“เสรี” แฉเหตุ “รัฐบาล” ตีรวน อ้างลงนามกับต่างประเทศต้องผ่านสภาฯ หวังเพียงแค่หาเรื่องแก้ รธน. เตือนอย่าเหมารวมกับกรณีที่ศาล รธน.วินิจฉัย “เขาพระวิหาร” เหตุเพราะไม่เข้ากฎเกณฑ์ตามที่ รธน.กำหนด ยันกติกาไร้ความเลวร้าย-แต่ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของคนใช้กฎหมาย
วันนี้ (26 ก.ค.) นายเสรี สุวรรณภานนท์ รองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงรัฐบาลที่ยกกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการลงนามร่วมกับกัมพูชาว่า ขัดมาตรา 190 มาอ้างโยงถึงการลงนามอื่นๆ กับต่างประเทศที่จะต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาทุกเรื่องว่า ตนคิดว่าบางเรื่องไม่ได้เข้าเกณฑ์มาตรา 190 วรรคสองทั้งหมด ซึ่งรัฐบาลสามารถดำเนินการได้ แต่ถ้าหากกลัวว่าจะเข้าเกณฑ์ หรือหมิ่นเหม่ ก็ต้องดูว่าเป็นสนธิสัญญา หรือเป็นสัญญาที่จะเปลี่ยนแปลงอาณาเขตหรือไม่ หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขต แต่ประเทศไทยเรามีอธิปไตย หรืออำนาจตามหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ อย่างเช่น การไปซื้อที่ดินตั้งเป็นสถานทูต แม้จะไม่ใช่ในประเทศไทย แต่เราก็มีอำนาจอธิปไตยอยู่ที่นั่น
“ก็ต้องดูว่าเข้าเกณฑ์หรือไม่ ต้องออกพระราชบัญญัติให้เป็นไปตามหนังสือสัญญาหรือไม่ หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และสังคมอย่างกว้างขวางหรือไม่ มีผลผูกพันต่อการลงทุน หรืองบประมาณของประเทศหรือไม่ ซึ่งต้องวิเคราะห์ และกำหนดเกณฑ์ออกมา กฎเกณฑ์เหล่านี้รัฐธรรมนูญเขียนไว้เพี่อที่จะป้องกันไม่ให้บรรดาคนที่บริหารประเทศไปกระทำการใด แล้วชาวบ้านไม่รับรู้ด้วย แต่ชาวบ้านอาจจะได้รับผลกระทบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็สืบเนื่องมาจากเอฟทีเอ ที่ต้องไปทำสนธิสัญญากับประเทศต่างๆ แล้วประเทศไทยเสียเปรียบอยู่ตลอดเวลา” นายเสรี กล่าว
นายเสรี กล่าวถึงกฎเกณฑ์ที่ถูกกำหนดขึ้นมาว่า ตนคิดว่าในส่วนของรัฐบาลเอง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องมีการกำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นมาให้ชัดเจนไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม ให้ศึกษาให้กระจ่างชัด อย่าไปตีเหมาทุกเรื่อง เพราะถ้าตีเหมาทุกเรื่อง ก็จะกลายเป็นการรวนว่า อันนั้นทำไม่ได้เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ห้ามไว้ เดี๋ยวจะมีปัญหาเหมือนเขาพระวิหาร
“แต่เขาพระวิหารมันเข้าเกณฑ์ ศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยแล้ว เพราะฉะนั้น กลายเป็นว่าเรื่องหนึ่งเหมือนกับตัดสินแล้วทุกเรื่องจะเป็นอย่างนี้ไปหมด มันไม่ใช่ ถ้าหากว่ามันไม่อยู่ในเกณฑ์เหล่านี้ และท่านก็กำหนดมาให้ชัดเจน แล้วมาดูว่ามันเข้าเกณฑ์หรือไม่ ถ้าเข้าเกณฑ์ ก็ต้องเข้าสภาให้ประชาชนรับทราบ มันเสียหายตรงไหน บางทีท่านก็บอกว่ามันไม่ใช่เรื่องใหญ่โต เรื่องที่จะต้องสามารถตัดสินใจได้เลย แต่ต้องดูว่าเข้าเกณฑ์เบื้องต้นหรือไม่ ถ้าเข้าเกณฑ์ก็ต้องเข้าสภา และถ้าสงสัยก็ต้องเข้าสภาฯ” นายเสรี กล่าว
อดีตรองประธานร่าง รธน.กล่าวอีกว่า ภาครัฐเองต้องสร้างความมั่นใจ เพราะถ้ารัฐธรรมนูญเขียนออกมาอย่างนี้ เนื่องจากเกิดความไม่ไว้ใจ และความไม่เชื่อใจว่าเมื่อรัฐบาลบริหารประเทศแล้วจะปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติให้ดีที่สุด ซึ่งประเด็นนี้จึงถูกสร้างขึ้นมา และเมื่อสร้างมาแล้วมันเข้าเกณฑ์ก็ต้องเข้าสภาฯ ให้ประชาชนรับทราบ แต่ถ้าบอกว่าทำให้ประชาชนไว้เนื้อเชื่อใจว่า ต่อไปข้างหน้าภาครัฐ และราชการ สามารถแนวทางการปฏิบัติงานที่รักษาผลประโยชน์ของประเทศอย่างเต็มที่ แล้วทุกคนปฏิบัติไปตามนั้น ถามว่าต้องบัญญัติในรัฐธรรมนูญหรือไม่
“ถ้าหากมาตรฐานการทำงานเป็นที่ยอมรับ แล้วนำไปใช้ปฏิบัติจริง ผมว่าถึงเวลานั้นแล้วค่อยมาปลดล็อก แต่ที่ผ่านมา บ้านเมืองเราเสียหายเพราะข้อตกลงสนธิสัญญากับต่างประเทศ เราเสียเปรียบ ประชาชนเดือดร้อนจากการที่รัฐบาลไปเซ็นสัญญากับต่างประเทศ เมื่อเขาไม่ไว้ใจ เขาก็มาเขียนเป็นกติกา ซึ่งก็อาจจะยุ่งในภาคปฏิบัติ เพราะต้องมาคิดว่าเข้าเกณฑ์หรือไม่ แต่อย่าไปบอกว่าทุกเรื่องต้องเข้าเกณฑ์หมด อย่าเป็นเรื่องของการจับผิด หรือตั้งแง่ เพราะถ้าเล่นการเมืองแล้วบอกว่ารัฐธรรมนูญไม่ดี แล้วก็จะหาเหตุของการแก้ตรงนั้น ตรงนี้ ผมว่าสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นเพราะว่าบางทีมันไม่พอใจรัฐธรรมนูญมาตรานั้น อยากได้มาตรานี้ ในช่วงเวลานี้ก็เลยสร้างความชอบธรรมที่จะไม่เอารัฐธรรมนูญปี 2550 ผมว่ามันไม่ใช่” นายเสรี กล่าว
นายเสรี กล่าวอีกว่า กติกาที่ถูกสร้างขึ้นมาไม่มีความเลวร้าย แต่สิ่งที่กติกาถูกกำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นมา มันอยู่ที่คนซึ่งมีพฤติกรรมอย่างนี้ มันจึงต้องออกกฎหมายออกกฎเกณฑ์อะไรแบบนี้ แต่ถ้าทุกอย่างดีแล้ว ก็ไม่จำเป็นมีสิ่งเหล่านี้ ถ้าหากว่าปัญหาบ้านเมืองไม่มี รัฐธรรมนูญ ก็อาจจะบางมากกว่านี้ แต่มาตรการถูกสร้างขึ้นมา รวมทั้งการตั้งองค์กรอิสระ ก็บอกว่าเหมือนไม่มีความไว้ใจกันแล้ว เพราะเมื่อก่อนความสำคัญอยู่ที่รัฐมนตรี ถ้าจะตั้งใครขึ้นมา รัฐมนตรีเป็นคนรับผิดชอบ และไปไปมามาก็มีความไม่ไว้ใจรัฐมนตรี จึงต้องตั้งคณะกรรมการสรรหา เพราะไม่เช่นนั้นจะส่งคนของตัวเองเข้ามาหมด ดังนั้นถ้าทุกคนปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ กติกาก็ไม่หนาหรอก แต่ไม่ได้เหมาทุกคน เดี๋ยวจะคิดว่ามองนักการเมืองเลวทุกคน ซึ่งไม่ใช่ แต่เรากำลังพูดถึงระบบ ปัญหาทางออก และวิธีแก้ไข