยเฉพาะการแต่งตั้งบุตรชายเป็นเลขานุการส่วนตัว ซึ่งถือว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง รวมทั้งการบริจาคเงินให้กับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย การละเว้นการตรวจสอบที่ดินเขายายเที่ยง และการวางตัวของคุณหญิงจารุวรรณ ต่อคณะมนตรีความมั่นคง (คมช.) ถือว่าคุณหญิงจารุวรรณ เป็นบุคคลที่มีมาตรฐานสูงจึงควรที่จะยอมรับการตรวจสอบด้วยมาตรฐานสูงเช่นกัน
นอกจากนี้ยังเห็นว่า ขณะนี้มีขบวนการที่ทำให้การสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินล่าช้า เพราะประกาศ คปค. โดยคุณหญิงจารุวรรณ จะหมดวาระในวันที่ 30 ก.ย.2550 และให้ดำเนินการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่ภายใน 120 วันนับจากวันที่มีประธานรัฐสภา และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
ด้าน คุณหญิงจารุวรรณ ลุกขึ้นชี้แจงว่า ที่มีการระบุว่าตนเข้ามานั่งในตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้น มาจาก 2-3 คะแนน แล้วทราบหรือไม่ว่าอดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง เป็นคนเขียนจดหมายถึงประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินในขณะนั้น ให้ตนเองกลับมาปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งส่วนตัวเก็บจดหมายฉบับนั้นไว้ตลอดชีวิต และที่ท่านกล่าวหาทุกอย่างถือว่าไม่เป็นไร เพราะตนได้แจ้งความไว้เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้จะขอชี้แจงเรื่องการไปดูงานต่างประเทศ ที่มีการระบุว่าได้นำครอบครัว และใช้เงินหลวงนั้น ตนอยากบอกว่า โดยส่วนตัวเป็นคนมีเงิน และใช้เงินของตัวเอง ซึ่งที่ผ่านมาได้ชี้แจงไปแล้ว แต่ไม่รู้ว่าท่านทราบหรือไม่ หรือไม่อยากทราบ
ส่วนกรณีที่ตั้งลูกชายของตัวเองเป็นเลขานุการนั้น คุณหญิงจารุวรรณชี้แจงว่า โดยส่วนตัวไม่ได้ตั้งเอง แต่ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเป็นคนตั้ง ซึ่งคุณสมบัติของเขาเหนือกว่าเลขาฯ สตง.คนอื่นๆ เพราะขณะนั้นเขาอยู่บริษัทเอกชน ได้เงินเดือนมากกว่านี้ แต่สาเหตุที่ตนชวนมาสมัครเข้าทำงานที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินนั้น ก็เพราะอยากให้เขาหาประสบการณ์ก่อนเดินทางไปเรียนต่อต่างประเทศ ส่วนลูกสาวเรียนจบด้านการเงิน และต้องกลับมาใช้ทุน ทั้งที่มีคนเสนอให้ไปเรียนต่อปริญญาเอกด้วยซ้ำ
“ดิฉันไม่ได้เป็นคนมีสันดานอย่างที่ท่านกล่าวหา และท่านไม่ควรพูดถึงลูกชายดิฉัน เนื่องจากจะทำให้ภาพพจน์ของ ส.ส.เสียหาย เพราะแม้แต่รายการของท่านดิฉันก็ไม่อยากให้เขาดู ส่วนเรื่องคดีความต่างๆ ก็เกิดจากการทำหน้าที่ที่ไปตรวจสอบเขา ถ้าใจกว้างพอก็ขอให้ถามกันก่อน จะไปที่ สตง.ก็ได้ พานายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ไปด้วย และดิฉันไม่ได้มีสันดานที่ท่านกล่าวหา ซึ่งเรื่องที่ท่านพูดต้องมีการพิสูจน์กัน” คุณหญิงจารุวรรณ กล่าว
คุณหญิงจารุวรรณ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ตนทนไม่ได้ก็คือ กรณีที่ท่านพูดถึง สตง.ไม่ดี โดยเฉพาะเรื่องการแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นการก้าวก่ายการงานบริหารของตนเอง โดยในส่วนการเลือก ส.ว.ที่ตนเคยเป็นที่ปรึกษานั้น ถามว่าถ้าส่วนตัวเลือกคนเดียว เขาจะได้เป็นหรือไม่ เพราะเท่าที่ทราบ ขั้นต่ำที่สุดต้องได้ 4 ใน 7 เสียง ดังนั้นเขาได้รับการเลือกจากคนอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่ส่วนตัวเลือกคนเดียว ดังนั้นอย่านำเขามาเกี่ยวข้อง เพราะต่างคนต่างทำหน้าที่
รายงานข่าวแจ้งเพิ่มเติมว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า การชี้แจงของคุณหญิงจารุวรรณ ได้รับการประท้วงจาก ส.ส.พรรคพลังประชาชนหลายครั้ง โดยเฉพาะการที่คุณหญิงจารุวรรณ ใช้คำว่า สันดาน โดยระบุว่าเป็นคำที่ไม่สุภาพ และไม่สามารถใช้กับบุคคลได้ อย่างไรก็ตาม พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานคนที่ 2 ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุม วินิจฉัยว่า คำดังกล่าวถ้าใช้ในทางที่ดีไม่มีปัญหา เพราะในพจนานุกรมแปลว่า นิสัยที่มีมาแต่กำเนิด แต่หากว่าใช้คำว่าสันดานเลว สันดานชั่ว จึงจะถือว่าเป็นการใช้คำไม่สุภาพ และถ้าหากคุณหญิงจารุวรรณ ไม่ได้ระบุว่า ใครสันดานชั่ว ก็ไม่มีปัญหา
ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ลุกขึ้นชี้แจงว่า ทุกฝ่ายอาจจะคิดว่าตนและสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์อาจจะมีการฝักใฝ่ในตัวผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จึงต้องออกมาปกป้อง ดังนั้น อยากให้ทุกคนเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ตนได้รับทราบปัญหาในเรื่องการสรรหาผู้ว่าฯ สตง. โดยดูจากบทบัญญัติของมาตร 301 จากรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งตนไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะตนทำหนังสือตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา แต่ประธานวุฒิสภาได้ทำหนังสือแจ้งกลับมาถึงตนว่า การสรรหาติดขัดในข้อกฎหมาย ดังนั้นหากท่านจะตำหนิใครก็แล้วแต่ กรุณาอย่าเหลียวมาทางนี้
“ผมทำหน้าที่ของผมแล้ว และพรรคประชาธิปัตย์ก็ทำหน้าที่อยู่พรรคเดียวที่เสนอกฎหมายรออยู่ ดังนั้น ท่านมีเสียงข้างมากไม่ว่าจะเป็นนายกฯ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่รับจดหมายฉบับดังกล่าวไปแล้ว ถ้าดำเนินการตามขั้นตอน และมีกฎหมายออกมาก็สามารถสรรหาได้โดยไม่ต้องไปเรียกร้องจากคนอื่น” นายอภิสิทธิ์ กล่าว