“คำนูณ” ชี้แถลงการณ์ “ทักษิณ” เข้าข่ายหมิ่นศาล เหตุกล่าวหาศาลใช้สองมาตรฐานตัดสินคดี รุกไล่ซ้ำไม่ถือเป็นการลี้ภัยเพราะไม่มีตำแหน่งทางการเมือง แต่อาจเป็นการหนีคดีมากกว่า
วันนี้ (11 ส.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า เท่าที่ฟังแถลงการณ์ดูแล้วน่าจะล่อแหลมต่อการหมิ่นศาล หากแถลงการณ์ดังกล่าวเป็นของจริง เพราะเนื้อหาในคำแถลงการณ์มีบางส่วนที่กล่าวหาพาดพิงถึงการแทรกแซงกระบวนยุติธรรม และการใช้ระบบ 2 มาตรฐาน โดยความเป็นจริงแล้วคดีของ พ.ต.ทักษิณ ก็ดำเนินไปตามกฎหมายไม่มีใครไปแทรกแซง ทั้งเรื่องคดีที่ดินรัชดาฯ หรือคดีหลีกเลี่ยงภาษีที่ศาลฎีกาได้ตัดสินไปแล้ว อีกทั้งรัฐบาลนี้ส่วนใหญ่เป็นคนของพรรคไทยรักไทยเดิม ซึ่งตนไม่เห็นว่จะไม่มีความยุติธรรมตรงไหน และข้ออ้างที่ระบุว่า เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางกลับประเทศไทยก็ไม่ได้มีเหตุการณ์อะไรที่จะทำร้ายหรือมีการคุกคาม พ.ต.ท.ทักษิณ มีเพียงการกล่าวอ้างของ พ.ต.ท.ทักษิณเท่านั้น หาก พ.ต.ท.ทักษิณ มั่นใจว่าตนเองบริสุทธิ์ก็ควรต่อสู้คดี
นายคำนูณ กล่าวว่า การเดินทางไปประเทศอังกฤษ โดยมีลักษณะการ “ขอลี้ภัย” นั้น ตนไม่มั่นใจว่าจะเป็นไปได้ เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งการเมืองแล้ว หากจะขอลี้ภัยก็ควรขอตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อปี 2549 ขณะนี้เวลาก็ล่วงเลยมาแล้วจึงไม่น่าจะขอลี้ภัยได้ อย่างไรก็ตาม การเดินทางไปอังกฤษครั้งนี้ตนมั่นใจว่า พ.ต.ท.ทักษิณ คงไม่กลับมาประเทศไทยแน่ในช่วงเวลาแบบนี้
“วรินทร์”ซัด ต้องคดีอาญาลี้ภัยการเมืองไม่ได้
นายวรินทร์ เทียมจรัส ส.ว.สรรหา กล่าวถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่เดินทางเข้ารายงานตัวต่อศาลฎีกาในคดีทุจริตที่ดินรัชดาฯ โดยขอลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ประเทศอังกฤษว่า โดยหลักการถ้าไม่ใช่คดีการเมือง เช่น การกระทำความผิดกฎหมายทางคดีอาญาของประเทศในหลักการแล้วลี้ภัยทางการเมืองไม่ได้ ส่วนที่ใช้เหตุผลว่าถูกแทรกแซงทางกระบวนการยุติธรรมนั้นเป็นข้ออ้าง ซึ่งตั้งแต่ปี 2549 แล้วมีการเลือกตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ในประเทศไทยตลอดและใช้สิทธิผ่านศาลมาตลอด ความจริงเป็นเรื่องของกระบวนการยุตธรรมภายใน ไม่ใช่เป็นเรื่องของความเห็นขัดกัน หรือกระบวนการยุติธรรมภายในประเทศล้มเหลว ซึ่งถือว่าเป็นข้ออ้าง ขณะนี้มีปัญหาอยู่ที่ว่าจะใช้หลักการลี้ภัยซึ่งบางประเทศถ้ามาลี้ภัยก็จะมีหารแลกเปลี่ยน บางประเทศถ้าไปอยู่และถือสัญชาติประเทศนั้นต้องมีเงินเข้าไปลงทุน เขาก็จะให้สิทธิพิเศษ แต่บางประเทศเขาก็ไม่คิดว่าประเทศอื่นจะคิดอย่างไรเป็นเรื่องอธิปไตยของรัฐของเขา
“พ.ต.ท.ทักษิณจะไปลี้ภัยที่ไหนก็ได้ถ้ารัฐบาลเขายอมแต่จะอ้างเรื่องลี้ภัยทางการเมืองไม่ได้ เนื่องจาก ไม่มีหลักที่จะพูดถึงตรงนี้ ถ้ากระบวนการยุติธรรมของศาลไทย เมื่อศาลได้กำหนดนัดวันอ่านคำพิพากษาในทางปฏิบัติถ้าจำเลยไม่แน่ใจจะถูกลงโทษหรือไม่ ในทางปฏิบัติจำเลยจะหนีประกัน เมื่อหนีประกันแล้วกระบวนการยุติธรรมของไทยก็จะออกหมายจับ ทิ้งระยะไว้ 30 วัน หลังจากนั้นจะมีการอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย ส่วนใหญ่ผู้ที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะใช้วิธีนี้” นายวรินทร์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าไม่เรียกลี้ภัยทางการเมืองแล้วจะเรียกว่าอะไร นายวรินทร์ กล่าวว่า ถ้ามีกฎหมายและสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนประเทศภาคีก็สามารถที่จะร้องขอให้ทำการจับตัวและส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ ซึ่งประเทศอังกฤษนั้นตนไม่แน่ใจว่าประเทศไทยได้เป็นภาคีร่วมหรือไม่
“ถ้าสมมุติว่าประเทศไทยและอังกฤษมีสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนร่วมกัน ถ้าศาลไทยลงโทษ ซึ่งรัฐบาลไทยก็สามารถที่จะทำหนังสือขอตัวผู้ร้ายข้ามแดนจากประเทศอังกฤษได้” นายวรินทร์ กล่าว
เมื่อถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องยุติบทบาททางการเมืองด้วยหรือไม่ นายวรินทร์ กล่าวว่า ต้องดูหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมไปแล้วแต่ก็เป็นสิทธิของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่จะหยุดหรือไม่หยุดก็ได้ ส่วนท่านจะกลับมาตายที่ประเทศไทยก็เป็นสิทธิของท่าน แต่ไม่ทราบว่าจะกลับมาในฐานะคนธรรมดาหรือในฐานะอะไร
ถามต่อว่า เกินความคาดหมายหรือไม่ที่พ.ต.ท. ทักษิณ ขอลี้ภัย นายวรินทร์ กล่าวว่า ถือว่าไม่เหนือความคาดหมายเพราะคดีอาญาธรรมดาเขาก็ใช้วิธีนี้ยอมเสียเงินประกัน