ในค่ำคืนที่เสียงตะโกนขับไล่นักการเมืองขายชาติของพี่น้องพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยดังกึกก้องแข่งกับสายฝนที่โหมกระหน่ำ บนเวทีพันธมิตรฯซึ่งตั้งตระหง่าน ณ เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ยังมีชายหนุ่มคนหนึ่งคอยบรรเลงดนตรีขับกล่อมสอดประสานกับเสียงร้องของศิลปินที่ขับขานบทเพลงแห่งความรักชาติ หลายคนอาจจำได้ว่าชายหนุ่มผมเกรียนในเสื้อม่อฮ่อมสีจางคนนี้คือ ‘วิลิต เตชะไพบูลย์’ มหาเศรษฐีที่ผันตัวไปเป็นชาวนา และนี่หาใช่ครั้งแรกที่เขาร่วมเคลื่อนไหวในเวทีพันธมิตร เพราะก่อนหน้านี้เมื่อปี 2549 เขาก็ได้พาพี่น้องเครือข่ายเกษตรกรชาวนามาร่วมชุมนุมในภารกิจกู้ชาติของพันธมิตรฯภาคแรก
ทิ้งธุรกิจพันล้าน หันไปเป็นชาวนา
ย้อนไปเมื่อ 8 ปีที่แล้ว หลังจากตัดสินใจทิ้งธุรกิจพันล้าน ทิ้งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการโรงแรมรีเจนท์ชะอำ อันเป็นธุรกิจของครอบครัว ‘วิลิต เตชะไพบูลย์’ ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของเมืองไทย ก็หันเหชีวิตไปเป็นเกษตรกรเต็มตัว และดูเหมือนทุ่งนาเขียวขจีที่เขาลงมือหว่านไถด้วยตัวเองจะน่าหลงใหลกว่าห้องแอร์เย็นฉ่ำ เขาและภรรยา (กิ่งกานต์ เตชะไพบูลย์) พร้อมด้วยลูกชายวัยน่ารักทั้ง 2 คน (เพลงพัชร และพลพัชร เตชะไพบูลย์) จึงยังคงลงหลักปักฐานอยู่ที่บ้านทุ่งพร้าว อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี
วิลิต เท้าความถึงเหตุผลที่เขาหันไปใช้ชีวิตแบบชาวไร่ชาวนา อีกทั้งยังเป็นแกนนำของกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรที่มีบาทบาทในการช่วยเหลือฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่ของบรรดาชาวนาชาวไร่ให้ดีขึ้น ว่า เป็นเพราะเขาเบื่อหน่ายการทำธุรกิจซึ่งเต็มไปด้วยการแก่งแย่งแข่งขัน และรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ก่อให้เกิดคุณค่าใดๆ ในชีวิต
“ คือผมว่าวงจรธุรกิจซึ่งเต็มไปด้วยการแข่งขันนั้นมันมอมเมาชีวิตเราให้วิ่งไปไม่รู้จบ การแข่งขันทางธุรกิจอย่างบ้าระห่ำเป็นสิ่งที่ผมรับไม่ได้ ถ้าเราจะยืนอยู่บนโลกที่บ้าคลั่งอย่างนี้ก็คงจะเสียเวลาเปล่า ถึงรวยไปก็ไม่มีประโยชน์ เลยคิดว่าน่าจะหาอะไรที่เหมาะกับชีวิตเรา ผมก็ยึดคำของหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร บิดาแห่งการเกษตรไทย ที่บอกว่า ‘เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง’ ผมเลยเลือกมาเป็นเกษตรกร ก็เริ่มมาทำนาตอนปี 2543 จากนั้นก็ได้มีการจัดตั้งกลุ่มเพื่อนชาวนาในปี 2544-2545 โดยมีการก่อตั้งกลุ่มฟื้นฟูเกษตรกรเมืองเพชร พร้อมๆกับเริ่มขยายออกไปในนามของเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย คือเราพยายามผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาของชาวนาอย่างยั่งยืน
ผมว่าถ้าไปอยู่ตรงนั้นแล้วจะเห็นปัญหานะ บ้างครั้งเกษตรกรที่เป็นเพื่อนบ้านกับเราเขาก็ยังถูกมอมเมาอยู่แต่เขาไม่รู้ตัว ผมก็เหมือนปลา 2 น้ำ ซึ่งได้เห็นทั้งแง่มุมของนักธุรกิจและมุมของเกษตรกร เมื่อได้รู้ได้เห็นถึงปัญหาแล้วเรายังนิ่งดูดาย นั่งมีความสุขอยู่คนเดียวขณะที่สังคมรอบข้างล่มสลายหมดผมก็คงทำไม่ได้ เพราะเมื่อสังคมล่มสลายบ้านเมืองก็จะมีแต่โจรขโมย เราเองก็คงอยู่อย่างไม่เป็นสุข ผมว่าถ้าเรารู้จักใช้ชีวิตให้มีประโยชน์ เมื่อตายก็จะตายอย่างมีคุณค่า”
ร่วมเคลื่อนไหวกับเครือข่ายพันธมิตร
และในช่วงรัฐบาลทักษิณ 2 ซึ่งเริ่มมีการชุมนุมเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลโดยกลุ่มประชาชนที่ไม่พอใจการบริหารงานที่เต็มไปด้วยปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น วิลิตก็ได้เป็นส่วนหนึ่งในการนำเครือข่ายเกษตรเข้าร่วมชุมนุมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งปักหลักอยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล โดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ในวันที่ 19 ก.ย.2549
แต่ ณ วันนี้เมื่อรัฐบาลนอมินี ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อยู่เบื้องหลังได้หวนคืนอำนาจและกลับมาโกงกินชาติจนประชาชนต้องลุกฮือขึ้นอีกครั้ง วิลิตก็ทนอยู่นิ่งเฉยไม่ได้เขาจึงนำเครือข่ายเกษตรกรเข้าร่วมชุมนุมกับพันธมิตรพันธมิตรฯ เพื่อทวงคืนประเทศไทยจากอุ้งมือของกลุ่มโจรในเสื้อสูท เขาทำหน้าที่ในฐานะคนไทยผู้มีหัวใจอันมุ่งมั่นที่จะรักษาผืนแผ่นดินนี้ไว้ให้ลูกหลานไทยในอนาคต
“ ผมเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับพันธมิตรฯตั้งการชุมนุมครั้งแรกเมื่อปี 2549 เพราะได้เห็นถึงความไม่จริงใจของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ที่ผ่านมาผมและเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย ซึ่งมีสมาชิกไม่ต่ำกว่า 2-3 แสนคน ได้พยายามผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อให้มีการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งเป็นกองทุนที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาของเกษตรกรแบบครบวงจรทั้งเรื่องหนี้สินและการรวมกลุ่มเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน ขณะที่นโยบายพักชำระหนี้ของรัฐบาล ที่ดำเนินการผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) กลับเป็นเพียงนโยบายประชานิยมซึ่งไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง
คือเราเสนอให้รักษาโรคให้หายขาด แต่รัฐบาลไม่เอา สิ่งที่รัฐบาลทำคือการให้ยาพาราเซทตามอลเพื่อให้ประชาชนหวังพึ่งพารัฐบาลไปตลอด ยาพาราฯที่ว่าก็อย่างเช่น นโยบายกองทุนหมู่บ้าน โครงการโคล้านตัว โครงการกล้ายาง เมื่อปัญหาขั้นพื้นฐานของเกษตรกรไม่ได้รับการแก้ไข จึงส่งผลให้ที่ดินของชาวนาชาวไร่ที่เอาไปจำนองไว้หลุดลอยไปเรื่อยๆ ทุกวันนี้ที่ดินของชาวนาเป็นที่ซึ่งเหลือแปลงสุดท้ายกันทั้งนั้น ซึ่งพี่น้องเกษตรกรต่างเห็นตรงกันว่าคุณทักษิณเป็นต้นตอของปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในประเทศไทยจึงเป็นแรงผลักดันให้ผมและเครือข่ายหนี้สินชาวนาฯต้องออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับพันธมิตรฯ” วิลิต พูดถึงปัจจัยที่ทำให้เครือข่ายเกษตรกรออกมาร่วมชุมนุม
อย่างไรก็ดี ในการชุมนุมร่วมกับพันธมิตรของกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรในครั้งนี้นั้นพละกำลังดูจะถดถอยลงไปเพราะพวกเขาถูกแยกสลายด้วยผลประโยชน์บางประการที่นักการเมืองสามานย์หยิบยื่นให้ ซึ่งสร้างความเจ็บปวดใจให้วิลิตไม่น้อยทีเดียว
“ จริงๆแล้วปีนี้ถ้าพวกเราไม่แตกกันก็อาจจะได้เห็นพวกเราเป็นเรือนหมื่น แต่ตอนนี้เป็นช่วงที่พวกเรากระปลกกระเปลี้ยเนื่องจากมีคนเข้ามาแทรกแซงทำให้เราแตกแยกกัน ซึ่งก็มาจากทั้งเรื่องของผลประโยชน์และเรื่องของความเชื่อ เพราะแกนนำบางคนมองว่าเขายังจำเป็นต้องอาศัยกลุ่มการเมืองซึ่งเป็นกลุ่มทุนใหญ่ มันเป็นความแตกแยกในระดับแกนนำ แต่ในส่วนของชาวบ้านนั้นผมมองว่าเราคิดเหมือนกันนะ พูดง่ายๆ ก็คือแกนนำหลายคนเห็นต่างกันในเรื่องทุนสามานย์กับศักดินาล้าหลัง เลยทำให้เขาเห็นว่าการพึ่งพาทุนจากกลุ่มการเมืองแม้จะเป็นเงินทุนที่ได้มาอย่างไม่ถูกต้องก็ยังดีกว่าการพึ่งพาระบบราชการซึ่งเป็นอำนาจดั่งเดิม แต่สำหรับกลุ่มของผมนั้นยืนยันว่าหากใครคือตัวปัญหาเราก็ต้องจัดการ ไม่ว่าคนๆนั้นจะเป็นกลุ่มไหน คือไม่ว่าพรรคการเมืองไหนเข้ามาเป็นรัฐบาลถ้ามีการทุจริตโกงกินพวกเราก็ต้องออกมาขับไล่” วิลิต กล่าวอย่างมุ่งมั่น
‘เกษตรกรไทย’ อาชีพที่กำลังใกล้ตาย
วิลิตยังได้แสดงความวิตกต่ออาชีพเกษตรกรของไทยว่าอาจล่มสลายด้วยน้ำมือของกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ที่เข้ามาครอบงำการผลิต โดยใช้กลไกการตลาดและความได้เปรียบด้านเงินทุนมาหลอกล่อบีบคั้นให้เกษตรกรเป็นเพียงผู้รับจ้างปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ส่งขายให้นายทุน ขณะที่ตัวเกษตรกรต้องแบกรับภาระหนี้สินที่พอกพูนขึ้น ต้องนำที่ดินไปจำนองเพื่อนำเงินมาลงทุนปลูกพืชผล ส่งผลให้เกษตรกรอยู่ในภาวะอ่อนแอและต้องสูญเสียที่ดินไปเพราะไม่มีเงินไถ่ถอน
“ ผมไม่แปลกใจนะที่เห็นคุณทักษิณจะเอานายทุนซาอุฯมาลงทุนปลูกข้าวในเมืองไทย เพราะที่ผ่านมารัฐบาลของคุณทักษิณก็มีความพยายามจะเอาทุนข้ามชาติเข้ามานานแล้ว อีกทั้งยังสนับสนุนกลุ่มทุนใหญ่ให้เขามาทำโครงการการเกษตรที่เอารัดเอาเปรียบเกษตรกร เคยมีใครทำวิจัยไหมว่าโครงการต่างๆที่ผ่านบริษัทเอกชนนั้นส่งผลกระทบอย่างไรต่อเกษตรกรบ้าง ล่าสุดมีบริษัทการเกษตรยักษ์ใหญ่นำเข้าพันธุ์ข้าวที่อ้างว่ามีผลผลิตสูงจากประเทศจีน เอามาขายให้ชาวนาไทยปลูก ทั้งๆที่จริงๆแล้วข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่เกษตรกรปลูกอยู่ก็สามารถนำมาพัฒนาให้มีผลผลิตสูงได้ อีกทั้งเป็นข้าวที่มีความทนทานและไม่ตอบสนองต่อปุ๋ยเคมี ซึ่งกลุ่มทุนใหญ่ไม่ชอบเพราะถ้าชาวนาปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองเขาก็ไม่ได้ประโยชน์จากการขายปุ๋ย คือมันเป็นเล่ห์กลไม่รู้จบ
ผมยืนยันว่าการที่เกษตรกรออกมารวมตัวกันนั้นเขาไม่ได้เรียกร้องประชานิยม เขาไม่ได้เรียกร้องให้รัฐบาลทุบกระปุกเอาสตางค์ออมาเทให้เขา เขาไม่ใช่ขอทาน เกษตรกรที่เขารวมตัวเขามีศักดิ์ศรี เขามีสติปัญญา เขาจึงออกมารวมตัวกัน ส่วนเกษตรกรที่ไม่เคยมีปากมีเสียงอะไรนั่นแหล่ะคือเกษตรกรที่เราเรียกว่าเป็นรากหญ้าที่เป็นทาสเขา แต่หลักการของรัฐบาลนั้นนอกจากจะไม่สนับสนุนเขาแล้วยังจ้องทำลายเขาด้วยวิธีมอมเมาต่างๆ เช่น แยกสลาย ยุยงให้แตกแยกกันเอง เอาผลประโยชน์บางอย่างมาล่อแกนนำเพื่อให้กลุ่มองค์กรที่รวมตัวกันอ่อนแอ” วิลิต กล่าวตบท้ายด้วยประกายตาแห่งความเจ็บปวด
* * * * * * * * * * * *
เรื่อง- จินดาวรรณ สิ่งคงสิน