รองโฆษกสำนักนายกฯ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” ร้องพันธมิตรฯ หยุดกดดันรัฐบาลโดยการพาคนไปชุมนุมที่เขาพระวิหาร ขู่ หากพบมีการเคลื่อนไหวไม่เหมาะสม ก็พร้อมดำเนินการทันที พร้อมเดินหน้า จี้ ป.ป.ช.ลาออก อ้างมีที่มาไม่ถูกต้อง ควรยุติบทบาท เพื่อรักษาความสง่างาม
วันนี้ (19 ก.ค.) เว็บไซต์มติชนออนไลน์ นำเสนอข่าวคำให้สัมภาษณ์ของ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มพันธมิตรฯ บุกผามออีแดง บริเวณเขาพระวิหาร ว่า อยากเรียกร้องให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ถ้ารักชาติจริง อย่านำปัญหาไทย-กัมพูชา อันเนื่องมาจากเขาพระวิหาร มาเชื่อมโยงกับประเด็นทางการเมือง และควรยุติการสร้างแรงกดดันด้วยการระดมมวลชนไปชุมนุมที่ปราสาทพระวิหารได้แล้ว เนื่องจากเป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์รุนแรงได้ ซึ่งทางที่ดีเรื่องนี้ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาล และฝ่ายความมั่นคง เป็นผู้ดำเนินการตามความชอบธรรม ซึ่งเรื่องนี้ก็จะมีการเจรจาหาทางออกร่วมกันในวันจันทร์ที่ 21 ก.ค.นี้ ภายใต้การนำของ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่จะเป็นตัวแทนเดินทางไปเจรจา
อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่า หลังการประชุมคณะกรรมการกิจการชายแดนทั่วไป ในวันที่ 21 ก.ค.แล้ว สถานการณ์ความตึงเครียดในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา จะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ส่วนการที่เรียกร้องให้กลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่มธรรมยาตรา ไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ ก็เนื่องจาก เกรงว่า การเข้าไปของกลุ่มคนดังกล่าว อาจทำให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบโดยตรง เข้าไปแก้ไขปัญหาอย่างลำบากมากขึ้น และการเข้าไปเพื่อสร้างแรงกดดันก็จะไม่เกิดผลดีกับใคร
นอกจากนี้ ตนยังได้รับแจ้งทางโทรศัพท์จากบุคคลในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ด้วยว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ในบริเวณนั้นมีการกล่าวปราศรัย และติดป้ายด้วยถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นการกระทบความรู้สึกของคนในพื้นที่เป็นอย่างมาก ตนเองจึงได้ประสานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้รวบรวมข้อมูลเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบว่ามีความผิดตามกฎหมาย จะดำเนินการในทันที
นายณัฐวุฒิ ยังได้กล่าวเรียกร้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทบทวนการทำหน้าที่ และลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเข้าสู่กระบวนการสรรหาตามรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นการรักษาความสง่างามในการดำรงตำแหน่ง เพราะเห็นว่า ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน ถูกแต่งตั้งขึ้นจากคณะปฏิรูปการปกครอง หรือ ประกาศ คปค.ฉบับที่ 19 ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผู้บัญชาการทหารบก และประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ในขณะนั้น เป็นผู้ลงนาม แต่ปัจจุบัน พล.อ.สนธิ ได้เกษียณจากข้าราชการทหาร เป็นเพียงประชาชนธรรมดาเท่านั้น และหาก พล.อ.สนธิ ลงสมัครรับเลือกตั้ง และได้รับตำแหน่งเป็นรัฐบาล แล้วมีการยื่นให้ตรวจสอบในสมัยการดำรงตำแหน่งของ ป.ป.ช.ชุดนี้ ป.ป.ช.จะปฏิบัติหน้าที่อย่างไร ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะทำให้บ้านเมืองเกิดความสงสัยยิ่งขึ้น
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังย้ำด้วยว่า พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ได้ระบุให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.รับตำแหน่งได้วาระละ 9 ปี และคนละ 1 วาระหลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ และสามารถรับเงินเดือน หลังจากพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เช่นกัน แต่ ป.ป.ช.ชุดนี้ไม่มีการโปรดเกล้าฯ แต่อย่างใด
ทั้งนี้ การออกมาให้สัมภาษณ์ของ นายณัฐวุฒิ เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการที่จะลดความน่าเชื่อถือของ ป.ป.ช.หลังจากที่ ป.ป.ช.ได้รับเรื่องถอดถอนคณะรัฐมนตรีกรณีมีมติรับรองแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาโดนขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 190 นอกจากนี้ ป.ป.ช.ยังได้รับคดีทุจริตของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไว้จาก คตส.เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อด้วย