xs
xsm
sm
md
lg

“การเมืองใหม่” ภายใต้การต่อสู้ของพันธมิตรฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ
โดย สุริยะใส กตะศิลา

ภายหลังพันธมิตรฯ สามารถเคลื่อนขบวนหลายแสนคนฝ่าด่านกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนสามารถเข้ามายึดพื้นที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลได้เป็นผลสำเร็จ โดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเลือดตกยางออกอย่างที่หลายฝ่ายวิตกกังวล หลังจากนั้น พันธมิตรฯ ได้ตั้งเวทีถาวรขนาดใหญ่ที่สะพานชมัยมรุเชฐ และมีการเปิดปราศรัยปกติคล้ายๆ กับการชุมนุมยืดเยื้อที่สะพานมัฆวานรังสรรค์

ประเด็นที่ได้รับความสนใจและถามไถ่จากสื่อมวลชน กระทั่งกลายเป็นข้อถกเถียงตามมาในวงกว้างก็คือ การเปิดประเด็นของ 5 แกนนำบนเวทีปราศรัย ที่ชูธงปลุกมวลชน “ร่วมสร้างการเมืองใหม่” พร้อมๆ กับการวิพากษ์วิจารณ์โจมตีการเมืองแบบระบบรัฐสภาในปัจจุบันที่ไม่สามารถเยียวยาหรือแก้ไขวิกฤตการณ์ของชาติได้อย่างเท่าทัน

การเมืองใหม่ ได้กลายเป็นวาทกรรมการเมืองที่หลายฝ่ายออกมาตีความ ขยายความ ตั้งข้อสังเกต หรือกระทั่งเคลือบแคลงว่าพันธมิตรฯ มีวาระพิเศษหรือวาระซ่อนเร้นจากการชูธงผืนใหม่ใบนี้หรือไม่

ผมในฐานะผู้ประสานงานพันธมิตรฯ ซึ่งพอมีความใกล้ชิดทางความคิดกับแกนนำพันธมิตรฯ ทั้ง 5 คน ทั้งในห้องประชุมและนอกห้องประชุม

ผมเห็นว่า การชูธง “ร่วมสร้างการเมืองใหม่” ของทั้ง 5 แกนนำต่อมวลชนพันธมิตรฯ และสาธารณชนนั้น ถือเป็นการยกระดับการต่อสู้ของแกนนำ และมวลชนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

เป็นการยกระดับที่อาจดูเหมือนล้ำหน้า และเกินความเข้าใจของประชาชนทั่วไป แต่เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องพูด ต้องเสนอและต้องกล้าจุดประกาย ก่อนที่ทุกอย่างจะสายหรือ ถ้าเปรียบประเทศเป็นปลาก็เหลือแต่ก้างไว้ให้ลูกหลานเท่านั้น

เมื่อ 2-3 ปีที่แล้วถ้าเราย้อนไปดูการก่อเกิดของพันธมิตรฯ เคลื่อนไหวขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้พ้นจากตำแหน่งนายกฯ และเปิดโปงความเลวร้ายของระบอบทักษิณ โดยชูวาทกรรม “กู้ชาติ” นั้น แม้สุดท้าย พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องพ้นจากตำแหน่งโดยการรัฐประหาร และต่อมาระบอบทักษิณ ได้ถูกรื้อถอนไปในระดับหนึ่งก็ตาม

แต่ทุกอย่างก็ไม่ได้ข้อยุติ ซ้ำร้ายหลังการเลือกตั้งได้รัฐบาลนอมินี ยิ่งพบชัดเจนว่าการเมืองไทยมีทิศทางกลับไปสู่ระบอบทักษิณ และความเป็นใหญ่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กระทั่งกลุ่มทุนการเมืองในนามพรรคไทยรักไทยเดิม

ด้วยเหตุดังนั้น การประกาศฟื้นพันธมิตรฯ ภาค 2 จึงเลี่ยงไม่พ้น แต่ภายใต้สถานการณ์ใหม่จึงดูเหมือนธงการต่อสู้ของพันธมิตรฯ จึงเป็นธงผืนใหม่และใบใหญ่กว่าเดิม คือธง “โค่นระบอบทักษิณ ไล่รัฐบาลหุ่นเชิด” ในความหมายของ “สงครามกู้ชาติครั้งสุดท้าย”

ในขณะเดียวกันก็ประกาศสงครามครั้งใหม่ คือ การชูธง “สร้างชาติ” ภายใต้วาทกรรมการเมืองใหม่ ไปให้พ้นระบบรัฐสภาของนักเลือกตั้ง หรือประชาธิปไตยแบบ 4 วินาที หรือลัทธิเลือกตั้งเป็นใหญ่

“การเมืองใหม่” ในความหมายของพันธมิตรฯ จึงเป็นการเมืองที่เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง ลดอำนาจหน้าที่ของตัวแทนหรือผู้แทนลง เพิ่มบทบาทและอำนาจให้กับประชาชนมากขึ้น

คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ประชาธิปไตยแบบระบบรัฐสภา หรือประชาธิปไตยแบบผู้แทนได้ถูกประจานไปทั่วโลกว่ามีขีดจำกัดและไม่มีศักยภาพในการรับมือกับวิกฤตการณ์ของโลกในยุคทุนสามานย์เป็นใหญ่ กระแสการพัฒนาประชาธิปไตยในทางสากลทั่วโลกจึงเริ่มให้ความสำคัญกับการปรับปรุงปฏิรูประบอบประชาธิปไตยให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเข้มข้นมากขึ้น

ในบางประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ไม่เพียงแต่ลดบทบาทและอำนาจในการตัดสินใจของผู้แทนลงเท่านั้น แต่ยังเพิ่มและถ่ายโอนเคลื่อนย้าย “อำนาจในการตัดสินใจ” ไปที่ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยโดยตรงมากขึ้น ในรูปแบบของการประชาพิจารณ์ (Public Hearing) และประชามติ (Referendum) มากขึ้น

การเมืองใหม่ในความหมายของประชาธิปไตยแบบใหม่ จึงไม่ใช่แค่ต้องให้ความสำคัญกับที่มาหรือกระบวนการในการตัดสินใจใช้อำนาจเท่านั้น หากแต่ต้องสร้างหลักประกันว่าประชาชนทุกสาขาอาชีพ ทุกชนชั้นจะเข้าถึงอำนาจในการตัดสินใจหรือกำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ ชาวนา กรรมกรผู้ใช้แรงงาน คนจนในเมือง คนจนในชนบท ชนเผ่าชายขอบ พ่อค้าวาณิชย์ นักธุรกิจชนชั้นกลาง ผู้หญิง คนพิการ คนด้อยโอกาสทางสังคม เป็นต้น

กล่าวเช่นนี้ย่อมแน่นอนว่าไม่ใช่แค่สัดส่วนหรือที่นั่งในอำนาจนิติบัญญัติ (ส.ส.-ส.ว.)จะต้องมีองค์ประกอบและหลักประกันที่หลากหลายเท่านั้น ในขณะเดียวกันอำนาจบริหารก็ต้องมีพื้นที่ให้กับคนกลุ่มต่างๆ เหล่านั้นในระดับที่แน่นอนเช่นกัน

ข้อเสนอที่ท้าทายของแกนนำพันธมิตรฯ ที่เสนอสูตรผสมของผู้เข้าสู่อำนาจในสัดส่วน 70:30 กล่าวคือเพิ่มกระบวนการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็น ร้อยละ 70 และลดที่มาของผู้ดำรงตำแหน่งโดยวิธีการเลือกตั้งลงเหลือร้อยละ 30 จึงเป็นเพียงการนับหนึ่งหรือริเริ่มจุดประกายให้สังคมได้ขบคิดถกเถียงขยายผลในวงกว้างต่อไป

ทั้งนี้ ในรายละเอียดหรือโมเดลของ การเมืองใหม่ จึงจำเป็นที่ผู้รู้ นักวิชาการ สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย และภาคส่วนต่างๆ จะนำไปขบคิดขยายผลเพื่อก้าวพ้นลัทธิเลือกตั้งที่ทุนเป็นใหญ่ ประเทศซื้อได้ และประชาชนเป็นเพียงผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ว่านอนสอนง่ายเท่านั้น

ที่กล่าวมาข้างต้น หลายคนอาจสงสัยว่าจะเริ่มตรงไหนอย่างไร ต้องปฏิวัติ รัฐประหาร ต้องฉีกรัฐธรรมนูญ ต้องตั้งรัฐบาลแห่งชาติหรือรัฐบาลเฉพาะกาล อย่างนั้นหรือ ผมกลับเห็นว่าวิธีการอาจไม่สำคัญเท่ากับหลักการ หากวันนี้สังคมเห็นความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วนว่าเราต้องร่วมร่วมกันสร้างชาติและสร้างการเมืองใหม่แล้ว รูปแบบวิธีการก็อาจไม่ใช่เรื่องยากและอาจง่ายเกินกว่าที่เราคิดและอาจไม่ถึงขั้นต้องรบราฆ่าฟันกันกลางเมืองอย่างที่หลายฝ่ายกังวล

วันนี้ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ขอเป็นผู้ถือธงนำ และประกาศเป็นพันธสัญญาในการต่อสู้ครั้งนี้ร่วมกับผู้รักความเป็นธรรมทั่วไป สงครามครั้งสุดท้ายโค่นล้มระบอบทักษิณจึงเป็นเพียงระยะผ่านสู่ สงครามอันศักดิ์สิทธิ์ คือการ ร่วมกันสร้างการเมืองใหม่ ให้ปรากฏเป็นจริง...
กำลังโหลดความคิดเห็น