“ศรีศักร” เผย ไทยยังมีโอกาสต่อรองขึ้นทะเบียน “พระวิหาร” ร่วมกัมพูชา เหตุขั้นตอนจดมรดกโลกยังไม่สมบูรณ์ แนะตั้ง กก.ร่วม 2 ชาติ ขึ้นมาศึกษา จวกยูเนสโกทำผิดกติกา ไทยควรลาออกประท้วง ชี้ องค์กรระหว่างประเทศไม่ควรเข้ามายุ่ง หวั่นคนไทย-เขมร ต้องเสียเงินเข้าชมมรดกของตัวเอง พร้อมย้ำไม่มั่นใจลูกกรอกจะปกป้องเอกราช หนุนทหารไทยตรึงกำลัง 1 ปี บีบเขมรต่อรอง
วานนี้ (22 ก.ค.) นายศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า ขณะนี้กระบวนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา ยังไม่สิ้นสุดสมบูรณ์ ไทยยังสามารถต่อรองให้ขึ้นทะเบียนร่วมกันสองประเทศได้ เพราะว่าคณะกรรมการมรดกโลก ทำผิดกติกา คือ จดทะเบียนให้กัมพูชาโดยยังไม่ได้ผ่านขั้นตอนการปักปันเขตแดน ซึ่งถือว่าไม่ถูกต้อง ถ้ายูเนสโกยังดึงดันที่จะทำอย่างนี้ต่อไป ประเทศไทยก็สามารถลาออกจากการเป็นสมาชิกได้ เพราะถือว่ายูเนสโกทำผิดกติกา
นอกจากนี้ การขึ้นทะเบียนดังกล่าวยังไม่มีมาสเตอร์แพลน หรือแผนแม่บทอย่างเป็นทางการในการดูแลพื้นที่มรดกโลก ส่วนที่กัมพูชาขอให้เอาเซียนมาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทไทย-กัมพูชานั้น ตนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่ให้อาเซียนเข้ามา เพราะอาเซียนเป็นการรวมตัวของประเทศจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่พื้นฐานทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดังนั้น อาเซียนไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะเข้าใจประวัติศาสตร์ ไม่สามารถเข้ามาชี้ถูกชี้ผิดในเรื่องนี้ได้ ถ้าปล่อยให้องค์กรนานาชาติเข้ามาก็เหมือนให้มนุษย์ต่างดาว ชาวต่างชาติเข้ามากระทำมนุษย์ตาดำๆ ทั้งคนไทยและคนเขมร ที่ต้องกลายเป็นเหยื่อ ต่อไปคนที่อยู่ในพื้นที่ที่เป็นมรดกโลกอาจจะต้องเสียเงินเข้าไปในพื้นที่ของตัวเอง
“วันนี้ผมไม่ไว้ใจรัฐบาลในการปกป้องเอกราชอธิปไตยของไทย กองทัพทำถูกแล้วที่ตรึงกำลังเพื่อปกป้องอธิปไตย ซึ่งหมายถึงการรักษาชีวิตของคนในท้องถิ่น และปกป้องทรัพยากรของชาติ ถ้าปล่อยให้มรดกโลกมาจัดการกลุ่มทุนข้ามชาติ ก็จะเข้ามาครอบครองทั้งหมด และเชื่อว่า หากตรึงกำลังเอาไว้สัก 1 ปี กัมพูชาก็จะฝ่อไปเอง เพราะถ้าเราปกป้องโบราณสถานรอบตัวปราสาท สระตราว บาราย หรือสถูปคู่ เอาไว้ได้ ปราสาทพระวิหารจะไม่มีทางเป็นมรดกโลกที่สมบูรณ์ได้เลย เพราะปราสาทในโลกนี้ต้องมีบาราย ตราบใดที่บารายยังเป็นของไทย ปราสาทพระวิหารก็เป็นเพียงกระดูกที่ไม่มีเนื้อหนังมังสาห่อหุ้มเป็นมรดกโลกที่ไม่สมบูรณ์ กองทัพต้องตรึงกำลังพื้นที่ในการต่อรอง โดยอาจมีการตั้งคณะกรรมการร่วมไทย-กัมพูชา ให้เป็นวาระแห่งชาติของทั้งสองประเทศ โดยประกอบด้วย นักวิชาการที่เป็นกลาง และไว้ใจได้ขึ้นมาศึกษาความสมบูรณ์ของการเป็นมรดกโลกอีกครั้งหนึ่ง และนำไปสู่การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทั้งสองประเทศในที่สุด” นายศรีศักดิ์ กล่าว
อนึ่ง เมื่อเวลา 13.00 น.วานนี้ (22 ก.ค.) คณะ ส.ว.นำโดย ม.ร.ว.ปิยนันทนา รังสิต รองประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา ได้เดินทางไปยังค่ายสุรนารีเพื่อฟังการบรรยายจากผู้แทนกองกำลังสุรนารี เกี่ยวกับปัญหาบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา กรณีเขาพระวิหาร โดยไม่ยอมให้ผู้สื่อข่าวร่วมเข้าฟังด้วย จากนั้นคณะ ส.ว.ได้เดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร โดยคณะได้ไปหยุดอยู่ที่ศูนย์ประสานงานนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นทางขึ้นผามออีแดง โดย ม.ร.ว.ปิยนันทนา ได้พยายามขอร้องทหารให้พาขึ้นไปยังโบราณสถานโดยรอบที่อยู่ในดินแดนไทย เพื่อที่จะนำมาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา แต่ปรากฏว่า ทางฝ่ายทหารปฏิเสธที่จะพาขึ้นไป โดยอ้างว่าในบริเวณนั้น มีกองกำลังทหารประจำการในจุดต่างๆ ซึ่งเป็นความลับในเชิงยุทธศาสตร์ความมั่นคง ไม่สามารถให้คนทั่วไปขึ้นไปได้ ซึ่งแม้แต่แม่ทัพภาคสอง ยังขึ้นได้สูงสุดแค่จุดที่ ส.ว.อยู่เท่านั้น
นอกจากนี้ นายศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ได้พาผู้สื่อข่าว และ ส.ว.ไปสำรวจสถานที่ใกล้จุดที่กองกำลังทหารตั้งกองกำลังอยู่ และอยู่ในละแวกที่กลุ่มธรรมยาตราปักหลักชุมนุมอยู่ ซึ่งฝ่ายทหารได้ขอร้องให้ทางคณะย้อนกลับลงมา