หน.พรรค ปชป.หยิบประเด็นร้อน “เขาพระวิหาร” ชำแหละกลางสภา จวก “หมัก” บิดเบือนไล่ไปอ่านคำตัดสินศาลโลก ยันทีมทนายไทยไม่เคยรับรองความถูกต้องแผนที่ แต่เมื่อตกเป็นข้อพิพาท ไทยจึงเสียเปรียบข้อ กม.ไปโดยปริยาย
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อภิปราย
วันนี้ (24 มิ.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลสมัยวิสามัญ โดยกล่าวว่า หลังรัฐบาลนี้โดยนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้บริหารประเทศมาแล้ว 4 เดือนเศษ กลับพบว่านำมาซึ่งความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง พร้อมทั้งได้แจงเหตุผลหลัก 9 ข้อ จึงเป็นที่มาต้องยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยสรุปภาพรวมว่าทั้งรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีขาดประสิทธิภาพในการบริหาร และมุ่งรักษาผลประโยชน์ให้แก่อดีตนักการเมืองเท่านั้น โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ หรือประสิทธิภาพในการบริหารงานบ้านเมืองหลังจากแจงเหตุผลหลัก 9 ข้อ แล้ว ผู้นำฝ่ายค้านฯ ยังได้กล่าวถึงภาพรวมความบกพร่องของการบริหารงานของรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงด้วย
หลังจากนั้น นายอภิสิทธิ์ได้อภิปรายตอกย้ำประเด็นเขาพระวิหารว่า ถือว่าเป็นความผิดที่ร้ายแรงที่สุด แม้นายกฯ จะถามว่าเกิดทันหรือไม่ ซึ่งตนยอมรับว่าเกิดไม่ทันจริงๆ ตนเกิด พ.ศ.2507 ขณะที่กรณีเขาพระวิหารเกิดขึ้นในปี 2505 แต่เกิดไม่ทันไม่ได้แปลว่าไม่รู้ เห็นนายกฯ ก็อธิบายการประชุมสภาฯ ในสมัย ร.5 ยังได้ ไม่เห็นนายกฯ ต้องอายุถึง 100 ปี พรรคประชาธิปัตย์มีการพูดคุยศึกษาเรื่องของบ้านเมืองมาโดยตลอด ถ่ายทอดการทำงานในแต่ละรุ่นสู่รุ่นของประชาธิปัตย์ ไม่ว่าใครทำงานมาอย่างไรไว้บ้าง
จากนั้น นายอภิสิทธิ์ได้นำแผนที่เขตชายแดนบริเวณเขาพระวิหารมาแสดงประกอบการอภิปราย โดยกล่าวว่า เพราะความผิดพลาดของฝ่ายไทยที่ทำพลาดจนแผนที่ตกไปอยู่ในมือฝ่ายกัมพูชา ทำให้กัมพูชาต้องไปร้องต่อศาลโลก แต่เมื่อไปขึ้นศาลไม่ได้เป็นอย่างที่นายสมัครบิดเบือน โดยชี้ให้นายกฯ ไปอ่านคำพิพากษาศาลโลกที่ระบุว่าทีมทนายไม่เคยยอมรับความถูกต้องของแผนที่ดังกล่าว แต่ที่แพ้คดีเพราะศาลโลกตัดสินให้แพ้คดีเพราะจะดูว่าประเทศไทยรับแผนที่หรือไม่ในอดีตนับเนื่องมาร่วม 50 ปี ก่อน (พ.ศ.2505) โดยรัฐบาลไทยรับแผนที่ของกัมพูชาแล้วไม่ทักท้วง แม้แผนที่นั้นไม่ได้บอกว่าจะเป็นเขตแดนสากลแต่ต่อมาถูกนำไปอ้างเมื่อเป็นกรณีพิพาท ศาลจึงตัดสินว่าไทยรับกรณีดังกล่าวไปโดยปริยายในทางกฎหมาย แม้จะบอกว่าไทยรับแผนที่เป็นเหตุให้แพ้คดี แต่การตัดสินของศาลโลกนั้นเป็นไป 3 ข้อคือ ปราสาทพระวิหารอยู่บนพื้นที่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา และให้ไทยถอนกำลังทหารตำรวจออกไป
รายละเอียดคำอภิปรายของนายอภิปสิทธิ เวชชาชีวะ
กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรกระผมนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กระผมและคณะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ขอเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีดังมีสาระดังต่อไปนี้ ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 นายสมัคร สุนทรเวช ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาลเข้าบริหารประเทศท่ามกลางความคาดหวังของประชาชนทั่วทั้งแผ่นดิน ที่อยากเห็นรัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งสามารถยุติวิกฤตการณ์ทางการเมืองการปกครอง ขจัดปัดเป่าความทุกข์เข็ญเดือดร้อนที่กำลังแผ่กระจายไปทั่วทุกหย่อมหญ้า พร้อมทั้งทุ่มเททำงานเพื่อพลิกวิกฤตของชาติให้เป็นโอกาส ในการฟื้นฟูบูรณะประเทศ แก้ปัญหาปากท้องของแพง เศรษฐกิจเสื่อมโทรม ราคาพืชผลทางการเกษตรผันผวน เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีสวัสดิการพอเพียง คลี่คลายความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เสริมสร้างระบบการเมืองที่สะอาด โปร่งใส ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ส่งเสริมและเป็นแบบอย่างของการใช้ระบบคุณธรรม จริยธรรม ใช้หลักนิติธรรม นิติรัฐ ในการบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดจนสร้างความสมานฉันท์ ลดความแตกแยกของประชาชนภายในชาติ แต่นายสมัคร สุนทรเวช กลับนำพาคณะรัฐบาลทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความคาดหวังของประชาชนโดยสิ้นเชิง ดังนี้
1) เมื่อได้รับโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช กลับใช้โอกาสนั้นไปสนองตอบและรับใช้ “ อดีตนักการเมืองผู้สูญเสียผลประโยชน์ ” อย่างโจ่งแจ้ง ไม่ลืมหูลืมตา และไม่ใส่ใจต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้คนในบ้านเมือง เริ่มจากการคัดเลือกบุคคลมาร่วมในคณะรัฐมนตรีโดยไม่แยแสต่อความเหมาะสมและประสิทธิภาพของการดำรงตำแหน่ง ยอมตกอยู่ภายใต้การครอบงำของผู้มีอิทธิพลเหนือพรรคการเมืองที่สังกัด แต่งตั้งรัฐมนตรีและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามโควต้า และความต้องการของกลุ่มผลประโยชน์ภายในพรรคการเมืองของตนเท่านั้น
2) นายสมัคร สุนทรเวช ยอมรับให้นำบุคคลที่ไม่มีวุฒิภาวะ ขาดความรู้ความสามารถ มีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน มีพฤติกรรมเป็นอันธพาลการเมือง นักเลงโต เป็นสมุนรับใช้อดีตนักการเมืองที่สูญเสียผลประโยชน์ ตลอดจนบริวารของนักการเมืองผู้กว้างขวางเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
3) นายสมัคร สุนทรเวช มีความบกพร่องอย่างร้ายแรงที่ปล่อยปละละเลย ให้รัฐมนตรีร่วมรัฐบาล บริหารราชการแผ่นดินตามอำเภอใจ ต่างคนต่างอยู่ ไม่มีความเป็นเอกภาพ ไร้ทิศทาง ขาดความรู้ มุ่งแต่สร้างภาพของตน จนทำให้บริหารนโยบายล้มเหลว เกิดความเสียหายต่อพี่น้องประชาชน ทั้งเกษตรกร คนยากจน และประชาชนทั่วไป เอาผลประโยชน์ส่วนตนและพวกแทนผลประโยชน์ของชาติ จนหมิ่นเหม่ที่จะกระทบต่ออธิปไตยของชาติ มีวาระซ่อนเร้น เตรียมการหาประโยชน์บนความทุกข์ของประชาชน โดยการมุ่งแต่งข้อมูลเท็จ หวังแสวงประโยชน์ ใช้อำนาจแทรกแซง โยกย้าย กลั่นแกล้งข้าราชการ และองค์กรที่ทำงานปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ
4) นายสมัคร สุนทรเวช ยังปล่อยปละละเลยให้มีการใช้ข้าราชการที่ยอมเป็นพวก กระทำการใช้อำนาจหน้าที่ล้างแค้นบุคคล และองค์กรที่ตนไม่พอใจ ขณะเดียวกันก็ปกป้องพวกพ้อง จนทำลายระบบคุณธรรม จริยธรรม ลุแก่อำนาจโดยการท้าทายกฎหมายบ้านเมืองเพียงเพื่อปกป้องการกระทำผิดของพวกพ้องของตนและอดีตนักการเมืองผู้สูญเสียอำนาจ แต่นายสมัคร สุนทรเวช กลับเอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับพฤติกรรมดังกล่าว
5) นายสมัคร สุนทรเวช แสดงท่าทีปกป้อง ให้ท้าย กับผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำความผิดอย่างออกหน้า แม้รัฐมนตรีที่มีทัศนคติที่เป็นอันตรายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นความผิดร้ายแรง นายสมัคร สุนทรเวชก็ยังปกป้อง โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสถาบันอันเป็นที่เคารพยิ่งของประเทศชาติและประชาชน
6) ท่ามกลางความรุนแรงของปัญหาบ้านเมือง นายสมัคร สุนทรเวช กลับบริหารประเทศไปเพียงวันๆ โดยไม่ใส่ใจการแก้ปัญหาวิกฤตปากท้องของประชาชน ปล่อยปละละเลยให้ปัญหาลุกลามจนเกิดผลกระทบในวงกว้างถึงประชาชนทุกชนชั้น ทุกอาชีพ ที่ต้องเผชิญกับภาวะข้าวยากหมากแพง รายได้ลดลง แต่รายจ่ายเพิ่มขึ้น เกิดความเครียด วิตกกังวล จนถึงขั้นฆ่าตัวตาย กลุ่มเกษตรกรคนยากจน หมดสิ้นหนทาง ต้องออกมาชุมนุมประท้วงปิดถนน เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ใส่ใจแก้ไขปัญหาของตน กลุ่มแล้วกลุ่มเล่า
7) นายสมัคร สุนทรเวช ในฐานะนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทอดทิ้งและไม่ใส่ใจกับความเดือดร้อนของพี่น้องในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง ก็ยังคงตกอยู่ในสภาพไร้ความหวังและมีแนวโน้มจะเลวร้ายลงเรื่อยๆ แม้จะมีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ดังกล่าว แต่นายสมัคร สุนทรเวช กลับทำเป็นหูทวนลม ปัดความรับผิดชอบ อ้างว่าไม่ใช่ภาระหน้าที่ ปล่อยให้วิกฤตความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้รุนแรงบานปลาย จนยากแก้ไข
8) แม้ปัญหาของประเทศจะลุกลามบานปลายกลายเป็นวิกฤตรุนแรงขึ้นเรื่อยๆในทุกด้าน แต่นายสมัคร สุนทรเวช กลับเฉยเมยมองข้าม และมุ่งแต่จะสนองความปรารถนาของผู้บงการเบื้องหลัง โดยการพยายามรวบรัดสนองตอบต่อความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อช่วยเหลือผู้มีบุญคุณ และลบล้างบทลงโทษในคดีที่พรรคการเมืองของตนเองกระทำความผิดไว้ในการเลือกตั้ง
9) ตลอดเวลา นายสมัคร สุนทรเวช ใช้ฐานะและตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แสดงออกต่อสาธารณะอย่างไร้วุฒิภาวะ มีพฤติกรรม ภาวะผู้นำบกพร่อง ทั้งทางวาจาและทัศนคติ ใช้โมหะคติ เอาอารมณ์เป็นเจ้าเรือน พูดท้าทายข่มขู่ ต่อสื่อมวลชน และประชาชนตลอดเวลา จนเป็นชนวนให้วิกฤตความขัดแย้งในบ้านเมืองขยายตัวไม่มีที่สิ้นสุด
ระยะเวลาของการบริหารประเทศแม้จะผ่านไปเพียง 4 เดือนเศษ แต่นายสมัคร สุนทรเวช ก็ได้ทำให้ประเทศชาติได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง อันเนื่องมาจากการบริหารประเทศที่ไร้ประสิทธิภาพ ไร้ทิศทาง และไร้เอกภาพ ไม่มีความตระหนักถึงปัญหาสำคัญของบ้านเมืองและของประชาชน มุ่งแต่จะนำอำนาจรัฐที่ตนครอบครองไปตอบแทนบุญคุณของอดีตนักการเมืองผู้สูญเสียผลประโยชน์ ดังกล่าวข้างต้น
แม้ภาคฝ่ายต่างๆ ทั้งสื่อมวลชน นักวิชาการ องค์กรภาคประชาชน วุฒิสมาชิก ตลอดจนนักการเมืองฝ่ายค้าน จะให้โอกาสรัฐบาล และเสนอข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์มากมาย แต่นายสมัคร สุนทรเวช กลับไม่สนใจ ยังคงยืนกรานความบกพร่องทางภาวะผู้นำจนเป็นที่เอือมระอาของผู้คนทั่วไป
พฤติกรรมของนายกรัฐมนตรีทั้งหมดนี้ หากปล่อยให้บริหารราชการแผ่นดินต่อไป จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ทั้งต่อราชการแผ่นดิน ระบบคุณธรรม จริยธรรม ความสามัคคีของคนในชาติ การทุจริตคอร์รัปชั่นจะรุนแรงมากขึ้น วิกฤตปากท้อง วิกฤตความมั่นคงจะยิ่งลุกลามจนยากแก้ไข สถาบันสำคัญของชาติถูกสั่นคลอน อันจะกระทบต่อเสถียรภาพของชาติโดยรวมในที่สุด
พวกข้าพเจ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังมีรายชื่อข้างท้ายหนังสือนี้ ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร จึงขอเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลด้วยรัฐมนตรีผู้มีรายนามตามท้ายญัตตินี้ ได้บริหารราชการแผ่นดินบกพร่อง ผิดพลาด ล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพจนประชาชนเกิดความเดือดร้อนอย่างรุนแรง ขาดคุณธรรม ขาดจริยธรรม ขัดหลักนิติธรรม ใช้อำนาจหน้าที่บีบบังคับให้ข้าราชการยอมตนเป็นพวก เพื่อกลั่นแกล้งบุคคลอื่นที่กระทำการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ จนได้รับความเสียหาย มุ่งตอบสนองผู้มีบุญคุณในทางการเมืองส่วนตน โดยละเลยผลประโยชน์ของประชาชน เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง มากกว่าการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ ใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จ ปั้นแต่งโครงการ เพื่อเตรียมการแสวงประโยชน์โดยมิชอบ หากปล่อยให้บริหารราชการแผ่นดินต่อไปจะเกิดความเสียหายแก่ราชการ และบ้านเมืองอย่างร้ายแรง ไม่สมควรดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่อไป
พวกข้าพเจ้าซึ่งมีรายนามตามท้ายญัตตินี้ จึงใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 159 เสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลดังต่อไปนี้
1. นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง
2. นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
3. ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
4. นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
5. นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
6. นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
7. นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
กระผมกราบเรียนว่าทั้ง 2 ญัตตินี้จึงได้กราบเรียนท่านประธานเพื่อได้โปรดบรรจุญัตติให้พวกเราสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณา และเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขและกระบวนการแห่งรัฐธรรมนูญในมาตรา 158 จึงขอเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นบุคคลตามมาตรา 171 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป
ท่านประธานที่เคารพครับกระผมได้นำเสนอญัตติทั้ง 2 ญัตติ ตามเงื่อนไขและกระบวนการของรัฐธรรมนูญ กระผมทราบดีว่าก่อนหน้านี้ทางรัฐบาลได้ประกาศชัดแจ้งไม่ประสงค์ให้สิ่งที่เรากำลังจะดำเนินการในวันนี้เกิดขึ้นในสมัยประชุมนี้ แต่ว่าในที่สุดจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ก็ต้องขอขอบคุณว่าพวกกระผมได้ทำหน้าที่ของเราในฐานะตัวแทนปวนชนชาวไทยในวิถีทางของรัฐสภาที่กระผมเสียใจอยู่นิดหนึ่งก็คือว่าเมื่อท่านได้ตกลงปลงใจจะให้เราได้อภิปรายแล้ว ท่านนายกก็ดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาลก็ดี ยังอดไม่ได้ครับที่จะใช้สื่อสารของรัฐกล่าวหาจะเป็นกระผมหรือพรรคฝ่ายค้านต่าง ๆ นา ๆ ที่จริงทำตั้งแต่การยื่นญัตติทั้ง ๆ ที่การยื่นญัตตินี้เป็นการใช้สิทธิและกระบวนการตามรัฐธรรมนูญทุกประการ ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลเองก็มักจะเรียกร้องให้พวกเราได้ทำ กล่าวหาว่าประเพณีอภิปรายสมัยวิสามัญไม่มี การจะเสนอญัตติโดยไม่พูดถึงเรื่องการทุจริตไม่มี การจะอภิปรายล่วงหน้าโดดยความเสียหายยังไม่ทันเกิดขึ้นหรือโครงการไม่ได้อนุมัติสัญญายังไม่ได้เซนต์ไม่มี กระผมก็กราบเรียนว่าตรวจสอบประวัติศาสตร์หมดแล้วครับ เคยทำมาหมดแล้วครับ ที่สำคัญคนที่เคยทำมาหมดแล้วเนี่ยเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ในปัจจุบันวันที่ท่านเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายค้านทำมาหมดแล้วครับ สมัยวิสามัญก็เคยเสนอจะอภิปรายโดยโครงการยังไม่เซนต์สัญญาท่านก็อธิบายเสร็จเรียบร้อยว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายค้านมีหน้าที่ตรวจสอบถ้ายับยั้งความเสียหายได้ก็เป็นเรื่องที่ดีที่เป็นประโยชน์
กระผมก็จึงเพียงกราบเรียนเพื่อทำความเข้าใจครับว่าทำไมพอถึงเวลาที่ท่านเป็นรัฐบาลไม่ยืนยันความคิด ไม่ยืนยันอุดมการณ์ ไม่ยืนยันหลักของความเป็นประชาธิปไตยเหมื่อนกับวันที่ท่านเป็นฝ่ายค้านแล้วก็ใช้ถ้อยคำกล่าวหาพวกกระผมคั้นที่จะเขียนญัตติ กระเหี้ยนกระหือรือที่จะอภิปราย กระผมกราบเรียนท่านประทานครับว่าไม่หรอกครับวันนี้และวันพรุ่งนี้เป็นอย่างน้อยพวกกระผมจะแสดงให้เห็นว่าเรามีเหตุผลมีความชอบธรรม มีความจำเป็นที่จะต้องเดินหน้า ผมเสียอีกที่มีสิทธิ์จะถามท่านนายกรัฐมนตรีผ่านท่านประธานว่าที่เปลี่ยนใจให้มาอภิปรายในวันนี้เนี่ยคั้นหรือกระเหี้ยนกระหือรือ ไม่เคยมีมาก่อนนะครับ ตัดสินใจเปลี่ยนกันบอกว่าวันศุกร์ไม่มีอภิปรายวันเสาร์เปลี่ยนระเบียบวาระ และก็บอกให้เริ่มกันวันอังคาร ผมกราบเรียนว่าไม่เป็นไรหรอกครับเราถือว่าเป็นความตั้งใจของเราที่จะใช้เวทีสภาใช้สถานะความเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยเอาความเดือดร้อนเอาความเสียหายที่ท่านทำไว้มาพูดให้ประชาชนรับรู้รับทราบให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาเนี่ยเป็นหน้าที่ที่ศักดิ์สิทธิ์ และเราจะทำอย่างตรงไปตรงมา ท่านนายกบ่นเสมอครับบ่นเสมอว่าเพิ่งเข้ามาทำงานได้ 4 เดือนยังไม่ทันทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันอันนี้ท่านก็พูดถูก ไม่เป็นชิ้นเป็นอันจริง ๆ ครับ 4 เดือนของรัฐบาลมันจึงนานมากสำหรับประชาชน นานมากสำหรับประชาชนที่เขาคาดหวังไงครับว่าเลือกตั้งมาแล้วเนี่ยการเมืองจะสงบ เศรษฐกิจจะฟื้นตัว พี่น้อง 3 จังหวัดจะเห็นความหวังว่าบ้านเมืองของเราเดินไปข้างหน้า
กระผมกราบเรียนว่าท่านนายกเมื่อวานก็ย้ำอีกครับ 4 เดือนทำงานทุกวัน เดินทางไปต่างประเทศแนะนำตัวเองกับกลุ่มประเทศอาเซียนรับแขกเมืองอธิบาย ซึ่งเป็นงานที่ไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ต้องกระทำอยู่แล้ว แต่วันนี้สิ่งที่ผมจะพิสูจน์ให้ท่านประธานและพี่น้องประชาชนทั่วประเทศได้เห็นก็คือว่า 4 เดือนที่ผ่านมาเป็น 4 เดือนที่ประเทศไทยและประชาชนคนไทยสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ด้วยความไร้ประสิทธิภาพของท่านในการแก้ไขปัญหาหลัก ๆ ของชาติที่เป็นความท้าทายสำหรับประเทศไทยและพี่น้องประชาชนคนไทยในยุคนี้ ขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องแปลกว่า 4 เดือนที่ไร้ประสิทธิภาพในการทำงานเพื่อประชาชนกลับเป็น 4 เดือนที่มีประสิทธิภาพสูงมากในการทำงานให้กับพวกพ้องและผู้มีบุญคุณของท่าน ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงทำให้ประชาชนประสิทธิภาพเป็นอย่างหนึ่ง ทำให้พวกพ้องผู้มีบุญคุญของท่านเป็นอีกอย่างหนึ่งนี่คือประเด็นที่พวกกระผมทั้งหมดจะแสดงให้พี่น้องประชาชนเห็นเพื่อที่จะบอกครับว่า 4 เดือนเป็นอย่างนี้ถ้าปล่อย 4 ปีมันจะเป็นอย่างไร ที่ท่านพยายามกระแนะกระแหนว่าต้องการเสนอเพื่อจะสลับขั้วเปลี่ยนขั้วกระผมจะมีความทะเยอทะยานหรือไม่อย่างไร ไม่ใช่หรอกครับ แต่มันเป็นกระบวนการที่กำหนดเอาไว้ตามรัฐธรรมนูญ สถานการณ์บ้านเมืองที่ท่านบริหารมาจนถึงวันนี้เนี่ยถ้าถามนักการเมืองคนไหนไม่มีใครยากเข้าไปเป็นแทนท่านหรอกครับ เพราะปัญหาที่ท่านทิ้งไว้เนี่ยมันหนักหนาสาหัสมาก แต่ในฐานะคนไทยครับเรากำลังจะบอกว่าคนไทยประเทศไทยควรจะได้รัฐบาลที่ดีกว่านี้ที่เอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ผมก็อยากจะกราบเรียนว่าสำหรับการอภิปรายในครั้งนี้ผมจะดำเนินการลำดับไปอย่างนี้ครับ
ผมคงจะเพียงเกร่นนำว่าความเสียหายและความล้มเหลว ในเชิงประสิทธิภาพของการแก้ไขปัญหาของท่านนายกฯ ในแต่ละด้านเป็นอย่างไร โดยอาจจะพาดพิงคาบเกี่ยวไปถึงรัฐมนตรีบางท่านในญัตติไม่ไว้วางใจเป็นรายบุคคล แต่ว่าหลังจากที่กระผมได้นั่งลงแล้ว ก็จะมีเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มาขยายความทั้งข้อกล่าวหา 9 ข้อ และรัฐมนตรีทั้ง 7 ท่านให้ครบถ้วน ตัวกระผมจะเพียงเกร่นนำในส่วนของท่านนายกฯ และการอภิปรายไม่ไว้วางใจท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะพยายามลำดับให้อยู่ในกรอบของเวลาครับ บางท่านคงต้องรอหน่อยนะครับ ขออนุญาตท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านไว้สุดท้ายครับ ของดีไว้ทีหลังด้วยฮะ
ท่านประธานที่เคารพครับ กระผมขอเริ่มต้นสั้น ๆ ง่าย ๆ ว่า วันที่ท่านนายกฯ แถลงนโยบายต่อสภา ผมอภิปรายชัดเจนครับ ผมบอกว่าสถานการณ์ในวันนั้นไม่ว่าประชาชนจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ฝ่ายค้านเข้ามา หรือจะเลือกท่านเข้ามาในฐานะรัฐบาล ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าทุกคนล้วนแล้วแต่ต้องการประคับประคองบ้านเมืองและประชาธิปไตยให้เดินไปข้างหน้า แล้วก็ย้ำว่าการจะเดินไปข้างหน้าหรือไม่อย่างไร อยู่ที่ท่าทีของฝ่ายการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งท่าทีที่สำคัญที่สุดคือของรัฐบาลและผู้นำรัฐบาล และกระผมก็ได้บรรยายครับว่า จะประคับประคองบ้านเมืองรักษาประชาธิปไตยให้เดินไปข้างหน้าได้นั้น ท่านนายกฯ จะต้องยอมรับกระบวนการของสภาอย่างไร ยอมรับกระบวนการของการเมืองภาคประชาชนอย่างไร เข้าใจบทบาทของข้าราชการสื่อสารมวลชน กระบวนการยุติธรรมอย่างไร แล้วตั้งเข็มให้ชัด กระผมบอกว่าท่านจะเดินไปตามเป้าหมายที่ท่านแถลงนโยบายไว้หรือไม่ อยู่ที่หลักการทำงานของท่าน ผมได้พูดด้วยว่า ผมเห็นใจท่านนายกรัฐมนตรีเพราะท่านพูดก่อนหน้านั้นว่าท่านมาตัวคนเดียว และพูดทำนองว่า มีปัญหาว่าจะถูกมองว่าเป็นหุ่นเชิดหรือไม่ ผมก็เลยกราบเรียนในวันนั้นแนะนำท่าน บอกว่าเมื่อท่านมาดำรงตำแหน่งตรงนี้แล้ว บางเรื่องท่านละเว้นได้ไหม เพราะสิ่งที่จะไปตอกย้ำว่า ท่านจะเป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริงหรือไม่ หรือมีแรงกดดันหรือมีใครมาเชิดอยู่นั้นมันอยู่ที่ว่าท่านยังทำตัวหรือทำหน้าที่ในการปกป้องอดีตผู้นำหรือไม่อย่างไร ผมบอกมันไม่ใช่หน้าที่ของท่านอีกต่อไปแล้วที่จะไปทำตรงนั้น แล้วปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินการไปในตัวของมัน หน้าที่ท่านวันนั้นไม่ต้องไปทำเรื่องการต่อสู้การกล่าวหามือที่มองไม่เห็น หรืออะไรสารพัดที่ท่านชอบพูดนะครับ แต่ว่ามุ่งทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนและประเทศของเรา 4 เดือนผ่านไปครับ ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาหลักของประเทศ ผมสรุปง่าย ๆ ว่า
1. ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งมีทั้งวิกฤตการณ์พลังงาน วิกฤตการณ์เกี่ยวกับราคาอาหาร ปากท้องของแพงการดูแลคนยากคนจน และสภาวะเศรษฐกิจโดยเฉพาะความเสี่ยงในเรื่องของภาวะเงินเฟ้อ เป็นหัวใจสำคัญที่พี่น้องประชาชนผู้คนคาดหวังที่จะให้ท่านทำ
2. ต้องการเห็นการแก้ปัญหาภาคใต้ ที่เป็นระบบ ที่ให้ความหวัง ที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องใน 3 จังหวัดได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน และ
3. ต้องการจะเห็นความสมานฉันท์ในชาติ ไม่มีปัญหาความขัดแย้งรุนแรงบานปลาย เพื่อที่พี่น้องประชาชนคนไทยอยู่ในประเทศนี้ด้วยความสุขใจ ไม่วิตกกังวล ไม่เครียด ไม่มีความรู้สึกว่ามีการเผชิญหน้ากัน
ทั้ง 3 เรื่องนี้ครับ ล้มเหลว โดยสิ้นเชิง กระผมกราบเรียนว่า ผมให้ความเป็นธรรมกับท่าน ผมให้ความเป็นธรรมกับคณะบุคคลของท่านครับ เรื่องไหนที่ผมรู้ว่ามันมีปัญหาเป็นอุปสรรคเป็นข้อจำกัดนั้น ผมยกประโยชน์ให้ท่าน เวลาคนเตรียมข้อมูลมาที่จะให้ผมตำหนิติติงรัฐบาล ผมจะไปดูเสมอให้ความเป็นธรรมกับท่านเสมอครับว่า ท่านได้มีความพยายามทำอะไรมากน้อยแค่ไหนหรือไม่ แต่ว่า ในทั้ง 3 เรื่องนี้ล้มเหลว เรื่องแรก เรื่องเศรษฐกิจ เอาเรื่องพลังงานก่อนครับ ผมพูดสั้น ๆ เพราะว่าประเดี๋ยว คุณกรณ์ จาติกวนิช ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี จะเป็นผู้รับผิดชอบในการที่จะขยายความต่าง ๆ เกี่ยวกับการบริหารเศรษฐกิจ เรื่องพลังงาน เรื่องน้ำมันนั้น เมื่อวานท่านนายกฯ ก็ตอบวุฒิสภาบอกว่า ใครมาเป็นราคาน้ำมันในตลาดโลกก็คงไม่ลดลงหรอกครับ ถูกต้องครับ พวกเราไม่ถึงขั้นกับว่า ไม่ให้ความเป็นธรรมไปคาดคั้นท่านหรอกครับว่า ท่านจะต้องไปลดราคาในตลาดโลกได้ ไม่ใช่ แต่ที่จริงก็ถือว่าท่านโชคดีเพราะว่าวันที่ท่านเข้ามาบริหารประเทศตรงนี้นั้น หนี้กองทุนน้ำมันซึ่งรัฐบาลชุดก่อนโน้นเคยสร้างเอาไว้ รัฐบาลชุดที่แล้วเขาก็บริหารจัดการให้เรียบร้อยจนไม่มีหนี้เหลืออยู่ ก็ถือว่าโชคดีมากกว่าอีกหลาย ๆ ประเทศ ไม่มีปัญหาที่จะทำให้เกิดการลุกลาม บานปลายเพราะว่าจะต้องไปปรับแก้นโยบายที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เหมือนกับที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน เช่นประเทศมาเลเซีย ซึ่งในที่สุดพอทำแล้วเห็นไม๊ครับ รัฐบาลเขาอายุสั้นกว่าท่านอีก ฝ่ายค้านก็ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจไปแล้ว
แต่สิ่งที่ผมจำเป็นจะต้องพูดก็คือว่า ความล้มเหลวของท่านก็คือ 1. เรื่องวิสัยทัศน์เกี่ยวกับบทบาทของรัฐวิสาหกิจทางด้านพลังงาน ผมไม่ได้อภิปรายท่านรัฐมนตรีพลังงานเพราะคนรับผิดชอบตรงนี้คือกระทรวงการคลังครับ ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่าท่านนายกฯ นั่งดูพี่น้องประชาชนทุกคนมีความวิตกกังวล และเดือดร้อนจากราคาน้ำมันซึ่งขึ้นแทบจะเรียกว่ารายวันในบางช่วง แล้วนั่งดูรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของประเทศ คือ ปตท. มีกำไรปีละแสนล้าน แล้วไม่มีความคิด ความอ่านที่จะมีการเข้าไปตรวจสอบว่า อะไรจะเป็นประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน หรือคนของประเทศได้อย่างไร ท่านนายกฯ ถือคติง่าย ๆ ตามที่ท่านอธิบายในรายการสนทนาประสาสมัครในวันที่ 25 พฤษภาคมครับว่า เขาทำธุรกิจการค้าก็ต้องให้โอกาสเขา จะร้องทุกข์ว่าให้เอากำไรมาแบ่งกันหน่อยลดราคาหน่อยก็พอได้ แต่ลองดูซิว่าในทางสากลเขาจะทำอย่างไรกันไหม แม้ ปตท. จะเอื้อเฟื้อมาต่อไปก็หดหายกำไรหด คือไปทำอย่างนั้นเข้าปั๊บ คนที่ถือหุ้นเขาบอกว่าอย่างนี้ได้อย่างไร แล้วท่านก็บอกว่า ธุรกิจการค้าเขาค้ามาก ก็กำไรมาก เท่านั้นเองแหละครับ
ท่านประธานครับ พวกกระผมไม่เคยไปเสนออะไรสุดโต่ง แปรรูปรัฐวิสาหกิจทำได้ครับ ถ้าทำอย่างถูกต้อง แต่วันนี้ท่านเห็นหรือเปล่าครับว่า กำไรที่มันเกิดขึ้นปีละแสนล้าน ไตรมาสแรกของปีนี้ 2 หมื่นกว่าล้านปัจจุบันนี้เป็นกำไรที่มันเกิดขึ้นจากโครงสร้างของการผูกขาดครับ การผูกขาดตรงนี้มันต้องแก้ไขครับ แต่ว่าที่ผ่านมานั้นมันแก้ไขไม่ได้เพราะว่ากฎหมายที่เราจะใช้กับการแข่งขันทางการค้าจัดการกับการผูกขาดนั้นคือ พรบ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 ไปยกเว้นรัฐวิสาหกิจเอาไว้ กระผมไม่เคยเห็นกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่กับกระทรวงพาณิชย์ผู้รักษากฎหมายนี้เคยมาวางแนวทางให้กับคนไทยทั้งประเทศเลยครับว่า กำไรเป็นแสนล้านนั้นจะคืนกลับมาให้ประชาชนได้อย่างไร เพราะวันนี้กำไรแสนล้านนั้นเขาปันผลประมาณปีละ 3 หมื่น แถมใน 3 หมื่นนั้นปัจจุบันตามหุ้นของรัฐบาลเหลือเพียงครึ่งเดียวครับ เพราะฉะนั้นแสนล้านตกกลับมาอยู่ที่รัฐบาล เพื่อจะช่วยประชาชนอย่างมาก็ประมาณ 1 หมื่น หรือ 2 หมื่นล้าน ปล่อยสภาพนี้อยู่เฉย ๆ ได้อย่างไร นี่เป็นตัวอย่างของการบริหารไปวัน ๆ แล้วก็ปล่อยให้ตัวเลขกำไรของรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานมันบาดใจผู้ใช้น้ำมันทั่วประเทศ มาตรการช่วยเหลือที่ทำมาช้าไม่ทันการ ไม่ว่าจะเป็นสำหรับพี่น้องชาวประมง ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องในเรื่องของการขนส่ง ผมกราบเรียนว่าเรื่องนี้ก็จะมีคนพูดในรายละเอียดต่อไป
ครั้นมาดูแนวทางว่าในอนาคตน้ำมันเป็นอย่างนี้ประเทศไทยเตรียมตัวเตรียมการอย่างไร ท่านประธานครับ แทบมองไม่เห็นเลยว่า ยุทธศาสตร์ที่เป็นระบบนั้นมันคืออะไร ท่านนายกฯ โฆษณาครับว่าก็มีเรื่อง E85 เดิมเอาแอลกอฮอล์เอธานอลผสมกันอยู่ 10 เปอร์เซนต์ 20 เปอร์เซนต์ ก็จะเป็น 85 เปอร์เซนต์ แต่ว่ามาตรการในเรื่องนี้ครับ มติครม.ของท่านเมื่อ 17 มิถุนายนมันก็ฟ้องเองฮะ ผมไม่ได้อภิปรายท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเพราะว่า กระทรวงพลังงานเขาเสนอเรื่องของ E85 ไปนั้นค่อนข้างที่จะเป็นระบบ มีตัวเลขรองรับว่าภาษีสรรพสามิตควรจะเป็นเท่าไหร่ อย่างไร มาตรการอย่างเป็นอย่างไร แต่ปรากฎว่าคนที่ทำให้สับสนไม่ยอมคือกระทรวงการคลังครับ ผมถึงต้องรับอภิปรายท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และความไม่เป็นระบบตรงนี้นั้นที่ผมบอก มติครม. 17 มิถุนา ก็ฟ้องอยู่ในตัวก็คือว่า พอท่านมีมติไปแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมเขาก็อุตส่าห์ไปจัดประชุมกับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้วรายงานให้ครม.ทราบ เขาบอกว่าจากการประชุมหารือกับบริษัทรถยนต์ 11 บริษัท บริษัทรถยนต์ทุกรายมีความเห็นว่า รัฐบาลจะต้องมีความชัดเจนในการกำหนดทิศทางด้านพลังงานของประเทศทั้งในส่วนของนโยบาย NGV LPG E10 E20 E85 และ ไบโอดีเซล
นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดควรมีการประสานงานและประชุมหารือร่วมกันจนได้ข้อยุติก่อน จึงกำหนดเป็นนโยบายไม่ใช่ต่างคนต่างทำในปัจจุบัน นี่รายงานครม.ท่านเลยนะครับ ประจานตัวเองเลยนะครับ 17 มิถุนายน แล้วท่านไม่สังเกตเหรอครับว่า บริษัทรถยนต์ที่บอกมาตรการ E85 นั้น ยังไม่จูงใจเพียงพอ ล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทที่เขามีความพร้อมที่จะผลิตรถทางด้านนี้ ส่วนบริษัทที่บอกว่าพอใจแล้ว ดีแล้วนั้น เพราะเขาไม่พร้อมเขาจึงอยากให้มันไม่เกิด เพื่อที่จะรอแข่งขันได้กับบริษัทที่พร้อมแต่ยังไม่สามารถทำได้เพราะแรงจูงใจไม่พอ เรื่องนี้ก็จะมีคนขยายความครับแต่ว่า หลักง่าย ๆ ก็คือว่ากระทรวงพลังงานเขาก็พยายามเสนอมาว่าจะจูงใจนั้น ก็ต้องเก็บภาษีตามสัดส่วนของเบนซินหรือน้ำมันที่ไปผสม ไม่ใช่เอามาเทียบดูแล้วปรากฎว่าผู้ที่จะใช้เลือกใช้ E85 E10 E20 หรือน้ำมันนั้นแทบไม่มีแรงจูงใจที่แตกต่างกันเลย ตรงนี้ก็กราบเรียนเป็นตัวอย่างให้เห็นครับว่า เรามองเห็นถึงความล้มเหลวในเรื่องที่เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดที่เป็นต้นตอของปัญหาทุกปัญหาในทางเศรษฐกิจ ก็คือเรื่องพลังงาน เรื่องราคาน้ำมัน
ครั้นมาดูเรื่องของอาหารครับ มาดูเรื่องของอาหารนั้น ที่จริงสำหรับประเทศไทยมันไม่ควรเป็นวิกฤตเลยครับ มันควรจะเป็นโอกาสไม่ควรจะเรียกเป็นวิกฤตเลยเพราะว่า ประเทศไทยเป็นเพียง 1 ใน 6 ประเทศเท่านั้น ที่ผลิตอาหารได้เกินความต้องการของคนในประเทศและสามารถไปขายในต่างประเทศได้ แต่ใครจะคิดล่ะครับ วันที่ราคาข้าวนั้นขึ้นสูงไปมากเป็นประวัติการณ์ครับ ไปบอกใครเมื่อ 5 ปี 10 ปีที่แล้วว่าราคาข้าวในต่างประเทศจะสูงขนาดนี้ไม่มีใครเชื่อหรอกครับ ต้องบอกว่าเพ้อฝัน มันจะเป็นไปได้อย่างไร แต่พอฝันเป็นจริงเรากลับเห็นเกษตรกรชาวนามาชุมนุมประท้วง ล้มเหลวขนาดปล่อยโอกาสทองหลุดมือไปกลายมาเป็นวิกฤต
เรื่องนี้กระทรวงพาณิชย์มีส่วนมากโดยเฉพาะท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ซึ่งมาบอกกระทู้ถามแทบจะเรียกว่ารายสัปดาห์ และก็ฟ้องความสับสนของตัวท่านของตัวท่านเอง และความล้มเหลวจากการที่ทำให้ตลาดมั่นคงเกษตรกรขายได้ดีและมีเงินมาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนไปซื้อข้าวในราคาถูกได้กลับกลายเป็นผู้มำให้ตลาดปั่นป่วน ราคาตกในช่วงที่ข้าวเปลือกอยู่กับมือเกษตรกร เสร็จแล้วสุดท้ายพอหลุดมือไปแล้วก็มารีบทำโครงการต่าง ๆ บนความไม่พร้อม แต่ท่านนายกก้ต้องรับผิดชอบด้วย เพราะว่าท่านปล่อยสภาพการบริหารในกระทรวงพาณิชย์เอง และระหว่างกระทรวงได้อย่างไรถึงเป็นอย่างนี้ รัฐมนตรีว่าการสัมภาษณ์เสร็จ รัฐมนตรีช่วยว่าการออกมาบอกว่ารัฐมนตรีว่าการไม่รู้เรื่อง ทำผิดหมด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์บอกว่าจะเอาข้าวในสต็อกมาบรรจุถุงท่านนายกบอกว่าไม่เห็นด้วย สุดท้ายท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ก็เอาข้าวไปบรรจุถุงแล้วก็ยกเลิก นี่เรื่องภายในนะครับ แต่ร้ายกว่านั้นครับ แค่ความไม่พึงพอใจกันเองในกระทรวงพาณิชย์ครับ ทำให้ไทยซึ่งมีโอกาสจะขายข้าวให้กับฟิลิปินส์แข่งขันกันเนี่ยครับ เรื่องจะต้องเสนอครม.ทะเลาะกันเองปล่อยโอากสหลุดลอยไปสุดท้ายเวียดนามขายและขายได้ราคาดีด้วยครับ มันจึงไม่ใช่ว่าท่านอยู่มากี่เดือนครับ แต่ละวันแต่เดือนที่ผ่านไปเนี่ยมันแพงเหลือเกินสำหรับพี่น้องประชาชนคนไทย และประเทศไทย แล้วเรื่องราคาข้าวก็น่ากลัว เพราะว่าก็ขึ้นเป็นอย่างนี้แล้วก็มีคนคิดจะแสวงประโยชน์ถึงมีความเอิกเกริกว่ามีคนจะเอาชาวต่างประเทศมาทำนาจะให้ผมอภิปรายรัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงเกษตรเหรอฮะ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรท่านถึงขั้นรายงานเรื่องนี้เข้าสู่ครม.ว่าคนที่คิดทำอย่างนั้นนะทำผิดกฎหมายอย่างน้อย 2 ฉบับ กฎหมายการประกอบธุรกิจคนต่างด้าวอาชีพสงวน และคนรักษากฎหมายกระทรวงพาณิชย์ทำอะไร ไปสืบสวนสอบสวนหรือยังครับว่าใครครับคิดจะเอาต่างชาติมาทำนาแทนคนไทยเวลาข้าราคาดี ผมก็ต้องอภิปรายกระทรวงพาณิชย์ต้องอภิปรายท่านนายกครับ นี่คือเรื่องของอาหาร เมื่อล้มเหลวในเรื่องพลังงาน เรื่องอาหาร มาถึงปากท้องของแพงร่วมทั้งการลดภาระให้พี่น้องประชาชนก็เห็นได้ชัดว่าท่านนายกซึ่งเป็นผู้นำของรัฐบาลไม่สามารถกำหนดแนวทางยุทธศาสตร์ได้เลยว่าจะจัดการเรื่องนี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนได้อย่างไร หมูแพงบอกให้ไปกินไก่เปิดเทอมไม่สามารถปฏิบัติตามนโยบายเรียนฟรีได้ออกโทรทัศน์บอกให้ผู้ปกครองช่วยประจานหน่อย ประธานที่เคารพครับอย่างนี้ใครก็เป็นนายกได้ มันจะต้องมีการวางแผน มันจะต้องมีการนำเสนออย่างเป็นระบบว่าในยามที่พี่น้องประชาชนเดือดร้อนอย่างนี้เนี่ยรายจ่ายเขาจะลดได้อย่างไร รายได้เขาจะเพิ่มอย่างไร ผมอุตสาห์ให้รัฐมนตรีเงาได้ยื่นข้อเสนอถึงมือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังครับจัดงบไปเลยกลางปีพวกผมจะยกมือให้ แต่ทำอย่างไรก็ได้ให้เปิดเทอมที่ผ่านมาผู้ปกครองทั่วประเทศลูกหลานได้เรียนฟรี ให้ผู้สูงอายุซึ่งเป็นคนยากลำบากอยู่แล้วได้รับเบี้ยยังชีพกันครบถ้วนทุกคน ให้มีกองทุนเศรษฐกิจพอเพียงคำนวนตัวเลขเสร็จสับให้หมดว่าใช้งบประมาณเท่าไหร่ดูแล้วว่าอยู่ในฐานะที่ทำได้ แล้วยังบอกเลยครับว่าให้เริ่มคิดถึงระบบสวัสดิการคิดถึงระบบคูปอง แปลว่าความไร้ประสิทธิภาพ การไม่มองเหตุการณ์ล่วงหน้าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเลยคือความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับพี่น้องคนไทย วันนี้พอมาคิดเรื่องคูปองดูจะเฉไฉไปเรื่องอื่นแล้วครับ อันนี้ก็คงจะมีเรื่องที่เป็นรายละเอียดที่หลายฝ่ายก็จะพูดกันต่อไป
สุดท้ายเรื่องเศรษฐกิจนะครับไม่อยากจะใช้เวลามากจนเกินไปภาวะเศรษฐกิจที่น่าเป็นห่วงที่รออยู่ข้างหน้าคือเรื่องเงินเฟ้อ เราเห็นบางประเทศ อย่างเช่น เวียดนามเป็นตัวอย่างนะครับ พอเงินเฟ้อควบคุมไม่ได้มันลุกลามไปเป็นวิกฤตได้ น่าเสียใจที่สุดก็คือว่าในยามที่เรากำลังจะต้องต่อสู้กับเรื่องภาวะเงินเฟ้อสิ่งที่เราต้องการมากที่สุด คือการทำงานระหว่างกระทรวงการคลังกับธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีความเป็นเอกภาพตรงกันข้ามเวลานี้มีแต่ข่าวคราวของความขัดแย้งระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยกับกระทรวงการคลังที่น่าเสียใจก็คือว่าที่ขัดแย้งกันไม่ใช่เรื่องความคิดทฤษฎีขัดแย้งมาจากการที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเนี่ยมีวาระเกี่ยวกับการที่จะเอาคนนั้นคนนี้ไปดำรงตำแหน่งตามที่ต่าง ๆ ไม่คำนึ่งถึงหลักธรรมาภิบาลเลยครับ ต้องการเอาพรรคพวกโดยเฉพาะใครซึ่งอยู่ในหน้าที่แล้วก็เคยมีส่วนร่วมกับปัญหาของการทุจริตในอดีตที่ผ่านมาเนี่ยก็ยังให้มีบทบาทอยู่พยายามจะหาตำแหน่งให้คนซึ่งเมื่อได้รับแจ้งข้อมูลจากคตส.ต้องดำเนินการในบางคดี เช่น เอสซีเอทเซสก็เพิกเฉยตั้งคณะกรรมการสรรหาของกลต.ตั้งคณะกรรมการสรรหาของธนาคารแห่งประเทศไทยครับ ตรงกันข้ามกับหลักธรรมาภิบาลคนหนึ่งถูกข้อกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติด้วยเหตุรับสินบนเป็นเท็จ คดีที่เกี่ยวกับสถาบันการเงินอีกคนหนึ่งคตส.มีมติส่งสำนวนการไตร่สวนคดีที่ธนาคารกรุงไทยปล่อยเงินกู้ให้กับบริษัทในเครือหนึ่ง 9,900 ล้านบาท อีกคนหนึ่งถูกคตส.กล่าวหาในคดีอนุมัติหวยบนดิน อีกคนหนึ่งเคยได้ไปเป็นประธานกรรมการบริษัท เอสซีเอทเซส อีกคนหนึ่งไปเป็นประธานกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์ที่ถูกสอบสวนอยู่ไว้วางใจได้เหรอครับ ในยามหน้าซิ่วหน้าขวานที่ต้องแก้ปัญหาเงินเฟ้อเนี่ยคิดแต่จะเล่นพรรคเล่นพวก เอาเรื่องนี้มาอยู่เหนือความสำคัญของความสัมพันธ์ที่ดีที่ควรจะมีระหว่างธนาคารกลางกับกระทรวงการคลังในยามที่เศรษฐกิจเป็นอย่างนี้ กระผมจึงไว้วางใจให้ท่านทำงานต่อไปไม่ได้
ในส่วนของภาคใต้ครับเรื่องนี้ได้พูดกันมากรวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสภาแห่งนี้ก็พูดตรงกันทุกพรรค กระผมไม่เถียงท่านนายกครับ ผมก็ติดตามตัวเลขเรื่องผู้เสียชีวิตเรื่องผู้บาดเจ็บปีนี้เทียบปีที่แล้วลดลงผมก็ติดตามอยู่ แต่ผมลงไปพื้นที่ปัตตานีครั้งหนึ่ง ยะลาครั้งหนึ่ง ทีมคณะรัฐมนตรีเงาไปเยี่ยมทั้ง 3 จังหวัด 3 ครั้ง สอบถามผู้คนในพื้นที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเวลาเราไปเยี่ยมเจ้าหน้าที่ตามโรงพยาบาลมันไม่มีใครบอกดีขึ้น มันจะวัดแค่ตัวเลขความถี่ของเหตุความรุนแรมันคงไม่ได้หรอกครับมันต้องดูรูปแบบความรุนแรงด้วย บางแห่งไม่เคยเกิดเหตุเลยคิดจะปลอดภัยที่สุดแล้วใน 3 จังหวัดใครไปต้องไปโรงแรมซีเอสปัตตานีก็เกิด ปัญหาที่มันเกิดขึ้นคณะนี้มันเป็นเพราะความคิดหลักคิดของนายกว่าเรื่องนี้ปล่อยให้ตำรวจ ทหาร ทำแล้วเรื่องมันจะจบ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารเขาก็พยายามนะครับทำตามหน้าที่ของเขาโครงสร้างเขาตอนนี้ก็ต้องใช้โครงสร้างของกอรมน.ตามกฎหมายความมั่นคงที่พรรครัฐบาลเนี่ยและครับประนามมาตลอดว่าเป็นกฎหมายที่ใช้ไม่ได้ แต่ท่านก็มีความสุขเมื่อเข้ามาแล้วเป็นผอ.รมน.เองว่าจะเลือกใช้กฎหมายนี้ไม่คิดแก้ไข ทั้ง ๆ ที่กฎหมายฉบับนี้เขาไว้ใช้สำหรับสถานการณ์
ที่ไม่รุนแรงพอที่จะใช้ พรก. เพราะฉะนั้นแนวทางแก้ปัญหาทั้งหมดนั้น ตำรวจ ทหารทำไปมันขาดการสนับสนุนในเรื่องนโยบายเชิงเศรษฐกิจ ในเชิงการเมือง ในเชิงการบริหารที่จะทำให้การบริการนั้นยั่งยืนได้ เรียกความหวังกับประชาชนได้ ท่านปฏิเสธหมดครับ ผมเสนอกฎหมายจัดตั้งสำนักงานบริหารราชการชายแดนภาคใต้ให้มีองค์กรเป็นรูปธรรม ไม่ใช้มี แต่ สอบต.ซึ่งขณะนี้อยู่ภายใต กอรมน.ไม่มีกฎหมายที่รองรับชัดเจนเป็นเอกเทศ มีการจัดงบประมาณอย่างเป็นระบบ ท่านปฏิเสธที่จะไปดูจริงๆว่าแผนพัฒนาเขตพัฒนาเขตพิเศษจะเชื่อมโยงไปสู่พี่น้องประชาชนที่เป็นชาวบ้านจริงๆอย่างไร เพียงแต่ไปหยิบเอาโครงการนั้น โครงการนี้ จากกระทรวงต่างๆเอามารวมกันแล้วบอกว่าเขตพัฒนาพิเศษ มาตั้งโครงสกัดปาล์มก็ไม่มีปาล์มป้อนเข้าไป ทำโรงงานอาหารฮาลานก็ไม่มีวัตถุดินที่จะป้อนเข้าไปที่มาจากคนในพื้นที่ แล้วจะฟื้นขึ้นมาได้อย่างไร จะสร้างโอกาสให้พี่น้องประชาชนได้อย่างไร เพราะฉะนั้นเรื่องภาคใต้จะมีอีกหลายท่านได้พูด ตัวท่านนายกฯแทนที่จะคำนึงถึงความละเอียดอ่อนในเรื่องนี้ เวลาไปสัมภาษณ์กับสื่อสารมวลชนต่างประเทศ โดยเฉพาะสื่อสารหลักของมุสลิม ก็กลับไปทำให้โลกมุสลิมมีความไม่พึงพอใจไม่เข้าใจประเทศไทย และรัฐบาลไทยมากขึ้น ที่ดุด่าผู้สื่อข่าวที่มาสัมภาษณ์ท่าน เรื่องตากใบ ที่บอกไม่เห็นมีอะไรเลยคนล้มทับตายกันเอง นี้แหละครับคือการขาดวุฒิภาวะในฐานะผู้นำที่พึงจะรู้ว่าความละเอียดอ่อนในเรื่องต่างๆ เป็นอย่างไร
สำหรับความล้มเหลวในด้านสุดในเรื่องของความสมานฉันท์ผมอยากจะกราบเรียนว่าผมพูดมาตลอดเรื่องสมานฉันท์ว่าไม่มีอะไรดีไปกว่า ธรรมาภิบาล ทำกฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์ ทำกฎหมายให้บังคับใช้เท่าเทียมเสมอภาคกันนั้นแหละครับคือหนทางสมานฉันท์ที่ยั่งยืนถูกต้องที่สุด แต่ว่าอย่างที่ผมกราบเรียนครับ ประสิทธิภาพในการล้างแค้น ประสิทธิภาพในการที่จะปกป้องผลประโยชน์ของตัว 4 เดือนมันสูงลิบลับเลยครับ ต่างจากประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาประชาชน เริ่มตั้งแต่ 22 กพ. เอาหัวใจเลยครับ ย้ายคุณสุนัย มโนมัยอุดม อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพราะเขาคือหลักในการทำให้การสอบสวนเกิดความชัดเจนเกี่ยวกับการทุจริตของอดีตผู้นำ หลายคดีเลยครับ โดยย้ายก่อนตามมาด้วย อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ นายตำรวจซึ่งทำคดีซื้อเสียงของ อดีตประธานสภา อีกหลายต่อหลายคนครับ แล้วก็มุ่งหน้าในการที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เป็นอย่างที่ท่านนายกฯ พยายามสร้างความเข้าใจผิดเมื่อวานนี้หรอกครับ โอ้ย อยากแก้เรื่องระบบเลือกตั้ง เขตละคน มันสากล อยากจะแก้หลาย ๆ เรื่องให้มันเข้ารูปเข้ารอย เรื่องเหล่านั้นพวกกระผมก็บอกว่า ควรแก้ แล้วก็ควรมาศึกษาร่วมกันพูดตั้งแต่วันแถลงนโยบาย แต่ไม่ใช่ครับ เสนอครั้งแรกแก้ 5 มาตราเท่านั้นแหละครับ หัวใจคือ 3 มาตรา 237 เรื่องยุบพรรค 309 เรื่องคตส. 190 เรื่องทำสนธิสัญญา แล้วก็พอถูกคัดค้านเข้ามาก ๆ ก็เปลี่ยนกลับลำไปว่า เพียงแต่ต้องการเอารัฐธรรมนูญปี 40 ยกเว้น 2 หมวดแรกมาแทนปี 50 ท่านนึกย้อนกลับไปสิครับ
ก่อนหน้าที่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นบ้านเมืองกำลังเข้ารูปเข้ารอยไม๊ล่ะครับ สงบเรียบร้อยดีทุกอย่าง ท่านนายกฯ ก็ทำงานไป ถูกใจคนบ้าง ไม่ถูกใจคนบ้าง แต่ไม่มีใครคิดจะลุกฮือขึ้นมาชุมนุมต่อต้าน แต่เพราะเรื่องนี้แท้ ๆ จึงเป็นชนวนให้เกิดการชุมนุมขึ้นมาครับ คนที่ล้มเหลวในการสร้างความสมานฉันท์ก็คือตัวท่านเอง แล้วพอการชุมนุมทำท่าจะลุกลามไปล้ำหน้าไป จนคนเริ่มบอกว่า เอ๊ะ เขาสมควรจะชุมนุมหรือไม่ คนที่เติมเชื้อไฟเข้าไปอย่างรุนแรงก็คือท่านนายกฯ อีก ออกโทรทัศน์เป็นกรณีพิเศษ ประกาศเลยว่า ต้องแตกหักวันนี้ คำพูดท่านเองนะครับ นั่นแหละครับ จากวันนั้นถึงวันนี้ กระบวนการสมานฉันท์ มันจึงไม่เกิดขึ้น แล้วท่านนายกฯ ไม่ปลดชนวนความขัดแย้งทางการเมืองเลย มีปัญหาคุณสมบัติรัฐมนตรี กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคม กระทรวงพาณิชย์ ก็ไม่ปลดมันไปครับ เพื่อให้ท่านบริหารงานได้อย่างสะดวก ปล่อยให้มันเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้ง กรณีของอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายก เดี๋ยวผมก็คงต้องพูดขยายความอีกสักนิด แต่ทุกข้อเสนอเลยครับ พวกกระผมเอง ท่านเองก็เคยใช้คำว่ามีไมตรีเสนอหลายเรื่องครับ เพื่อที่จะให้บ้านเมืองมันสงบ แต่เพราะที่ท่านยืนยันไงครับว่า ต้องเป็นตัวของท่านเอง ผมต้องเป็นของผมอย่างงี้ มันก็เลยเหมือนกับท่านยืนอยู่บนชานชลารถไฟขบวนสมานฉันท์มาแล้ว มาเล่า พวกผมบอกท่านขึ้นเถอะขบวนนี้ ท่านบอกผมเป็นตัวของผมเอง ทำไมผมต้องขึ้น แล้วรถไฟก็ไป สุดท้ายท่านก็ต้องวิ่งตามรถไฟทุกครั้ง จะรัฐธรรมนูญ จะรัฐมนตรีจักรภพ จะเปิดอภิปรายทั่วไป หรือเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทำไมล่ะครับ
ก็เพราะท่านยังเป็นอย่างนี้อยู่ตลอด อย่าว่าแต่ 4 เดือนเลยครับ 4 ปีมันก็จะเป็นอย่างนี้ แล้วบ้านเมืองจะเดินไปข้างหน้าได้อย่างไรครับ ผมถึงบอกว่า วันนี้มันไม่ใช่เรื่องของผมหรอกครับ มันเป็นเรื่องที่ว่าคนเขามองดูประเทศไทย คนเขามองดูสถานการณ์แล้วเขาบอกว่า เราต้องมีรัฐบาลที่ดีกว่านี้ ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ผมก็เลยกราบเรียนว่า นี่คือความล้มเหลวครับ ผมกราบเรียนต่อไปครับว่า บังเอิญมีเรื่องซึ่งความจริงจะมีอีกคณะหนึ่งมาพูดนะฮะ เพราะว่าท่านก็ท้าทายไว้มาก คือเรื่องของปัญหาว่า ยังไม่เคยเซ็นสัญญา ยังไม่ได้ทำอะไรโยนหินถามทางก็มาอภิปรายไม่ไว้วางใจกันแล้ว รถเมล์ครับ ผมพูดสั้น ๆ เท่านั้นเองครับ เพราะเดี๋ยวจะมีคณะที่เขารับผิดชอบมาพูดเรื่องนี้โดยเฉพาะ
โยนหินถามทางเหรอครับ ผมมีเอกสารในมือผมวันที่ 16 มิถุนายน 2551 เป็นหนังสือที่ทางกระทรวงคมนาคมนะครับ ได้ทำเรื่องเสนอมาที่คณะรัฐมนตรีและเลขาธิการคณะรัฐมนตรีก็นำเสนอเพื่อที่จะให้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โยนหินถามทางของท่านนี่ 11 หน้านะครับ มีงบประมาณเรียบร้อย 111,690 ล้านบาท นี่เฉพาะเรื่องรถเมล์นะครับ ไม่นับโครงการเรื่องเกษียณอายุก่อนกำหนดหรืออะไรต่อมิอะไรอีก อย่างงี้ไม่เรียกโยนหินถามทางเหรอครับ แล้วที่สำคัญลายเซ็นนี่ครับ สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เสนอครม. เพื่อพิจารณา ก็ถ้าคิดว่า โยนหินถามทางหรือทำถูกต้องแล้ว ทำไมคนเซ็นให้เสนอครม.เพื่อพิจารณา ถอนเรื่องออกเสียเองล่ะครับ พอรู้ว่าจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แล้ว 111,690 ล้านบาทนี้ ก็ไม่ใช่ตัวเลขที่คิดกันขึ้นมาลอย ๆ นะครับ ผมก็ไปเอามาหมดแหละครับว่า ไอ้ประมาณการงบประมาณนี่ครับ ที่บอกว่า 6,000 คันนั้น ทำไมมันถึงออกมาเป็นแสนกว่าล้าน ผมบอกเสียเลยนะครับว่า อย่ากล่าวหาฝ่ายค้านว่าจะไปขัดขวางการทำให้ ขสมก. ดีขึ้น พวกผมสนับสนุนครับ อยากให้ ขสมก. มีกำไร อยากให้มีรถดี ๆ ที่ประชาชนนั่งในราคาที่ถูก ใช้พลังงานทดแทน สนับสนุนครับ แต่ไม่สนับสนุนให้คนมาหากินกับเรื่องนี้ หนึ่งแสนหนึ่งหมื่นหนึ่งพันกว่าล้านนี่ครับ เขาทำมาจากประมาณการหมดแหละครับว่า ไอ้รถ 6,000 คันนั้น ค่าใช้จ่ายแต่ละเรื่องเป็นอย่างไร เดี๋ยวมีคนมาขยายความครับ เอาง่าย ๆ ว่า ค่าซ่อมก็แพงกว่าราคารถใหม่ ค่าที่บอกว่าจะไปทำระบบ E-Ticket กับ GPS นั้น ผมว่าแพงกว่าความเป็นจริงไม่รู้กี่เท่าตัวนะครับ ค่าเช่าอู่แพงกว่าค่าจอดเรือยอร์ช ผลตอบแทนที่ให้กับคนที่จะมาเสนอให้เช่านั้น ดีกว่าลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกครับ 14 เปอร์เซนต์ เดี๋ยวเรื่องนี้เป็นรายละเอียดครับ ผมเพียงแต่บอกว่า มากล่าวหาพวกผมว่า แค่โยนหินถามทางก็โวยวายแล้ว ไม่ใช่ครับ คิดทำกันมาเป็นระบบ นายกฯ เองเซ็นให้เข้าครม.แล้ว แต่เปลี่ยนใจเพื่อที่จะเอาออกมา
ท่านประธานที่เคารพครับ สิ่งที่ผมจะกราบเรียนต่อไปแล้วก็จะเป็นประเด็นสุดท้ายแล้วก็คือว่า ไอ้การทำงานโดยคำนึงถึงพวกพ้อง คำนึงถึงผู้มีบุญคุณ มากกว่าการทำงานให้กับประชาชนและแผ่นดินนั้น ที่ผมคิดว่าเลวร้ายมากที่สุด 2 เรื่องนั้น เรื่องหนึ่งก็คือกรณีของอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผมไม่พูดอะไรเสียหายถึงท่านนะครับ เพราะว่าจะไม่เป็นธรรมกับท่าน แต่ว่าต้องเท้าความว่าเรื่องนี้นั้น มันเกิดเรื่องเพราะว่ามันมีตำรวจไปแจ้งความ คดีข้อหาร้ายแรงมากครับ ผมและพรรคประชาธิปัตย์นั้นไม่ได้ทำตัวเป็นศาล ไม่ได้ทำตัวเป็นอะไรเลยครับ แต่เห็นว่าเรื่องนี้นั้นถ้าปล่อยให้ลุกลามบานปลายออกไป ไม่เป็นผลดีกับประเทศ ไม่เป็นผลดีกับสถาบันหลักของชาติ ผมทำหนังสือถึงท่านนายกฯ ครับ ผมไม่เคยเอามาพูดข้างนอกให้มันเป็นปัญหาทางการเมือง ผมทำหนังสือถึงท่านฮะ บอกท่านช่วยดูหน่อย ผมเคยเห็นท่านปฏิบัติกับเรื่องนี้มาในช่วงที่ท่านเป็นฝ่ายค้าน ตอนนั้นก็มีปัญหาของคุณวีระ มุสิกพงศ์ ผมอุตส่าห์ไปเอาเหตุการณ์อีกหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับอดีตรัฐมนตรีที่ผมเห็นว่า ส่อให้เห็นถึง ทัศนคติที่เป็นอันตราย แล้วก็ขอว่าท่านนายกฯ จัดการทางการเมืองเสีย ไม่ต้องไปเกี่ยวกับเรื่องคดีความหรอกครับ เพราะว่าเรื่องแบบนี้ละเอียดอ่อน ท่านก็ไม่ทำฮะ ปล่อยให้เอาเอกสารต่าง ๆ ออกมาท้าทายกัน ลุกลาม บานปลายไปหมดครับ แล้วก็เลยมีกระบวนการมาสอดรับในเรื่องนี้ ในเรื่องอื่น ๆ อีกมากมาย เวปไซต์ที่กระทำการจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันที่เป็นเคารพสูงสุดยังมีอยู่เยอะแยะไปหมด ถ้าท่านตัดไฟเสียตั้งแต่ต้นลม มีความจริงจังกับเรื่องนี้แล้ว ผมเชื่อครับว่า มันจะไม่เป็นอย่างนี้ เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ผมคิดว่า บ่งบอกถึงความบกพร่องอย่างร้ายแรงของท่านในฐานะหัวหน้ารัฐบาล แต่เรื่องที่วันนี้กระผมจะต้องกราบเรียนกับท่านประธานไปยังพี่น้องประชาชนที่ผมคิดว่า ร้ายแรงที่สุดก็คือกรณีของเขาพระวิหารครับ
กระผมพูดเรื่องเขาพระวิหารนั้น ผมรู้ว่า ท่านนายกฯ ต้องถามผมก่อนแน่เลยว่า ผมเกิดทันหรือเปล่า ผมเกิด 2507 ครับ คดีเขาพระวิหาร 2505 ครับ ผมเกิดไม่ทันจริง ๆ ครับ แต่เกิดไม่ทันไม่ได้แปลว่าไม่รู้ฮะ เพราะผมเห็นท่านนายกฯ ก็อธิบายได้นี่ครับว่า สะพานที่เขาชุมนุมกันอยู่นั้น ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ท่านก็อธิบายได้หมด ผมก็ไม่ได้คิดว่าท่านต้องอายุ 100 ปี ท่านประธานครับที่ผมไม่เชื่อก็คือว่า ความพยายามที่จะเบี่ยงเบนและกลบเกลื่อนความเสียหายในวันนี้นั้น ทำให้ท่านนายกฯ ถึงขั้นกับกล่าวหาอดีตหัวหน้าพรรคของท่าน คนที่รับท่านเข้าสู่การเมืองระดับชาติให้เป็นลูกทีมในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งแรก ท่านพูดเลยครับบอกว่า คณะที่มาต่อว่าท่านอยู่นั้น ไปถามคนเก่าคนแก่ในพรรคซะบ้างว่ามันเสียหายเพราะอะไร แพ้คดีตั้งแต่ปี 05 ทนายความเป็นใคร ไปรับแผนที่ จึงเป็นเรื่องที่ทำให้แพ้คดีสูญเสียเขาพระวิหาร ผมกราบเรียนท่านประธานครับว่า ผมก็ทำงานการเมืองมาจะเรียกว่าครึ่งค่อนชีวิตของผมก็ว่าได้ เพียงแต่ผมอายุไม่มากเท่าท่าน แต่ผมเล่นการเมืองทำงานการเมืองแบบมีหลัก มีแหล่ง มีรากฐานคือพรรคประชาธิปัตย์ ผมไม่ใช่คนจรจัดเร่ร่อนทางการเมือง กระผมอยากจะกราบเรียนว่า ในพรรคประชาธิปัตย์นั้น เราอยู่กันนั้น ผู้อาวุโส น้อง ๆ ที่เข้ามาใหม่ เราจะพูดคุยกันตลอดครับให้รู้ความเป็นมาของบ้านเมือง ให้รู้ความเป็นมาของประวัติของพรรค เขาพระวิหารผมก็มีหนังสือของท่าน ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่เขียนเรื่องนี้อยู่ในมือ มอดอาจจะกินไปบ้างครับ แต่สาระครบถ้วนอยู่ทุกอย่างฮะ ศึกษาได้ แล้วเขาถ่ายทอดกันมาหมดแหละครับว่า การทำงานในทางการเมืองของคนของประชาธิปัตย์นั้น ทำกันมาอย่างไร เรื่องตัวท่านนากยฯ เองนั้น ผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคเขาก็เล่าให้ผมฟังหลายเรื่อง แต่ผมไม่พูดที่นี่หรอกครับ มันเสียหายกับท่าน ว่าท่านเป็นอย่างไร แต่ผมไม่นึกจริง ๆ ว่า เรื่องนี้จะมีการบิดเบือนประวัติศาสตร์กันได้มากถึงขนาดนี้
จากวินาทีนี้ไป จนเสร็จสิ้นการอภิปรายของผมจะมีสมาชิกอีก 4 – 5 ท่านขึ้นมา เอาเอกสารหลักฐานในประวัติศาสตร์ทั้งหมดมาแสดงให้ท่านประธานและพี่น้องประชาชนคนไทยให้เห็นครับว่า ถ้าจะมีการสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นปราสาทพระวิหาร หรือพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง จะในอดีตในวันนี้หรือวันข้างหน้า เป็นเพราะใคร แล้วถ้าเอกสารผมไม่ถูก ท่านโต้แย้งเอาเอกสารมาหักล้าง ผมขอเริ่มต้นแล้วก็ขออนุญาตท่านประธานครับ ใช้อุปกรณ์ในการนำเสนอเพื่อประกอบเรื่องนี้ให้เกิดความชัดเจน กระผมเข้าใจว่าสำหรับเพื่อสมาชิกในห้องน่าจะมี Power Point นะครับ ขอความกรุณาทางเจ้าหน้าที่ได้ช่วยดูด้วยนะครับ รูปแรกนั้น จะเป็นรูปที่ถ่ายทางอากาศลงไปนะครับ แต่ไม่ใช่ทางตรง ด้านบนของรูปนี้จะเป็นทิศเหนือ ด้านล่างเป็นทิศใต้ เอาง่าย ๆ ด้านบนฝั่งไทย ด้านล่างฝั่งกัมพูชา ปัญหาที่เกิดขึ้นคือประเทศไทยมีสนธิสัญญา ยึดถือว่าเขตเแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา เราใช้สิ่งที่เรียกว่าสันปั้นน้ำ ตามรูปนี้ก็คือเส้นสีเหลือและสีเขียว แล้วแต่จอโทรทัศน์หรือว่าภาพที่จะใช้ เส้นข้างล่างนี้ครับแต่เกิดปัญหาขึ้นที่ว่ามีสนธิสัญญามีการไปจัดทำแผนที่ซึ่งไปบอกว่าเส้นแบ่งเขตแดน เป็นเส้นสีแดงข้างบน เพราะฉะนั้นเราก็ยึดถือตามสนธิสัญญา ก็บอกว่าบริเวณตามเส้นสีเหลือง ซึ่งจริงๆแล้วในทางปฏิบัติในภาพความจริงคือหน้าผา ส่วนปราสาทพระวิหารอยู่บนหน้าผา เราก็ยึดถือเข้าใจยืนยันมาตลอดว่าสิ่งที่อยู่บนหน้าผาทั้งหมดและดินแดนที่อยู่ทางเหนือตรงนั้นเป็นของเรา แต่กัมพูชาไปอ้างแผนที่ แผนที่ซึ่งสืบเนื่องมาจากมีการตั้งคณะกรรมการผสมแล้วต่อมาก็มีคนในคณะกรรมการบางคนเค้าไปพยายามไปจัดทำแผนที่อ้างว่าไปดูสันปันน้ำ บังเอิญช่วงนั้นคนไทยมีมีความเชียวชาญครับ ทางกับทางฝรั่งเศสไปทำ ก็ไปทำออกมาเป็นเส้นสีแดงครับ สิ่งที่อยู่บนหน้าผาทั้งหมดถ้าตามแผนที่อันนั้นก็เลยกลายเป็นของกัมพูชา แผนที่นี้เนี้ยที่จริงแล้วเป็นแผนที่ภายในของเราบังเอิญไปให้คนอื่นทำ ทำมาอย่างนี้แต่ว่าพอตกไปถึงมือฝ่ายกัมพูชาเค้าก็เลยไปร้องต่อศาลโลก ว่าปราสาทพระวิหารเป็นของเขา ผมอยากจะกราบเรียนครับว่า ผมเกิดไม่ทันจริงๆครับ ที่คนไทยเชื่อว่ามันไม่น่าจะมีปัญหาเพราะว่า ท่านดูสภาพภูมิประเทศซิครับ อย่างในรูปสันปันน้ำใช้เส้นสีแดง โดยสภาพธรรมชาติสภาพเขตแดนต้องเป็นแบบนี้ เข้าใจกันอย่างนี้ หรือจะดูอีกภาพหนึ่งก็ได้ครับจะดูจากมุมไหนเหมือนกันหมดครับ สภาพทางธรรมขาติทำให้คนไทยมีความมั่นใจว่าตรงนี้ต้องเป็นของเรา เพราะปราสาทอยู่ตามแนวทิศเหนือ ทิศใต้ ทางาเข้าที่ง่ายที่สุดและน่าจะเป็นทางเข้าที่ใช้ปราสาทนี้คือทางทิศเหนือครับ ที่เรียกบันไดนาค เพราะถ้าท่านจะไปขึ้นที่ทางอื่นท่านก็ต้องปีนหน้าผาขั้นไปนะครับ และหน้าผานี้ก็ไม่ใช้เตี้ยๆนะครับ สมัยนั้นเข้าเปรียบเทียบให้ฝรั่งเห็นเค้าบอกว่าหน้าผานั้นสูงกว่าตึกเอ็มพายสเตท
นี่คือความมั่นใจครับ แต่เมื่อไปขึ้นศาลไม่ได้เป็นอย่างที่นายกบิดเบือน ที่บอกทีมทนายไทยไปยอมรับแผนที่เส้นสีแดงก็เลยทำให้เราแพ้คดีไปไม่ใช้ ท่านไปอ่านมาหรือยังครับคำพิพากษาศาลโลก และคำให้การทั้งหมด ทีมทนายความฝ่ายไทยทั้งหมดซึ่งมีทั้งชาวต่างประเทศและม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ข้อต่อสู้หลักของเราก็คือเราไม่ยอมรับแผนที่ครับ เราบอกแผนที่ไปจัดทำกันมาเป็นเรื่องใช้ภายในไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องที่เราจะไปใช้เป็นเขตแดนอ้างอิงครับ และเราไม่เคยยอมรับความถูกต้องว่าแผนที่ที่ให้ไปทำตามสันปันน้ำมันตรงกับข้อเท็จจริงหรือเปล่าต่อสู้แบบนี้ครับ แต่ที่แพ้คดีนี้ครับมันไม่ใช้เพราะเรื่องทนายครับ ศาลโลกตัดสินให้แพ้คดีเพราะบอกว่า จะดูว่าประเทศไทยรับแผนที่หรือไม่ไม่ใช่ว่าไปปฏิเสธกันตอนนั้นหรือไม่ แต่ดูจากการกระทำในอดีตของรัฐบาลนับเนื่องมาผมเข้าว่าร่วม 50 ปีครับ นั้นก็คือพอคนเค้าทำแผนที่ให้ส่งมาที่รัฐบาลไทย รัฐบาลไทยก็รับเอาไว้ขอบคุณเค้า และไม่ทักท้วง
ฝากให้ท่านประธานบอกให้ท่านรัฐมนตรีฟังให้ดีครับ คนอื่นทำแผนที่ไปรับของเขามาและไม่ทักท้วงครับ แม้ว่าแผนที่นั้นไม่ได้บอกว่าจะใช้อ้างอิงในการเป็นเขตแดนสากล แต่ต่อมาถูกนำไปอ้างเวลามีข้อพิพาท แล้วศาลก็ตัดสินว่าการกระทำแบบนี้ถือว่ารับโดยปริยายทางกฎหมาย แต่ว่าโชคดีอยู่อย่างหนึ่งก็คือว่า ศาลโลกไม่เคยตัดสินในเรื่องของเขตแดนแม้จะบอกว่าประเทศไทยยอมรับ ยอมรับแผนที่นี่ครับแล้วเป็นเหตุให้แพ้คดี แต่การตัดสินของศาลโลกนั้นมีอยู่ 3 ข้อ
ข้อที่ 1 ครับ ข้อที่ 1 ศาลโลกได้ตัดสินว่า ปราสาทพระวิหาร ปราสาทพระวิหาร ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Temple อยู่บนพื้นที่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา
ข้อที่ 2 ครับ ให้ประเทศไทยนั้น ถอนกำลังจะเป็นทหาร ตำรวจ ที่อยู่ในที่ตรงนั้นแหละครับ ออกมา
- มีผู้ประท้วง -
กระผมจะใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะผมไม่ต้องการให้เรื่องนี้กระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ข้อมูลที่ผมนำเสนอเป็นข้อมูลสาธารณะ ซึ่งชาวโลก ไม่ใช่เฉพาะชาวไทย สามารถที่จะหาได้จากเวปไซต์ของทางศาลโลก ข้อที่ 3 ที่ศาลตัดสินครับ ท่านประธานอะไรที่คนไทยได้เอาไปจากตัวปราสาท หรือบริเวณปราสาท ตรงนี้สำคัญครับ ปราสาทคือ Temple หรือบริเวณปราสาทคือ ภาษาอังกฤษคือ Temple Area ให้ประเทศไทยนั้นคือให้เขาครับ ท่านประธานสังเกตไม๊ครับ คำว่า บริเวณปราสาทปรากฎอยู่เฉพาะในคำตัดสินข้อที่ 3 ซึ่งเป็นเรื่องการคืนของ แต่คำตัดสินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอธิปไตย ศาลโลกใช้คำว่า Temple คือปราสาท เมื่อเป็นอย่างนี้ รัฐบาลไทยทำอย่างไร นี่คือหัวใจแล้วครับ ผมฟังท่านรัฐมนตรีชี้แจงหลายเวทีแล้วครับ ไปบอกว่า พอศาลตัดสินอย่างนั้น เราก็เลยไปกำหนดเขตแดนตามมติคณะรัฐมนตรี 2505
ท่านประธานครับ ไม่มีที่ไหนเขาขีดเขตแดนโดยมติคณะรัฐมนตรีครับ มติคณะรัฐมนตรีสัปดาห์นี้เป็นอย่างสัปดาห์หน้าก็เปลี่ยนได้ รัฐบาลนี้ยังทำมาแล้วเลยครับ เงินช่วยเหลือค่าครองชีพข้าราชการจากพันเป็นพันห้า ไม่มีหลักสากลที่ไหนเลยครับเขาไปปล่อยให้คณะรัฐมนตรี หรือมติของฝ่ายบริหารกำหนดเขตแดนระหว่างประเทศ พอศาลตัดสินท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น จึงได้ออกหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นว่า การปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลก ไทยอาจปฏิบัติได้เองในบางส่วน แต่การปักหลักเขตแดนเพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาเกี่ยวกับบริเวณพระวิหารนั้นน่าจะได้กระทำเมื่อกัมพูชาขอมาและด้วยความยินยอมของทั้ง 2 ฝ่ายครับ บันทึกนี้ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2505 แล้วก็มีการนำเรื่องนี้เข้าไปประชุมจนกระทั่งมีมติออกมาคือวันที่ 10 กรกฎาคม 2505 เรื่องที่เสนอเข้าไปนั้น จุดยืนของประเทศไทยชัดคือเราไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลโลก ประท้วงและสงวนสิทธิ์ แต่ในฐานะสมาชิกของสหประชาชาติ เราจะปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลก คณะรัฐมนตรีก็เลยบอกว่าเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตาม กำหนดแนวปฏิบัติไว้เถอะ ว่าจะต้องถอยออกมาอย่างไร นี่ครับ มติคณะรัฐมนตรี 2505 ดังจะเห็นได้ว่า เวลาเรื่องเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรีปี 2505 นั้น ได้มีการแจ้งมตินะครับ เขาจะบอกว่าเป็นการกำหนดบริเวณปราสาทนะครับ คือ Temple area ครับ ไม่ใช่ Temple
ศาลตัดสินให้เฉพาะ Temple แต่มติครม.2505 นั้นเป็นเรื่องของ Area เพื่อจะปฏิบัติ เพราะแน่นอนครับ การดำเนินการของรัฐบาลไทยในขณะนั้นต้องกังวลแน่นอนว่า ถ้าไปขีดเส้นแล้วเกิดการเผชิญหน้า เกิดการปะทะกัน ก็ไม่เป็นผลดีกับฝ่ายใด ก็ต้องกำหนดแนวปฏิบัติไว้อย่างนี้ครับ ที่ท่านรัฐมนตรีมักจะมาขีดเส้นอยู่นี่ แล้วก็บอกว่าเป็นเขตแดน เขตแดนนั้น ไม่ใช่ครับ เป็นเขตแนวปฏิบัติกำหนดโดยคณะรัฐมนตรีเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติให้เห็นว่าเราไม่ได้ฝ่าฝืนสิ่งที่ศาลโลกสั่ง แต่ไม่ได้มีสถานะของการเป็นเขตแดน กัมพูชาก็ไม่ได้ยอมรับ นี่คือข้อเท็จจริงครับ แล้วเพื่อให้เกิดความมั่นใจด้วยครับว่า เวลาเรากำหนดแนวปฏิบัติอะไรอย่างไรแล้วนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น จึงได้ทำบันทึกไปถึงเลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อประท้วงคำพิพากษาของศาลโลก ผมขออนุญาตอ่านนะครับ
รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ประกาศต่อประชาชนแสดงความไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาล โดยมีเหตุผลว่า ตามความเห็นของรัฐบาล คำพิพากษาขัดต่อข้อกำหนดอันชัดแจ้งของบทที่เกี่ยวเนื่องของสนธิสัญญา ค.ศ.1904 และค.ศ.1907 และขัดต่อหลักกฎหมายและความยุติธรรม แต่อย่างไรก็ดี รัฐบาลก็ยังแถลงว่าในฐานะที่เป็นสมาชิกสหประชาติ รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะปฏิบัติตามพันธะกรณีที่ตนมีอยู่ตามคำพิพากษาดังกล่าวเพื่อปฏิบัติหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ตามข้อ 94 ของกฎบัตร
ย่อหน้าต่อไปสำคัญครับ คือสิ่งที่รัฐบาลไทยแจ้งไว้กับเลขาธิการสหประชาชาติ
ข้าพเจ้าใคร่จะแจ้งให้ท่านทราบว่า ในการตัดสินใจที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีที่เกี่ยวกับปราสาทพระวิหารนั้น รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรารถนาที่จะตั้งข้อสงวนอันชัดแจ้งเกี่ยวกับสิทธิใด ๆ ที่ประเทศไทยมี หรืออาจมีในอนาคต เพื่อเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมา โดยอาศัยกระบวนการกฎหมายที่มีอยู่ หรือที่จะพึงนำมาใช้ได้ในภายหลังและตั้งข้อประท้วงต่อคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศที่ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา
ชัดมั้ยครับ ที่บอกว่าเสียดินแดนไปแล้วตั้งแต่ 2505 ฝีมือทนายอะไร ไม่ใช่ครับ รัฐบาลยุคนั้น เขาเผชิญกับปัญหาเรื่องของศาลโลก ผมไม่ไปวิจารณ์หรอกครับว่าการเมืองระหว่างประเทศเป็นอย่างไร เขาหาทางออกเอาไว้ ตัดสินว่าปราสาทเป็นของกัมพูชา อ้าว ไม่ฝ่าฝืน ยอมปฏิบัติ แต่ไม่มีการพูดเรื่องเขตแดน และสงวนสิทธิ์เอาไว้ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องอย่างที่ท่านรัฐมนตรีไปเที่ยวพูดท้าทาย บอกงั้นประชาธิปัตย์ประกาศนโยบายสิว่าจะไปเอาคืนมา ไม่ใช่เรื่องครับ เรื่องก็คือว่าการจะเอาคืนมานั้น ต้องมีเหตุมีหลักกฎหมายรองรับ แต่เราสงวนสิทธิ์ไว้ไม่มีรัฐบาลชุดไหนเคยสละสิทธิ์อันนี้
- มีผู้ประท้วง –
ท่านประธานที่เคารพครับ ที่ผมต้องย้อนกลับมาทั้งหมดนี้นั้น เนื่องจากรัฐบาลเองบิดเบือนประวัติศาสตร์ แล้วรัฐบาลไม่ศึกษาประวัติศาสตร์นี่ครับ ถึงได้สูญเสียครั้งนี้ ผมต้องเอามาเล่าให้ฟังว่า ถ้ารู้เรื่องนี้จะได้ไม่ไปทำอย่างที่ท่านทำ แล้วมันเกิดความสูญเสีย ผมเล่าให้ฟังว่า ศาลตัดสินอย่างนี้ รัฐบาลไทยทุกคณะ รวมทั้งคณะที่ท่านนายกฯ และอีกหลาย ๆ ท่านเคยร่วมมาก็ยึดถือแนวทางของรัฐบาลที่ได้มีการดำเนินการหลังคำพิพากษาของศาลโลกมาโดยตลอด แล้วเรื่องนี้ เมื่อท่านแสดงความไม่รู้อีกนะครับ รัฐบาลขณะนั้นไม่ได้เกี่ยวกับประชาธิปัตย์เลยครับ ท่าน ม.ร.ว.เสนีย์ ได้รับการขอร้องจากรัฐบาลให้ไปว่าความให้ ในฐานะทนายความครับ ผมทราบด้วยว่า ท่านไม่แม้แต่เบิกค่าใช้จ่ายในการไปว่าความเวลาเดินทางไปต่างประเทศเพราะฉะนั้นไม่ได้เกี่ยวอะไรกับรัฐบาลประชาธิปัตย์เลยครับ ผมเล่าประวัติศาสตร์ให้ฟังว่า 2505 ซึ่งท่านรัฐมนตรีอ้างนัก อ้างหนามาขีดเส้นอยู่นี่ ที่มาที่ไปที่แท้จริงของมันคืออะไร ทีนี้ท่านรัฐมนตรีท่านก็พูดต่อบอกว่า เอาหล่ะ ก็เคยสงวนสิทธิ์เคยประท้วงอะไรกันเอาไว้ แต่ว่าไปดูข้อกำหนดของศาลโลกหรือยัง โดยเฉพาะข้อที่ 61 ใช่ไม๊ครับ ที่พูดถึงเรื่องของการทบทวนคำพิพากษา
- มีผู้ประท้วง –
ท่านประธานที่เคารพครับ ที่จริงตอนแรกผมก็พยายามไม่อยากเสียเวลาสภานะครับ แต่ว่าท่านต้องเข้าใจนะครับ ที่ท่านพูดว่า ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชเป็นทนายนี่ ท่านไม่ได้เป็นทนายคนเดียวนี่ครับ ไม่ได้เป็นแม้แต่หัวหน้าทนายด้วยครับ ไปอ่านประวัติศาสตร์หน่อยสิครับ มี ม .จ.วงษ์มหิป ชยางกูร ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายอังรีย์ โรแลง เซอร์แฟรง ซอสคิส นายเจมส์ เนวิน ไฮด์ นายมาร์เซล สลูสนี นาย เจ.จี. เลอเคนส์ รูปของทนายตั้งแต่ปี 2505 ผมยังมีเลยครับ เพราะฉะนั้นที่ท่านจะเสียกันอีกหลาย ๆ บาท นี่ครับหลายคนที่นี่ก็เสียครับ แต่ไม่ได้เป็นสิ่งใดที่ไปพิสูจน์เลยครับว่าท่าน ม.ร.ว.เสนีย์ ท่านรับ ท่านไม่ได้รับ ผมไม่ได้พูดเท็จ แต่ผมเห็นสติปัญญาท่าน ท่านคิดแค่นี้ไม่ออกผมก็เลยไม่ได้ว่าอะไร
ท่านประธานที่เคารพครับ ผมอยากจะกราบเรียนต่อไปด้วยนะครับว่า แนวปฏิบัติ แนวปฏิบัติของท่านประธานนั้น เพื่อความถูกต้องนะครับ บังเอิญคุณสมบูรณ์ ก็ไม่ค่อยแม่นเท่าไหร่ฮะ ที่จริงแล้วที่จะบันทึกไว้นั่นก็คือว่า ถ้าออกไปจากห้องประชุมฮะ โดยไม่ถอน ถ้าอยู่ต้องถอนฮะ ท่านวินิจฉัยแล้วถ้าอยู่ต้องถอน ไม่อยู่ โดยไม่ยอม
- ประธานติง –
ท่านประธานฮะ ผมก็ไม่อยากให้เสียเวลานะครับ
- มีผู้ประท้วง –
ท่านประธานที่เคารพครับ ผมพยายามจะรวบรัดไม่เอารายละเอียดมาให้นะครับ อยากทราบว่าเงินไปไหนนั้น ผมก็อุตส่าห์ไปมีหนังสือ 26 มิถุนายน 2505 ครับ โดยหัวหน้าทีมทนายครับว่า ดร.สแกมเมอร์ ฮอร์น ครับ ส่งใบสำคัญมาขอเก็บเงิน 7,393.18 กิลเดอร์ นี่ฮะ ตัวอย่าง ค่าใช้จ่ายอย่างอื่นมีเยอะแยะ เพราะทนายหลายคนทั้งชาวต่างประเทศ ชายไทย ผมไม่ได้พูดเท็จแน่นอนนะครับ ท่านประธานที่เคารพครับ
ประเด็นที่ผมจะกราบเรียนต่อไปก็คือว่า เมื่อรัฐบาลไทยตั้งข้อสงวน คำพิพากษา และประท้วงไปชัดเจน ท่านรัฐมนตรีก็มาอ้างในเรื่องของธรรมนูญของศาลโลกครับ บอกว่าจะสงวนไว้อย่างไรก็ตาม ข้อ 61 ใช่ไม๊ครับ ข้อ 5 เขียนเอาไว้การขอทบทวนคำพิพากษานั้น จะต้องทำภายใน 10 ปี นับจากวันที่มีคำพิพากษา ถูกต้องครับ ไม่มีใครปฏิเสธครับ แต่ข้อ 60 ที่พูดถึงการสงสัยเกี่ยวกับความหมาย เกี่ยวกับขอบเขตของคำพิพากษานั้น อันนี้ไม่มีอายุความ นั่นประการหนึ่ง ประการที่สอง ที่ผมได้กราบเรียนท่านประธานและประชาชนไปตั้งแต่ต้นก็คือว่า จนถึงวันนี้ปัญหาเรื่องเขตแดนนั้นยังไม่จบ ท่านรัฐมนตรียืนยันได้อย่างไรครับว่า วันข้างหน้าจะไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์หรือข้อมูลใหม่ที่เกิดขึ้นมา ที่ทำให้เราสามารถไปใช้สิทธิ์ของเราเกี่ยวเนื่องกับพื้นที่นี้ทั้งหมด ไม่มีใครรู้หรอกครับ และตราบเท่าที่เรายังไม่สละสิทธิ์ตรงนี้ สิทธิของการทักท้วงยังอยู่ครับ แต่ที่ท่านทำไปเมื่อไม่กี่วันนี้ล่ะครับ นั่นแหละเป็นการสละสิทธิ์ครั้งแรกที่ผมอยากจะได้กราบเรียนให้ท่านประธานได้รับทราบต่อไป ผมเองผมนึกไม่ถึงครับ ผมนึกไม่ถึงว่าคนที่จะหยิบยกเรื่องอายุความ 10 ปีนั้น จะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทย ถ้ามาจากทนายของรัฐบาลกัมพูชา ผมจะเชื่อ เพราะคนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทยนั้น ต้องรักษาผลประโยชน์ของคนไทย หยิบยกเฉพาะข้อกฎหมายที่เป็นประโยชน์กับไทยขึ้นมา ผมเคยเตือนท่านนะครับว่า มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยุติบทบาททนายของอดีตนายกฯ ท่านเลยไปเป็นทนายให้กัมพูชา ไม่ใช่เรื่องเลยครับ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะหยิบยกขึ้นมาในเรื่องของอายุความตรงนี้ ประเด็นก็คือว่า ตราบเท่าที่ไม่มีการกระทำอะไรไปลบล้างข้อสงวนในปี 2505 สิทธิของประเทศไทยก็จะยังดำรงอยู่ แต่แน่นอนการจะได้คืนมาหรือไม่ย่อมต้องขึ้นกับข้อเท็จจริงที่จะปรากฎขึ้นในอนาคต และการใช้สิทธิตามกฎหมายและกฎหมายระหว่างประเทศ
ทีนี้ก็มาถึงเหตุการณ์สำคัญแล้วครับว่า เมื่อเราสงวนสิทธิ์มาอย่างนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องของการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้น มันมาเกี่ยวข้องอย่างไร กระผมกราบเรียนอย่างนี้ครับว่า ความคิดของกัมพูชานั้น ที่จะขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกนั้นมีมานานพอสมควร เขาจะใช้คำว่าไปขอเสนอเป็น Tentative list นั้นก็นานแล้วนะครับ การขึ้นทะเบียนมรดกโลกนั้นความสำคัญคืออะไรท่านประธานครับ ความสำคัญก็คือว่า 1. มันเป็นการประกาศคุณค่า ของสิ่งนั้น ๆ นะครับ จะเป็นโบราณสถาน หรือจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ ว่ามีความงดงามมีความสำคัญในเชิงวัฒนธรรม สมควรที่จะได้มีการอนุรักษ์ไว้ให้เป็นมรดกของชาวโลก เมื่อขึ้นทะเบียนแล้วนั้น มันก็จะมีทั้งสิทธิ์และหน้าที่ สิทธิ์ก็คือว่าถ้ามีแผนการบริหารจัดการในการอนุรักษ์มรดกโลกนี้ชัดเจน ก็สามารถที่จะไปขอเงินทุนเพื่อมาช่วยในการอนุรักษ์มรดกโลกนั่น แต่หน้าที่ก็คือว่า เมื่อไปจดทะเบียนไปมรดกโลกแล้วนั้น ต้องมีข้อกำหนดครับ ว่าสิ่งนั้นก็ดี เขตพื้นที่รอบ ๆ เขตพื้นที่อนุรักษ์ก็ดี อาจจะมีข้อห้าม อย่างเช่นจะเป็นที่หลวงพระบาง จะเป็นที่สุโขทัย หรืออยุธยานี่ครับ พอขึ้นทะเบียนไปแล้วนั้น พื้นที่รอบ ๆ เขาอาจจะกำหนดมาว่าห้ามก่อสร้าง ไม่งั้นมันจะทำให้คุณค่าของมรดกโลกเสียไป ประเด็นก็มีอยู่ว่า ปราสาทในลักษณะของปราสาทพระวิหารนี้ ความสมบูรณ์ของการเป็นโบราณสถานนั้น นอกเหนือจากตัวปราสาท จะมีองค์ประกอบอื่นของโบราณสถานอยู่ในพื้นที่รอบ ๆ ท่านรัฐมนตรีปฏิเสธผมไม่ได้หรอกครับว่า สิ่งที่เป็นองค์ประกอบของโบราณสถานรอบ ๆ นี่ครับ มีอยู่ในเขตแดนไทยแน่นอน ผมยังไม่เคยได้ยินใครปฏิเสธเรื่องนี้ เช่นที่เขาพูดถึงว่า บารายของปราสาทนี้ก็อยู่ในเขตไทย แล้วท่านรัฐมนตรีก็เพิ่งมาแก้เกี้ยวว่าจะมีการไปขอบ้าง ที่จะเอาองค์ประกอบของโบราณสถานนั้นไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก ซึ่งกระผมจะได้กราบเรียนต่อไปนะครับว่า ท่านพูดแบบไม่ดูข้อเท็จจริง ไม่รับผิดชอบ การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้น มันก็จะเป็นไปตามกฎ กติกา และข้อบังคับของมรดกโลก ซึ่งเขาเขียนเอาไว้ชัดเจนครับ
ท่านประธานครับ ว่าการขึ้นเป็นมรดกโลกนั้น มันขึ้นได้ทั้งในลักษณะที่มีรัฐใด รัฐหนึ่ง รัฐเดียวนี่แหละครับเสนอขึ้นไป หรือจะมีการเสนอร่วมกันได้ ระหว่างประเทศที่มีเขตแดนติดกัน ถือเป็นสิ่งที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Trans boundary property พูดง่าย ๆ ก็คือว่าเป็นทรัพย์สมบัติของ 2 ประเทศ ข้ามเขตแดน ความพยายามของรัฐบาลในอดีตก็คือว่า เราจะต้องต่อรองครับว่า ความสมบูรณ์แบบของโบราณสถานแห่งนี้ ที่จะเป็นมรดกโลกนั้น มันคาบเกี่ยวทั้งพื้นที่ของประเทศไทย ทั้งพื้นที่ของกัมพูชา ดีที่สุดคือ ไปจดทะเบียนร่วมกัน เพราะในหลายประเทศทำมาแล้วครับ จดทะเบียนร่วมกัน แต่ว่าถ้าไปขึ้นทะเบียนฝ่ายเดียว คนที่จะเป็นพูดง่าย ๆ ก็คือว่า คู่เจรจาโดยตรงกับมรดกโลกก็คือคนที่จดทะเบียนโบราณสถานหรือมรดกโลกชิ้นนั้น ซึ่งหมายความว่าการกำหนดเขตของตัวโบราณสถาน การกำหนดเขตอนุรักษ์ การบริหารจัดการทั้งหลาย ความรับผิดชอบเบื้องต้นคือประเทศที่ไปจดฮะ
ตรงนี้ละครับคือปัญหา และการรับจดทะเบียน ท่านรัฐมนตรี และรัฐบาล บอกว่าถ้าขืนเราจะดึงดัน ขอไปจบร่วมเขาไม่ยอมเสียอย่าง มันก็เสนอร่วมไม่ได้ ก็เลยเป็นตรรกว่าต้องไปยอมเขา ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว การไปขึ้นไม่ใช่ง่ายนะครับ กัมพูชาของขึ้นทะเบียนมรดกโลกไว้ 10 ชิ้น ตั้งแต่2535 เวลาผ่านมาจนถึงขณะนี้ก็มีนครวัตร ที่เดียว และที่สำคัญคือว่ามติในการรับต้องเป็นมติของคณะกรรมการที่ใช้เสียง 2 ใน 3 กรรมการมี 21 ประเทศ พูดง่ายๆ ถ้า 8 ประเทศไม่เห็นด้วยขึ้นไม่ได้
ปีที่แล้วก่อนรัฐบาลนี้จะเข้ามากัมพูชาก็เดินหน้าขอจดทะเบียนฝ่ายเดียวอย่างที่ว่า ข้อเสนอเดิมน่ากลัวจริงๆ เวลาทำเอกสารอะไรไป ถ้ามาอยู่เขตแดนไทยอย่างชัดเจน และก็มีเอกสารซึ่งเราดูได้จากเว็บไซน์ของกัมพูชา ก็จะมีเรื่องนี้อย่างละเอียด แต่ความพยายามของเขาปีที่แล้วไม่สำเร็จ ไปประชุมกันที่นิวซีแลนด์ ที่เมืองไคร์สเชิร์ส ไม่สำเร็จ แล้วผมก็ไปดูครับว่าเขาทำกันอย่างไร
ก็ขอเรียนให้ทราบว่าผมไม่ทำอะไรลอยๆ ผมไปเอาบันทึกสภาความมั่นคงแห่งชาติ มาดู ผมไปเอาบันทึกของกองสุรนารีมาดู ว่าปัญหาเรื่องประสาทพระวิหารตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันเขาเขียนไว้อย่างไรบ้าง ที่ท่านนายกฯไปบอกว่าโอ้ย มีปัญหาทิ้งตั้งแต่ปี 2543 ไม่ใช่ครับ จะเล่าให้ท่านฟังก็ได้ครับว่าโดยที่สภาพตามธรรมชาติพอศาลโลกตัดสินแล้วทุกคนมองว่า เพราะเขตแดนอยู่สันปันน้ำ ปราสาทอยู่บนหน้าผาใครจะมาเข้าต้องมาเข้าจากฝังไทยจะปฏิบัติกันอย่างไร
และที่อื่นในโลกท่านนายกท่านรัฐมนตรีไปดูได้ครับว่าเวลาเขาปฏิบัติตามศาลโลกมันไม่มีใครไปกำหนดเขตแดนอะไรเลยครับ ล่าสุดศาลโลกตัดสิน อิสลาเอล ปาเลสไตน์ ก็ไม่ได้ดำเนินการเรื่องเขตแดนกันอย่างเคร่งครัด ท่านประธานจะทราบจากข่าวว่าทางกัมพูชาได้ติด ซึ่งวันนี้ผมก็ได้ฟังข่าวเขาบอกชัดเจนว่าปกติทางเข้าต้องใช้กุญแจ 2 ตัว ฝ่ายไทย 1 ฝ่ายกัมพูชา 1 ที่ปิดเมื่อวานเป็นเพราะฝ่ายไทยไปไขแต่กัมพูชาไม่ยอมไข ประเด็นก็คือว่ามันจะต้องบริหารจัดการร่วมกันอย่ามาพูดถึงเรื่องเขตแดนแล้วที่มีชุมชน มีตลาดขึ้นไป ใช่ครับ มีการสู้รบจนถึงปี 41 ก็มีปัญหา แต่ว่าในที่สุดสงครามภายในก็จบลงจึงได้มีการก่อตั้งชุมชน ก่อตั้งตลาดไม่ใช่ 43 อย่างที่ท่านนายกว่าตั้งแต่ 41 แต่กองสุรนารีและรัฐบาลขณะนั้นได้ทำความตกลงว่าก็ให้อยู่ทั้งคนไทย ทั้งชาวกัมพูชา และเมื่อเวลามีปัญหาจริง ๆ ก็รัฐบาลประชาธิปัตย์นี่และครับไปทำบันทึกความเข้าใจ ผมไม่แน่ใจว่าขณะนั้นท่านรัฐมนตรีขณะนั้นเป็นผู้ช่วยเลขาอยู่หรือเปล่า
เราไปบันทึกไว้เองว่าที่กัมพูชาจะมาทำการก่อสร้างบริเวณนั้นขอให้ระงับไว้ทั้งหมดไม่ใช่มากล่าวร้ายพรรคประชาธิปัตย์อย่างนี้ แต่วันนี้เรื่องมันใหญ่กว่าประชาธิปัตย์ครับ วันนี้ประเด็นมันอยู่ที่ว่ากองกำลังของทหารกระทรวงการต่างประเทศเขาก็เดินหน้าทำทุกวิถีทางว่าอย่าให้ไปขึ้นทะเบียนฝ่ายเดียว เพราะถ้าขึ้นทะเบียนฝ่ายเดียวพื้นที่ที่จะระบุในการบริหารจัดการในวันข้างหน้ามันกินเข้ามาในเขตแดนไทยแน่นอนเกินตำพิพากษาศาลโลกแน่นอน
ในที่ประชุมของคณะกรรมการมรดกโลกเมื่อปีที่แล้วก็เลยมีมติว่าเรื่องนี้ยังจบไม่ได้ถ้าฝ่ายไทยคัดค้านอย่างรุนแรง ที่จริงบันทึกของกองกำลังสุรนารีก็บอกว่าเราได้ใช้ถ้อยทำรุนแรงมาก ประท้วงจนประเทศต่าง ๆ เขาไม่ยอมให้ขึ้นง่าย ๆ ก็คือให้นำมาเสนอใหม่ในปีหน้าให้ไปตกลงกันใหม่เสียก่อน ตรงนี้สำคัญ เพราะข้อตกลงในวันนั้นคือว่าหากกัมพูชาจะมาขึ้นทะเบียนใหม่ต้องมี Active Support of Thailand คือประเทศไทยต้องแสดงความสนับสนุนอย่างชัดแจ้งวิธีการเขาทำอย่างไร เขาก็บอกว่าก็เอานักวิชาการไทยคนไทยไปร่วมกับฝ่ายกัมพูชาเสียว่าเวลาจะเสนอเอกสารบันทึกรายงานความก้าวหน้าไปตกลงกันให้เรียบร้อยว่าจะจัดการบริหารพื้นที่นี้อย่างไร
คนที่เขาไปทำกันเขาก็ฟ้องกับมาว่ากัมพูชาเวลาทำเรื่องนี้ไม่ค่อยรับฟังความคิดเห็นของใคร เช่น พยายามเขียนว่าปราสาทนี้แกนไม่ใช่ตามแนวเหนือ ใต้ แต่ว่าเป็นแนวตะวันออก ตะวันตก เนื่องจากทางทิศตะวันออกมีสิ่งที่เรียกว่าช่องบันไดหักคือเป็นทางขึ้นหน้าผามาจากทางฝ่ายกัมพูชาได้ ความรู้สึกตรงนี้ของนักวิชาการไทยที่ไปร่วมรุนแรงถึงขั้นเมื่อต้นปีนี้ในเดือนมกราคมได้แสดงจุดยืนในภาษาอังกฤษเรียกว่า Dissociate แปลว่าขอแยกตัวมาโดยสิ้นเชิงจากการทำรายงานของกัมพูชาเขาทำอย่างนั้นเพื่อให้เห็นว่า ถ้าเดินหน้าต่อไปอย่างนี้กัมพูชาไม่ได้มีการสนับสนุนอย่างชัดแจ้งจากประเทศไทย หรือ Active Support of Thailand ถึงเดือนมีนาคม ยูเนสโก เชิญนักวิชาการของไทยให้ไปร่วม ท่านรัฐมนตรีท่านก็เรียกเขามาถามว่าทำไมยูเนสโกเชิญถึงไม่ไปนักวิชาการก็ตอบว่าเขาไม่ต้องการไปแล้วถูกเอาไปอ้างว่าได้ดำเนินการเห็นด้วย เห็นชอบ กับสิ่งที่กัมพูชาได้ดำเนินการไปแล้ว
ท่านเห็นแนวไหมครับ ข้าราชการ ที่ได้ปฏิบัติในเรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงต่างประเทศ กรมศิลปากร ฝ่ายทหาร เขารับรู้เลยว่าแนวของเราก็คือว่าถ้ายังไม่ฟังเสียงเราก็แยกตัวออกมา เพื่อที่ 1. โอกาสที่กรรมการมรดกโลกที่จะเริ่มประชุมวันที่ 2 กรกฎาคม (วันดีของคุณทักษิณประธานโทษของ พ.ต.ท.ทักษิณ) จะได้มีโอกาสไม่เห็นชอบให้ขึ้นทะเบียนหรือเลวร้ายที่สุดถ้ายอมให้ขึ้นทะเบียนไปฝ่ายไทยสามารถที่จะประท้วงทักท้วงได้ตลอดไปว่าอะไรก็ตามที่ได้เสนอไปในนามของกัมพูชาไทยไม่เห็นด้วยรวมทั้งแผนที่ นี่คือแนวของเขาครับ เขาก็ได้ทำเพิ่มเติมขนาดถึงว่าในเดือนมีนาคมนี้มีการเชิญเจ้าหน้าที่ของสถานทูตที่เป็นกรรมการมรดกโลก 21 ประเทศให้ไปเยี่ยมชมบริเวณประสาทพระวิหารฝั่งของไทย กัมพูชาทำหนังสือประท้วงไปถึงสถานเอกอัคราชทูตต่าง ๆ ว่าอย่าไป ถ้าไปถือว่าละเมิดอธิปไตยของเขา แต่ขนานมีการประท้วงอย่างนั้นก็ยังมีไป 6 ประเทศ
ผมจึงบอกว่าแนวทางที่เจ้าหน้าที่เขาเดินมามันมีความชัดเจนมาว่าเขาเดินในแนวไหน แต่เสร็จแล้วเกิดอะไรขึ้น ผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้เลขาสมช.ถูกเปลี่ยน อธิบดีกรมสนธิสัญญาถูกเปลี่ยน และถ้าวันนี้ไม่มีไว้วางใจ ประธานกรรมการมรดกโลกถูกเปลี่ยน เพราะเรื่องนี้ล่อแหลมคาบเกี่ยวมากขึ้นขั้นว่า เมื่อวันที่ 10 เมษายน เอกสารของกระทรวงต่างประเทศทำหนังสือประท้วงไปถึงกัมพูชา ผมมีคำแปลประท้วงว่าอ้างถึงบันทึกช่วยจำของประทรวงต่างประเทศลงวันที่ 17 พฤษภา 2550 แสดงการคัดค้านของไทยต่อเอกสาร เสนอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารในบัญชีมรดกโลกของราชอาณาจักรกัมพูชา และต่อข้อ 3, 4 และ 6 ของ พรฎ.ของกัมพูชา กำหนดเขตอนุรักษ์ปราสาทพระวิหาร
อธิบายเพิ่มเติมว่าเรานอกจากจะค้านการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 10 เมษายน เรายังได้คัดค้านเพราะไปพบว่ากัมพูชาออกพรฎ.กำหนดเขตอนุรักษ์ปราสาท ซึ่งมีเนื้อที่รอบปราสาทประมาณ 30 เมตร กินเข้ามาในเขตแดนไทย คนทำเรื่องนี้ได้ทำหนังสืออ้างถึงเรื่องนี้แล้วก็บอกว่ากระทรวงการต่างประเทศขอถือเป็นเกียรติที่จะขอบันทึกว่าจนถึงปัจจุบันเท่าที่ไทยทราบกัมพูชาไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เลยที่จะให้การสนใจกับการคัดค้านความกังวลการประท้วงและคำขอของไทยที่ได้กล่าวในบันทึกช่วยจำ และหนังสือกระทรวงการต่างประเทศที่ได้อ้างข้างต้น
ดังนั้นกระทรวงการต่างประเทศจึงขอย้ำการคัดค้านความกังวล การประท้วง และคำขอดังกล่าว และขอประท้วง ณ ที่นี้ ต่อมาตรการและกิจกรรมของกัมพูชา ที่กล่าวถึงข้างต้นทั้งหมดซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดข้อ 5.ของบันทึกความเข้าใจฉบับปี พ.ศ.2543 และละเมิดอธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนของไทย ชัดไหมครับจุดยืนของกระทรวงต่างประเทศ
วันที่ 11 เมษายน คือวันถัดมาตอบกลับมาในข้อที่ 1 ว่าอ้างอิงถึงการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของปราสาทพระวิหารที่ไทยประท้วงไปวันที่ 10 กัมพูชาใช้คำว่า There has been a clear Support of Thailand has announce by his Excellencies Samak Sundaravej Prime Minister of Thailand กระทรวงการต่างประเทศประท้วงไปกัมพูชาตอบกลับมาบอกว่าที่คุณประท้วงว่าไม่สนับสนุนคนที่สนับสนุนอย่างโจ่งแจ้งคือนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย
ในวันที่ไปพบกับนายกรัฐมนตรีของกัมพูชานอกจากนั้นในทัศนะของกัมพูชาถือว่าไม่มีพื้นที่ทับซ้อนในส่วนของบริเวณทั้งหลายของปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลโลกและแผนที่ ซึ่งกัมพูชาถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาของศาลโลก
ที่ผมต้องกราบเรียนไปถึงปี 2505 เพื่อที่จะบอกว่าความจริงแล้วศาลโลกไม่ได้ตัดสินเรื่องแผนที่ แต่กัมพูชาแจ้งท่านมา 11 เมษายนว่า เขาถือว่าเป็นอย่างนั้น แล้วที่กระทรวงการต่างประเทศ เจ้าหน้าที่เดินเกมมาทั้งหมดพูดง่าย ๆ เพื่อทำอย่างไรไม่ให้กรรมการมรดกโลกยอมรับการจดทะเบียนฝ่ายเดียว หรือถ้ายอมรับไปไม่มีบันทึกที่ไหนว่าประเทศไทยเห็นพ้องด้วยเพื่อรักษาสิทธิ์ของไทย ความพยายามทั้งหมดพังลงเพราะอะไร
เสร็จแล้วท่านรัฐมนตรีกลับมาบอกว่าท่านเป็นพระเอกคือหลงเดินตามไปแล้ว เดินไปผิดทางก็เลยมานั่งกังวลว่าให้เขากลับไปปรับแผนที่และแผนผังและมาบอกว่าให้เขาจดเฉพาะตัวปราสาท ท่านไม่รู้หรือครับว่าการจดมรดกโลกเป็นไปไม่ได้ที่จะเกี่ยวข้องเฉพาะตัวปราสาท แล้วก็ให้เขาทำแผนที่ แผนผังมาอย่างพยามรีบร้อนแล้วก็อ้างว่าจะเอาแผนที่มาตรวจว่าเป็นไปตามความเป็นจริง รีบขนาดไหน รีบขนาดว่าพอเค้าบอกว่าพื้นที่อื่นๆ ไม่พูดเค้าจะตีนเส้นรอบปราสาทมาให้ ส่งพิกัดมาให้รัฐมนตรีก็ส่งให้ทางทหาร ถูกต้องครับเค้าต้องตรวจสอบแต่แนวที่ให้ไปตรวจสอบ ให้ไปตรวจสอบว่าทั้งหมดนี้อยู่ในแนวเขตที่กำหนดในมติ ครม. 2505 หรือไม่ ซึ่งกระผมบอกแล้วว่าไม่มีใครยึดถือเป็นเขตแดน เรายึดถือหลักสันปันน้ำกับให้ตัวปราสาทเท่านั้น
เมื่อเค้าทำมาก็ปรากฏว่าท่านเอาไปเทียมกับมติ ปี 2505 มีพื้นที่ทับซ้อนอยู่ประมาณ 38 ตารางวา ผมเข้าใจว่าช่องเขาบันไดหัก ท่านก็เลยบอกว่าตรงนี้ให้ตัดออก เขาก็ตัดตรงนี้ผมไม่เถียงแต่ว่าท่านคิดว่าท่านแก้ปัญหาได้ 38 ตารางวา แต่ผมไม่รู้ว่าสูญเสียไปกี่ตารางกิโลเมตร และที่แปลกกว่านั้นคือวันที่ท่านเอาพิกัดให้ทางทหารไปตรวจสอบดู เขาก็ทำกลับมาให้ท่าน ท่านยังไม่สนใจแม้แต่จะดูรายละเอียด ว่าเวลาที่เขาไปตรวจพิกัดหรือว่าหมุด หรือจุดที่ 10 และ 11 เขาบอกว่าตรงนั้นอยู่ตีนบันได บันไดชนเลยครับแต่เวลาที่กัมพูชาวาดให้ท่านมันเลยจากบันไดออกมา ก็ไม่สนใจรีบร้อนกันจนคลาดเคลื่อนอย่างไรก็ไม่สนใจที่จะสอบถาม ผมก็บอกว่าถ้าเขาบอกว่ามาถึงแค่บันไดในการแก้ปัญหาชุมชนที่อยู่หน้าบันไดก็จะง่าย แต่เวลานี้ไม่ว่าจะแผนที่ แผนผัง รูป ที่ท่านไปยอมรับแล้วคนดูก็เข้าใจว่าพื้นที่ข้างหน้าตรงนั้น ก็เป็นของกัมพูชาไปแล้ว
จะให้ไว้วางใจต่อไปได้อย่างไร ผมขอกราบเรียนว่าท้ายที่สุด ท่านก็ไปลงนามในแถลงการณ์ร่วม แถลงการณ์นี้ก็มีความน่าทึ่งในตัวของมันเอง คือ ลงเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน เซ็นโดยรองนายกฯของกัมพูชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และผู้แทนของยูเนสโก คนหนึ่งเซ็นที่พนมเปน แต่อีกคนหนึ่งเซ็นที่กรุงเทพฯ และอีกคนเซ็นที่ปารีส
ผมทราบว่ารีบกันมาก ขอให้ส่งเป็นไฟล์ทางคอมพิวเตอร์เพื่อให้ได้เซ็น แล้วก็ใช้ชื่อว่าแถลงการณ์ร่วมไม่ใช้เจตนาอะไรหลอกครับ เจตนาเพื่อที่จะไม่ให้เอาเข้าสภาฯ ท่านบอกว่าเป็นแถลงการณ์ร่วมไม่ใช่สัญญา ผมบอกว่าถ้าไม่ใช่สัญญาก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม ถ้าอยากรู้ว่าอะไรเป็นสัญญาก็ต้องไปดู อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายและสนธิสัญญา องค์ประกอบของสัญญานี้มีง่ายๆ ข้อตกลงระหว่างประเทศของคนที่มีอำนาจแทนรัฐเป็นลายลักษ์อักษร ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไร
แล้วท่านไปตกลงอะไรกับเขา ข้อแรก ท่านไปสนับสนุนการขึ้นทะเบียนของมรดกโลก โดยกัมพูชาเพียงฝ่ายเดียวในเรื่องของปราสาทพระวิหาร โดยขอบขอบปราสาทเป็นไปตามแผนที่ในส่วนที่เรียกว่า N1 และขณะเดียวกันก็จะมีเขตที่เรียกว่า บัฟเฟอร์โซน เพื่อประโยชน์ในการกำหนดเขตอนุรักษ์อะไรต่อไป ในทางทิศตะวันออกและทิศใต้ของตัวปราสาท
ท่านประธานครับ ถ้ายึดถือตามคำพิพากษาของศาลโลก เฉพาะซากปราสาทเป็นของกัมพูชาท่านตีขอบออกมาอีก ก็ถือว่าสละสิทธิ์ตรงนั้นไปอีกแล้ว และก็เป็นการสละสิทธิ์ตามที่รัฐบาลไทยเคยทักท้วงไว้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2505 นี้เป็นข้อที่ 1 และ ข้อที่ 2 คือ เขาเขียนว่าในสปีริดของความปารถนาดี และการประนีประนอม กัมพูชาจะยังไม่นำเสนอเขตที่เรียกว่า บัฟเฟอร์โซน ที่จะไปใช้เป็นเขตอนุรักษ์ต่างๆ ทางทิศเหนือ และทิศตะวันตก ของตัวปราสาท
ผมถามว่าทิศเหนือ และทิศตะวันตก ของตัวปราสาท ท่านรัฐมนตรีว่าเป็นเขตไทยหรือไม่ ถ้าเป็นเขตไทยการที่เขายังไม่กำหนดเขตตรงนี้ ทำไมต้องเป็นสปีริดของการประนีประนอม ก็เพราะว่าเป็นของเรา จำได้หรือไม่เวลาที่มีบันทึกมาถึงไทย เขาไม่ได้เรียกแม้แต่ว่าทับซ้อน แต่เขายืนยันว่าเป็นของเขา และท่านก็ไปเขียนแถลงการณ์ร่วมแบบนี้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่แค่ตัวขอบปราสาทเท่านั้น ปัญหาก็คือว่าการบริหารจัดการพื้นที่ซึ่งไทยเรียกว่าเป็นของไทยปัจจุบันตามสันปันน้ำต่อไปนี้เขามีสิทธิ์เข้ามาร่วมบริหารจัดการ และบริหารจัดการอย่างไร ยูเนสโกจะคุยกับกัมพูชา ไม่ต้องคุยกับไทย
ผมถามว่ากระทบอธิปไตยหรือไม่ หนังสือสัญญาแล้วไหนขบวนการตามมาตรา 190 แห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญ หนึ่งในมาตราที่ท่านอยากแก้ไข ข้อ 3 ก็บอกว่าให้ใช้แผนที่ที่แนบท้ายแทนแผนที่ แผนผังอื่นๆ ซึ่งเคยเสนอไป กระผมมีข้อสังเกตแผนที่ฉบับนี้เวลารัฐมนตรีว่าชี้แจงกับคนไทย ก็จะเอาไปดูตรงขอบปราสาท แล้วก็จะตีเส้นตาม 2505 เพื่อที่จะบอกว่าไม่มีความเกินเลย แต่บนแผนที่ ท่านรัฐมนตรีกล้ายืนขึ้นแล้วบอกว่า ตรงนี้ไม่ใช่ของไทย ทิศตะวันตกทั้งหมดนี้ไม่ใช่ของคนไทย ท่านกล้ายืนยันไหมครับ ทิศเหนือทั้งหมดไม่ใช่ของคนไทย ท่านกล้ายืนยันไหมครับ ทิศตะวันออกไม่ใช่ของคนไทย ท่านกล้ายืนยันไหมครับ
ท่านสังเกตหรือไม่ เวลาที่เสนอไปเขาไม่ได้ตีเส้น 2505 ส่งไปด้วย แต่แผนที่นี้ ยังเป็นแผนที่ซึ่งสอดคล้องกับแผนที่ ที่ใช้ในการต่อสู้คดีตั้งแต่ปี 2505 ผมถามว่าท่านไปรับทำไมกับแผนที่นี้ ท่านประธานจำได้หรือไม่ เมื่อ ปี 2505 ที่แพ้คดี แผนที่ที่ทำขึ้นไม่ได้เป็นการปรับปรำเขตแดน เป็นการใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น ศาลบอกว่าคุณรับแผนที่แล้ว คุณต่อสู้ไม่ได้ วันนี้ท่านก็ไปรับแผนที่อีก แล้วให้เหตุผลว่าเรื่องมรดกโลกไม่เกี่ยวกับเรื่องเขตแดน แต่ท่านก็รับแผนที่ไปแล้ว ก็ซ้ำรอยกับการแพ้คดีของปี 2505
ข้อ 4 พื้นที่ด้านตะวันตก ทิศเหนือของไทย ท่านก็บอกว่าขณะนี้คณะกรรมการปักปันเขตแดนยังทำงานไม่เสร็จ แล้วท่านรู้หรือไม่กว่าที่เขาจะมาทำตรงนี้ต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ ผู้เชียวชาญบอกว่าต้องใช้เวลาประมาณ 10 ปี แต่ที่ท่านไปตกลงกับเขาก็คือว่า ภายในปี 2553 ไทยและกัมพูชา ต้องเสนอแผนการจัดการบริเวณพื้นที่ตรงนี้ร่วมกัน ผมถือว่าแถลงการณ์ร่วมของท่านเป็นการไปยอมรับเรื่องของแผนที่ เป็นการยอมรับสิทธิของกัมพูชา ในการบริหารจัดการในเขตของชายแดนไทย และซ้ำร้ายยังเอายูเนสโก มาเป็นพยานให้อีกด้วย
กระผมจึงขอกราบเรียนว่า ทุกคนถึงตกใจ ตกใจถึงความกล้ากันขนาดนี้ ตกใจว่าใครก็ตามที่พยามที่จะรักษาผลประโยชน์ของไทย ท่านก็ย้ายไปอยู่ที่อื่นบ้าง ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเรื่องนี้ หรือว่าเรื่องการขอเอกสาร CTX และขณะนี้ก็ได้ไปกล่าวหาบุคคลที่เขาเห็นว่าท่านกระทำความผิด กระทำให้เกิดความเสียหาย ไปกล่าวหาว่าเขาไปสร้างความขัดแย้งระหว่างประเทศ ผมขอยืนยันว่าไม่ใช่ครับ นโยบายของท่าน การกระทำของท่านคือที่มาของความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ทำให้ทั้งฝ่ายไทย และฝ่ายกัมพูชา จะเกิดความไม่พอใจแต่ถ้าท่านเดินตามแนว ที่เคยทำกันมาก่อนว่าจะทำมรดกโลกร่วมกัน โดยไม่สนใจเรื่องเขตแดน หรือ จะขึ้นเรื่องเขตแดนก็ให้ไปหาข้อยุติอย่างอื่น ก็จะไม่เป็นปัญหา
ผมกราบเรียนว่าด้วยเหตุนี้แหละครับ ผมถือว่าหนึ่ง ท่านหลีกเลี่ยงรัฐธรรมนูญไม่เอาหนังสือสัญญาที่เกี่ยวข้องกับอธิปไตยของไทย มาผ่านสภาฯ มาผ่านการให้ข้อมูล กับความเห็นชอบของประชาชน ข้ออ้างท่านข้อเดียวคือไม่เปิดเผยอะไรเลย เสนอกี่ครั้งก็วาระจร ลับ เก็บหมดเลย โดยให้เหตุผลว่ากลัวว่าชาวกัมพูชาโกรธ
และการปล่อยให้เขาตีบริเวณรอบปราสาท คือการสละสิทธ์ที่ไทยสงวนมาโดยตลอด และให้พื้นที่เกินเลยไปกว่าคำพิพากษาของศาลโลก และในเขต Buffer Zone ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ ที่เราเห็นว่าเป็นของเขา หรือว่าเป็นของเรา หรือจะเรียกว่าทับซ้อน หรือคิดว่าเป็นของเขาทั้งหมด ต่อไปนี้เขามาอำนาจที่จะมาบริหารจัดการ เขาจะเป็นตัวหลักในการทำงานกับยูเนสโก ไทยมีหน้าที่เป็นผู้ช่วย ร่วมมือกับเขาเท่านั้น
การยอมรับแผนที่ใหม่ จะเป็นการย้อนรอยที่จะถูกนำมาอ้างปิดปากเราในอนาคตอีก เมื่อมีกรณีพิพาทในเรื่องของเขตแดน ท่านประธานครับ ผู้เชี่ยวชาญที่เขาติดตามเรื่องนี้ เขามองไม่เห็นทางออก นอกจากว่าคนประเทศไทยทั้งประเทศต้องช่วยกันหาแนวทางยับยั้งเรื่องนี้
ผมก็ต้องเอาเรื่องนี้มาพูด และผมอยากจะเรียนไปถึงเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนฯ ทุกคนว่า ถ้าท่านเป็นตัวแทนฯประชาชนคนไทย ปวงชนชาวไทย เป็นคนไทย สิ่งหนึ่งที่ท่านทำได้เลยเพื่อช่วยเราบอกกับยูเนสโกว่าเราไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ คือการไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และนายกรัฐมนตรี
และพวกเราคนไทยจะเดินหน้าต่อรณรงค์ ใครจะฟ้องศาลปกครอง ใครจะทำหนังสือถึงยูเนสโก ก็ต้องไปในทางเดียวกันว่าเราจะไม่ยอมรับการที่ท่านไปทำข้อผูกพัน เกินอำนาจของท่าน กระทบอธิปไตยกระทบดินแดนของไทย เพราะฉะนั้นรวมทั้งท่านสมาชิก ที่เคยบอกว่าเสียไปหนึ่งบาท วันนี้ขอหนึ่งเสียง ที่จะบอกว่าเรายังสงวนสิทธิ์อยู่ ไม่ได้ไปรุกราน ไม่ได้ไปทะเลาะกับเพื่อนบ้านแต่ว่าใช้สิทธิอันพึงมีกับกฎหมายที่รัฐบาลทุกชุดได้ปฏิบัติมา
ผมถึงบอกว่า 4 เดือน ถ้าเป็น 4 เดือนที่ท่านทดแทนบุญคุณของประเทศ พวกผมไม่มายืนตรงนี้หรอกครับ แต่ถ้าทดแทนบุญคุณใครไม่ทราบ แต่ว่ากระทบกระเทือนต่อประเทศ พวกผมยอมไม่ได้หรอกครับ เดี่ยวจะมีเพื่อสมาชิกมาพูด
แต่ว่าคนก็สงสัยว่ามีเหตุผลจูงใจอะไร มีปัญหาความไม่เข้าใจ หรือมีผลประโยชน์แอบแฝงอยู่ ผมก็บอกว่าโฆษกของทางกัมพูชาเคยให้สัมภาษณ์ เมื่อไม่นานนี้ว่าอดีตนายกฯไทยกำลังไปทำธุรกิจใหญ่ในเกาะกงไม่ใช่โรงไฟฟ้าทีท่านนายกฯพูดหรอกครับ แต่จะเนรมิตให้เป็นศูนย์บันเทิงครบวงจร
ผมอยากเรียนว่าเรื่องของประเทศมือสมัครเล่นไม่ได้ ต้องศึกษาผลกระทบในทางกฎหมายระหว่างประเทศ ต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติให้มากที่สุด พลาดพลั้งในวันข้างหน้าจะแก้ไขอยากนะครับ แถมอีกเรื่องวันที่นายกฯสมัครไปของกัมพูชากระทรวงบอกแล้วว่าเรื่องพื้นที่ทับซ้อนในทะเล จะพูดอะไรก็พูดแต่อย่าเอา ปตท.สผ. ไปขอสัมปทานข้างล่าง เพราะเท่ากับเป็นการยอมรับว่า เป็นที่ของเขา ท่านก็อุตส่าห์เผลอพูดไปด้วยเหตุผลทั้งหลายเหล่านี้ผมไว้วางใจท่านไม่ได้
และที่ผมไม่อยากเชื่อก็คือว่าความเสียหายร้ายแรงขนาดนี้ที่ท่านทำได้ กับเบี่ยงเบนประเด็นมากล่าวหาอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผมเรียนว่าถ้าพรรคประชาธิปัตย์ทำอะไรผิดในเรื่องนี้ มีเรื่องเดียวครับ คือ ทำให้สองท่านนี้เกิดทางการเมือง (สมัคร สุนทรเวช , นภดล ปัทมะ) และบุญคุณที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือแผ่นดิน ท่านจะเนรคุณ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่จริงที่ท่านจะเนรคุณ พันตำรวจโท ทักษิณ ซะครึ่งนึง ที่เนรคุณ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ผมว่าบ้านเมืองจะไปได้ดีกว่านี้
มีผู้ประท้วงให้ถอนคำว่าเนรคุณ นายอภิสิทธิ์ กล่าวอภิปรายต่อว่า ท่านประธานอยากทราบข้อเท็จจริงในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนายกฯ กับท่าน ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จะได้วินิจฉัยได้ถูกต้องว่า....
ประธาน วินิจฉัย....ให้ถอนคำว่าเนรคุณ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอภิปรายต่อว่า ผมพูดว่าถ้านายสมัคร สุนทรเวช ....
มีผู้ประท้วง
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอภิปรายต่อว่า เมื่อท่านประธานวินิจฉัย ผมขอถอนครับ แต่ประเด็นนั้นไม่สำคัญ สำคัญที่ผมได้กราบเรียนท่านนายกฯในการอภิปรายนโยบายมาแล้วว่าถ้าท่านเดินหน้าตอบแทนบุญคุณของแผ่นดิน เพื่อพี่น้องประชาชน ปัญหาบ้านเมืองจะค่อย ๆ หมดไป
ท่านจะทำได้มากน้อยบ้านเมืองก็จะสงบ ประชาชนก็จะให้โอกาส แต่ถ้าการทำงานของท่านยังสร้างปัญหาความขัดแย้ง ความคลางแคลงใจว่าท่านทำงานเพื่อใคร บ้านเมืองไม่มีทางสงบ ด้วยเหตุผลทั้งหลายที่กระผมได้กราบเรียนมา และจะมีสมาชิกอีกจำนวนมากลุกขึ้นมาอภิปรายขยายความต่อไป
เราเห็นว่า 4 เดือนที่ผ่านมาเพียงพอแล้ว ที่จะพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า พวกกระผมไม่ไว้วางใจนายกฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และรัฐมนตรีอีก 6 ท่าน
**จากเว็บไซต์ พรรคประชาธิปัตย์