xs
xsm
sm
md
lg

“จรัส” ย้ำ รธน.50 ยาแรงล้างคนชั่วตอกอ้างรัฐศาสตร์นิรโทษมั่ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จรัส สุวรรณมาลา
คณบดีรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ย้ำ รัฐธรรมนูญปี 50 เปรียบเสมือนยาแรงกำลังออกฤทธิ์กับนักการเมืองชั่วเท่านั้น เตือนอย่าหลงกลประชามติลวงโลก นำไปสู่การแก้ไขตามใจชอบ เปรียบเสมือนเซ็นเช็กเปล่าให้นักการเมืองไปกรอกตัวเลขเอาเอง ระบุ การนิรโทษอ้างหลักรัฐศาสตร์เป็นการอ้างมั่วๆ

วันนี้ (18 ส.ค.) ในช่วงรู้ทันประเทศไทย ดำเนินรายการโดย นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และ นายสันติสุข มะโรงศรี โดยเชิญ นายจรัส สุวรรณมาลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากรให้ความรู้ในเรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (19 ส.ค.) ก็จะครบ 1 ปีของการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ

นายจรัส ได้ชี้ให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เป็นฉบับแรกที่เปิดให้ประชาชนลงประชามติและเมื่อผ่านการลงประชามติแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระดำริเป็นครั้งแรกโดยให้เคารพในมติของมหาชน

นายจรัส กล่าวว่า จากผลการทำวิจัยในภาคอีสานที่ไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีคำตอบเพราะส่วนใหญ่ต้องการต่อต้านการรัฐประหาร ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ และจากนั้นเมื่อถึงคราวเลือกตั้งคนกลุ่มนี้ก็เลือกพรรคพลังประชาชน ขณะเดียวกัน ยังชี้ให้เห็นว่าบางพรรคมีความเคลื่อนไหวเพื่อให้ประชาชนลงคะแนนไปในทางเดียวกัน

คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังกล่าวอีกว่า จากผลการวิจัยยังชี้อีกว่า ตัวแปรในการลงประชามติ คนชั้นกลาง คนมีการศึกษา และคนในเมืองรับร่างรัฐธรรมนูญมากกว่า ขณะที่คนที่มีรายได้น้อยมีแนวโน้มไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

“อยากให้ใช้วิจารณญาณพิจารณาเพราะผมไม่อยากพูดว่ามีการขับเคลื่อนเพื่อชักจูงกับคนกลุ่มนี้” นายจรัส ระบุ และว่า การที่มีเสียงโทษว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ทำลายพรรคการเมือง ทำให้ขัดขวางเสียงข้างมากก็ไม่เป็นความจริง เพราะจากสถิติการเลือกตั้งตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมามีการเลือกตั้งที่แต่ละพรรคชนะยกเขตมากขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนที่มีเสียงโทษว่ารัฐธรรมนูญสร้างปัญหานั้น นายจรัส กล่าวว่า รัฐธรรมนูญได้ออกฤทธิ์กับนักการเมืองที่ไม่ดี เปรียบเสมือนเชื้อโรคกับยา ซึ่งถ้านักการเมืองที่ดีก็ไม่จำเป็นต้องกินยา และนักการเมืองตรวจสอบตัวเองว่าเป็นคนป่วยต้องกินยาหรือไม่ และเป็นนักการเมืองด้วยจิตวิปริตหรือไม่ นั่นคือ ช่วงชิงโอกาส สร้างอำนาจเพื่อหาผลประโยชน์ส่วนตัวหรือไม่

นายจรัส ยังได้เตือนให้อย่าหลงกลลวงการลงประชามติเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามใจชอบ เช่น มีการลงประชามติแล้วถามว่าต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ร้อยทั้งร้อยก็ต้องบอกว่าอยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะแต่ละฉบับมีหลายมาตรา และต้องมีบางมาตราที่ไม่ถูกใจ บางคนต้องการแก้ไขมาตรานี้ บางคนอยากให้แก้มาตรานี้ เมื่อถามว่าจะแก้ไขหรือไม่ก็ต้องบอกว่าให้แก้ไข ทีนี้เมื่อผลออกมาว่าต้องการให้แก้ไขคนพวกนี้ก็จะโมเมนำไปแก้ไขตามใจชอบเพื่อประโยชน์ของตัวเอง

“การลงประชามติแบบนี้เหมือนกับการเขียนเช็กเปล่าให้นักการเมืองไปกรอกตัวเลขเอาเอง” คณบดีคณะรัฐศาสตร์ผู้นี้ ระบุ อย่างไรก็ดี ในมาตรา 122 ห้ามนักการเมืองที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากคนพวกนี้กำลังถูกพิจารณายุบพรรค

ส่วนการนิรโทษเพื่อช่วยเหลือให้พวกพ้องตัวเองพ้นผิดโดยอ้างหลักรัฐศาสตร์ นั้น นายจรัส กล่าวว่า เป็นการอ้างมั่ว เพราะหลักรัฐศาสตร์ ไม่ใช่หลักการมั่วๆ เพราะเป็นเรื่องของการปกครอง เป็นเรื่องของประชาชน และย้ำว่า ไม่ว่าตามหลักรัฐศาสตร์ หรือนิติศาสตร์ ถ้าทำผิดกฎหมาย ถ้าใครหนีคดี รัฐบาลต้องตามตัวกลับมาดำเนินดคีให้ได้
รายการรู้ทันประเทศไทย 18 ส.ค.51
กำลังโหลดความคิดเห็น