xs
xsm
sm
md
lg

องคมนตรีเตือน อคติ-ฝ่ายบริหารอย่าลุอำนาจอยู่เหนือ กม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายธานิทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี(ภาพจากแฟ้ม)
องคมนตรีเตือนนักกฎหมาย-ฝ่ายนิติบัญญัติต้องไม่มีอคติ ให้เกิดความลำเอียงมองความจริงผิดเพี้ยนไป ชื่นชมรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 179 (2) ที่กำหนดให้มีประมวลจริยธรรม กำหนดบทบลงโทษสมาชิกรัฐสภาที่เหมาะสมมากขึ้น ขณะเดียวกัน พระราชดำรัสเตือนฝ่ายบริหารอย่าลุแก่อำนาจ อยู่เหนือกฎหมายจะเป็นอันตรายต่อบ้านเมืองใหญ่หลวง


วันนี้ (18 ก.ค.) นายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี บรรยายในหัวข้อ “นักกฎหมายกับอคติ” ให้กับเนติบัณฑิต รุ่นที่ 60 ของสำนักอบรมกฎหมายของเนติบัณฑิตยสภาว่า สาเหตุของความผิดพลาดของนักกฎหมาย คืออคติของนักกฎหมาย จึงได้มีการเตือนใจนักกฎหมายให้เอาใจใส่และระมัดระวัง ไม่ให้อคติก่อให้เกิดปัญหาในการประกอบวิชาชีพ อคติคือความลำเอียง ความลำเอียงเมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะทำให้เกิดความไขว้เขวและมองสถานการณ์ผิดเพี้ยนไป

“มนุษย์มีธรรมชาติที่จะยึดถือเอาความคิดเห็นของตัวเองเป็นใหญ่ ทำให้คนเราเลือกรับฟัง เชื่อ ในสิ่งที่ตนเองชอบ ดังนั้น การจะทำสิ่งใดก็แล้วแต่ จะต้องคิดว่าเรามีอคติหรือไม่ อย่าถือเอาความจำของตัวเองเป็นเกณฑ์ ให้ตรวจสอบให้ดี แม้แต่การอ้างกฎหมายต่อจากผู้อื่น โดยไม่ตรวจสอบเสียก่อนว่ากฎหมายมีการแก้ไขไปแล้ว นักกฎหมายต้องตรวจสอบตลอดเวลา แล้วตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน นักกฎหมายต้องฝึกฝนตัวเองให้เป็นคนเจ้าปัญหา สงสัยทุกเรื่องที่เราพิจารณา” นายธานินทร์ กล่าว

นายธานินทร์ กล่าวว่า การช่วยของทนายความต้องช่วยอยู่ในหลักศีลธรรม อยู่ในกรอบของกฎหมาย ไม่ใช่ช่วยไปถึงการทำลายพยานหลักฐานหรือสร้างพยานหลักฐานเท็จขึ้นมา ทนายความยังต้องถือว่า ตัวเป็นผู้ช่วยศาล ในการสร้างความถูกต้องชอบธรรม ไม่ใช่คิดแต่เพียงว่า ต้องช่วยจำเลยให้พ้นจากความผิดเท่านั้น ทนายความจะต้องไม่มีอคติ คิดจะเอาชนะอย่างเดียว ทนายความจะต้องช่วยเหลือประชาชนจริงๆ โดยไม่คิดถึงผลประโยชน์ที่จะได้จากคดีเท่านั้น

นอกจากนี้ นายธานินทร์ กล่าวว่า ความอคติยังมีอยู่ในฝ่ายนิติบัญญัติด้วย ฝ่ายนิติบัญญัติกำหนดบทบลงโทษตัวเองไว้เพียงแผ่วเบามาก เพียงตำหนิ ตักเตือน หรือประณามเท่านั้น เพราะเกรงว่าตัวเองอาจมีโอกาสรับโทษจากกฎหมายของตัวเอง อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ในมาตรา 179 (2) ที่กำหนดให้มีประมวลจริยธรรม โดยให้มีกลไกในการกำหนดบทบลงโทษที่เหมาะสมมากขึ้น

นายธานินทร์ กล่าวว่า อคติของฝ่ายบริหารถือเป็นอันตรายอย่างมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเคยมีพระราชดำรัสใจความว่า หากนำกฎหมายไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ หรือเจตนารมณ์ โดยการพลิกแพลงบิดพลิ้วให้ผันผวนไปในทางที่ผิดจะเป็นอันตรายต่อบ้านเมือง หากผู้บริหารไม่ว่าระดับใดลุแก่อำนาจ ทำอะไรอยู่เหนือกฎหมาย ภัยที่เกิดจากเจ้าพนักงานลุแก่อำนาจ เช่น การขู่ฆ่า การฆ่าตัดตอน การวิสามัญฆาตกรรมโดยอ้างสิ่งที่ชอบ หรือแม้แต่การยัดเยียดขอกล่าวหา การสร้างพยานหลักฐานเท็จ เป็นความร้ายแรงอย่างที่สุด จะสร้างความเสียหายเดือดร้อนต่อประชาชน

“เจ้าพนักงานทั้งหลายไม่ควรลุแก่อำนาจ แต่พึงระลึกเสมอว่า อำนาจที่มีอยู่เป็นอำนาจตามกฎหมาย ที่มาพร้อมกับหน้าที่ ที่ต้องคำนึงถึงผลที่จะตามมา” นายธานินทร์ กล่าว

ด้านนาย ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี บรรยายในหัวข้อ "บทบาทของนักกฏหมายในระบอบประชาธิปไตย" ว่า วิกฤตในบ้านเมืองที่เกิดขึ้นจากการขาดการปกครองด้วยหลักนิติธรรม บทบาทของนักกฏหมายในระบอบประชาธิปไตยคือการยึดมั่นในหลักนิติธรรม เราไม่สามารถทำให้คนทุกคนร่ำรวยเหมือนกันหมดทุกคน แต่ทำให้คนทุกคนอยู่ภายใต้หลักกฏหมายเดียวกันทั้งหมดอย่างเท่าเทียมกันได้ โดยหลักการปกครองที่ยุติธรรมหรือฝ่ายเลือกตั้งมาจากความยุติธรรม เสียงข้างมากของรัฐบาลย่อมได้รับความชอบธรรมที่มาของกระแสพระระราชดำรัส"วิกฤติที่สุดในโลก" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงพระราชทานต่อตุลาการ

"การปกครองด้วยหลักนิติธรรมจะช่วยลดความรุนแรงและการใช้กฏหมู่ในการแก้ไขปัญหา เมื่อทุกฝ่ายอยู่ภายใต้กฏหมายอย่างเท่าเทียมกนการเลือกปฏิบัติหรือการใช้อภิสิทธิ์จะน้อยลง หลักนิติธรรมยังมีส่วนสร้างระบบการบริหารบ้านเมืองที่ดี วิกฤติที่สุดในโลก ไม่ใช่ความผิดของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 วิกฤติเกิดขึ้นจากผู้บริหารที่ไม่ได้ยึดหลักนิติธรรม หลักนิติธรรมไม่จำเป็นต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนญ ผู้บริหารประเทศต้องปฏิบัติตามหลักนิติธรรมอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาไม่ได้รับการปฏิบัติ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 จึงต้องเพิ่มวรรคสองของมาตรา 3 ที่ระบุว่าฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ องค์กรอิสระ ต้องบริหารโดยใช้หลักนิติธรรม" นายชวน กล่าว

นายชวน กล่าวต่อว่า มีผู้วิพากษ์วิจารณ์บทบาทของตุลาการอย่างมาก เพราะบทบาทของตุลาการคือการวินิจฉัยฝ่ายบริหารและข้าราชการซึ่งจะมีส่วนทำให้บ้านเมืองออกจากวิกฤติหรือเข้าสู่วิกฤติ ศาลเป็นความหวังที่จะพลิกสถานการณ์ของบ้านเมืองให้กลับคืนมา วันนี้คนหวังว่าศาลจะชี้ถูกเป็นถูก ชี้ผิดเป็นผิด ไม่ใช่เกรงใจและไม่กลัว หากกลไกตรวจสอบคือตุลการ องค์กรอิสระ และสื่อสารมวลชนทำงาน จะช่วยให้หลักนิติธรรมเกิดขึ้นได้

ปัญหาของระบบการเมืองในขณะนี้คือความไม่ชอบธรรมที่ได้มาโดยการอ้างความชอบธรรม เช่น การซื้อสิทธิขายเสียงที่ทำให้การเมืองเลวลง ประชาชนจะต้องไม่ยอมรับที่มาเช่นนี้และหาทางแก้ปัญหา เมื่อกลไกจัดการเลือกตั้งโดยกระทรวงมหาดไทยไม่ได้รับความเชื่อถือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงเกิดขึ้น อำนาจขององค์กรอิสระเกิดขึ้นเพื่อเสริมความเข้มแข็งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แม้องค์กรเหล่านี้จะมีอำนาจตุลาการบางส่วนอยู่ในมือที่สามารถตัดสินให้ได้ข้อยุติในบางเรื่องได้

อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยมักไม่ได้อยู่ในอำนาจยั่งยืน ซึ่งกระทบต่อการแก้ไขปัญหาของประชาชน ขณะที่สถาบันพระมหากษัตริย์มีความยั่งยืนและอยู่คู่กับเมืองไทยมาอย่างยาวนาน ปัญหาภาคใต้เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าการแก้ไขปัญหาอย่างยาวโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เป็นสิ่งที่ยั่งยืน ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้เกิดจากความไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ และไม่เข้าใจหลักการปกครองโดยหลักนิติธรรม ความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยไม่ใช้หลักนิติธรรมหากไม่มีสถาบันกษัตริย์ยึดโยงไว้ปัญหาคงรุนแรงไปมากกว่านี้
กำลังโหลดความคิดเห็น