xs
xsm
sm
md
lg

“หมัก” โต้แผนบันได 3 ขั้นสู่นายกฯ ท่องคาถามาจากเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี
"หมัก"โต้แผนบันได 3 ขั้นสู่นายกฯ อ้างไม่เคยทะเยอทะยานใฝ่ฝัน คุยโวต้องการกู้ชื่อพลังประชาชนเพราะกำลังถูกย่ำยี แต่กลับได้รับเสียงข้างมากนั่งนายกรัฐมนตรีโดยชอบธรรม

 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายสมัคร สุนทรเวช ชี้แจงตอบโต้ 

วันนี้ (25 มิ.ย.) นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้ลุกขึ้นอภิปรายตอบโต้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน ถึงแผนบันได้ 3 ขั้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายสมัครว่า นักการเมืองรุ่นหลังไม่รู้จริงชอบจับมาขยายความ มีคนเคยกล่าวว่าใครถอนตัวออกจากพรรคประชาธิปัตย์ไปไม่รอดสักราย แต่ตนลาออกจากพรรค ปชป.แล้วมาตั้งพรรคการเมืองกวาดเก้าอี้ ส.ส.สมัยแรก 29 รายจากจำนวนทั้งหมด 32 ที่นั่งในพื้นที่ กทม.ก็เป็นที่ฮือฮากันทั้งเมือง แต่ไม่เคยอวดศักดา ไม่มีความทะเยอทะยานนั่งนายกรัฐมนตรี

นายสมัคร กล่าวว่า แต่มีหมอดูชอบเอาดวงไปดูและบอกว่าจะได้นั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งตนไม่เชื่อแต่ได้ตัดสินใจลาออกจาก ส.ส.ไปลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. และได้นั่งตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ถือว่าเป็นการแก้เคล็ดให้หมอดู

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เส้นทางการเมืองเติบโตมาตามขั้นตอน ที่ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคพลังประชาชนเนื่องจากเห็นว่าบ้านเมืองกำลังขาดแคลนนักการเมืองอาชีพ และพรรคพลังประชาชนกำลังย่ำแย่ ถูกย่ำยี แต่เมื่อเข้ามาแล้วสมาชิกพรรคได้เสนอชื่อให้เป็นหัวหน้าพรรค เมื่อชนะการเลือกตั้งได้รับเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลก็นั่งนายกรัฐมนตรีโดยถูกต้องชอบธรรม

แต่แปลกรัฐบาลนี้บริหารบ้านเมืองมาได้เพียง 4 เดือนเศษก็ถูกยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก่อนทิ้งท้ายยังติดใจการอภิปรายของนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ระบุว่านายกรัฐมนตรีคลอดโดยเอาเท้าออก โดยนายสมัครท้าให้ไปถามพระว่าคนที่คลอดเอาเท้าออกคือใคร

สำหรับแผนบันได 3 ขั้นของนายสมัครนั้น เป็นเป้าหมายทางการเมืองของนายสมัครในช่วงที่เพิ่งเข้ามาเล่นการเมือง โดยตั้งเป้าว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีหลังจากลงเลือกตั้งเพียง 3 ครั้ง แต่ก็ไม่เป็นไปตามแผน จนกระทั่งได้รับโอกาสเมื่อพรรคไทยรักไทยถูกยุบและนักการเมืองในเครือข่ายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้าไปอยู่ในพรรคพลังประชาชน และเลือกนายสมัครมาเป้นหัวหน้าพรรค

ทั้งนี้ นายสมัครเริ่มเข้าสู่การเมืองโดยสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่ปี 2511 ได้เป็นสมาชิกสภา กทม.ในปี 2514 ได้เป็น ส.ส.กทม.ในปี 2518 ก่อนที่จะลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลเผด็จการหลัง 6 ตุลาฯ

ต่อมานายสมัครได้ตั้งพรรคประชากรไทย ลงเลือกตั้งในปี 2522 แม้พรรคประชากรไทยจะกวาดที่นั่งใน กทม.ในปีดังกล่าว แต่หลังจากนั้น จำนวน ส.ส.ก็ลดลงเรื่อยๆ ขณะที่นายสมัครได้ดำรงตำแหน่งสูงสุดเป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร ปี 2535 รัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา ปี 2538-39 และรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ 2539-2540

จนกระทั่งเกิดกรณี"งูเห่า" เมื่อ ส.ส.ของพรรคในกลุ่มปากน้ำหันไปสนับสนุนนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปลายปี 2540 หลังจากนั้นพรรคประชากรไทยก็หมดบทบาททางการเมืองลง โดยนายสมัครหันไปลงเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม.ในปี 2543 ในนามอิสระ และได้รับเลือกตั้ง ส่วนพรรคประชากรไทยก็ปล่อยให้น้องชายคือ นายสุมิตร สุนทรเวช เป็นคนดูแล และส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งในปี 2548 และ 2549 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ส่วนนายสมัครได้หันไปจัดรายการทางโทรทัศน์และวิทยุคู่กับนายดุสิต ศิริวรรณ โดยมีแนวทางสนับสนุนพรรคไทยรักไทยและ พ.ต.ท.ทักษิณอย่างชัดเจน เมื่อลงเลือกตั้ง ส.ว.กรุงเทพฯ ในปี 2549 ก็ได้รับเลือกตั้งมาเป้นอันดับ 1 แต่ภายหลังจากการรัฐประหารวันที่ 19 ก.ย.49 สถานภาพการเป็น ส.ว.ก็สิ้นสุดลง และนายสมัครมามีบทบาทอีกครั้งเมื่อถูกเลือกให้มาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชนในเดือนกรกฎาคม 2550 หลังจากพรรคไทยรักไทยถูกยุบ และอดีตกรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมือง


กำลังโหลดความคิดเห็น